ไม่รู้จะฟังอะไร ฟังเพลย์ลิสต์เดิมแล้วกัน ถึงจะฟังจนร้องได้หมดทุกเพลงแล้วก็เถอะ หรือบางทีพอเจอเพลงที่ชอบสมัยวัยรุ่นก็อยากจะกดฟังซ้ำสักชั่วโมงจนกว่าหัวใจจะรู้สึกว่าได้รับการเยียวยา มีอะไรอยู่เบื้องหลังการฟังเพลงของพวกเรากันนะ
ทำไมเราถึงฟังเพลงเดิมซ้ำไปซ้ำมา
บางครั้งความทรงจำชิ้นส่วนสำคัญของเราก็อยู่ในเพลง มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Memory & Cognition บอกว่าการที่เราฟังเพลงเดิมซ้ำอยู่อย่างนั้น เพราะเรารู้สึกหวนระลึกถึงวันที่ดีที่เคยมี เพลงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการปลุกความทรงจำบางอย่างให้ตื่นขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยเรียนของเรา
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า เพลงโปรดทำงานกับสมองของเราด้วยการกระตุ้นความพึงพอใจ ทำให้สารโดพามีน ซีโรโทนิน ออกซิโทซิน และสารแห่งความสุขอื่นใดก็ตามหลั่งออกมา และยิ่งเราชอบเพลงนั้นมากเท่าไหร่ สารเหล่านั้นก็จะหลั่งออกมามากขึ้นเท่านั้น
ในช่วงวัยรุ่นที่สมองของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านและฮอร์โมนพลุ่งพล่านเป็นพิเศษ ถ้าเรารู้สึกชอบเพลงสักเพลงหนึ่ง เพลงนั้นจะอยู่ในเพลย์ลิสต์เพลงโปรดของเราไปตลอดกาล
มีการสำรวจประชากรชาวอังกฤษจำนวน 1,000 คนเกี่ยวกับพฤติกรรมการฟังเพลงของพวกเขา ซึ่งการสำรวจก็พบว่าคนกว่า 60% บอกว่าพวกเขาฟังเพลงเดิมๆ วนซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น ส่วนอีก 25% ก็บอกว่าพวกเขาไม่คิดเปิดใจจะฟังเพลงใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แนวที่พวกเขาฟังอยู่ก่อนแล้ว
เพลงสมัยวัยรุ่นคือเพลงที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา
Seth Stephens-Davidowitz ผู้เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับข้อมูลบนโลกดิจิทัล Everybody Lies: Big Data, New Data, And What The Internet Can Tell Us About Who We Really Are ตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมคนเราถึงยึดติดอยู่กับเพลงเก่าที่เราเติบโตขึ้นมากับมัน และเมินเฉยกับเพลงที่ออกมาใหม่ เขาศึกษาผ่านบิลบอร์ดชาร์ตตั้งแต่ปี 1960 ถึงปี 2000 และรวบรวมข้อมูลจาก Spotify เรื่องอายุของแฟนเพลง
สิ่งที่เขาค้นพบคือรสนิยมด้านดนตรีของคนเราจะเริ่มก่อตัวในช่วงอายุ 11-13 ปี ไปจนถึง 14-16 ปี และจะเริ่มนิ่งในช่วงอายุ 20 ตอนต้น ดังนั้นรสนิยมด้านดนตรีของเราจะประกอบไปด้วยเพลงที่เราฟังช่วงวัยรุ่นนั่นเอง ซึ่งเพลงที่มีอิทธิพลกับรสนิยมด้านดนตรีของคนเราที่สุดคือเพลงที่กำลังดังในช่วงเวลานั้น
ดังนั้นถ้าเราถามกลุ่มคนอายุ 25 ปีที่ปัจจุบันชอบแรปเปอร์หญิง ก็อาจได้คำตอบตรงกันว่าหนึ่งในเพลงที่พวกเขาชอบที่สุดคือ Super Bass – Nicki Minaj ที่ดังเป็นพลุแตกตอนพวกเขาอายุ 13 ปีพอดี
งานศึกษาทางด้านจิตวิทยาก็ช่วยชี้ให้เห็นอีกว่า อารมณ์ความรู้สึกที่เราประสบพบเจอในช่วงวัยรุ่นนั้นเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เข้มข้นมากกว่าช่วงวัยอื่น และอารมณ์ความรู้สึกก็มักจะเกี่ยวข้อง หรือเป็นต้นตอของความทรงจำชิ้นสำคัญ ดังนั้นก็อาจอธิบายได้ว่าทำไมเพลงที่เราฟังในช่วงวัยรุ่นถึงเป็นที่จดจำ เปิดที่ไหน เปิดเมื่อไหร่ก็สวยงาม
เมื่อเราอายุมากขึ้น ก็ห่างหายจากการฟังเพลง
บางครั้งเราก็มักได้ยินคนชอบพูดว่า “เพลงสมัยนี้ไม่เห็นจะดีเหมือนสมัยก่อนเลย” ซึ่งก็มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่พบว่าความสามารถในการแยกแยะเสียงของสมองเราจะลดลงเมื่อเราอายุมากขึ้น ซึ่งอาจเอาตรงนี้มาอธิบายได้ว่าทำไมผู้สูงอายุถึงไม่สนใจในดนตรีนัก (ถ้าไม่ใช่นักดนตรีหรือคนที่ทำงานด้านดนตรีมาตั้งแต่แรก) ทำไมพวกเขาถึงมักจะรู้สึกว่าเพลงใหม่ๆ เพลงไหนก็เหมือนกันไปหมด และไม่อินกับเพลงที่วัยรุ่นกำลังฮิตกัน
นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาที่บอกความจริงที่น่าเศร้าว่า เมื่อคนเราก้าวมาถึงอายุ 33 ปีแล้ว ส่วนมากเราจะหยุดหาเพลงใหม่ฟัง และวนเวียนอยู่กับเพลงเดิมที่เราชอบในสมัยวัยรุ่นตามที่เพิ่งอธิบายไปเมื่อข้างต้น
ในช่วงวัยรุ่น เราใช้เวลาอยู่กับหูฟังเป็นส่วนใหญ่ ว่างเป็นต้องฟังเพลง เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต เราจะได้เจอกับเพลงใหม่ที่ไม่เคยฟังมาก่อน หรือแนวเพลงที่แหวกแนวที่เคยฟัง และสนุกกับการฟังเพลงที่ออกใหม่อยู่ทุกครั้งไป
แต่เมื่อเราเข้าสู่ช่วงวัยเลข 3 ทั้งภาระหน้าที่การงาน ครอบครัว งานบ้าน ทุกอย่างที่ให้เรามีเวลาให้เพลงน้อยลง เราจึงไม่คิดจะหาเพลงใหม่ฟัง ทำแค่เพียงกดเพลย์ลิสต์เดิมที่จัดไว้ให้เพลงเล่นไปเรื่อยในขณะที่เราทำงานหรือขับรถ
สำหรับใครหลายคน เราเชื่อว่าเพลงบางเพลงก็มีคนบางคนซ่อนเอาไว้อยู่ และมันก็ถูกแปะป้ายเอาไว้แล้วว่าจะเป็นเพลงของเขาตลอดไป เปิดขึ้นมาฟังทีไรก็อบอุ่นใจเหมือนได้กลับไปสู่อ้อมกอดของเขาอีกครั้ง
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong