ใกล้สิ้นปีแบบนี้ ก็จะเห็นหลายคนพากันแชร์ Spotify Wrapped ของตัวเอง หรืออัลกอริทึมจากแอพพลิเคชั่นสตรีมมิ่งที่ช่วยให้เราได้ทบทวนว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาเราฟังเพลงอะไรไปบ้าง เป็นเพลงแนวไหนเยอะที่สุด หรือมีเพลงของศิลปินคนไหนที่เราชอบฟังเป็นพิเศษ
ซึ่งหลายคนก็ดูจะเอ็นจอยกับลูกเล่นนี้กัน เพราะนอกจากจะได้รู้ถึงพฤติกรรมการใช้แอพพลิเคชันสตรีมมิ่งของตัวเองในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว ยังถือเป็นการแชร์ ‘รสนิยม’ ทางด้านการฟังเพลงให้แก่เพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียได้เห็นว่า เพลงสไตล์นี้แหละคือเราเลย เหมือนได้ทบทวนพัฒนาการการฟังเพลงของตัวเองไปในตัว
แต่ฟังก์ชั่นของอัลกอริทึมไม่ได้มีแค่การเก็บข้อมูลเท่านั้น เพราะถ้ามองเข้าไปลึกๆ เราจะพบว่าแต่ละเพลย์ลิสต์หรือแต่ละเพลงที่เราฟังบ่อยๆ กำลังบ่งบอกอะไรบางอย่างที่มากกว่าแค่ชื่อเพลงและศิลปินที่ร้อง
‘เสียงเพลง’ วิทยาศาสตร์แห่งการเรียกคืนความทรงจำ
เวลาได้ยินเพลงของ ‘สาวสาวสาว’ หรือ ‘M2M’ คุณนึกถึงภาพตัวเองกำลังทำอะไร? ของเราคงเป็นตอนที่กำลังพยายามคิดท่าเต้นเพลง ‘รักคือฝันไป’ อยู่ใต้อาคารเรียนสมัยประถมกับเพื่อนๆ หรือตอนโดดเรียนไปร้องเพลง The Day You Went Away แบบงูๆ ปลาๆ อยู่ที่คาราโอเกะ แต่สำหรับคนอื่นอาจจะมีภาพที่แตกต่างกันออกไป เพราะกล่องความทรงจำของแต่ละคนนั้นบันทึกเรื่องราวไว้ไม่เหมือนกัน
การที่เราชอบกลับไปฟังเพลงเก่าๆ นอกจากจะรู้สึกว่ามันเพราะและน่าจดจำแล้ว ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งนั่นก็คือเราอยากจะย้อนเวลากลับไป ณ ช่วงเวลานั้น เพราะเพลงสามารถดึงเอาเรื่องราว เหตุการณ์ หรือความรู้สึกเก่าๆ ขึ้นมาให้เราได้ย้อนดูว่าชีวิตตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ด้วยความที่เพลงก็อาจเปรียบเสมือนเครื่องเก็บความทรงจำหรือไทม์แมชชีน ที่เรามักจะเอาเรื่องราวต่างๆ ไปผูกติดไว้ในแต่ละท่อน แต่ละท่วงทำนอง พอเวลาได้ยินเพลงนั้นซ้ำอีกครั้ง ความทรงจำบางส่วนก็ย้อนกลับขึ้นมาในสมองทันที ทำให้เราเกิดอาการนอสตัลเจีย (nostalgia) นึกถึงความหลัง ย้อนกลับไปในห้วงเวลาหรือสถานที่ที่เก็บเรื่องราวนั้นไว้ในเพลงได้
ในปี ค.ศ.1999 มีผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเพลงหรือดนตรีมีพลังในการสร้างความทรงจำให้แก่ผู้ฟัง พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นความทรงจำทั่วๆ ไป อย่างความรู้สึกตอนที่เราเป็นเด็กหรือช่วงวัยเรียนมหาวิทยาลัย และบางเพลงยังสามารถกระตุ้นความรู้สึกและความทรงจำที่ลึกซึ้งได้มากกว่านั้น โดยจะปรากฎออกมาเป็นฉากสำคัญๆ ในชีวิต อย่างตอนมีจูบแรก หรือจัดปาร์ตี้วันเกิดหลังเรียนจบกับเพื่อนๆ
จึงทำให้ทันทีที่เพลงบางเพลงลอยเข้ามาในหู ก็มักจะนำภาพสถานที่ บุคคล หรือโมเมนต์บางอย่างเข้ามาด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะมันช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่อาจมีข้อเสียก็คือเราอาจจะจมอยู่กับอดีตหรือความทรงจำนั้นจนไม่สามารถมูฟออนไปไหนได้
‘You are what you listen’ ทบทวนตัวเองจากเพลงที่ฟัง
ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เวลาหนุ่มสาวไปออกเดทกัน มักจะมีคำถามยอดฮิตนั่นก็คือ “คุณชอบฟังเพลงแนวไหน?” เพราะพวกเขาเชื่อว่ารสนิยมการฟังเพลงเป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอก ‘ตัวตน’ ของคนบางคนได้ โดยไม่จำเป็นต้องถามออกมาตรงๆ ว่าเป็นคนยังไง
ไม่ว่าจะเป็นทำนอง จังหวะ หรือเนื้อหาเพลง ทั้งหมดล้วนมีความเชื่อมโยงอะไรบางอย่างกับอารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติของเรา อย่างเวลาเราอกหัก เราก็ชอบจะเปิดเพลงเศร้าเพื่อบิ้วด์ตัวเองจนร้องไห้ หรือเวลาอินเลิฟ ก็จะชอบเปิดเพลงรักหรือเพลงที่มีดนตรีและเนื้อหาสดใสคลอเป็นแบ็กกราวน์ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะคนเรามีนิสัยชอบฟังเพลงที่ตรงกับอารมณ์ เพื่ออธิบายหรือปลดปล่อยความรู้สึก ณ ขณะนั้นออกมา
เพลงยังสามารถสะท้อนไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้ อาจจะเห็นได้จากเสื้อวงที่ใส่ เพลงที่แชร์บนโซเชียล หรือคอนเสิร์ตที่ไป หลายครั้งเราจะสังเกตเห็นว่า ในคอนเสิร์ตแต่ละประเภท เช่น อินดี้ ร็อค ป็อป ฮิปฮอป EDM ฯลฯ คนที่ไปก็จะมีสไตล์การแต่งตัวหรือบุคลิกที่ไม่เหมือนกัน มีผลการวิจัยพบว่า หลายๆ คนมักจะใช้รสนิยมการฟังเพลงในการนิยามทัศนคติและบุคลิกของตัวเอง
มีผลการวิจัยขนาดใหญ่ที่เก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วมจำนวน 36,000 คน โดยศึกษากับแนวเพลง 104 แนวที่แตกต่างกัน เพื่อหาว่ารสนิยมการฟังเพลงเชื่อมโยงกับบุคลิกของคนเรายังไง ซึ่งพบว่า คนที่ชอบฟังเพลงป็อปมีแนวโน้มที่จะเข้าสังคมเก่งหรือเป็นคนเอ็กซ์โทรเวิร์ทมากกว่าคนที่ชอบฟังเพลงอินดี้ ส่วนคนที่ชอบฟังเพลงแร็ปมักจะเป็นคนที่มี self-esteem ค่อนข้างสูง เป็นต้น
และมีอีกผลการวิจัยหนึ่งที่พบว่าประเภทของเพลงหรือดนตรีสามารถบ่งบอกถึงวิธีประมวลผลข้อมูลในสมองของเราได้ โดยแบ่งการตอบสนองของสมองออกเป็น 2 รูปแบบ นั่นก็คือ ’empathizing’ ที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์และความรู้สึก และ ‘systemizing’ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดระบบและการวิเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ โดยคนที่เป็นประเภทแรกมีแนวโน้มจะชอบฟังเพลงร่วมสมัยแบบสบายๆ กลมกล่อม แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ อย่างเพลงอินดี้ร็อค คันทรี่ หรือโฟล์ก ส่วนคนประเภทที่สองมีแนวโน้มจะชอบฟังเพลงที่ซับซ้อน เข้มข้น เต็มไปด้วยจังหวะที่สนุกและค่อนข้างมีพลังบวก
ด้วยเหตุนี้ การได้ลองกลับไปย้อนดูว่าที่ผ่านมาเราฟังเพลงอะไรบ้าง จึงเหมือนกับเป็นการปลุกความทรงจำเก่าๆ ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับทบทวนตัวเองไปในตัวว่าช่วงที่ผ่านมาเรามีความคิดหรือความรู้สึกอย่างไร ทั้งต่อสังคม คนรอบข้าง และตัวเอง ถึงแม้จะมีทั้งดีและไม่ดีปนกันไป แต่ก็ถือว่าเพลงหรือเพลย์ลิสต์นั้นๆ เปรียบเสมือน ‘ไดอารี่’ เล่มหนึ่งที่เราเขียนขึ้นให้กับปีนี้ เพื่อดูว่าเราผ่านช่วงเวลาแบบไหนมาบ้าง
เพลงบางเพลงยังคงอยู่เป็นเพื่อนเรามาตั้งแต่ปีที่แล้ว บางเพลงก็เพิ่งเคยฟังในปีนี้จากเหตุการณ์หรือความบังเอิญอะไรสักอย่าง ซึ่งปีหน้าก็อาจจะมีการค้นพบเพลงอื่นๆ ที่พ่วงมาพร้อมกับความทรงจำและประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ อีกมากมายหลายเพลงเลยก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก