เอเชีย – แอฟริกา – ตะวันออกกลาง – อเมริกาใต้ – ยุโรป
เหล่านี้คือทวีปที่ต้องเผชิญกับอุทกภัยอย่างรุนแรง ซึ่งในแต่ละเหตุการณ์ แต่ละพื้นที่ ก็มีจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ ยังไม่นับผู้ได้รับผลกระทบ หรือผู้ที่ต้องพลัดถิ่นเพราะน้ำท่วมอีกหลายล้านคน
ยกตัวอย่างเช่นทวีปเอเชีย ในเดือนกันยายนนี้ แน่นอนว่า ไทยคือประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมตามแนวแม่น้ำโขง โดยเฉพาะ จ.เชียงราย ที่กระทบอย่างหนัก ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า มีผู้เสียชีวิตสะสมในทุกจังหวัดแล้วอย่างน้อย 48 ราย
ในขณะเดียวกัน ประเทศข้างเคียงอย่างเมียนมาและเวียดนาม ก็ต้องเผชิญกับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นยางิ (Typhoon Yagi) จนมีผู้เสียชีวิตทั้งจากน้ำท่วมและดินถล่ม อย่างน้อย 419 รายในเมียนมา และอย่างน้อย 291 รายในเวียดนาม
ในอีกฟากฝั่งของมุมโลก เราต่างเฝ้ามองด้วยความกังวลไปพร้อมๆ กัน กับเหตุการณ์น้ำท่วมในยุโรปตอนกลาง ซึ่งครอบคลุมและส่งผลกระทบในหลายๆ ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวาเกีย จนมียอดผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 22 ราย และคนจำนวนมากต้องอพยพ
ไม่ใช่ทุกเหตุการณ์จะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) แต่นักวิทยาศาสตร์เริ่มเห็นตรงกันว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อน้ำฝนที่ตกรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่อุทกภัย
The MATTER ชวนย้อนดูว่า ในปี 2024 นี้ โลกเผชิญน้ำท่วมใหญ่ที่ไหนแล้วบ้าง?
น้ำท่วมบราซิล และยุโรป: เมื่อภาวะโลกรวนมีส่วนสำคัญ
หนึ่งใยเหตุการณ์ที่ชี้ว่าภาวะโลกรวนมีส่วนสำคัญ คือน้ำท่วมใหญ่ในรัฐฮิวกรังจีดูซูว (Rio Grande do Sul) ทางตอนใต้ของบราซิล เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากฝนที่ตกหนัก 420 มิลลิเมตร ตลอดระยะเวลาประมาณ 10 วัน จนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในรัฐดังกล่าว
ทีมนักวิจัยนานาชาติภายใต้กลุ่ม World Weather Attribution ที่ศึกษาเหตุการณ์น้ำท่วมที่บราซิล ระบุว่า นี่เป็นเหตุการณ์ที่ ‘เกิดได้ยากเป็นอย่างยิ่ง’ ซึ่งจริงๆ จะเกิดขึ้นเพียงแค่ 1 ครั้งในรอบ 100-250 ปี
การศึกษาพบว่า แม้เอลนีโญ (El Niño) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมือมนุษย์ นั่นคือ การเผาไหม้ของพลังงานฟอสซิล ยิ่งทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงส่งผลให้ความรุนแรง (intensity) ของเหตุการณ์ เพิ่มขึ้น 6-9%
เช่นเดียวกับน้ำท่วมทางตอนกลางของทวีปยุโรป ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนเป็นต้นมา ทีมนักวิจัยจาก World Weather Attribution ก็ชี้ว่า เหตุการณ์ที่รุนแรงขนาดนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก และจะเกิดขึ้นเพียงแค่ 1 ครั้งในรอบ 100-300 ปี ซ้ำเติมโดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากมือมนุษย์ ที่ทำให้ฝนตกรุนแรงขึ้น 7-20%
“เป็นอีกครั้งที่อุทกภัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายอย่างรุนแรง อันเป็นผลจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากการใช้พลังงานฟอสซิล” จอยซ์ คิมูไท (Joyce Kimutai) นักวิจัยด้านสภาพอากาศ จากอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) และผู้นำทีมวิจัยดังกล่าว ระบุ
ทำไมฝนที่ตกหนักรุนแรงจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงภาวะโลกรวน?
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลอย่างไรต่อฝนที่ตกรุนแรง จนนำไปสู่น้ำท่วม?
หากอธิบายอย่างง่าย ก็คือ ก๊าซเรือนกระจกที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น จากการเผาไหม้พลังงานฟอสซิลของมนุษย์ ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ก็ทำให้น้ำจากบนบกและทะเลระเหยเร็วขึ้นและมากขึ้น เมื่อน้ำระเหยขึ้นไปอยู่บนอากาศมากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้สองอย่าง – ฝนตกหนักและมีพายุรุนแรงขึ้น ส่วนที่อื่นๆ ที่ฝนไม่ตก ก็เสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งกว่าเดิม
เมื่อปี 2023 อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.48 องศาเซียลเซียส เทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม (preindustrial levels) ซึ่งโดยทั่วไป นักวิทยาศาสตร์จะหมายถึงช่วงปี 1850-1900 ช่วงเวลาก่อนที่มนุษย์จะเริ่มหันมาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ถ้าหากอุณหภูมิโลกแตะ 1.5 องศาเซียลเซียส ดังที่หลายฝ่ายเกรงกลัว ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อปริมาณและความรุนแรงของน้ำฝนด้วย ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ชี้ว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซียลเซียส เหตุการณ์ฝนตกหนักอย่างรุนแรง ซึ่งแต่เดิมควรจะเกิด 10 ปีครั้ง ก็จะมีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และจะรุนแรงมากขึ้น 10.5%
The MATTER เคยพูดคุยกับ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสอบถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากอุณหภูมิโลกแตะ 1.5 องศาเซลเซียส – แน่นอนว่า น้ำท่วมที่รุนแรงคือหนึ่งในผลกระทบ
“ขณะที่อุณหภูมิโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างที่เห็นอยู่ชัดๆ ผลกระทบก็เห็นอยู่ชัดๆ ว่ามันเพิ่มขึ้น พายุไต้ฝุ่น หรืออะไรต่างๆ น้ำท่วมทุกอย่าง ภัยพิบัติ ก็เห็นอยู่ชัดๆ เพิ่มขึ้น จำนวนคนที่อพยพเพราะความแห้งแล้งในทวีปแอฟริกาก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสิบๆ ล้าน และจะพุ่งไปหาร้อยล้าน ภายในไม่ช้า
“ฝุ่นก็จะเยอะขึ้น เพราะป่าแห้งมากขึ้น ฝนก็จะตกอย่างรุนแรง กระทั่งดูไบก็น้ำท่วม โกโก้ก็จะไม่มีกิน ช็อกโกแลตก็จะไม่มีกิน ช็อกโกแลตจะราคาแพงเท่าทองคำ ปูม้าตอนนี้ก็ราคาขึ้นไม่รู้กี่เท่าแถมยังจองล่วงหน้า 2-3 วันกว่าจะได้กิน มันกระทบทุกสิ่งทุกอย่าง”
พงษ์ประภัสสร์ แสงสุริยง