การอยู่ตามลำพัง กับความรู้สึกเหงาและเดียวดาย ไม่เชิงว่าเป็นเรื่องเดียวกันซะทีเดียว
เราอาจจะนั่งอยู่คนเดียว แต่หัวใจของเรารักความรู้สึกสันโดษ ชอบการอยู่ลำพัง แต่ขณะเดียวกัน เพลงป็อบก็บอกกับเราว่า คนเดียวไม่เหงาเท่าสามคน การนั่งอยู่ท่ามคนจำนวนมาก บางครั้งในใจของเราอาจยิ่งรู้สึกเหงาจนแทบทนไม่ไหว
สำหรับความเหงา อันที่จริง ไม่เชิงว่าความเหงาจะเกี่ยวกับจิตใจของเรา ว่าเราจะรักการอยู่ลำพังมากน้อยแค่ไหนเพียงอย่างเดียว ความเหงายังสัมพันธ์กับบริบททางสังคมด้วย เราอยู่ในโลกที่มองไปทางไหนก็คาดหวังให้เรามีคนรัก ยิ่งในโลกออนไลน์ เราเชื่อมต่อกับผู้คน กับเรื่องราวจำนวนมหาศาลอยู่ตลอดเวลา ในเมืองที่เต็มคนแปลกหน้า คืนวันศุกร์ที่ทำคนออกไปสนุกสนาน แต่เราที่นอนอยู่กับมือถือและโซเซียลในมือที่แสนอึกทึก เราเหงาง่ายขึ้นเรื่อยๆ มีความสุขเมื่อตอนอยู่คนเดียว ยากขึ้น
เราจะอยู่ลำพังได้โดยไม่เดียวดาย เหมือนกับชื่อวงว่า Solitude Is Bliss ได้ไหม อะไรคือนัยและพลังของการอยู่ลำพัง เราจะหาความหมายในความโดดเดี่ยวและการมีความสุข การรักตัวเราเอง ไปจนถึงการเติบโตทางความรู้สึกที่เราเก็บเกี่ยวได้จากการอยู่ตามลำพัง บางครั้งในโลกของความโกลาหล การรักที่อยู่ตามลำพัง อาจเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ทำให้เราใจเราไม่พัง
Solitude is Bliss
ความเหงาและความสันโดษ เป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างซับซ้อน ในบริบททางอารมณ์ของการที่อยู่ตามลำพัง โดยคร่าวความเหงาค่อนไปทางความรู้สึกเชิงลบ เมื่อเราอยู่ตามลำพังแล้วเกิดความรู้สึกว่างเปล่า ถูกทอดทิ้ง เกิดความต้องการที่จะเชื่อมต่อกับผู้คนหรือสิ่งอื่นใด เป็นความเจ็บปวดและน่าเบื่อหน่าย
กลับกัน คำว่า Solitude คือความรู้สึกรักในการได้อยู่ตามลำพัง ไม่ได้รู้สึกว่างเปล่าแต่เติมเต็ม ไม่รู้สึกว่ามีอะไรขาดหายไป ถ้าเรานึกภาพของนักคิดและการใช้ชีวิตในอุดมคติในยุคโบราณ เราก็อาจเห็นภาพนักคิดและกิจกรรมการคิดที่สัมพันธ์กับการได้อยู่ตามลำพัง เห็นภาพนักปราชญ์ที่อยู่ในธรรมชาติ เห็นภาพของบุรุษสตรีที่นั่งอยู่กับหนังสือ อยู่ในสวนหรือในห้องสมุด เห็นภาพการเดินเตร่ไปตามถนนตามลำพัง
ในปรัชญาความคิด การอยู่อย่างสันโดษมีนัยหลากหลาย ในมิติทางศาสนาและคำชี้แนะในการใช้ชีวิต การอยู่ตามลำพัง เรียนรู้ที่จะเดินทางเข้าไปภายในตัวเองดูจะเป็นแกนของการค้นพบความจริงและสันติสุขที่อยู่ภายใน การทำสมาธิ การสวดภาวนา หรือการปลีกวิเวกต่างๆ ล้วนเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อว่าเราเรียนรู้ได้ผ่านการอยู่ตามลำพัง
กวีสำคัญ เช่น เพทราก (Petrarch) เชิดชูความสันโดษไว้ในฐานะพื้นที่ของการเยียวยาจิตวิญญาณ แก้ไขคุณธรรมในใจ รื้อความเสน่หาให้สดใหม่ ลบรอยด่าง ล้างความผิดพลาด และพาเรากลับเข้าสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง (rehabilitates the soul, corrects morals, renews affections, erases blemishes, purges faults, (and) reconciles God and man.)
นอกจากมิติทางจิตวิญญาณที่มักหมายถึงการแสวงหาความหมายตามลำพังแล้ว ในแง่กิจกรรมทางโลก การอยู่ลำพังนับเป็นเงื่อนไขสำคัญในการฝึกตน หรือบางส่วนก็อาจจะสัมพันธ์กับปรัชญาที่เน้นความเจริญใจและการหาความสุขให้ชีวิต เบื้องต้น การทำงานในฐานะการฝึกทักษะ การฝึกฝน อ่านเขียนไม่ว่าจะเชิงความคิดหรืองานฝีมือ การอยู่ตามลำพังในห้องเฉพาะนับเป็นกระบวนการสำคัญ
ในอีกด้านนักคิดในหลายสำนักเช่นยุคเรเนซองค์ก็ค่อนข้างมองว่าการรักความสันโดษเป็นการให้อิสระกับชีวิต เหล่านักปรัชญาผู้ชมชอบการมีชีวิตมักให้ภาพการเดินเล่นตามลำพังและค้นพบความงามในประสบการณ์ การมีอิสระมีคำกล่าวในช่วงศตวรรษที่ 16 ว่า เมื่อนึกอยากจะเต้นรำก็เต้น เมื่อนึกอยากจะนอนก็นอนหลับ การที่เราอยู่ตามลำพังทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เราต้องการและทำไปตามความปรารถนาของเราได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
กำจัดความเหงา- ไม่ง่าย
ที่พูดมาทั้งหมดเป็นวิถีของนักคิดชั้นแนวหน้า เหล่าผู้คนที่เข้าใจโลกและเรียนรู้ที่จะอยู่ลำพังกันมาอย่างเจนจัด ด้วยความที่เราเองเป็นคนธรรมดาสามัญ ความรู้สึกเหงาที่ผุดขึ้นมาซะเฉยๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับความเหงานั้นๆ ในบางข้อเขียนร่วมสมัยถึงกับบอกว่าการอยู่ลำพังนั้นต้องอาศัยการเรียนรู้ ความสันโดษเป็น ‘ทักษะ’ อย่างหนึ่ง คือเราต้องฝึกฝน ต้องพยายามทั้งทำความเข้าใจและจัดการความคิดเพื่อให้เราอยู่กับตัวเองได้อย่างสันติและสวยงาม
อย่าลืมบอกกับตัวเองว่า การอยู่ตามลำพังให้ใจไม่พังนั้น ไม่ง่าย ความเหงาเป็นเรื่องปกติ ค่อยๆ จัดการความรู้สึกไปเรื่อยๆ ไม่ให้ใจเหงาจนเจ็บเกิน
มีเรื่องน่าสนใจในยุคสมัยแห่งความรู้ ที่เราอ่านเรื่องราวมหาศาล และเชื่อมต่อกับผู้คนได้ตลอดเวลา เราอาจจะรู้จักเข้าใจสารพัดสิ่งและสารพัดผู้คนบนโลกนี้ แต่เมื่อเราเปิดไปสู่โลกภายนอกมากเข้า สุดท้ายเราเองหลงลืมที่จะเข้าใจตัวเองไป โอกาสของการอยู่ลำพังคือการที่เราได้อยู่กับตัวเองอีกครั้ง ได้กลับไปเรียนรู้ ไปฟังเสียง หรือกระทั่งพูดคุยสนทนากับตัวเราเอง การกลับมาอยู่กับตัวเองไม่เชิงว่าเราจะกลับกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว แต่อาจเป็นการตัดสินใจให้เวลากับตัวเอง ให้เป็นอิสระจากอิทธิพลจากภายนอกเป็นครั้งคราว
การรักและเลือกที่จะอยู่ลำพัง เรียนรู้ที่จะครุ่นคิด ทบทวน หรือทำกิจกรรมที่สมบูรณ์ด้วยตัวเราเอง ในเชิงสังคม การรักสันโดษอย่างเหมาะสมสัมพันธ์กับการวางระยะห่างของเราต่อคนรอบข้างอย่างเหมาะสม การเรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียว ปลีกตัวออกจากผู้คนแม้จะเป็นคนที่เรารักบ้างนั้น มีงานศึกษาชี้ให้เห็นว่า เราเองได้ถอยออกมามองโครงข่ายและรายละเอียดของความสัมพันธ์ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เรามีแนวโน้มที่จะมีความเข้าอกเข้าใจ การเรียนรู้ที่จะทั้งเคารพตัวเอง เคารพตัวตนและพื้นที่ของคนอื่น ทำให้ความสัมพันธ์เชิงสังคมของเราดีขึ้น
ในแง่ของความเข้าใจตัวเอง การที่เราจะอยู่ลำพังได้ดี ถ้าอ้างอิงเหล่านักคิดและนักใช้ชีวิต เงื่อนไขหนึ่งของการอยู่ลำพังคือการรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เราจะมีความสุขได้จากที่ไหนในทุกๆ เงื่อนไขที่เรากำลังเผชิญ เมื่อเราอยู่คนเดียว เราจะหาความสุขจากอะไร เราชอบทำอะไรในยามว่าง เราชอบอ่านหนังสือแบบไหน ฟังเพลงอะไร เราอยากนอนเมื่อไหร่ อยากกินอะไร บางครั้งการรู้และเข้าใจว่าเราอยากทำอะไร ก็เป็นสิ่งที่เราเองตอบตัวเองไม่ได้
การค่อยๆ เรียนรู้ตัวเอง หาเวลาอยู่ตามลำพัง หากิจกรรม หาช่วงเวลาสำรวจความรู้สึก หากิจกรรมที่จะทำให้เรารู้สึกพึ่งพาคนอื่นน้อยลง แข็งแรงในตัวเองมากขึ้น กิจกรรมและข้อแนะนำพื้นๆ ก็อาจจะยังคงใช้การได้ การหาเวลาไปออกกำลังกาย หัดนั่งเฉยๆ โดยไม่ทำอะไร จับมือถือให้น้อยลง เดินเล่นคนเดียว กินข้าวคนเดียว ลองเรียนทักษะใหม่ๆ การค่อยๆ ฝึกเติมเต็มช่องว่างในหัวใจโดยที่ไม่ต้องให้คนอื่นมาช่วยนั้น เป็นทักษะที่ไม่ง่ายเท่าไหร่นัก
อันที่จริง ในค่ำคืนแบบนี้ การที่ได้อ่านข้อความนี้ก็อาจจะเป็นสัญญาณที่ย้อนแย้ง คือการที่เรายังท่องโลกอินเตอร์เน็ต ยังอ่านข้อมูลและข้อเขียนมหาศาลอยู่ การที่เราอยู่ตรงนี้อาจเกิดจากความเหงา และการอยู่ในโลกออนไลน์นานๆ อ่านและรับข่าวสารไม่รู้จบก็อาจทำให้เราเหงามากยิ่งขึ้น
สุดท้ายแล้ว ก็นับว่าไม่เป็นไร เพราะความเหงาถือเป็นเรื่องธรรมดา เราอาจต้องยอมรับก่อนว่าเราเหงานะ การที่เราจะกลายเป็นคนที่พึ่งพาตัวเองทางความรู้สึกไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นในทันที แถมโรงเรียนก็ไม่เคยสอนให้เรารักที่จะอยู่ลำพัง ดังนั้น การฝึกเติมเต็มความเหงาความเดียวดายจึงเป็นขั้นตอนที่เราค่อยๆ ทำไปด้วยกัน
แล้ววันหนึ่ง เมื่อเราส่องกระจก เราอาจจะค่อยๆ รู้สึกว่า รูโหว่ในใจ ตัวตนที่เคยอยากหาใครมาร่วมเติมเต็ม มันค่อยๆ เต็มขึ้น
และในตัวตนที่เติมเต็มขึ้นก็อาจเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เรา ‘รักคนอื่นได้ดีขึ้น’ คือเติมตนในตนเองแล้ว เราเองก็เรียนรู้ที่จะโคจรของใครอีกคน เป็นวงโคจรของกันและกัน มีการรักษาระยะและตัวตนซึ่งกันและกัน อันจะเป็นศิลปะของการรักในลำดับต่อๆ ไป
สุขสันต์วันวาเลนไทน์
อ้างอิงข้อมูลจาก