น้ำท่วมซ้ำซากในหลายจังหวัด บ้านเรือนเสียหาย และมีผู้เสียชีวิต นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเหตุน้ำท่วมปี 2564
แม้หลายฝ่ายจะประเมินว่า ความรุนแรงอาจไม่เทียบเท่ากับปี 2554 แต่ปีนี้ก็มี ‘ลานีญา’ ปรากฏการณ์ที่จะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เราอาศัยอยู่นี้ เจอกับน้ำทะเลหนุนสูงและปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ แถมภัยพิบัติทางธรรมชาติก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตต่อจากนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)
แล้วเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับ climate change ปัญหาในการรับมือของประเทศไทยอยู่ตรงไหน ภาครัฐควรเตรียมความพร้อมอย่างไรกับภัยพิบัติที่จะหนักหน่วงขึ้นอีกในปีต่อๆ ไป The MATTER ไปพูดคุยกับ วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้กัน
อยากให้เล่าถึงสถานการณ์น้ำท่วมคร่าวๆ ก่อนว่า ทำไมปีนี้ถึงหนัก
ส่วนหนึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ลานีญา เข้ามาเร่งกำลังมากขึ้น คือไม่ใช่ปีฝนปกติ แต่เป็นปีที่มีปรากฏการณ์ลานีญาเข้ามา ซึ่งปริมาณน้ำฝนจะมีค่าเฉลี่ยเกินค่าเฉลี่ยปกติ นี่คือสาเหตุหลักๆ
เพราะฉะนั้น ปริมาณน้ำควรจะต้องมามากเมื่อเทียบกับปกติอยู่แล้ว ผมก็ไม่แน่ใจนะระดับความกังวล คือผมเองก็โพสต์เตือนก่อนหน้านี้แล้วว่า จะมีปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ เพราะฉะนั้นต้องเตรียมรับมือนะ ไม่ใช่ปีน้ำปกติ
แล้วทำไมถึงเพิ่งมีกระแสหลังจากที่น้ำท่วมแล้ว
ผมก็ไม่แน่ใจนะ มันเป็นเรื่องการสื่อสารของภาครัฐหรือเปล่าที่ทำให้คนเข้าใจว่าไม่สำคัญ แต่ในเชิงมุมมองของพยากรณ์อากาศ เราทราบกันอยู่แล้วว่ามันจะมาเยอะกว่าปกติโดยหลักการ อาจจะไม่ได้เท่ากับเมื่อปี 2554 เพราะว่าสถานการณ์มันต่างกัน หลายพื้นที่อาจจะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าเมื่อปี 2554 แต่ปัญหาของครั้งนี้คือ ฝนตกเยอะ พอตกเยอะ ถ้าเราไม่มีระบบระบายน้ำที่ดี เราไม่ได้เตรียมการอย่างทันท่วงที เพียงพอ ก็จะเป็นปัญหานั่นเอง
ในบ้านเรา เวลาฟังพยาการณ์อากาศจะเป็นลักษณะที่พยากรณ์ในวงกว้าง เช่น ภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองกระจาย มีฝนตกบางแห่ง แต่ไม่ได้มีการระบุในเชิงรายละเอียด คือในเรื่องของความแม่นยำ เรายังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า พื้นที่ไหนที่จะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง แล้วระบบ early warning ในพื้นที่นั้นจะเป็นอย่างไร
จริงๆ แล้วปัจจุบันนี้ การพยากรณ์อากาศเราทราบล่วงหน้ากันเป็นเดือน เดือนนึงก็อาจจะมีความคาดเคลื่อน แต่ก็ถือว่ามีความใกล้เคียงที่สูง ยิ่งระดับ 14 วัน ยิ่งมีความใกล้เคียงที่มากขึ้น
ฉะนั้น ระดับการเตือนภัยของภาครัฐต้องส่งสัญญาณให้เข้มขึ้น เพราะว่าการรับรู้ของภาคประชาชนเขาไม่ได้รู้สึกแตกต่างจากในอดีต ทำให้เราอาจจะระวังตัวเองน้อยลง อันนี้ไม่ใช่แค่ระวังตัวเอง การสื่อสารตรงนี้มันสื่อสารทั้งหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองด้วย
เรามีกรมอุตุฯ พยากรณ์อยู่แล้ว แต่เรื่องของการสื่อสารอาจจะต้องมีการปรับปรุงหรือเปล่า แล้วก็เรื่องของความแม่นยำในการพยากรณ์พื้นที่ ตัวน้ำจะมีความแตกต่างกัน พอพูดถึงแผนที่เรื่องน้ำ เราก็บอกว่าเรามี แต่ถึงเวลาน้ำท่วมปุ๊บ เราไม่สามารถระบุได้ว่าพื้นที่ตรงไหนยังไงบ้าง ตรงนี้ก็อาจจะเป็นประเด็น
หรือเกษตรกรบางคนเขาก็รู้ล่วงหน้ากันอยู่แล้ว แต่ก็ยังปลูกพืชอยู่ เพราะคิดว่าฝนจะมาน้อย หรืออาจจะไม่เชื่อ เขาอาจจะไม่ได้รับข้อมูล หรือยังเชื่อประสบการณ์ตัวเอง ซึ่งเดี๋ยวนี้เรามีแอพพลิเคชั่น มีดาวเทียม แต่ปัญหาที่ผมทำงานวิจัยมาคือ เกษตรกรใช้แอพพลิเคชั่นน้อยมากในการตรวจวัดสภาพอากาศ ส่วนใหญ่เขาน่าจะไปดูทีวีหรือฟังวิทยุ ซึ่งอย่างที่บอกว่า การพยากรณ์โดยทั่วไปของกรมอุตุฯ ไม่ได้เจาะลึกลงไปในเชิงพื้นที่ ไม่ได้บอกว่า ตำบลนี้ อำเภอนี้ต้องระวัง หรือถ้าจะดูแผนที่น้ำท่วมก็ต้องเข้าไปดูในเว็บไซต์ของ GISTDA ซึ่งไม่ user friendly คนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก นี่เป็นปัญหาว่า จะทำยังไงให้คนระดับล่างหรือประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายๆ
เพราะฉะนั้น การแปลงเนื้อหาที่ยากๆ ในเชิงเทคนิค ให้เข้าใจง่าย แล้วก็เพิ่มความแม่นยำตรงส่วนนี้ ผมว่าก็น่าจะทำให้คนตระหนักรู้และเตรียมการรับมือได้มากขึ้น
คือเหตุการณ์ภัยพิบัติเหล่านี้สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า?
ปรากฏการณ์ลานีญาเราทราบมาก่อนล่วงหน้าแล้ว การขุดคูคลองเพื่อระบายน้ำ ไม่ให้ตื้นเขิน ก็ควรจะต้องทำอยู่ก่อนแล้ว แต่ตรงนี้อาจเป็นอีกหนึ่งปัญหา ถ้าพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บ้านเรายังไม่มีแนวทางในการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ประเทศเรามีแผนนะ เคยได้ยินไหม แผนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนระดับชาติ แต่ว่าการส่งผ่านแผนลงไปถึงระดับภาคปฏิบัติยังมีปัญหาเยอะมาก หลักๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจะเจอมันมากขึ้นในอนาคต ทุกคนทราบดี ความไม่แน่นอนของอากาศจะแปรปรวนมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น ตรงนี้เราก็ต้องปรับตัว เรายังไม่มีระบบเตือนภัยที่แม่นยำชัดเจนเพียงพอ
หรือในเรื่องการปรับตัว แต่ละคนขีดความสามารถในการปรับตัวเท่ากันไหม เอาตั้งแต่คนทั่วไปนะ การศึกษาน้อย การศึกษามาก คนรวย คนจน ทุกคนก็พยายามปรับตัว ผมเชื่อว่าทุกคนก็ไม่อยากจะเจอน้ำท่วม แต่ขีดความสามารถในการปรับตัวแต่ละคนไม่เท่ากัน
ผมเป็นเกษตรกรความรู้น้อย ผมทำเต็มที่ก็ขุดลอกคูคลองแค่นั้นหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นเกษตรกรที่มีความรู้เยอะหน่อยอาจจะทำอย่างอื่นได้ แต่ผมอาจจะไม่มีเงินเพียงพอ เป็นต้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วย ภาค SME ก็เหมือนกัน พวกธุรกิจที่ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกร เขาก็มีองค์ความรู้จำกัด มีเงินจำกัด ตรงส่วนนี้ภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วย
การปรับตัวที่ว่านี้ต้องทำอย่างไรบ้าง
การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ มีอยู่ 2 แบบ คือ การปรับตัวในเชิงอัตโนมัติ เป็นการปรับตัวด้วยตัวเอง จริงๆ แล้วทุกคนก็พยายามปรับอยู่แล้วแหละ climate change เข้ามา พยายามหลบอยู่ในห้องแอร์ ไม่ไปเจออากาศร้อนมาก สุขภาพจะได้แข็งแรง เป็นต้น นี่คือตัวอย่างของการปรับตัวด้วยตัวเอง
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คืออะไร? อย่างที่บอกว่า แต่ละคนมีขีดความสามารถในการปรับตัวไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นจะต้องมีการปรับตัวอีกประเภทหนึ่งที่เราเรียกว่า การปรับตัวแบบมีการวางแผน ตรงนี้เป็นบทบาทของภาครัฐที่ต้องเข้ามาช่วย เช่น เรื่องของการสร้างระบบชลประทาน ต้องใช้เงินเยอะ คนทั่วไปเป็นไปไม่ได้หรอกที่เขาจะทำได้ หรือระบบเตือนภัยที่มีความแม่นยำสูง ใช้เทคโนโลยีทันสมัย นี่ก็เป็นไปไม่ได้ที่คนทั่วไปจะทำได้ ภาครัฐเองจะต้องมีการลงทุนตรงส่วนนี้
หรือถ้าเป็นเชิงเกษตร พวกระบบประกันภัยพืชผล ทำยังไงให้เขามีความเสี่ยงน้อย หรือการลงทุนวิจัยและพัฒนา ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติจะปลูกข้าว ถ้า climate change จะเข้ามา น้ำจะท่วม ฝนจะมา ผมต้องปลูกข้าวก่อนล่วงหน้าหรือหลังกี่วัน เรายังขาดงานวิจัยพวกนี้อยู่พอสมควรเลย คือเรารู้คร่าวๆ นะ งานศึกษาบอกไว้ว่าควรต้องปรับตัวยังไง แต่บริบทของประเทศไทยกับต่างประเทศ มันใช้ด้วยกันไม่ได้ แล้วที่ผ่านมาเรามีงานศึกษาวิจัยทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเชิงของการปรับตัวน้อยมาก งานวิจัยที่ชี้วัดเรื่องผลกระทบก็น้อยมาก
การปรับตัวจากภาครัฐควรเป็นอย่างไร?
อันดับแรกจะต้องประเมินผลกระทบก่อนว่า การเกิด climate change นี้ ใคร ในพื้นที่ไหน จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เราต้องระบุให้ได้ก่อน ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นเกษตรกร คือใครบ้าง คนกลุ่มไหน ไม่ใช่ทุกคน หรือถ้าเป็นธุรกิจ ส่วนไหน หรือพื้นที่ไหนแล้งซ้ำซาก น้ำท่วมซ้ำซาก อาจจะมีปัญหา
ฉะนั้น หน้าที่ของภาครัฐคือ ต้องทุ่มงบประมาณส่วนนี้ไปประเมินผลกระทบก่อน เพราะเวลาแก้ปัญหาเราไม่สามารถหว่านเงินทุกจังหวัด หรือแจกเงินทุกธุรกิจ ให้เงินเกษตรกรทุกคน ไม่มีวันพอแน่นอน เพราะหลักของการแก้ปัญหาคือ หนึ่ง-ต้องประเมินผลกระทบแล้วดูว่า ใคร ในพื้นที่ไหน ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดก่อน เรายังไม่มีตรงส่วนนี้ พอไม่มีปุ๊บเกิดอะไรขึ้น เราไม่รู้ว่าใครคือคนที่เดือดร้อนหรือเปราะบางจริงๆ
ถ้าเรารู้ปุ๊บเราสามารถดำเนินการขั้นตอนที่สองได้ คือ ปรับตัว ถ้าเขาจะเดือดร้อนมาก พื้นที่นี้เสี่ยงมาก ภาครัฐต้องไปช่วยแล้ว ทำยังไงให้เขาปรับตัวเพื่อลดผลกระทบให้ได้ จุดนี้ต้องการงานวิจัยต่างๆ มาสนับสนุน หรือบางอย่างเกษตรกรต้องปรับตัว แต่ต้นทุนในการปรับตัวเยอะ เช่น ผมปลูกข้าวอยู่ จู่ๆ จะให้ไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยอย่างข้าวโพด พูดเหมือนง่าย แต่คนทำเกษตรจะไปปลูกพืชอีกชนิดหนึ่ง มันใช้ความรู้ใหม่เลยนะ แล้วภาคเกษตรไทยมีความเสี่ยงมากเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ เกษตรกรของเรามีการศึกษาน้อย ที่ดินก็น้อย สถานะก็ยากจน อายุก็สูงวัย เขาไม่รู้จะปรับตัวยังไง ถ้าภาครัฐไม่ช่วยอะไร เขาก็ปรับตัวไม่ได้ เพราะเขาก็มีขีดความสามารถจำกัด ตรงนี้ภาครัฐต้องเข้าไปช่วย กลุ่มไหนที่เดือดร้อนก็ต้องเข้าไปช่วย ตรงนี้ก็ต้องเป็นบทบาทของรัฐบาล คือทำยังไงให้การปรับตัวของเกษตรกรหรือธุรกิจเขาปรับตัวได้ง่ายขึ้น เวลา climate change เข้ามา
ถ้าพูดถึงในเชิงของธุรกิจเขาก็มีความเสี่ยง อันนี้ผมพูดกว้างๆ นะ ถ้าผมสร้างโรงงานในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล อาจจะถูกน้ำท่วม หรือโรงงานอยู่ในพื้นที่ต่ำ นี่ก็เป็นความเสี่ยงของธุรกิจ นอกจากนี้ บางธุรกิจก็ต้องใช้แรงงาน ทำงานกลางแดด อนาคตอากาศร้อนขึ้น จากภาวะโลกร้อน คนทำงานร้อนๆ กลางแดด เมื่อก่อนทำได้ 8 ชั่วโมง ตอนนี้อาจจะทำได้ 6 ชั่วโมงหรือเปล่า มันทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลง สุขภาพก็ย่ำแย่ คนเป็น heat stroke เสียชีวิตก็มีเยอะ นี่เป็นมิติของผลกระทบที่เกิดขึ้น
ผมยกตัวอย่างให้เห็นว่า ธุรกิจก็ถูกกระทบ เกษตรกรก็ถูกกระทบ คนทั่วไปก็ถูกกระทบ ฉะนั้นตรงนี้ต้องระบุให้ชัดว่า ใครคือผู้เปราะบางมากที่สุด แล้วก็หาแนวทางแก้ปัญหา
แล้วการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบอีกทางหนึ่งที่อาจารย์พูดถึง คืออะไร?
แนวทางแก้ปัญหามีอยู่ 2 ทาง ทางแรกที่ผมพูดไปคือ เรื่องของการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ เพราะก๊าซเรือนกระจกปล่อยวันนี้ แต่มันยังไม่สูญสลายภายในวันนี้นะ ก๊าซหลายตัวใช้เวลา 50 ปี บางตัว 200 ปี บางตัวเป็นหมื่นปี หมายความว่า ต่อให้เราหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในวันนี้ ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ เพราะว่าก๊าซเรือนกระจกยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศ ห่อหุ้มโลกไว้อยู่ ดังนั้น ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทมากๆ
อีกทางคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะถ้าไม่ลด ชั้นบรรยากาศก็จะมีคาร์บอนไดออกไซด์ปกคลุมมากขึ้น โลกก็ยิ่งร้อนขึ้น การแก้ไขนี้จะช่วยลดผลกระทบในระยะยาว แต่ถ้าเรายังปล่อยอยู่ ผลกระทบในอนาคตก็จะยิ่งแรงขึ้น เพราะจริงๆ แล้วต้องทำควบคู่กัน การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบในระยะสั้น และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยให้ลดผลกระทบในระยะยาว
ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาข้ามรุ่น ข้ามวัย หมายความว่า ถ้าผมเป็นคนปล่อยก๊าซเรือนกระจกในวันนี้ คนได้รับผลกระทบจากโลกร้อน จากอากาศแปรปรวน ไม่ใช่แค่ผมหรือคนในรุ่นเดียวกัน มันส่งผ่านไปถึงคนรุ่นอนาคตด้วย
นี่ก็เป็นอีกมิติหนึ่งของปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ คือ คนรุ่นปัจจุบันทำให้คนรุ่นอนาคตได้รับผลกระทบ ซึ่งคนอนาคตก็คงไม่อยากได้รับผลกระทบ แต่ปัญหาคือ เขาไม่มีโอกาสนั่งไทม์แมชชีนมาคุย มาร่วมตัดสินใจว่า ‘เฮ้ย ห้ามทำนะ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำเขาเดือดร้อนนะ’ คนรุ่นปัจจุบันเป็นผู้ตัดสินใจทุกอย่าง
แล้วโดยหลักเศรษฐศาสตร์ ที่เรียกว่า self interest คือ เห็นประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้งก่อน ประโยชน์ส่วนรวมก็เห็นนะ แต่อาจจะเป็นเรื่องรอง สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ทุกวันนี้ประเทศไทยก็พยายามเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำยังไงให้ GDP เร่งตัวเพิ่มขึ้นๆ โดยไม่รู้ว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากแค่ไหน หรือสร้างมลพิษออกมาสู่สิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายแล้วคนในอนาคตก็เดือดร้อน
ฉะนั้น การกำหนดนโยบายของผู้กำหนดนโยบายเองก็ต้องคิดคำนึงถึงคนรุ่นอนาคตมากขึ้นด้วย ปัจจุบันนี้จะสังเกตได้ว่า หลายๆ นโยบายจะพุ่งเป้าไปที่เศรษฐกิจเยอะ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนน้อย ซึ่ง ‘ความยั่งยืน’ เป็นคำที่พูดกันเยอะ แต่ยังไม่เห็นความเป็นรูปธรรมของคำนี้ ยกตัวอย่างงบประมาณทางด้านสิ่งแวดล้อม เขาให้น้อยมาก งานสิ่งแวดล้อม งานบำบัด มลพิษต่างๆ ก็มีเยอะ แต่ให้งบประมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของมาเลเซียหรือของหลายๆ ประเทศที่อยู่ในระดับพัฒนาเดียวกัน ประเทศไทยได้งบส่วนนี้น้อยสุด
ตรงนี้ก็บ่งชี้แล้วว่า รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบายของประเทศไทยให้ความสำคัญน้อย และทุกอย่างไม่สามารถทำแค่สั่งการได้ เพราะเวลารัฐบาลสั่งการ ภาคเอกชนเขาได้รับผลกระทบเยอะนะ นะ เช่น บอกให้เขาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พูดง่าย แต่เขามีต้นทุนนะ ภาครัฐจะเข้าไปช่วยอย่างไรบ้าง ที่บ้านเรายังใช้น้อยคือ กลไกทางเศรษฐศาสตร์ สังเกตว่าหลายๆ เรื่องบ้านเราจะจบลงด้วยการใช้มาตรการบังคับ ฝ่าฝืนก็ทำโทษ ปิดโรงงาน โดนปรับ แต่ว่ามาตรการในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ช่วยปรับแรงจูงใจคนยังเอามาใช้น้อยมาก
ยกตัวอย่างเรื่องรถยนต์ ถ้าคุณปล่อยมลพิษออกมา ขับรถเผาไหม้น้ำมัน เผาไหม้ปุ๊บมันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และยังปล่อยมลพิษอื่นอีกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเราคือ รถยิ่งเก่ายิ่งเก็บภาษีถูก คนก็ยังใช้รถเก่าต่อไป เวลาเผาไหม้น้ำมันคาร์บอนฯ ก็ยิ่งออกไปเยอะ เพราะรถยิ่งเก่า เทคโนโลยีก็เก่า การปล่อยมลพิษก็เยอะ เรายังใช้นโยบายที่เอื้อกับเศรษฐกิจค่อนข้างมากและยังไม่ปรับเปลี่ยน
เราต้องปรับเปลี่ยนเศรษฐศาสตร์ให้ช่วยปรับพฤติกรรมคน แล้วในเชิงเศรษฐศาสตร์ เราเชื่อว่าต้นทุนในการปฏิบัติตามจะถูกกว่าการบังคับใช้ คือในเชิงการเมืองคนมักคิดว่า การปฏิบัติตามเหมือนๆ กันเป็นความยุติธรรม แต่ในเชิงปฏิบัติจริง สมมติผมเป็นธุรกิจรายเล็ก คุณเป็นธุรกิจรายใหญ่ ถ้าผมต้องทำให้ได้มาตรฐานเดียวกับคุณเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่รัฐบาลบอก คำถามคือ มันเท่าเทียมกันไหม มันเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้น เพราะขีดความสามารถในการปรับตัว ในการปฏิบัติตามแต่ละคนไม่เท่ากัน
ฉะนั้น มาตรการที่สร้างแรงจูงใจจะช่วยได้ จะทำให้ต้นทุนของสังคมในการปรับตัวง่ายมากขึ้น และทำให้ต้นทุนต่ำลง ตรงนี้อยากให้ภาครัฐเข้าไปช่วยและใช้นโยบายที่เป็นแรงจูงใจให้มากขึ้น ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง มีงบประมาณที่เพียงพอ คือไม่ใช่พูดตามแผน แต่ต้องมีเงินด้วย เพราะถ้าเกิดไม่มีเงิน ทุกอย่างก็ไม่มี ไม่มีเงินคนก็ไม่มาทำ งานก็ไม่เดิน สุดท้ายก็ไม่เกิดอะไรขึ้น
แต่เวลาพูดถึงปัญหา climate change คนส่วนมากจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง ตรงนี้มองว่ายังไงบ้าง?
จริงๆ ตรงนี้เป็นปัญหาบ้านเรา คือ เรื่องการสร้างความตระหนักรู้ เคยเห็นภาครัฐสร้างความตระหนักรู้เรื่อง climate change ไหม น้อยมาก ทำให้คนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะอะไรล่ะ? ถ้าผมร้อน ก็เข้าห้องแอร์ไปสิ มันจบแค่นั้นหรือเปล่า เราก็เห็นว่ามันไม่ได้จบแค่นี้ มันใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว แต่เรายังไม่ค่อยเห็นภาครัฐเขยิบมาทำให้คนรู้สึกว่ามันใกล้ตัว
หลักฐานเชิงประจักษ์มีอยู่แล้ว ข้อมูลจากหน่วยงาน Germanwatch ของเยอรมนี เขาจัดให้ประเทศไทยเป็น Top 10 ของประเทศที่มีความเสี่ยงทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในเรื่องของการสูญเสียในเชิงมูลค่าชีวิตและทรัพย์สิน เราติด Top 10 มาประมาณ 6 ปีแล้ว แต่สังคมไทยไม่ค่อยทราบเท่าไหร่
หน่วยงานต่างประเทศประเมินว่า GDP ไทยจะลดลงเยอะถึง 6-40% เราก็ไม่เคยได้ยินข้อมูลนี้ออกมาสร้างความตระหนักรู้ว่ามันจะกระทบยังไงบ้าง หรือธุรกิจจะกระทบยังไง ตรงนี้ผมว่า ภาครัฐต้องเริ่มทำให้คนเห็นความสำคัญ ถ้าเกิดคนไม่เห็นความสำคัญเขาก็ไม่ปรับตัว
จริงๆ แล้ว ต้องทำควบคู่กัน นโยบายภาครัฐก็สำคัญ ถ้าพูดถึงเกษตรกร เคยเห็นนโยบายภาครัฐเวลาเขาให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรไหม เวลาผมปลูกข้าวแล้วข้าวเสียหาย ต้องทำยังไง รัฐจะมาจ่ายเงินเยียวยา จบแค่นั้นไหม จบ แล้วปีหน้าข้าวผมตายอีก ผมก็ได้เงินอีก กลายเป็นว่าเกษตรกรไม่ได้ปรับตัวเลย เพราะยังไงเดี๋ยวภาครัฐก็ให้เงิน เหมือนกับเลี้ยงทารก ปีหน้าก็ต้องให้ ต้องเลี้ยงไปเรื่อยๆ ในเชิงของเศรษฐศาสตร์เรียกว่า อุตสาหกรรมทารก อุตสาหกรรมที่ต้องสนับสนุนตลอดเวลา ยังไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง
ฉะนั้น ภาครัฐต้องให้เงินช่วยเหลืออนาคต ไม่ใช่แค่ให้เงินเยียวยา ให้เปล่า ต้องมีเงื่อนไขด้วยว่า คุณได้เงินไปแล้วคุณต้องเอาเงินไปปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกนะ ไม่ใช่ปลูกแบบเดิมต่อไป คุณต้องมีทางระบายน้ำ หรือต้องปลูกพืชอื่นให้เหมาะสมกับพื้นที่ ถ้าพื้นที่คุณเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำท่วมง่าย ต้องปลูกพืชอะไร บ้านเราจะมีปัญหานี้ ปลูกพืชไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ปลูกเสียหายยังไงเดี๋ยวได้เงิน ภาครัฐจะต้องปรับเปลี่ยนระบบให้มีแรงจูงใจเพื่อให้เกษตรกรปรับตัวด้วย
นโยบายภาครัฐมีส่วนสำคัญมากเลยนะ บางทีการให้นโยบายที่ไม่ถูกต้องมันเป็นการซ้ำเติมผลกระทบ แทนที่คนจะปรับตัว ก็ไม่ปรับตัว ปีหน้าเราจะยิ่งเสี่ยงขึ้นไปอีกนะ เพราะความรุนแรงของ climate change จะยิ่งมากขึ้น เขาเรียกว่าเป็น misbehaving ในเชิงของเศรษฐศาสตร์ ซึ่งไม่ควรจะทำ แต่ทีนี้จะมีมิติของการเมืองที่เราเข้าใจ ให้เงินเกษตรกรเพื่อให้ฐานเสียงมาก่อน แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ได้ช่วยเขาในระยะยาว
ที่อาจารย์พูดถึงเรื่องของแผนระดับชาติเรื่อง climate change ในไทย เรามีใช่ไหม แล้วเป็นอย่างไรบ้าง?
ใช่ เรามีนะ เป็น master plan เลย แต่อย่างที่บอก master plan มี แต่ action plan ก็ควรจะต้องมีให้มันชัดเจน อาจจะมีชัดเจนแต่งบประมาณไม่พอ มันก็ทำอะไรต่อไม่ได้ ปัญหาตรงนี้มันเป็นปัญหาที่ใหญ่ เบื้องต้นอาจจะต้องใช้งบประมาณที่เยอะ
นอกจากงบประมาณ คือ กำลังคนด้วย มันก็มาพร้อมกันแหละ ถ้าเงินเยอะคนก็มา ถ้าเงินน้อยคนก็ไม่มา แล้วการสร้างความตระหนักรู้ก็สำคัญ เลยทำให้เราไม่ค่อยได้เห็นตรงส่วนนี้ งานวิจัยก็มี แต่น้อย ต้องส่งเสริมให้เยอะมากขึ้น เพราะอนาคตเราจะเจอกับความเสี่ยงที่มากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างภาคเกษตรที่ผมทำประเมินก็ตกอยู่ปีละประมาณ 84,000 ล้านบาท เฉลี่ยต่อปีนะ ถ้าสมมติเอาความเสียหายสะสมประมาณ 25 ปีรวมกัน อยู่ที่ประมาณ 2.85 ล้านล้านบาท โอกาสที่จะสูญเสีย อันนี้เป็นมุมมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ซึ่งผมวิเคราะห์ภาคเกษตรอย่างเดียวนะ
ปกติรายงานของภาครัฐจะพบความเสียหายน้อย เพราอะไร? ถ้าปลูกพืช พืชต้องตายจริงๆ ถ้าไม่ตายจริงๆ ไม่โดนท่วมเรียบ ไม่ได้เงินนะ เพราะไม่ถือว่าเสียหาย แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เลย เช่น ถ้าผมปลูกพืช ผลผลิตจะได้ต่อไร่ 500 กก. แต่ผมเจอ climate change ผมได้แค่ 400 กก. น้อยกว่าเดิม 100 กก. ข้าวผมไม่ตายนะ แบบนี้ก็ถือว่าได้รับผลกระทบ แค่มันไม่ได้สูญเสีย 100% แต่กลับไม่ถูกนับว่าเป็นความสูญเสียในเชิงของภาครัฐ แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ไม่ได้นะ ทุกอย่างคุณมีค่าเสียโอกาส ฉะนั้น คุณต้องคำนึงถึงผลกระทบส่วนนี้ด้วย พวกนี้มันเป็นอะไรที่ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้มากขึ้น แล้วก็คำนวณจริงๆ ไม่ใช่แค่งบประมาณที่ใช้จ่ายเพื่อบรรเทาเยียวยา มันต้องพูดถึงมูลค่าความสูญเสียที่เราเสียโอกาสด้วย
ทำไมงานวิจัยเรื่อง climate change ของเราถึงมีน้อย?
เพราะมีงบประมาณน้อย พูดแบบง่ายๆ นะ เอามิติภาคการเกษตร เป็นภาคที่มีงบวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกติดต่อกันมาหลายปีแล้ว เราต่ำกว่า 1% มาหลายปี ถ้าเทียบในระดับประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงตามธนาคารโลก ปกติเขาอยู่ที่ประมาณ 3-4% งบประมาณวิจัยและพัฒนา บ้านเราไม่ถึง 1% คือน้อยมาก แล้วถ้าทำเรื่อง climate change ตรงๆ ก็จะไม่ค่อยได้เงิน แต่ปัจจุบันเริ่มดีขึ้นแล้ว เพราะกระแสโลกมันเปลี่ยน
ตอนนี้สหภาพยุโรปมี European Green Deal สหรัฐอเมริกาก็ขันแข็งมาแล้ว ถ้าในอนาคตภาครัฐยังไม่ปรับตัว ยังให้ผลิตสินค้าที่ปล่อยมลพิษเยอะ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก เราอาจจะโดนภาษี โดนมาตรการกีดกันทางการค้า นี่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น คำถามคือ จะรอวันนั้นไหม จะรอโดนบีบไหม หรือปรับตัวเนิ่นๆ ดีกว่าหรือเปล่า ความเสียหายจะได้ไม่มาก ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องปรับตัวเช่นกัน แต่ทุกวันนี้ เราให้เศรษฐกิจมาก่อน
ทำนองว่า เมื่อมันเป็นเรื่องระดับโลก ทั้งโลกก็ต้องปรับตัวเชื่อมโยงกันไป?
จริงๆ ต้องบอกว่า มิติของเศรษฐศาสตร์ เราจัดว่า climate change เป็นสินค้าสาธารณะระดับโลก หมายความว่า เอาง่ายๆ นะ ถ้าประเทศไทยเป็นคนดี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โลกก็ดีด้วย เพราะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ climate change ลดลง
แต่ถ้าสมมติจีนบอกจีนไม่ทำ ไม่ลด จีนได้ประโยชน์ไหม ได้ เพราะโลกใบเดียวกัน ก๊าซเรือนกระจกก็เหมือนธูป เราจุดธูป ควันธูปมันไม่ได้อยู่แค่บนหัวเรา แต่มันจะกระจายไปตามเพดานห้อง ก๊าซเรือนกระจกก็เหมือนกัน ปล่อยจากประเทศไทยหรือประเทศจีน สุดท้ายแล้วมันจะไปเกลี่ยในชั้นบรรยากาศโลก เพราะเราอยู่บนโลกใบเดียวกัน ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ถ้าประเทศไทยทำ จีนไม่ทำ จีนได้ประโยชน์ ไทยกีดกันจีนไม่ได้ด้วย ยังไงจีนก็ได้ประโยชน์ แล้วมันจะเกิดปัญหาที่เรียกว่า free rider ในทางเศรษฐศาสตร์ คือการกินแรง ไม่ทำเดี๋ยวก็ได้ประโยชน์ แล้วจะทำทำไม
ปัญหาพวกนี้มันต้องอาศัยความร่วมมือระดับนานาชาติที่เข้มแข็งด้วย แต่ปัญหาบ้านเรา การใช้เงินงบประมาณเพื่อปรับตัวกับการใช้งบประมาณเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ้าจัดลำดับความสำคัญเราควรจะเน้นเรื่องปรับตัวก่อน เพราะเราเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา คนเราอาจจะขีดความสามารถไม่พอ
ฉะนั้น ทางตรงคือ ทำยังไงให้คนในประเทศเดือดร้อนน้อย กระทบน้อยก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยไปช่วยโลก คือช่วยได้นะ ถ้าให้ดีใช้นโยบายเดียว ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวยิ่งดีเลย ยกตัวอย่างเช่น ภาคเกษตรให้ปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ที่เวลาเอาน้ำเข้านา ปกติเขาจะขังน้ำในนา แล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน จะหมักหมมเยอะ เพราะน้ำท่วม วิธีของเขาคือ ดึงน้ำออกไม่ให้ขังตลอดเวลา ทำให้มีเทนน้อยลง วิธีการนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่ม ต้นทุนเกษตรกรลด เป็น co-benefits ที่มันเกิดขึ้น
แต่มาตรการพวกนี้ต้องใช้เงินทั้งนั้น ถ้าผมจะให้เกษตรกรไปปรับเปลี่ยน คำถามคือ จะช่วยเขายังไง ผมมองว่า ในขั้นต้นต้องให้ความช่วยเหลือก่อน ต้องให้เงินปรับตัว แต่ปัจจุบันบ้านเรา แก้แค่จุดเดียว ไม่ได้มองทั้งระบบ สมมติไปอบรมแนวทางให้ประชาชน อบรมแล้วใช้การได้จริงหรือเปล่า มาอบรม 3 ชั่วโมง ไม่มีพี่เลี้ยง แล้วก็ไป คำถามคือ อย่างนี้ซื้อใจเกษตรกรได้ไหม หรือซื้อใจธุรกิจได้ไหม อบรม 3 ชั่วโมง พูดง่าย แต่คนทำจริงยาก แล้วองค์ความรู้ก็ไม่มี งบประมาณก็ไม่มา สุดท้ายแล้วมันปรับตัวลำบาก
ในต่างประเทศ เวลาเขาทำ เขาให้เป็นแพ็กเกจ มันมาพร้อมทั้งเงิน ทั้งความรู้ ทั้งพี่เลี้ยง ทั้งหลักประกัน ถ้าสมมติคุณทำแล้วไม่เวิร์ก คุณมีเงินช่วยเหลือ เพื่อให้ความมั่นใจเกิดขึ้น บ้านเราคนไม่มั่นใจ เพราะว่าไม่มีหลักประกันอะไรเลย
สรุปคือ นโยบายก็ต้องปรับเปลี่ยน ทำยังไงให้นโนบายนำไปสู่การปรับตัวของเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการรับมือ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ซึ่งนโยบายบ้านเราเป็นลักษณะให้เปล่า เยียวยา ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นเลย
กลับมาเรื่องปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เราไม่ได้เพิ่งเจอแค่ปีนี้ ปี 2554 เราก็เจอมาแล้ว เจอเยอะด้วย แต่มันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ เพราอะไร ผมว่าก็กลับมาเรื่องเดิม เรามีแผนนานแล้ว แต่ว่าการส่งผ่านแผนลงสู่ภาคปฏิบัติมันยังขาด เราก็บอกเสมอ เรามีบทเรียนปี 2554 แล้ว ไม่มีปัญหา แต่ถึงเวลาก็มีปัญหาอยู่ดี แล้วปัญหาก็เกือบจะเป็นที่เดิมเสียส่วนใหญ่
พูดถึงเรื่องน้ำ จากงานวิจัยเรื่องกรุงเทพฯ จะจมน้ำในอีก 30 ปี แบบนี้เราต้องย้ายเมืองหลวงกันหรือเปล่า?
กรุงเทพฯ จะจมน้ำเป็นความจริงแน่นอน ถ้าเราดูจากสถิติการทรุดตัวของแผ่นดินกรุงเทพฯ สมุทรปราการต่างๆ นานา เราใช้น้ำบาดาลเยอะมากขึ้น มีการสร้างตึกด้วย สถิติมันมีบันทึกอยู่แล้วว่ากรุงเทพฯ ทรุดตัวทุกปี แล้วอนาคตน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นจากโลกร้อน แผ่นดินเราต่ำลง น้ำทะเลสูงขึ้น อนาคตเราเจออยู่แล้ว ในต่างประเทศก็ต้องเริ่มสร้างคันกั้นน้ำ หรือเรื่องของการใช้น้ำบาดาล เรามีการควบคุมการใช้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องชะลอ ถ้าใช้กันหนักหน่วงมาก ก็ทรุดเร็วมากขึ้น
ฉะนั้น จึงต้องทำควบคู่ อย่างคันกั้นน้ำ กำแพงกั้นน้ำ ก็ต้องทำให้มันสูงขึ้นหรือเปล่า แต่ก็ไม่ควรทำทำคันกั้นน้ำสูง แล้วยังอยู่ในพื้นที่นั้นต่อไป เคยเห็น New Orleans ของสหรัฐฯ ไหม เขาสร้างคันกั้นน้ำที่สูงมากเลยนะ แล้วคนก็เข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่นั้น เพราะเข้าใจว่ากำแพงจะช่วยได้ แล้วสุดท้ายก็โดน ไม่เคยชนะธรรมชาติ
ฉะนั้น เรามีการบูรณาการการใช้ที่ดินกับเรื่องน้ำมากน้อยแค่ไหน อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่บ้านเราเลย เรามักคุยกันบ่อย เราสร้างสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ เราเคยเอาเรื่องนี้มาพูดหรือเปล่า หรือเวลาเราสร้างห้างสรรพสินค้า เราใช้น้ำที่ระบายออกมาในท่อเดียวกับท่อสาธารณะ มันทำให้การระบายน้ำขาดประสิทธิภาพ มันต้องเป็นคนละท่อกัน หรือท่อใหญ่ขึ้น แต่มันกลายเป็นทุกคนก็ใช้สาธารณะ ฉะนั้น ปริมาณน้ำที่ออกมากับน้ำที่ระบายได้จริงมันน้อยมาก เพราะเราไม่เคยบูรณาการ
ปัญหาเรื่องผังเมือง พูดแล้วก็ยาว เห็นปัญหาตั้งแต่โรงงานกิ่งแก้วระเบิด เรารู้อยู่แล้วว่าพื้นที่ไหนสูงต่ำ สังเกตว่า พื้นที่ที่ท่วมเป็นเมืองทั้งนั้นเลย เพราะไปสร้างที่ขวางทางน้ำ แล้วเราก็ให้ความสำคัญกับระบบระบายน้ำน้อยมาก เน้นใช้งบประมาณถูก แทนที่ทำถนนแล้วจะต้องสร้างท่อข้างใต้ให้น้ำลอดผ่าน ประหยัดงบใช้ท่อเล็กๆ สุดท้ายแล้วระบายน้ำไม่ทัน แล้วก็ท่วม ท่วมก็ดี ได้สร้างถนนใหม่ ใช้จ่ายงบประมาณอีก
ประเด็นคือ เราได้มีการบูรณาการเรื่องพวกนี้เข้าไปอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน อนาคตโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทุกอย่าง ถ้าเป็นในต่างประเทศ คุณควรจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง ต้องคิดเผื่อ เพราะโครงสร้างพื้นฐานเขาไม่ได้อยู่กับเราแค่ 10 ปี อย่างสะพานหนึ่งเขาอยู่กับเราเป็นร้อยปี ถ้ามีการซ่อมบำรุงดีๆ สมมติถ้าโครงสร้างพื้นฐานมันไม่ได้รองรับ สุดท้ายก็จะถูกผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแน่นอน
สำหรับประเทศไทยตอนนี้ เราอยู่ในจุดที่เรียกว่า the point of no return แล้วหรือยัง
ทุกอย่างที่เป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มันเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า irreversible costs ถ้า climate change เกิดขึ้นแล้วมันยากที่จะเอากลับคืนมา ทุกอย่างถ้าหายแล้วก็หายไปเลย คำถามคือ จากนี้ไปเราจะลดการสูญเสียได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้เป็นหลักการเลย
โลกร้อนแล้วจะให้โลกกลับมาเย็นเหรอ ความเสียหายมันเกิดขึ้นแล้วจะเอากลับคืนมายังไง มันเสียหายไปแล้ว ในเชิงเศรษฐศาสตร์ถือว่าหมดไปแล้ว แต่ต้องทำยังไงให้ผลกระทบในอนาคตลดลงได้
ปัญหาน้ำท่วมเราเจอกันมากี่ปีแล้ว ทำไมยังเกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอยู่ตลอด แล้วเรายังถูกจัดอันดับ top 10 ของประเทศที่ติดความเสี่ยงในเรื่อง climate change อยู่ ผมก็ไม่แน่ใจว่า ถ้าปรับตัวจริงๆ ทำไมเรายังอยู่ในโซนนี้ ถ้าเราปรับตัวจริงๆ หรือลงทุนอย่างจริงจัง เราควรจะต้องหลุดพ้นจากโซนนี้หรือเปล่า ถ้าไปดูประเทศ top 10 ในโลกที่เป็นประเทศความเสี่ยง เป็นประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าประเทศไทยทั้งนั้นเลย
ประเทศไทยโตแต่ตัว คือเศรษฐกิจดีมาก แต่ภูมิคุ้มกันแย่ แถมยังเปราะบาง เน้นแต่ปั๊มเงิน แต่เราไม่เน้นว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองยังไง บทเรียนในอดีตก็มี แต่เราก็ยังปรับตัวช้า
ผมขอพูดเพิ่มเติมอีกนิดว่า ปัญหา climate change ถ้าพูดถึงภาครัฐหรือในเชิงของการเมือง ปกตินักการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบายภาครัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญ เพราะอะไร ทำวันนี้ กว่าจะเห็นผลอย่างน้อยอีก 5-10 ปี แต่อยู่ในตำแหน่งไม่นาน เป็นปลัดกระทรวง 2 ปี หรือเป็นนักการเมือง 4 ปี เดี๋ยวก็เลือกตั้งใหม่ เลยต้องทำอะไรที่เห็นหน้า ถ่ายรูปได้ ได้คะแนนเสียงก่อน
เลยกลายเป็นว่า ไม่เกิดการแก้ปัญหาระยะยาวขึ้น นโยบายเป็นแบบเอาง่าย เอาเร็ว แก้ปัญหาแบบขายผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน หมดตำแหน่งเดี๋ยวค่อยว่ากัน มันกลายเป็นปัญหาจริงๆ ที่เป็นภูเขาน้ำแข็งที่ไม่ถูกแก้ไข ทุกคนแก้เฉพาะภูเขาที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ แต่ภูเขาใต้น้ำทุกคนไม่แก้ เพราะว่าไม่มีอะไรผูกพันกับตัวเอง ฉะนั้น คนรุ่นหน้าหรือวาระหน้าก็ค่อยว่ากัน
ประเทศไทยเราไม่ได้มี commitment สมมติงบประมาณก้อนหนึ่ง 100% มันไม่มี commitment ว่า 40% นั้นห้ามยุ่งห้ามแตะ อันนี้เป็นงบประมาณสำหรับโครงสร้างขั้นพื้นฐานจริงๆ หรือสำหรับภูมิคุ้มกันประเทศจริงๆ ห้ามไปยุ่งเลย แผนมายังไงก็เป็นอย่างนั้น แต่ถึงเวลาเราไปปรับหมด เราโยกงบเพื่อที่จะเอามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมันเป็นแค่ผลกระทบระยะสั้น ไม่ใช่ผลกระทบระยะยาว
มันเกี่ยวข้องกับระบบการเมืองที่ไม่เข้มแข็งของประเทศเรา ที่ทำให้ไม่มีนโยบายหรือแผนระยะยาวด้วยหรือเปล่า
ก็ใช่ ถ้าพูดกันตามหลักวิชาการ ยังไงทุกคนก็ต้องเห็นความสำคัญของประเทศเป็นหลัก ซึ่งก็กลับมาเรื่องเดิม ทุกนโยบายที่มีการใช้ ถ้าสังเกต มีกี่นโยบายที่ส่งผลระยะยาวจริงๆ น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เยียวยาเยอะๆ งบประมาณที่ใช้จ่ายหนักๆ คือต้องเริ่มมีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ในเชิงของการแก้ปัญหาระยะยาวจริงๆ
อย่างงบประมาณเกษตร ถามว่ารายจ่ายส่วนใหญ่ไปไหน ใน 100% ของงบประมาณใช้จ่ายของรัฐบาล ของกระทรวง จะบอกว่าเกิน 80% ไหมที่เน้นเรื่องเงินเยียวยาช่วยเหลือ แทรกแทรงราคา แล้วปีหน้าก็แทรกแซงใหม่ ประกันรายได้ใหม่ มันกลายเป็นใช้เงินเพื่อผลกระทบระยะสั้น แต่ไม่ได้ทำให้เขาสร้างภูมิคุ้มกัน หรือไม่ได้สร้าง return ในอนาคต