ฝนตกหนัก น้ำท่วม มีใครที่ไหนไม่รู้บอกให้สวดมนต์ไล่พายุ
เรื่องว่าการบริหารที่ขอให้สวดมนต์นั้นก็ … ไม่พูดดีกว่า แต่ว่าที่เมืองนิวออร์ลีนส์—ดินแดนไก่นิวออร์ลีนส์—ก็มีสถานที่หนึ่งที่เขาก็สวนมนต์ไป พร้อมรับมือน้ำท่วมไปด้วย คือที่นี่ไม่ใช่การใช้พลังศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติในการจัดการเรื่องทางโลกย์ แต่เป็นการที่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งก็คืออารามแม่ชี ตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่อารามเก่าแก่ให้กลายเป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่จะช่วยรับมือกับมวลน้ำและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม
อารามดังกล่าวเป็นอารามของ Sisters of St. Joseph สำนักแม่ชีในนิกายคาทอลิก การปรับอารามเพื่อร่วมสร้างความยืดหยุ่นให้กับเมืองนี้เป็นพื้นที่สีเขียวซับซ้อนที่รายล้อมเสียงสวดมนต์จริงๆ โดยเกิดจากการที่แม่ชีของสำนักคนหนึ่งต้องอพยพช่วงเฮอริเคนแคทรีนา การได้เห็นภัยพิบัติ เห็นผลเป็นซากปรักหักพังและน้ำท่วมใหญ่นั้น ทำให้สำนักชีเสนอการปรับอารามเก่าแก่ที่เสียหายให้กลายเป็นสวนซับน้ำแบบพื้นที่ชุ่มน้ำ
ตัวสวนที่จะสร้างมีชื่อว่า Mirabeau Water Garden เป็นสวนชุ่มน้ำขนาด 25 เอเคอร์ ที่ถือว่าจะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ตัวสวนแห่งนี้แน่นอนว่าจะช่วยซึมซับและหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ ทั้งยังช่วยฟอกกรองน้ำและช่วยบรรเทาน้ำท่วมในชุมชนเปราะบาง รอบๆ ตัวสวนจะกลายเป็นแหล่งศึกษาเรื่องน้ำ การใช้พื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อร่วมรับน้ำถือเป็นวิธีการสำคัญในการรับมือและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เมือง
โปรเจกต์นี้จึงไม่ใช่แค่การสวดมนต์ให้รอดจากภัยพิบัติ แต่คือการปรับเปลี่ยนพื้นที่ รวมถึงวิธีคิดที่อันที่จริงนิวออร์ลีนส์ก็คล้ายๆ บ้านเรา คือ เน้นการต่อสู้กับน้ำ ปิดกั้นและสูบน้ำออกจากเมือง แต่ด้วยองค์ความรู้องสำนักชีที่ร่วมกับเนเธอร์แลนด์ เจ้าพ่อการอยู่กับน้ำ การปรับพื้นที่เพื่อช่วยซับน้ำ จึงถือเป็นการ ‘บริหารจัดการน้ำ’ ไม่ใช่การต่อสู้เอาชนะน้ำอย่างที่เคย
สักขีพยานจากเฮอริเคนแคทรีนา
เฮอริเคนแคทรีนาในปี ค.ศ.2005 ถือเป็น ‘การปลุกให้ตื่น’ อย่างสำคัญสำหรับสหรัฐอเมริกา หลายเมืองใหญ่ หลายภาคส่วน รวมถึงรัฐกลับมาตระหนักว่า เมืองและวิทยาการของมนุษย์ช่างเปราะบาง ทิศทางการเติบโตและความเจริญที่เรากำลังเดินไปโดยไม่มีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติเป็นการเติบโตที่ผิด และการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศหรือ climate change ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น
สำหรับนิวออร์ลีนส์เองก็ได้รับผลกระทบจากเฮอริเคนแคทรีนาด้วย อารามและอาคารสำคัญของสำนักแม่ซีแห่งเซนต์โยเซฟถูกกล่ม อาคารเก่าแก่จากทศวรรษ 1960 พังเสียหาย พื้นที่อารามขนาด 25 เอเคอร์ท่วมไปด้วยน้ำ ในปี ค.ศ.2006 เมื่อ ซิสเตอร์โจน ลาพลาส (Joan Laplace—ตอนนั้นก็อายุ 70 กว่าแล้ว) เดินทางกลับมาจากการอพยพ สิ่งที่แม่ชีพบคือซากปรักหักพังทั้งของเมืองและของอารามที่เหล่าแม่ชีเคยอยู่อาศัย
ตัวพายุไม่ได้แค่ทำลายสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น สิ่งที่มันพรากไปคือชุมชนรอบๆ แม่ชีลาพลาสอธิบายว่าตัวอาคารที่พังเสียหาย แถมในปี ค.ศ.2006 ยังเกิดพายุและฟ้าผ่ารวมถึงน้ำท่วมต่อเนื่องจนอาคารเก่านั้นชั้นสองเสียหายจากหลังคา และชั้นหนึ่งก็เสียหายจากน้ำท่วม ประชากรในอารามเองก็ลดลงเรื่อยๆ จากที่เคยมีผู้อยู่อาศัยในพื้นที่อารามกว่า 150 คน กลับลดฮวบเหลือเพียง 30 คน ทั้งหมดก็เป็นแม่ชีที่มีแต่จะสูงวัยขึ้น
ที่ดินขนาด 25 เอเคอร์ในการครอบครองต่างแต่ทศวรรษ 1950 จึงค่อยๆ กลายเป็นภาระ และกลายเป็นลางบอกเหตุว่าอารามแห่งนี้อาจจะกำลังถึงจุดสิ้นสุด เมื่อแม่ชีลาพลาสเดินทางกลับมา ท่านเห็นว่าตัวท่านเอง ชุมชน รวมถึงเมืองไม่เคยมีการเตรียมตัวสำหรับอะไรแบบนี้เลย
ดังนั้นท่านจึงร่วมกับแม่ชีที่ยังคงอยู่ที่อารามเสนอในการปรับพื้นที่ขนาดใหญ่ของอาราม ที่คราวนี้ไม่ได้จะมีหน้าที่เชิงจิตวิญญาณอย่างเดียว แต่จะกลายเป็นที่ที่สร้างความยืดหยุ่นให้เมือง และเป็นพื้นที่ที่จะส่งเสริมชุมชนโดยรอบด้วย จากอารามโบราณจึงกลายเป็นงานออกแบบสวนชุ่มน้ำในชื่อ Mirabeau Water Garden
ไม่ได้สู้ แต่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วม
คำว่า ‘เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับน้ำ’ ไม่ได้หมายความเชยๆ ว่าจะกลับมาพายเรือ ยกบ้านใต้ถุนสูงแต่อย่างเดียว นิวออร์ลีนส์เองก็คล้ายๆ กับกรุงเทพฯ คือตัวพื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เน้นการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบระบายน้ำ คือทำท่อและสูบน้ำไปตามระบบระบายให้ทันเท่าปริมาณฝน ทีนี้ในช่วงหลังนิวออร์ลีนส์ก็มีรายงานฝนที่หนักขึ้น เช่น ในเดือนกรกฏาคม ปี ค.ศ2019 มีพายุ ทำให้ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ตกสูงกว่าหกนิ้วในหนึ่งชั่วโมง คือในพื้นที่ 20 เอเคอร์มีน้ำประมาณ 3 ล้านแกลลอน ทำให้ระบบระบายน้ำรับไม่ได้
สิ่งที่ทางสำนักชี และทาง Waggonner & Ball สตูดิโอที่ดูแลโปรเจกต์สวนชุ่มน้ำ ระบุว่า สิ่งที่นิวออร์ลีนส์ทำคือการสู้กับน้ำ คือการสูบเอาน้ำออกจากเมืองไป ในตอนนั้นทางสตูดิโอทำงานร่วมกับทางเนเธอร์แลนด์ผ่านโปรเจกต์ Dutch Dialogues ที่จะร่วมปรับเมืองนิวออร์ลีนส์ให้รอดจากพายุครั้งต่อๆ ไป โดยมีคำแนะนำจากทางเนเธอร์แลนด์ บอกว่านี่คืออีกวิธีที่ไม่ได้พึ่งพาการระบายน้ำซึ่งเป็นเหมือนการที่เมืองพยายามต่อสู้ป้องกันจากน้ำ แต่เป็นการจัดการสร้างพื้นที่ให้น้ำอยู่ร่วมในเมืองได้
พูดอย่างเรียบง่าย การเสนอโครงการพวกสวนชุ่มน้ำก็คือการออกแบบพื้นที่ขนาดใหญ่ที่จะช่วยหน่วงและซึมซับน้ำไว้ให้กับพื้นที่เมือง ช่วยทำให้ระบบระบายน้ำไม่ต้องรับภาระ จากน้ำรอระบายบนถนนก็มารอระบายบนบ่อ ในผืนดิน บนหญ้า บนพืชพรรณที่นอกจากจะออกแบบไว้เพื่อชะลอ ซึมซับน้ำไว้ ยังช่วยฟอกบำบัดน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำฝนหรือน้ำที่ไหลบ่าจากที่ไหนก็ตามให้กับเมืองด้วย
ตรงนี้เลยกลายเป็นสถานการณ์ประจวบเหมาะ คือเมืองนิวออร์ลีนส์ภายใต้การปรับปรุงเมืองให้ยืดหยุ่นของ Waggonner & Ball จึงต้องการพื้นที่สำหรับการจัดการน้ำแบบใหม่ โดยทางสำนักชีก็เลยยินดีที่จะให้เช่าที่ดินขนาด 25 เอเคอร์ในราคาปีละ 1 เหรียญฯ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์และทำให้พื้นที่รอบๆ ดีขึ้น ก็เลยเกิดเป็นโปรเจกต์พื้นที่ชุ่มน้ำยักษ์ เป็นอารามกลางสวนป่าและบ่อน้ำที่จะมาซับน้ำให้เมืองสวดไป รับมือพายุไป
ในแง่การออกแบบสวน Mirabeau Water Garden จะมีลักษณะเป็นสวนป่าขนาดใหญ่ มีการขุดบ่อ (basin) เอาไว้ให้น้ำท่วมขึ้นมาได้ ตัวสวนทั้งหมดจะมีลักษณะทะเลสาบที่เป็นพื้นที่ต่ำกว่าพื้นเมือง ถ้าฝนตกเยอะๆ หรือมีน้ำท่วม มวลน้ำก็จะไหลเข้าสู่พื้นที่ชุ่มน้ำที่ทำรอไว้ มีระบบปั้มเพื่อดึงน้ำเข้าพื้นที่ ตัวสวนจะกลายเป็นทะเลสาบ ในสวนจะมีเหมือนภูเขาน้อยๆ เชื่อมต่อกันด้วยสะพานยาวๆ ฝั่งหนึ่งของที่ดินจะปลูกเป็นป่าย่อมๆ ไว้สำหรับนกและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตัวพืชพรรณก็จะเน้นไปที่การฟอกทำความสะอาดน้ำ
โดยการประมาณ พื้นที่ชุ่มน้ำใหม่ของอารามจะจุน้ำได้ประมาณ 10 ล้านแกลลอน คือจะช่วยบรรเทาน้ำท่วมและลดภาระของระบบระบายน้ำได้ เป็นพื้นที่ช่วยพักน้ำให้กับย่าน ถ้าเรามองจากแผนที่ เราก็จะเห็นว่าสวนแห่งนี้ทอดอยู่ภายในพื้นที่เมือง โดยพื้นที่รอบๆ ก็ถือเป็นพื้นที่ของชุมชนที่ค่อนข้างเปราะบาง ดังนั้นการมีสาธารณูปโภคที่ช่วยบรรเทาภัยพิบัติก็จะช่วยลดปัญหาและผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและคนชายขอบลงได้
ฟังดูเป็นจังหวะที่ดี แต่อันที่จริงโปรเจกต์ดีๆ แบบนี้ก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิด ทั้งจากที่เมืองและรัฐจะเปลี่ยนวิธีการจัดการน้ำ รวมถึงการที่กลุ่มแม่ชีที่พวกท่านเองอุทิศตนเพื่อโลกใบนี้—ทั้งในทางโลกย์—ที่พวกท่านก็พยายามสร้างความเป็นอยู่และความเจริญงอกงาม ตัวพวกท่านเองก็บอกว่าพวกท่านภาวนาเพื่อหาหนทางให้โลกใบนี้ดีต่อการอยู่อาศัยและผู้คนมากขึ้น ซึ่งการภาวนาของพวกท่านไม่ใช่การภาวนาเฉยๆ แต่คือการครุ่นคิดเพื่อหาความคิดใหม่ๆ และช่วยให้ทุกคนอยู่รอดกันต่อไป
อันที่จริง แนวคิดเรื่องการจัดการน้ำ หลักๆ คือการหาจุดตรงกลางของปริมาณน้ำกับพื้นที่ หลักๆ แล้วเราจะนึกถึงระบบท่อที่รับได้เท่านั้นเท่านี้ตามแต่จะคำนวน ซึ่งบางครั้งปากทางเข้าท่อตัน บางส่วนของท่อตกท้องช้างน้ำไหลไม่ได้ ปั๊มพังเป็นช่วงๆ ซึ่งส่วนนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อีกกระบวนการคือการ ‘หาพื้นที่ให้น้ำ’ อยู่ ซึ่งพอเมืองเป็นตึก มีถนน น้ำมาเยอะก็ไปอยู่บนถนน อยู่ในหมู่บ้าน แนวคิดการสร้าง ‘พื้นที่ซับน้ำ’ ในเมืองใหญ่ หรือในที่อื่นๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่
ที่จีนหรือที่อื่นๆ ก็มีการสร้างสวนซับน้ำ หลายเมืองเริ่มมีพื้นที่ให้น้ำท่วมถึงเวลาน้ำล้น คือ ให้น้ำมาอยู่ได้ไปก่อน ก่อนที่ระบบระบายน้ำจะรับไหว อันที่จริงอย่างกรุงเทพก็มีสวนทำนองนี้ เช่น อุทยาน ๑๐๐ ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือสวนป่าเบญจกิติที่ออกแบบสวนป่าขนาดยักษ์ มีการออกแบบส่วนของพื้นที่สีฟ้าที่จะดึงเอาน้ำจากคลองไผ่สิงโตเข้ามาและใช้พวกรากไม้ พวกพืชน้ำช่วยปรับสภาพน้ำก่อนจะปล่อยกลับคืนลงคลอง หรือพาสานที่นครสวรรค์ก็ออกแบบให้น้ำท่วมขึ้นมาได้และเป็นส่วนหนึ่งของตัวสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
การสวดมนต์ไป รับมือไป ถ้ามองในแง่นี้ จึงไม่ได้หมายถึงการสวดไปเปล่าๆ แต่คือการปรับวิธีคิด การทบทวนและป้องกันแก้ไข ที่ทางธรรมและทางโลกย์เข้ามาบรรจบกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก