เรานัดหมายกันในวันที่เสียงวิจารณ์ถึงการยื่นตรวจสอบและจี้ให้ กกต. เอาผิดกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กรณีป้ายหาเสียงรีไซเคิลเริ่มซาลง พร้อมกับกระแสดราม่าจากสเตตัสบนเฟซบุ๊ก ‘ไส้เดือนกิ้งกือ 1.38 ล้านคน ชักดิ้นชักงอ บนกองขี้เถ้า’ จางหายไปแล้วพักใหญ่ๆ
“บ้านที่มีต้นไม้ใหญ่ๆ มียักษ์อยู่หน้าบ้านนั่นแหละ” แม่ค้าร้านอาหารตามสั่งชี้บอกทางไปยังที่พักของผู้ที่เรานัดหมายไว้
เดินเข้าไปในหมู่บ้านย่านคลองสาม-ลำลูกการาว 200 เมตร จุดหมายปลายทางของเรามีหุ่น Hulk ซูเปอร์ฮีโร่ร่างเขียว (ยักษ์?) จากจักรวาลมาร์เวลขนาดเท่าตัวจริงยืนต้อนรับหน้าบ้านแฝดอันร่มรื่น เต็มไปด้วยสารพัดต้นไม้นานาพันธุ์
ก่อนจะเอื้อมมือไปกดกริ่ง เจ้าของบ้านใส่ชุดสีเขียวพร้อมเข็มกลัดเลข ๙ เปิดประตูออกมาต้อนรับ เมื่อก้าวเข้าไปภายในตัวอาคาร สิ่งแรกที่เห็นคือครุฑหลากหลายขนาดแขวนอยู่ทั้งในและนอกบ้าน “ซื้อมาแขวนไว้เพราะรูปทรงมันสวยดี ไม่ได้เพราะถือเคล็ดหรือโชคลางอะไร หลายตัวซื้อจากบริษัทหรือธนาคารที่ปิดไปแล้ว”
ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พาเราเดินเข้าไปในบ้านหลังซ้าย หุ่น Captain America ยืนรออยู่หลังประตู สาวเท้าเข้าไปอีกไม่ถึงสิบเก้าบรรยากาศก็เปลี่ยนไปชวนพิศวงยิ่งขึ้น เมื่อรูปปั้นฮก ลก ซิ่ว เทพเจ้าแห่งโชคลาภของจีน ยืนคู่กับเทพเจ้าจากปกรณัมอียิปต์
สถานที่เรานั่งพูดคุยกัน ยังไม่ใช่บ้านที่มีห้องทำงานซึ่งเจ้าตัวใช้เขียนคำร้องเรียนคดีสำคัญต่างๆ ที่อยู่ในบ้านอีกหลัง ที่ซึ่งคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่เอี่ยมตั้งอยู่ท่ามกลางกองเอกสาร มีรูปปั้นกวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ และ Lady Justice เทพีในตำนานกรีก-โรมัน ที่เป็นตัวแทนของความยุติธรรม วางตระหง่าน
แบ็กกราวน์รูปปั้นเสือ ในภาพชี้นิ้วที่หลายๆ คนคุ้นตา เป็นเพียงมุมเล็กๆ หน้าประตูก่อนเข้าไปยังห้องทำงาน
แมวสีเทาเดินมาป้วนเปี้ยนรอบๆ ตัวเจ้านายของมัน ระหว่างที่ช่างภาพกำลังถ่ายภาพเขาทั้งในห้องทำงาน และห้องที่มีพระพุทธรูปและรูปปั้นของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ตั้งอยู่
ป้ายหาเสียงสมัยเขาเป็นผู้สมัคร ส.ว.กทม. เมื่อปี 2557 ได้เบอร์ 2 เป็นหมายเลขประจำตัว พร้อมสโลแกน “ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” ถูกวางชิดผนัง
ภาพข่าวหน้าหนึ่งที่มีเขาเป็นจุดเด่นของ นสพ.หลายฉบับถูกนำมาใส่กรอบ และแขวนไว้ที่ฝาบ้าน
สารภาพว่า ก่อนนัดหมายไปสัมภาษณ์ ผมพยายามถามความเห็นหลายๆ คนว่าถ้าไปคุยกับ ‘นักร้อง’ คนนี้ เสียงตอบรับน่าจะออกมาเป็นลบหรือเป็นบวก ฟีดแบ็กที่ได้หลากหลาย แต่ในเมื่อลองหาข้อมูลดูแล้วพบว่ามีบางเรื่องราวที่เราอยากถามจากเจ้าตัวตรงหน้า การนัดหมายนี้จึงเกิดขึ้น
กระดาษจดคำถามนับสิบๆ คำถามถูกวางบนโต๊ะ กดแอปพลิเคชั่นอัดเสียงในสมาร์ตโฟน
มี keyword ที่จะต้องถามหลายเรื่องอยู่ในใจ ทั้ง ‘ใบสั่ง’ ‘จุดยืน’ ‘เป้าหมาย’ ‘เครื่องมือ’ ‘รัฐประหาร’ ‘ที่มารายได้’ ฯลฯ
หลายคำตอบ ผมเองก็ไม่เห็นด้วย – แต่การได้มานั่งฟัง และซักไซ้ด้วยตัวเอง ก็ทำให้เข้าใจตัวตนของนักร้องคนนี้มากขึ้น
บทสัมภาษณ์ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
แต่คนที่เริ่มถามกลายเป็นศรีสุวรรณ
ทำไมสนใจมาสัมภาษณ์ผม
ต้องถามกลับว่าแล้วทำไมจะไม่สัมภาษณ์ล่ะ เพราะหลายคนสนใจบทบาทของคุณศรีสุวรรณก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะกรณีที่ร้องเรียนคุณชัชชาติ
เพจ.. (ที่ติดตามวิพากษ์ชัชชาติว่า over PR หลังชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.) ทำไมเขาหยุดไปล่ะ หรือว่าคนจ้างไม่จ่ายตังค์แล้ว (หัวเราะ)
แปลว่ารู้เบื้องหลัง?
ไม่รู้ ไม่รู้ก็ตามข่าวเท่านั้นแหละ
แต่ก็มีหลายเคสแล้วเหมือนกันนะ ที่เพจซึ่งประกาศตัวว่าไม่เอาฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลหรือสนับสนุนรัฐบาลจะเจอกับเรื่องแบบนี้
มันก็ธรรมดา พอภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว
อันนั้นอาจจะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานตามจ็อบ แล้วคนชื่อศรีสุวรรณล่ะทำงานตาม ‘จ็อบ’ หรือเปล่า
ผมเนี่ยถ้าทำงานตามจ็อบ ก็คงจะอยู่ไม่ได้ เพราะคนที่มาจ้างเราจะยอมให้เราไปด่าเขาเหรอ เพราะเท่าที่ผ่านมาหากลองสืบย้อนไปไกลๆ ก็จะเห็นว่าผมจัดกับเกือบทุกพรรคเกือบทุกคน ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านมาโดยตลอด รัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ผมก็จัด รัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ผมก็จัด ยุค คสช.ก็จัดมาโดยตลอด เพียงแต่มันไม่สามารถมาวางเป็นคานให้ถ่วงดุลกันได้หรอก มันขึ้นอยู่กับแต่ละเหตุการณ์ว่าควรจะขับเคลื่อนได้มากน้อยแค่ไหน บางทีก็หนักไปทางฝ่ายค้าน บางทีก็หนักไปทางรัฐบาล แล้วแต่ประเด็นที่มันเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของสังคม
แต่แน่นอนว่า เวลาเล่นงานกลุ่มไหน ฝ่ายที่สนับสนุนอีกกลุ่ม ก็จะจ้องมองว่าศรีสุวรรณมาทางฝ่ายนี้มากเกินไป เอ๊ะ มีอะไรหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องของเขาผมไม่ได้ซีเรียสอะไรหรอก ผมก็ทำงานตามปกติของผม เอางานหลักของผมคือการช่วยชาวบ้านฟ้องคดีปกครองซะเป็นส่วนใหญ่ ก็ฟ้องมา 4,000-5,000 คดีแล้วทั่วประเทศ นี่มันงานหลักของผม ส่วนงานร้องเรียนก็เป็นประเด็นที่ต่อเนื่องจากการทำคดีปกครอง เพราะงานคดีปกครองผมคือการฟ้องหน่วยงานรัฐ 100% แล้วพอฟ้องหน่วยงานรัฐมากๆ เราก็เริ่มรู้ไส้รู้พุงรู้อะไรต่างๆ รู้ถึงที่มาของปัญหาที่ชาวบ้านมาร้องเรียน ที่ไม่ว่าจะเกิดจากอธิบดีกรม ปลัดกระทรวง หรือรัฐมนตรี
ฟ้องร้องเรียนมากๆ เข้า มันก็เข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องทางการเมือง ส่วนมันจะไปฟังที่ใครก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียน บังเอิญว่าที่ผ่านมามันไปฟังที่ฝ่ายค้านซะมาก ไม่ว่าจะเรื่องของการยุบพรรคอนาคตใหม่ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ คนก็เลยมองภาพว่าศรีสุวรรณเป็นพวกรัฐบาล ทั้งๆ ที่ผมก็ร้องมันทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมาโดยตลอด แต่ตอนที่ร้องรัฐบาลมันไม่ปังไง ซึ่งจะด้วยเหตุผลอะไรไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะไปวินิจฉัยตัดสิน ไม่ว่าจะเรื่องคดีนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร (วงษ์สุวรรณ) ที่ก็จบลงไปแบบที่เห็นกันอยู่ (ป.ป.ช.ยกคำร้อง ไม่ไต่สวนความผิด พล.อ.ประวิตร เพราะเชื่อว่าแค่ยืมเพื่อนมาใส่จริง)
ตัวคุณศรีสุวรรณเคยบอกว่า งานหลักคือคดีปกครอง โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ช่วงหลังๆเหมือนกับว่าคดีการเมืองมันเยอะกว่าแล้วหรือเปล่า
คดีสิ่งแวดล้อมหรือคดีอื่นๆ ผมก็ยังทำอยู่ทุกวันนี้ เพียงแต่มันไม่ค่อยเป็นข่าวเท่าไหร่ การฟ้องคดีปกครองผมก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ หมายศาลมีส่งมาเต็มบ้านไปหมด เพราะคดีปกครองมันต้องสู้กันด้วยเอกสาร ทั้งการทำคำให้การ คำคัดค้าน ส่วนใหญ่ 80-90% ผมก็ไปยื่นเอกสารที่ศาลด้วยตัวเอง ยกเว้นกรณีที่ส่วนตัวใกล้จะหมดเวลาถึงจะยื่นผ่านไปรษณีย์
ถ้าให้แบ่ง % ระหว่างคดีปกครองกับคดีการเมืองตอนนี้ อันไหนมากกว่ากัน
หลังๆ มานี่การเมืองจะเยอะหน่อย อาจจะ 60 กว่า % แต่เรื่องการเมืองพอร้องแล้วมันก็จบไป มันจะไม่ยืดเยื้อมากนัก แต่คดีปกครองเวลาเราฟ้องแล้วมันจะยืดเยื้อยาวนาน คดีหนึ่งเร็วสุดก็อาจจะใช้เวลาถึง 2 ปี มีแค่ศาลชั้นต้นนะ ถ้าศาลสูงอีกก็ 3-5 ปี โดยเฉลี่ยแต่ละคดีจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปีกว่าจะสิ้นสุด
แล้ววิธีในการเลือกร้องเรียนคดีการเมืองเราใช้หลักเกณฑ์อะไร
มันขึ้นอยู่กับ 2 ภาคส่วน 1.เราจับประเด็นได้ว่ามันเป็นเรื่องไม่ถูกไม่ต้อง ไม่ถูกกฎหมาย อันนี้เราจับเองนะ ก็ติดตามจากความเคลื่อนไหวตามสื่อมวลชนต่างๆ หรือในโซเชียลมีเดีย 2.มาจากการร้องเรียนของหลายๆ กลุ่ม เช่นพอเลือกตั้งแพ้ก็มีคนมาร้องเรียนผ่านผมว่าถูกโกง เพราะคิดว่าผมเป็นปากเป็นเสียงได้ดังกว่า
คนก็เลยคิดว่าตัวคุณศรีสุวรรณร้องเรียนไปทุกเรื่อง ถ้าเทียบกับหลายองค์กรที่จะจับเฉพาะบางเรื่อง
ก็คิดได้นะ แต่งานของผมมันก็สามารถร้องได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว เพราะสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยมันทำได้ทุกเรื่องตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ตั้งแต่มาตรา 1 ไปจนถึงมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเรื่องศาสนา การศึกษา สุขภาพ พูดง่ายๆ คือทุกอย่าง มันทำได้หมด
แล้ววัตถุประสงค์ของสมาคมที่ผมขับเคลื่อนอยู่ ข้อแรก ทำให้รัฐธรรมนูญสามารถบังคับใช้ได้จริง ข้อสอง ติดตามตรวจสอบการเลือกตั้งและการทำประชามติให้โปร่งใสเป็นธรรม ข้อสาม การตรวจสอบอำนาจรัฐไปจนถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าดูวัตถุประสงค์เหล่านี้ก็จะเห็นว่ามันครอบคลุมแทบจะทุกอย่าง
แล้วมีเรื่องไหนที่จะ ‘ไม่ร้องเรียน’ บ้าง ในทางการเมือง
เรื่องที่อาจจะเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็คงจะไม่ร้องเรียนแล้ว
หมายความว่า ถ้าเป็นคดี 112 จะไม่ร้องเรียน
ไม่ใช่! ถ้าใครไปทำการเข้าข่ายคดี 112 ผมร้อง แต่ว่าเราจะไม่ไปทำอะไรให้เข้าข่ายถูกร้องเรียนคดี 112 เอง
หลายคนบอกว่าสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญก็ต้องไปทำเฉพาะรัฐธรรมนูญสิ ผมก็บอกว่าไม่ใช่คุณเข้าใจผมผิดไปแล้ว เพราะจริงๆ สมาคมมันจะตั้งชื่ออะไรก็ได้ ผมจะตั้งชื่อสมาคมดอกไม้ แต่ผมจะทำอะไรต้องว่าไปตามวัตถุประสงค์ มันไม่ใช่เอาชื่อเป็นหลัก อย่างผมก็มีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ถ้าเอาตามชื่อก็ต้องว่าด้วยปัญหาโลกร้อนอย่างเดียว แต่ผมก็ไปช่วยทำคดีสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง ตัดไม้ทำลายป่า เรื่องฝุ่น เรื่องเสียง เรื่องคอนโด ผมก็ฟ้องได้หมด
ในเมื่อคุณศรีสุวรรณบอกว่าร้องเรียนทุกฝ่าย ร้องได้ทุกเรื่อง แล้วจุดยืนทางการเมืองของคุณคืออะไร
ผมไม่ได้เอียงซ้าย-เอียงขวา-เอียงหน้า-เอียงหลังหรอก แล้วผมก็ไม่มีสี ใครจะคิดว่าผมสีนั้นสีนี้ก็เรื่องของเขา แต่ผมร้องตรวจสอบทุกหน่วยงานทุกพรรคการเมืองที่เห็นว่าอาจจะทำผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับประชาชน
แต่ภายใต้กลไกของกระบวนการยุติธรรมที่ยังมีมรดกของคณะรัฐประหารอยู่ การที่คุณศรีสุวรรณไปร้องเรียนให้กลไกเหล่านี้ทำงาน มันจะทำให้เรากลายเป็น ‘เครื่องมือ’ ของเขาหรือเปล่า
ก็อาจจะเป็นได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะคิดอย่างไร เราไม่สามารถที่จะร้องได้ทุกเรื่อง เพราะประเด็นปัญหาในสังคมไทยมันเยอะ ของแพง น้ำมันแพง จริงๆ ก็ร้องได้ แต่จะให้ผมร้องเรียนทั้งหมดมันทำไม่ไหว เพราะไม่ใช่แค่เขียนๆ คำร้องแล้วก็ยื่นไป ทุกครั้งเวลาที่ผมจะร้องเรียนอะไรอีกเอกสารผมหนาเตอะ เฉพาะคำร้องก็ 10 หน้าแล้วโดยเฉลี่ย หลายคนบอกว่าเอากระดาษแผ่นเดียวไปร้อง มันมีที่ไหนล่ะ ศรีสุวรรณไม่เคยเอากระดาษแผ่นเดียวไปร้อง
ฟังคำตอบแล้วแอบงงๆ นิดหน่อย เมื่อกี้บอกว่า ทำได้ทุกเรื่อง แต่ไม่ได้ทำทุกเรื่อง
ถูกต้อง ก็เพราะว่าผมทำคนเดียว ไม่ได้มีทีมงานมาช่วย ผมทำทุกอย่างทั้งเรื่องคดีความ ทั้งเรื่องเขียนคำร้อง บางเรื่องก็อยากจะทำแต่ 1.ข้อมูลไม่มากพอ หรือ 2.ไม่มีเวลาพอ ก็ต้องปล่อยไป
ก่อนจะร้องเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ได้ประเมินไม่ว่าตัวเองจะตกเป็น ‘เครื่องมือ’ ของใคร เคยเอานี้มาเป็นเกณฑ์บ้างไหม
ผมก็คิดอยู่ว่าถ้าร้องฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลหรือฝ่ายค้านมากเกินไป คนก็จะต้องด่าเราแน่เลยว่าเราเป็นฝ่ายรัฐบาล เป็นเครื่องมือของรัฐบาลแน่นอน แต่บางทีมันก็หยุดไม่ได้ ถ้าจะหยุด.. แหม เรารับไม่ได้ เช่นการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นตลอดมา ผมไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมประท้วงอยู่แล้ว จะใครก็แล้วแต่ แม้แต่ชาวบ้านที่ผมไปช่วยคดี เวลาเข้ามาปรึกษาว่าชุมนุมประท้วงได้ไหม ผมก็จะบอกว่าไม่ได้ ผมไม่สนับสนุน แต่ถ้าคุณจะไปชุมนุมประท้วงก็เรื่องของคุณ ไม่เกี่ยวกับผม อย่ามาขอคำแนะนำครับผม
ดังนั้นใครออกมาประท้วง ไม่มีหรอกครับการประท้วงที่ไม่ผิดกฎหมาย ยกเว้นการประท้วงในสถานที่อย่างที่ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ จัดให้ 7 สถานที่ คุณประท้วงไปเลย ศรีสุวรรณจะไม่แตะ เพราะมันเป็นสถานที่ที่ถูกกำหนดให้ประท้วง เชื่อว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ แต่ถ้าไปปิดถนนมันก็ทำให้คนที่สัญจรไปมาเดือดร้อน บางทีประท้วงเสร็จยังมีลูกแถม เช่นกรณีสามเหลี่ยมดินแดง ที่มีระเบิดตูมๆ ถามว่าเห็นด้วยไหมละ ผมก็ต้องไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว
บางทีการประท้วงก็เลยเถิด บางทีก็เอามัน ก็พูด.. ไปถึงสถาบันซึ่งผมไม่ยอมอยู่แล้ว ผมก็จะไปแจ้งความเอาผิดกับคนที่ปราศรัยกระทบกระเทียบกับสถาบัน ก็จะเห็นผมแจ้งความเรื่องคดี 112 มาโดยตลอด
อันนี้คือจุดยืนคุณศรีสุวรรณ 1.ไม่เห็นด้วยกับการประท้วง 2.ใครพูดแตะต้องสถาบัน ไม่ได้
ใช่
ขอย้อนไปเรื่องเครื่องมือทางการเมือง อย่างตอนนี้ กกต.ตั้งมาโดยคนของ คสช. ทั้ง 100% ป.ป.ช.ส่วนใหญ่ก็ตั้งโดยคนของ คสช. เราพิจารณาตรงนี้ไหม
เราไม่สามารถไปขัดขวางหรือล้มกระบวนการที่มาโดยกฎหมายเหล่านี้ได้ ถ้าจะล้มหรือไม่ยอมรับมันก็ต้องทำตั้งแต่การมีรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมันก็ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหาร และมักจะสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา จะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ ถามว่าถ้าเราไม่เห็นด้วยกับวิธีการ เราก็ต้องไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถ้าไม่ยอมรับ เราจะไปทำอะไร มันก็ไม่ได้ เพราะกระบวนการเหล่านี้เคยมีคนนำความขึ้นสู่ศาล แต่ที่สุดศาลก็ชี้ว่าสิ่งที่คณะรัฐประหารทำถูกต้องแล้ว เพราะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เมื่อเป็นอย่างนั้นเราก็ต้องยอมรับ
ผมก็เลยมาเน้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ใครจะร่างมาก็แล้วแต่ แต่เมื่อร่างมาแล้วก็ต้องเอาพวกนี้ไปบังคับใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ถ้าเรามัวแต่ไปคิดว่า เฮ้ย ตุลาการทั้ง 9 คนมาจากการแต่งตั้งโดยนู่นนี่นั่น ถ้าไม่ยอมรับ จะทำยังไง ผมก็จะไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะมีที่มาไม่ชอบ หรือแม้แต่ กกต. ป.ป.ช. ผมก็จะไปร้องไม่ได้ อย่างนี้หรือ ก็คงจะไม่ใช่มั้ง
ผมก็คงจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการเหล่านั้น แม้ว่าในใจเราจะไม่เห็นด้วยหรอก แต่เมื่อสังคมยอมรับว่า มันมาโดยกระบวนการที่ถูกต้อง แม้อาจจะไม่ถูกใจเรา ก็ต้องโอเค ก็ว่ากันไป
กฎหมายต่างๆ ต่อให้มีที่มาไม่ชอบ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ต่อให้ตอนทำประชามติจะถูกปิดกั้นไม่ให้รณรงค์คัดค้าน แต่เมื่อมันถูกประกาศใช้แล้ว ก็ต้องยอมรับ หรือองค์กรอิสระต่างๆ ต่อให้ถูกตั้งมาโดยคนบางกลุ่ม แต่มันก็ถูกตั้งมาแล้วนี่ ก็ต้องยอมรับ ถูกไหม
ใช่ แต่สุดท้ายผมก็เชื่อว่ามันไม่ได้เที่ยงแท้แน่นอนหรอก รัฐธรรมนูญไทยคิดว่าฉันจะถาวร permanent 100% มันก็ไม่ใช่ มันผ่านมาแล้วเกือบ 20 ฉบับ มันก็เปลี่ยนแปลงมาตลอด ไม่ว่าจะร่างโดยประชาชนหรือร่างโดยใคร สุดท้ายมันก็ไม่มีทางยั่งยืนในประเทศไทย เพราะเราเห็นการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ณ วันนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งในอนาคตก็อาจจะมีคนลุกขึ้นมาฉีกก็ได้ เพราะเท่าที่เคยสดับรับฟังมา คนที่จะลุกขึ้นมาฉีกรัฐธรรมนูญ มันก็มีเหตุผล มีสิ่งที่สนับสนุนในการฉีก ก็คือนักการเมืองนี่แหละ ไปทำก่อความวุ่นวาย ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม จนกระทั่งมีอำนาจพิเศษ ก็คือทหาร เข้ามายึดอำนาจ แล้วเห็นไหมว่าพอยึดอำนาจก็มีคนเอาดอกไม้ไปมอบให้ (หัวเราะ) นี่คือพลวัต แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีคนเริ่มด่าทหารมากขึ้นๆ มันก็เป็นวัฏจักรอย่างนี้มาโดยตลอด
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตอนผ่านมาใหม่ๆ ก็ไม่เห็นมีคนว่าอะไร แต่ถึงตอนนี้ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไอ้นั่นก็ไม่ใช่ไอ้นี่ก็ไม่ดีต้องแก้ไข ส่วนจะแก้ได้ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับอนาคตของผู้มีอำนาจ ส.ส. ส.ว. หรืออะไรก็แล้วแต่ หรือในที่สุดจะถูกฉีกไปเลย กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 70 80 90
แต่คงจะไม่เห็นคุณศรีสุวรรณออกมาเป็นแกนนำเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือปรับปรุงที่มาองค์กรอิสระ ซึ่งคณะรัฐประหารตั้งมา
ผมอาจจะไม่ แต่ถ้าสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าต้องแก้ไข เราก็อาจจะเข้าร่วมกระบวนการด้วย แต่คงจะไม่ใช่ตัวตั้งตัวตี
เมื่อกี้คุณศรีสุวรรณพูดแตะเรื่องการรัฐประหาร จุดยืนส่วนตัวต่อเรื่องนี้คืออะไร
ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร (เสียงดัง) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เพราะการเป็นประชาธิปไตยที่ดีควรจะให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ตัดสิน ดังนั้นการที่เอาคนกลุ่มน้อยมาเร่งรีบตัดสินใจผมจึงไม่เห็นด้วย จะเห็นได้ว่าผมไม่เคยไปร่วมชุมนุมประท้วง ไม่ว่าจะของกลุ่มใด ไม่ว่าจะคนเสื้อเหลืองที่คุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) นำ ผมไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวเลย ไม่เคยไปขึ้นเวที มีคนมาชวน ผมก็อ้างเหตุผล ป่วยบ้าง ติดธุระบ้าง ต้องไปขึ้นศาลบ้าง หรือแม้แต่คนเสื้อแดง ก็รู้จักกันหลายคน มาขอให้ผมไปช่วย ผมก็ไม่ไป เพราะไม่เห็นด้วย
แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารแล้ว เราจะเอาคอไปพาดเขียง ไม่ใช่!
ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารทุกกรณี หรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แบบมีเงื่อนไข
ทุกกรณีฮะ
แต่ผลผลิตจากการรัฐประหารล่ะ
ประเด็นคือ เมื่อเราไม่สามารถจะไปง้างกระแสของการรัฐประหารที่เขาทำสำเร็จเป็นรัฏฐาธิปัตย์
แม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ต้องก้มหน้ารับในสิ่งที่มันเกิดขึ้น เพราะเราเองก็ไม่ใช่เทวดาที่จะชี้สั่งว่ามึงต้องทำหรือห้ามทำอะไร เราไม่ได้มีอำนาจ ศรีสุวรรณเป็นแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ ในสังคมเท่านั้นเอง เราไม่มีอำนาจจะไปบอกว่า เห้ย มึงห้าม.. มึงเป็นใครมาจากไหน ศรีสุวรรณ
เราก็เพียงทำได้แค่เมื่อรัฐประหารสำเร็จ ก็ต้องยอมรับในสิ่งที่มันเกิดขึ้น อาจจะมีวิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่เมื่อมันตรามาแล้ว เป็นกฎหมาย เป็นรัฐธรรมนูญ ก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่ปฏิบัติตามก็คือผิดกฎหมาย เพราะเราเป็นนักกฎหมาย เราต้องรู้
ที่บอกว่า เคยทบทวนตัวเองเหมือนกันว่า ยื่นร้องฝ่ายค้านเยอะไปไหม เคยเก็บเป็นสถิติไหมว่า เรายื่นร้องฝ่ายค้านไปกี่เรื่อง
ไม่ได้ทำสถิติอะไรเลย เพียงแต่ว่า มีสถิติก็แค่ปีละ 140-150 เรื่อง ถ้าร้องเรียนนะ ส่วนคดีปกครอง มันไม่สามารถบอกโดยเฉลี่ยต่อปีได้ อย่างปีที่แล้วก็ 200-300 คดี
เหตุการณ์ไหนที่ทำให้ต้องมานั่งทบทวนว่า เราร้องฝ่ายค้านเยอะไปไหน ทำไมไม่ร้องรัฐบาลให้เยอะกว่านี้ เพราะเป็นฝ่ายที่อยู่ในอำนาจ
ก็เรื่องการชุมนุมประท้วงที่ผ่านมา ผมแทบจะไปร้องบ่อยมาก แต่ไม่ได้ร้องทุกครั้ง เพราะคิดอยู่เหมือนกันว่าเราร้องพวกมาทวงมากเกินไปไหม เพราะช่วงนั้นมีการชุมนุมประท้วงแทบจะทุกสัปดาห์ แต่ผมก็ไปร้องเพียงไม่กี่ครั้ง 5-6 ครั้ง ถ้าจำไม่ผิด
ทำไมไม่วางเป็นยุทธศาสตร์ เช่น รัฐบาลอยู่ในอำนาจ ร้องสัก 70% ส่วนฝ่ายค้าน ร้องสัก 30%
ก็อย่างที่พูดไว้ตั้งแต่แรกว่ามันขึ้นอยู่กับประเด็นในช่วงนั้นๆ ถ้ามันมีประเด็นของรัฐบาล ผมก็ไปร้องรัฐบาล อย่างเรื่องน้ำมันแพง ผมก็เตรียมข้อมูล กรณีที่ขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ ขสมก. ไม่วิ่งรับส่งประชาชนในบางเส้นทาง
15 ปีที่เราไปฟ้องคดีหรือร้องเรียนเรื่องต่างๆ สัมผัสกับคนในกระบวนการยุติธรรมบ่อยๆ เห็นปัญหาอะไร หรืออยากให้เปลี่ยนอะไรบ้าง
ความล่าช้าคือความอยุติธรรม
และสิ่งที่เราต้องยอมรับความจริงก็คือประเทศไทยไม่ได้ใช้ระบบคุณธรรมมากนัก อาจจะใช้บ้างแต่ว่าน้อย แต่เราใช้ ‘ระบบอุปถัมภ์’ มากซะจนเกินไป เส้นสาย เพื่อนฝูง คนรู้จักมักคุ้น ซึ่งสังคมมันสร้างให้เกิดระบบนี้ขึ้นมา อย่างเช่นการอบรมหลักสูตรต่างๆ ทั้งของ กอ.รมน. กกต. กระทั่งศาล ทำให้คนเหล่านี้เป็นเพื่อนกัน เมื่อเป็นเพื่อนกันแล้วพอมีคดีความมันก็เลยต้องช่วย
ผมก็เคยไปเรียนในหลักสูตรพวกนี้นะ แล้วก็มานั่งคิดว่าหลักสูตรพวกนี้จะไปสร้างระบบอุปถัมภ์ จนอาจทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย คนนอกอาจไม่รู้แต่ผมอยู่ในวงการ รู้ดีว่าบางเรื่องมันน่าจะมีอะไรผิดปกติต่อคำพิพากษาที่มันออกมา
แล้วเราได้ขยับเพื่อเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้บ้างไหม
ไม่ค่อยได้ทำเลย เพราะมันมหาศาลจนเราไม่รู้ว่าจะไปเริ่ม start ที่ตรงไหน
ถ้าพูดในเชิงองค์กร ศาล องค์กรอิสระ หน่วยงานใดๆ มีอะไรที่อยากเปลี่ยนบ้าง
ผมคิดว่าองค์กรอิสระ ณ วันนี้ก็ไม่อิสระจริงหรอก หรือแม้แต่ศาลก็ไม่ได้เป๊ะๆ จริงหรอก องค์กรอิสระเราต่างก็รู้กันอยู่ว่าเขามาจากอำนาจพิเศษ แน่นอนใครแต่งตั้งเขาเขาก็ต้องถือว่ามีบุญคุณเพราะมันเป็นระบบอุปถัมภ์ไง ใช่มะ อาจจะมีการร้องขอกันให้ช่วยนู่นนี่นั่น มันเลยทำให้องค์กรเหล่านี้ไม่เป็นที่คาดหวังของประชาชน ทั้งที่เราคาดหวังว่าองค์กรเหล่านี้จะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
แต่คุณศรีสุวรรณก็ยังไปยื่นให้เขาทำเรื่องโน้นเรื่องนี้
(ตอบเร็ว) ก็มันไม่มีองค์กรอื่นๆ ไง ไปที่อื่นไม่ได้เราก็ต้องไปลองให้เขาทำดู แล้วผลออกมายังไงมันจะเป็นกรณีที่ฟ้องสังคมเอง เราทำหน้าที่ของเราได้แค่นี้แหละ
แต่ ป.ป.ช. เขาก็โดนด่าจนหูชาแล้ว ยังไม่เห็นจะปรับตัวอะไรเท่าไรเลย
ก็อาจจะต้องรอให้เขาหมดอำนาจไป ให้มีการแก้ไขโครงสร้าง โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ผมก็ไม่เชื่อว่าแก้แล้วจะทำให้ดีขึ้น องค์กรอิสระเหล่านี้มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
อย่าง กกต. ทำงานเป็นยังไงบ้าง
กกต.เองก็ทำงานไม่ได้ perfect เราก็เห็นมาตั้งแต่ชุด อ.ยุวรัตน์ กมลเวชช ชุดคุณวาสนา เพิ่มลาภ มันก็เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยดีกว่าถอยกลับลงคลองไปให้กระทรวงมหาดไทยเป็นคนดูแลการเลือกตั้งนะ อย่างน้อยเราก็ยังมี กกต. แม้คงคาดหวังความเป็นกลางได้ยาก เพราะทุกคนก็กิน ขี้ ปี้ นอน เหมือนๆ กัน
แล้วศาล..
ทุกคนก็เป็นมนุษย์ มีเพื่อนฝูง จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีก็มีการไล่ผู้พิพากษาออกจากราชการอยู่เนืองๆ อัยการเองก็มีถูกไล่ออกเยอะแยะไป เพราะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
อย่างคดีของบอส อยู่วิทยา ซึ่งโดยเนื้อหาคดีมันไม่มีอะไรเลย ขับรถชนคนตายโดยประมาท ซึ่งในประเทศไทยหากคุณทำตามขั้นตอนวิธีการที่ปฏิบัติกันมา คุณไม่ต้องกลัวเลยว่าคุณจะติดคุก 1.ไปดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต 2.ไปร่วมงานศพ และ 3.ไม่ต้องหนี สุดท้ายเราก็เห็นตัวอย่างเยอะแยะว่า คนที่ทำอย่างนี้ไม่ต้องติดคุก อย่างมากก็รอลงอาญา แต่คดีนี้กลับไปใช้เส้นสายใช้ระบบอุปถัมภ์ ขอให้คนนั้นคนนี้ช่วยโดยคิดว่าตัวเองมีเงินมีทอง จนทำให้กระบวนการยุติธรรมมันบิดเบี้ยวไปหมดเลย
ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องให้ศาลเคารพเรื่อง ‘สิทธิในการได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี’ คุณศรีสุวรรณคิดว่ายังไง
เรื่องนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่ยุคไหนแล้ว เรื่องสิทธิของประชาชนในการได้รับการประกันตัว ที่ควรได้รับสิทธิแต่ไม่ใช่ทั้งหมด หากเป็นคดีที่มีอัตราโทษไม่สูงนัก ส่วนใหญ่แทบจะ 100% ศาลก็มักจะให้ประกันตัว แต่ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง แล้วผู้ถูกกล่าวหาอาจจะไปยุ่มย่ามกับพยานหลักฐาน อาจจะหลบหนี อันนี้ศาลจะไม่ให้ เหมือนคดียาเสพติดที่ศาลไม่ให้เลยเพราะถือเป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั้งประเทศ ใครให้ประกันตัวคดียาเสพติด ผู้พิพากษาคนนั้นจะถูกเพ่งเล็ง แล้วสุดท้ายก็จะมีการสอบ นำไปสู่การปลดออกไล่ออกเยอะแยะ
ส่วนคดี 112 เนื่องจากว่ามันเป็นเรื่องที่กระทบต่อสถาบันเบื้องสูง ถ้าศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวออกมาก็จะมากระทำซ้ำอีก ดังนั้นแล้วก็ให้อยู่ในคุกนั่นแหละ เพื่อจะไม่ให้มากระทำผิดซ้ำ เพราะที่ผ่านมาก็เคยเมตตาให้ออกมาแล้วก็ยังมากระทำผิดซ้ำอยู่เนืองๆ งั้นคดี 112 ศาลสั่งใหญ่ก็เลยเอาเก็บไว้ซะ แล้วก็จะเป็นผลดีต่อผู้ถูกกล่าวหาด้วยซ้ำไปที่จะไม่ไปกระทำผิดซ้ำ แล้วคนที่อยู่ในเรือนจำระหว่างรอฟ้องคดี ก็มีเป็น 10 คดีทั้งนั้น
มองการใช้คดี 112 ในระยะหลังอย่างไรบ้าง มีคนเสนอว่าควรจะให้มีหน่วยงานกลางเป็นผู้ฟ้องแทน ไม่ใช่ปล่อยให้ใครยื่นฟ้องก็ได้
ผมคิดว่าเราต้องไปแก้ที่ต้นตอว่าใครเป็นคนที่คิดเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าน้องๆ เยาวชนเป็นแค่เครื่องมือของใครคนใดคนหนึ่งที่คิดเรื่องนี้ แล้ววางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในการที่จะกรอบความคิด ข้อมูล ซึ่งอาจจะผิดหรือถูกมาให้กับเด็กๆ เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนน้องๆ ที่ออกมาขับเคลื่อนก็เป็นแค่ปลายของปัญหาที่อาจจะถูกสั่งสมมาในความคิดจนเปลี่ยนไปแล้ว แล้วก็มาแสดงออก
อันนี้ผมไม่โทษน้องเขาหรอก แต่ผมโทษไอ้ตัวที่อยู่ข้างบนสุด เป็นตัวจักรสำคัญ ซึ่งเป็นใครเราก็ไม่รู้
ไม่เชื่อว่าเด็กๆ คิดเองได้
ผมไม่เชื่อว่าเขาจะคิดเองทำเอง
เพราะอะไร
เพราะผมผ่านเรื่องนี้มาเยอะ ผมพูดคุยเรื่องนี้มาเยอะกับหลายๆ ฝ่าย หลายๆ ส่วน เพื่อนฝูงผมที่อยู่ในสถาบันการศึกษาก็พูดเรื่องนี้ให้ผมฟัง ผู้ปกครองที่มีลูกพลั้งเผลอแล้วหลุดเข้าไปอยู่ในกระบวนการนี้ก็มาเล่าให้ผมฟังเยอะแยะ ผมก็ประมวลว่า อ๋อ มันก็เป็นอย่างนี้เอง
แต่การใช้มาตรา 112 กับบางคดีก็โดนวิจารณ์เยอะเหมือนกันนะ เช่น ทำโพลทำไมโดน ทั้งที่ดูองค์ประกอบก็ไม่น่าจะเข้าข่าย
ก็นี่แหละ เมื่อทุกคนพยายามมุ่งเน้นไปที่มาตรา 112 ก็พยายามหากิจกรรมที่กระทบกระเทียบเรื่องนี้โดยตรง ทั้งที่จริงๆ มันไม่ควรจะแตะต้อง มีประเด็นปัญหาเยอะแยะที่จะสามารถนำไปใช้เล่นงานรัฐบาลได้ ซึ่งมีข้อผิดพลาดเยอะแยะแต่กลับไม่ค่อยจะไปสนใจกัน ปล่อยให้เป็นเรื่องของฝ่ายค้านที่ก็หน่อมแน้ม
พอกลุ่มเยาวชนไปมุ่งเน้นเรื่อง 112 แน่นอนว่า พอไปทำกิจกรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ก็เลยเข้าข่ายความผิดไปทั้งสิ้น
แต่อย่างทำโพล มันจะไปเข้าเกณฑ์หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย.. ยังไง
นั่นแหละ แล้วจะไปทำทำไม ทำแล้วเกิดประโยชน์อะไร มันทำขึ้นมาเพื่อเป็นอีเว้นต์หนึ่งให้เกิดภาพว่า ฉันไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้นเรื่องนี้นะ แต่ทำแล้วมันเกิดประโยชน์อะไร ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร (เน้นเสียง)
หรืออย่างมาตรา 112 จะคุ้มครองคนแค่ 4 ตำแหน่ง แต่ก็ปรากฎว่ามีการขยายใช้ไปยังบุคคลตำแหน่งอื่นๆ คุณศรีสุวรรณคิดยังไง
คือเรื่องกษัตริย์ผมไม่อยากจะไปแตะต้อง เพราะสังคมไทยยังคงจะต้องมีสถาบันกษัตริย์อยู่ เราอย่าไปหยิบยกข้อเสียของสถาบันหรือของพระองค์ใดพระองค์หนึ่งที่อาจจะมีพฤติการณ์ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ แต่เราต้องดูภาพรวมของสถาบันที่ทำให้ประเทศไทยยังคงดำรงอยู่ได้ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แล้วก็สามารถหาทางยุติความขัดแย้งในสังคมได้ อย่างกรณีเมื่อปี 2535 เห็นไหม พอพระองค์ท่านออกมาเท่านั้นแหละ ความขัดแย้งที่มันสูงปรี๊ด กลับมลายหายไปสิ้น นี่ก็เป็นเพราะสถาบันใช่หรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น
โอเค พอเข้าใจจุดยืนทางการเมืองของคุณศรีสุวรรณแล้ว ขออนุญาตกลับไปถามเรื่องเบาๆ จะได้รู้จักตัวตนมากขึ้น คำถามแรก คือเล่นจริงๆ คือ “พี่ศรี” จริงไหม
ชื่อที่พ่อแม่ของผมตั้งคือชื่อติม ไอติมที่เป็นแท่งๆ ซึ่งก็เป็นชื่อของผมตั้งแต่เด็กๆ นี่เป็นชื่อจริงของผมเลยนะ พอมาอยู่ ม.3 ผมเห็นด้วยตัวของผมเองว่าชื่อนี้มันสั้นเกินไป มันมีพยางค์เดียว ผมเลยไปบอกพ่อว่าอยากเปลี่ยนชื่อให้มันยาวๆ หน่อย พ่อก็บอกว่าอยากเปลี่ยนก็เปลี่ยน จะเอาชื่ออะไรล่ะ ผมบอกว่าเอาชื่อศรีสุวรรณ พ่อเลยพาไปเปลี่ยนที่อำเภอ เสียเงิน 1 บาท หลังจากนั้นก็เลยเป็นศรีสุวรรณเป็นต้นมา แต่ติมก็ยังคงเป็นชื่อเล่นที่คนที่อยู่ในหมู่บ้าน จะรู้ว่านี่คือชื่อเล่นผม
ส่วนพี่ศรี มันเป็นชื่อที่พอผมมาอยู่ กทม. คนก็จะเรียกว่า พี่ศรีๆๆ
เขาเรียกเพื่อแสดงความสนิทสนมหรือเรียกเพื่อแซว
น่าจะเรียกแบบเพื่อนกันมากกว่า
แล้วฉายา ‘นักร้อง’ มาเริ่มตั้งแต่เมื่อไร
ผมไม่แน่ใจว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่แต่น่าจะหลังๆ นี่แหละ น่าจะเริ่มในยุค คสช. เริ่มมีการตั้งฉายาศรีสุวรรณว่าเป็นนักร้อง แต่ผมก็ไม่ได้โกรธ ซีเรียส หรือไม่ชอบฉายานี้นะ เห็นเป็นเรื่องปกติเฉยๆ ธรรมดา ก็เราก็ไปร้องจริงๆ นี่หว่า
เห็นบางรายการข่าวก็ชวนพี่ไปร้องเพลงจริงๆ
เสนอมาก็สนองไป
คือสมัยก่อนผมก็เป็นนักร้องประจำวงดนตรีของโรงเรียน สมัยผมอยู่ ม.ต้น ผมอยู่ รร.วังทองพิทยาคม ตั้งแต่ ม.1-ม.6 โรงเรียนไม่มีเครื่องดนตรีสากลอะไรหรอก แต่เนื่องจากเพื่อนในห้องมีวงดนตรีสากล สมัยก่อนเรียกว่าวงสตริง เล่นงานบวชงานแต่งงานต่างๆ เพื่อนผมก็เป็นนักดนตรี อยู่ในห้องเราก็เคาะโต๊ะ บางทีก็เอากีตาร์โปร่งไปเล่นหลังห้อง ผมก็ไปร่วมแจมกับเขาด้วย แต่เล่นอะไรไม่เป็น เราก็ไปร่วมร้อง พอโรงเรียนมีงานอย่างงานวันสุนทรภู่ งานวันวิทยาศาสตร์ ก็จะจัดประชุมกันในห้องประชุมใหญ่ อ้าว หาวงดนตรีมาเล่นกัน ก็ไปยืนเครื่องดนตรีมาเล่น แล้วผมก็เป็นคนร้อง ยังจำได้ว่าครั้งแรกที่ร้องเพลงคือเพลงสากล เพลง I Love You ของวงญี่ปุ่น Ippu Do (ศรีสุวรรณร้องท่อนฮุกเพลงนี้ให้ฟัง) ตอนนั้นเพลงนี้ดังมาก ผมเปิดฟังทั้งวันทั้งคืนจนร้องตามได้ มันเป็นภาษาญี่ปุ่นนะ ผมก็จดเป็นภาษาไทย แล้วก็ไปให้เพื่อนบอกว่า เห้ย มึงแกะเพลงนี้ พอไปเล่นในงานคนก็กรี๊ดกร๊าดมาก เราก็มาเป็นนักดนตรีของโรงเรียน
ก็เลยไม่ซีเรียสกับฉายานักร้อง เพราะเป็นนักร้องจริงๆ
หลังจากนั้นเราก็ไปตระเวณรับจ้างเล่นงานแต่งงานบวชของชาวบ้าน ก็รวบรวมเงินกัน แล้วในที่สุดเราก็ไปซื้อเครื่องดนตรีสากลให้โรงเรียนได้ 1 ชุดตอนเรียนจบ ให้รุ่นน้องได้สานต่อกันไป
พอเรียนจบ ม.6 ผมก็ไปเรียนสายอาชีพ แล้วได้โควต้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มันมี SOTUS ตอนรับน้องมีกิจกรรมทุกเย็น น่าเบื่อมาก ผมก็เลยหากิจกรรมอะไรที่จะได้หนี สุดท้ายไปเจอว่ามีวงดนตรีเคาบอยแม่โจ้ เอาอันนี้แหละ รุ่นพี่ก็ถามว่าใครร้องเพลงได้บ้าง ผมก็ไปสมัคร ก็เลยใช้วิธีนี้หนีรับน้องมาได้
ร้องเพลงอะไร ตอนนั้น
มีทั้งไทยและฝรั่ง แต่ผมชอบเพลงร็อกมากกว่า อย่างเพลงของธเนศ วรากุลนุเคราะห์ แต่ผมจะชอบร้องเพลงฝรั่งมากกว่า เพราะวงดนตรีไทยไม่ค่อยมีเพลงร็อก มีแต่เพลงสามช่า ร็อกไทยเริ่มมีก็ เป้ ไฮร็อก ซึ่งจริงๆ เสียงผมได้นะ เพราะแม่โจ้มักจะมีประเพณีที่คนนอกไม่ค่อยรู้ เราเรียกกันว่าเพลงชาติแม่โจ้ เป็นเพลงประจำสถาบัน เป็นเพลงที่จะใช้ร้องใน 2 กิจกรรมเท่านั้น ก็คือกิจกรรมที่ลูกแม่โจ้มาเจอกันสังสรรค์ยินดีพอจะเลิกราก็จะล้อมวงร้องเพลงนี้ และอีกกิจกรรมก็คือตอนที่ลูกแม่โจ้เสียชีวิต ก่อนจะขึ้นเมรุเผาทุกคนก็จะมาล้อมวงแล้วร้องเพลงชาติโจ้เป็นการส่งวิญญาณ ซึ่งเพลงนี้คนที่จะเป็นต้นเสียงได้ต้องเสียงสูงมาก ซึ่งจะต้องมีการคัดเลือกกันตั้งแต่วันที่รับน้อง ตอนแรกผมก็ไม่ได้คัดเลือก แต่ถึงวันทำกิจกรรมวันสุดท้าย ที่ลูกแม่โจ้ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ปรากฎว่าหาตัวเขาไม่เจอ ผมก็เลยได้ร้องแทน
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผมก็เลยกลายเป็นนักร้องของรุ่น เป็นต้นเสียงร้องเพลงชาติแม่โจ้ ดังนั้น ทุกวันนี้ถ้ามีงานศพลูกแม่โจ้ แล้วผมไปร่วมหรือว่าอยู่ใกล้ๆ ก็จะโทรศัพท์มาตามให้ไปเป็นต้นเสียงร้องให้เพื่อส่งศพ หรือถ้ามีงานสังสรรค์กัน ก่อนเลิกรากันก็จะร้องเพลงชาติแม่โจ้
(ศรีสุวรรณเปิดเพลงจากยูทูบให้ฟัง)
ฟังเพลงสมัยใหม่บ้างไหม ทุกวันนี้ฟังเพลงอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่มาชอบเพลงลูกทุ่งแล้ว เพลงสากลไม่ค่อยฟัง จากที่สมัยก่อนชอบฟังเพลงสากล แต่เดี๋ยวนี้มาฟังเพลงลูกทุ่งสบายใจกว่า ลูกทุ่งๆ บ้านนอกๆ เพราะเพลงลูกทุ่งสมัยนี้เนื้อหามันสอดรับกัน ไม่เหมือนเพลงสมัยใหม่ มันโย่วๆ เย่ๆ มันไม่มีสำเนียงสอดรับสอดคล้อง เจ้าบทเจ้ากลอนอะไร ไม่มี มันอาศัยจังหวะต่างๆ ซึ่งมันไม่ใช่ยุคของเราแล้วหล่ะ แต่เด็กๆ เขาชอบ ก็ว่ากันไป
นอกจากนั้นสมัยอยู่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผมเป็นนายกองค์การนักศึกษา วีรกรรมผมเยอะ ผมเคยนำนักศึกษาปิดถนนประท้วงขับไล่ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ออกจากตำแหน่ง 2 คืน 3 วัน ปิดถนนสายแม่โจ้-พร้าว หัวผมรุนแรงมาตั้งแต่สมัยนั้น ขึ้นปราศรัยตลอด แต่ก็ประสบผลสำเร็จนะที่ประท้วงไป
ตอนนั้นเราเรียกร้องสวัสดิภาพของนักศึกษาและชาวบ้าน เนื่องจากขณะนั้นเป็นรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย (ชุณหะวัณ) เศรษฐกิจบูมมาก มีรถขนอิฐหินดินทรายวิ่งตลอด เพื่อไปทำบ้านจัดสรร แล้วก็มาชนคนตายแต่ไม่มีมาตรการอะไรมารองรับ ไฟส่องสว่างหน้าสถาบันก็ไม่มีเลย ถนนมีแค่ 2 เลนให้รถวิ่งสวนกัน ไม่มีฟุตบาทให้คนเดินเท้า นักศึกษาตายปีละหลายศพก็ไม่มีใครมาแก้ไข หน้าสถาบันมีนักเรียนเดินเข้าเดินออกก็ไม่มีตำรวจมาอำนวยความสะดวกให้ ผมก็ไปเรียกร้องสิ่งเหล่านี้แหละ ก็ไม่ได้ แต่พอไปประท้วงปุ๊บ โอเค อนุมัติให้หมด
หลังจากนั้นผมก็เลยมีความรู้สึกว่าหากเรียนจบไปจะไม่รับราชการ ก็เลยไปทำงานเป็น NGO โดยตลอด แล้วพอเป็น NGO ก็มีความรู้สึกว่าเรามีปริญญาแค่ใบเดียว NGO แปลว่าโง่ ผมก็เลยมุมานะ เรียนภาคค่ำ เรียนเสาร์-อาทิตย์ จนขณะนี้มี 6 ปริญญาแล้ว ป.ตรี 3 ใบ ป.โท 2 ใบ และ ป.เอก 1 ใบ เราคิดว่าเพียงพอที่จะต่อกรกับทุกคน (เน้นเสียง)
แสดงว่า ตอนนี้ก็เป็น ดร.ศรีสุวรรณ
ใช่ แต่ผมไม่โฆษณาตัวผม
บางคนยังคิดว่าผมไม่ใช่นักกฎหมาย ก็เรื่องของพวกคุณสิ
แล้วมีตั๋วทนายไหม
ไม่มี เหตุผลที่ไม่มีเพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเราเป็น NGO ปากไม่ดี ปากหมาอยู่แล้ว ถ้าผมมีตั๋วผมถูกร้องเรียนจริยธรรมไม่เว้นแน่ คงต้องไปขึ้นๆ ลงๆ เพื่อไต่สวนจริยธรรม ผมก็เลยไม่ทำ ไม่ขอตั๋ว เพื่อนผมทุกคนมีตั๋วหมดแต่ผมไม่เอา เพราะคดีปกครองไม่จำเป็นต้องมีตั๋ว
จะเสียเปรียบเวลาทำคดีอาญาหรือคดีแพ่งไหม เราไปขึ้นว่าความเองไม่ได้
แค่คดีปกครองผมเองก็เยอะแยะตาแป๊ะไก่อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปทำคดีประเภทอื่นๆ ที่สำคัญผมไม่มีเวลาที่จะไปสืบพยานต่อหน้าบัลลังก์ หากเป็นคดีอาญา บางทีนักสืบต่อเนื่อง แต่คดีปกครองทำชิลๆ ก็ได้ เพราะมันว่ากันด้วยเอกสาร ผมมานั่งทำตอนกลางคืน เสาร์-อาทิตย์ วันหยุด ทำได้หมด ทำไม่ทันก็ขอขยาย
เรื่องตั๋วจึงไม่จำเป็นสำหรับผมเลย และสมัยก่อนคนเป็นทนายความก็ไม่จำเป็นต้องมีตั๋ว เพิ่งจำเป็นต้องมีก็หลังปี 2528 หลังจากมี พ.ร.บ.ทนายความ แต่ก่อนหน้านี้ผมก็ไปช่วยสภาทนายความ ตอนปี 2536-2537 ไปช่วย อ.อุดม ศุภกิจ ก่อนตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในสภาทนายความ แล้วก็เป็นอนุกรรมการมาโดยตลอด จนถึงปี 2555 ก็รับทำคดีสิ่งแวดล้อมอยู่หลายคดี เช่น คดีแม่เมาะ คดีคลิตี้
พอหลังจากปี 2555 ผมไปทำคดีน้ำท่วม ก็ไปเหยียบตาปลาคนในสภาทนายความ เพราะผมไปปลุกระดมให้ชาวบ้านไปฟ้องรัฐ แล้วชาวบ้านมามอบอำนาจให้ผมฟ้องแทนเกือบ 2,000 คดี แต่ไปมอบอำนาจให้สภาทนายความไม่น่าจะถึง 100 คดี ทำให้บางคนอิจฉาตาร้อน เขาก็เลยคัดชื่อผมออก หลังจากนั้นมา ผมก็เลยไม่ไปยุ่งกับสภาทนายความอีกเลยจนถึงปัจจุบัน
ตอนนี้ก็เลยทำงานต่างๆ คนเดียว
ใช่ แต่ทีมทนายความผมมีเยอะ เพื่อนฝูงผม ถ้ามีคดีใหญ่ๆ ผมจะเรียกมานั่งประชุมกัน
เวลาเขียนคำฟ้องคดีต่างๆ ใครเขียน
100% ผมเขียนเองทั้งหมด ทีมทนายความแค่มาช่วยให้คำปรึกษาเท่านั้น
มีการเก็บสถิติไหมว่า คดีจบไปแล้วเท่าไร ผลเป็นยังไง
ไม่ทำ ไม่มีเวลาทำ หลายคนเรียกร้องให้ผมทำ อย่างน้อยเอาคดีที่น่าสนใจหรือคดีที่ผมชนะ เอาขึ้นเว็บไซต์ให้คนได้ศึกษา ก็น่าสนใจนะ แต่ไม่มีเวลาทำ เพราะผมทำของผมคนเดียว แต่ ณ วันหนึ่งก็คงเอาไปขึ้นให้คนเห็นว่า นี่ไงผลงานศรีสุวรรณ คดีมาบตาพุด เบรก 76 โรงงานได้ คดี 3.5 แสนล้านบาท เบรกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ คดีถ่านหินที่ จ.พระนครศรีอยุธยาและ จ.สมุทรสาคร คดีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง มีเยอะแยะที่ผมทำแล้วชนะได้
ถ้าคุณศรีสุวรรณทำแต่คดีสิ่งแวดล้อมไม่กระโดดมายื่นเรื่องร้องเรียนคดีกันมือต่างๆ คิดว่าคนจะชื่นชมมากกว่านี้ไหม
แน่นอน ก็คงเป็นอีกแบบ แต่คงเป็นเพราะเราก็ชอบด้วยมั้ง เพราะยังไงคดีสิ่งแวดล้อมที่ทำอยู่มันก็เกี่ยวข้องกับการเมือง
ทุกการเลือกตั้ง นักการเมืองก็จะวิ่งมาหาผล ปี 2562 มีวิ่งมาหาเกือบ 10 พรรคการเมือง ขอให้ผมไปอยู่ในพรรคเขา เพราะคิดว่าผมพอมีชื่อเสียง น่าจะช่วยเรียกคะแนนให้เขาได้ แต่ก็ปฏิเสธไป
ทำไมปฏิเสธไป ถ้าจำไม่ผิดเคยตั้งพรรคการเมืองมาก่อน (พรรครักษ์ถิ่นไทย)
ผมเป็น NGO มาตั้งแต่แรก อยู่กับ ดร.พิจิตต รัตตกุล ตอนนี้ อยู่มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม รณรงค์เกี่ยวกับควันพิษจากยานยนต์และอุตสาหกรรม อยู่กับ ดร.พิจิตต เขาเป็นนักการเมือง แม้เราจะทำงานในฐานะ NGO แต่พอเขาไปลงเลือกตั้ง (ผู้ว่าฯ กทม.) 2 ครั้ง ก็ต้องไปช่วยเขา ครั้งแรก แพ้ ครั้งที่สอง ชนะ แต่พอเขาได้เป็นผู้ว่าฯ ผมก็ไม่ไปยุ่งกับ กทม.เลย ก็ทำงานอยู่ในมูลนิธิ แม้ ดร.พิจิตตจะให้ไปช่วยทำงานใน กทม. ผมก็ปฏิเสธไป
มีแต่คนอยากจะไปนั่งมีตำแหน่งตรงนู้น แต่มีศรีสุวรรณคนเดียวที่ไม่ยอมไป เพราะผมไม่ชอบนิ
ไม่ชอบการเมือง?
แต่ผมก็ได้ไปสัมผัสการเมืองเพราะต้องไปช่วย ดร.พิจิตตหาเสียง ดังนั้นใน กทม.ผมจึงรู้หมด เพราะเป็นคนบัญชาการในการติดป้ายหาเสียง พอสั่งให้คนไปติดป้ายหาเสียง ก็ต้องไปตรวจว่าติดจริงหรือเปล่า ขับรถตระเวนดูตามถนน ทำอย่างนี้มาโดยตลอด และไม่ใช่แค่ ดร.พิจิตต ที่พอเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็ตั้งกลุ่มมดงานด้วย ต้องไปลงสมัคร ส.ก. ผมก็ไปช่วยเขา หลังจากนั้นเขาก็ไปตั้งพรรคถิ่นไทย ผมก็ต้องช่วยเขาหาเสียงอีก ไม่ใช่แค่ กทม. แต่ไปทั้งประเทศแล้ว แล้วพอพรรคถิ่นไทยถูกยุบ (ปี 2545) ก็มีคนไปตั้งพรรครักษ์ถิ่นไทย มี อ.ปรีชา เปี่ยนพงศ์สานต์ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งแกเป็นศิลปิน จบจากเยอรมนี ก็เป็นพวกกรีนๆ อยู่แล้ว ก็บอกว่าพรรครักษ์ถิ่นไทยต้องเป็นพรรคกรีน ก็ตั้งผมให้เป็นรองหัวหน้าพรรค แล้วมาบอกว่าศรีสุวรรณเป็น NGO ต้องรู้อยู่แล้วว่า พรรคกรีนต้องทำอะไรบ้าง ก็ลงเลือกตั้งครั้งหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายก็ยุบพรรคไป
แต่หลังจากนั้นก็มาลงสมัคร ส.ว.กทม.
ลงครั้งหนึ่ง ช่วงก่อนยึดอำนาจเมื่อปี 2557 แต่หลังจากนั้นก็ไม่เอาละ (แพ้เลือกตั้ง ได้มาราว 3.8 หมื่นคะแนน ส่วนผู้ชนะได้มากกว่า 5 แสนคะแนน) แล้วก็รู้ว่า ศรีสุวรรณควรที่จะอยู่ตรงนี้แหละ มาเป็นนักร้องเรียน ช่วยเรื่องชาวบ้าน อยู่ตรงนี้แหละ ดีที่สุด อย่าไปยุ่งการเมือง ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมก็เลยไม่สนใจจะไปเป็นสมาชิกหรือไปช่วยพรรคใดพรรคหนึ่ง
แล้วเราก็รู้สึกว่า พอเรามาอยู่ตรงนี้ มันทำให้นักการเมืองหรือข้าราชการเกรงอกเกรงใจ เพราะไม่รู้ว่าจะถูกศรีสุวรรณร้องเรียนเมื่อไร ผมไปสภาก็มีคนมาทักผมทั้งนั้นแหละ “โอ้ พี่ศรีสุวรรณ มาทำอะไร มาร้องเรียนอะไรหรือเปล่า”
แทนคำสวัสดีไปแล้ว
มันทำให้เห็นว่า การอยู่ตรงนี้ทำให้เป็นที่เกรงอกเกรงใจของนักการเมือง โอเค เราอยู่ตรงนี้ดีที่สุดแล้ว มึงอย่าไปยุ่งการเมืองจะดีกว่า เพราะถ้าเป็นนักการเมือง ผมต้องไปยกมือไหว้ใครต่อใครภายในพรรค ซึ่งมันไม่ใช่จริตของเรา
แล้วเหตุผลที่คุณศรีสุวรรณไปร้องเรียนคุณชัชชาติตอนหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แล้วตามจี้อยู่เรื่อยๆๆๆ ทำไปเพื่ออะไร
กรณีคุณชัชชาติ ผมกับเขาก็เคยรู้จักกัน เจอกันหลายงาน ก็คุยกันทักทายกันดี แต่ประเด็นเรื่องคุณชัชชาติ เริ่มจากความรู้สึกว่า การเลือกตั้งยุคนี้มันไม่ควรจะใช้ป้ายหาเสียงที่เยอะแยะขนาดนั้น เพราะมันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พร้อมกับ ส.ก. ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็ 30 คนแล้ว ส.ก.เขตละเกือบ 10 คน ดังนั้นเขตนึงก็จะมีผู้สมัครเกือบ 40 คน แล้วถ้าทุกคนใช้ป้ายหาเสียงเหมือนๆ กัน มันจะเต็มไปหมดเลย ทั้งที่ยุคนี้เป็นยุค 5G จะใช้อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย ในการหาเสียงแทนได้ไหม ผมก็ทำเรื่องเสนอไปยัง กกต. ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ กกต.เขาไม่เห็นด้วย ก็วางเฉย ผมก็บอกว่า ไม่เป็นไร แต่เมื่อ กกต.กำหนดให้มีป้ายหาเสียงเหมือนเดิม
ผมก็เลยมาจับจุดว่า หลังจากนี้เราจะ ‘จับผิด’ มึงมาติดป้ายผิดเมื่อไร จะร้องเรียน ผมก็ตระเวณตรวจสอบป้ายหาเสียง ก็ถ่ายรูปเก็บไว้เยอะแยะ แล้วพบว่าเกือบทุกคนติดป้ายหาเสียงผิดทั้งนั้น ก็เลยนำไปร้องเรียน กกต. คือผมจะเก็บหลักฐานนี้เพื่อมาชี้ให้เห็นว่า การที่ยังใช้ป้ายหาเสียงแบบเก่า มันมีปัญหา แล้วมันก็มีปัญหาจริงๆ
พอมาประเด็นเรื่องคุณชัชชาติ เขาก็ PR เรื่องเอาป้ายไปรีไซเคิล ทำกระเป่า ผมก็เอ๊ะ มันเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือเปล่า มันก็เป็นข้อสงสัยของเรา เพราะไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน ก็เลยไปร้องเรียน กกต. ก็เท่านั้นเอง
ต่อมาเราก็ไปถ่ายรูปเรื่องป้ายหาเสียงผิด ผมก็ไปร้องเรียน กกต.หลายรอบนะ กระทั่งเกิดกระแสชัชชาติฟีเวอร์ขึ้นมา ซึ่งผมก็ไม่ได้สนใจนะ แต่พอเลือกตั้งเสร็จ กกต.ก็ประกาศให้ผู้สมัครทุกคนต้องเก็บป้ายให้หมดภายใน 3 วันนะ หลังจากเลือกตั้ง 22 พ.ค.2565 ผมก็นับวันรอ พอครบกำหนด ก็ไปถ่ายรูปๆๆ แล้วแจ้งความเลย ซึ่งก็แจ้งหลายคนนะ ไม่ใช่แค่ชัชชาติ ทั้งสุชัชวีร์ อัศวิน ฯลฯ ที่ยังมีป้ายอยู่บนถนน รวมทั้ง ส.ก.ด้วย แต่เวลาเป็นข่าว ก็เป็นเฉพาะชัชชาตินะ เพราะมันกำลังฟีเวอร์ เวลาสื่อไปเล่นก็เน้นแต่ชัชชาติ แต่ FC ชัชชาติก็ไปคิดว่า ผมเล่นงานแต่ชัชชาติ ประเด็นอาจจะเป็นในทิศทางนี้
พอหลังเลือกตั้งไม่กี่วัน คนก็มาทวงถามว่า ทำไมไม่รับรองให้ชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ กทม.ซะที ผมก็เลยโพสต์แซวเรื่องไส้เดือนกิ้งกือ 1.38 ล้านเสียง แล้วทุกคนก็มาถล่มผม ผมก็ถามว่าจะมาชักดิ่นชักงออะไร มันเพิ่งผ่านไปได้ 8-9 วันเอง สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ (บริพัตร) ก็ 24 วันกว่าจะรับรองเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่นี่ไม่กี่วันเอง มากดดัน กกต.ให้รีบรับรองจนสายแทบไหม้ ผมก็เห็นว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะใช่นะ แต่ FC ชัชชาติไม่ยอม สื่อมวลชนก็เขย่าใหญ่ ก็ว่ากันไป
นี่คือคำอธิบายว่า ไม่ได้ตั้งใจเล่นงานคุณชัชชาติคนเดียว
แล้วเรื่องป้ายหาเสียงทั้งหมด ผมก็ไปฟ้องศาลปกครองไว้แล้ว ที่เคยแจ้งกับ กกต.ล่วงหน้า แล้วเขาเพิกเฉย
ผมก็มีคนไปแจ้งความว่าผมไปกลั่นแกล้งชัชาติ ผมก็ไปรับทราบข้อกล่าวหา ก็ไปอธิบายให้ตำรวจ เขาก็รู้ บอกว่าเห็นพี่มาร้องทุกคน ก็คงไม่มีอะไร ส่งเรื่องให้อัยการก็คงจะตีลงถังขยะ เพราะมันไม่ใช่ประเด็นว่าเราจะไปกลั่นแกล้งคุณชัชชาติ
ที่บอกว่า เคยรู้จักคุณชัชชาติมาก่อน ไปเจอกันได้ยังไง
ก็ไปเจอตามงานกิจกรรม
แล้วหลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จบ ได้เจอกันบ้างไหม
ไม่ได้เจอกันเลย แต่เข้าใจว่าในอนาคต คุณชัชชาติคงจะบุกมาบ้านผม หลังจากผมจะตรวจสอบเขามากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ การตรวจสอบเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำไป ผู้ว่าฯ กทม.จะได้ระมัดระวังตัวเองและจะได้ทำตามสัญญา
สนใจการใช้โซเชียลฯ ของคุณศรีสุวรรณ เพราะหลายครั้งโพสต์อะไรไป ก็มักจะโดนทัวร์ลง
ไอ้โพสต์ต่างๆ แล้วทัวร์ลง ผมไม่เคยสนใจเลยครับ การใช้โซเชียลฯ ของผมจะเน้นบอกผู้สื่อข่าวว่า ศรีสุวรรณจะทำอะไรบ้างในวันนั้นวันนี้เท่านั้นเอง หรือศรีสุวรรณคิดอะไรเท่านั้นเอง
แล้วก็ไม่เคยไปเปิดดูคอมเม้นต์เลย เพราะรู้อยู่แล้วว่าไปเปิดดูก็จะมีเสียงด่ามากกว่าเสียงชม แต่แฟนผมจะไปเปิดดู เวลาเห็นคนด่าก็รับไม่ได้ แล้วก็มาบ่นให้ฟัง ผมก็บอกว่า เป็นเรื่องธรรมดา คนรัก คนชอบ คนหลง มันก็มีหมดแหละ ก็อย่าไปอ่านมันซะสิ หลังๆ แฟนผมก็ไม่อ่าน
พอใครบอกว่าทัวร์ลง ทัวร์ลงอะไร กูไม่ได้อ่าน จะไปรู้เรื่องอะไร จะไปรู้ก็ต่อเมื่อผู้สื่อข่าวหยิบไปทำข่าวต่อ
ที่บอกว่าใช้โซเชียลฯ เพื่อแจ้งหมายผู้สื่อข่าว แต่ก็เห็นโพสต์แซวเรื่องไส้เดือน เรื่องต่างๆ อยู่
ก็เป็นการแสดงความคิดความอ่านของผม ณ เวลานั้น
อยากทราบขั้นตอนว่า เวลาจะร้องเรียนคดีการเมืองสักเรื่อง มีขั้นตอนยังไง 1 2 3 4
หนึ่ง เรื่องนี้ผิดกฎหมายหรือเข้าข่ายผิดกฎหมายไหม ถ้าเราวินิจฉัยส่วนตัวว่าน่าจะเข้า ก็จะไปเปิดกฎหมายดูไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ซึ่งหากพบว่าไม่เข้าข่ายก็จะทิ้งไปเลย ไม่ไปสนใจมัน เพราะจะคิดอยู่เสมอว่าเราเป็นนักกฎหมาย ก็ต้องเข้าใจบริบททางกฎหมายพอสมควร ไม่ใช่เอาตามกระแสสังคมว่าเรื่องนี้ผิดแน่นอนๆ แต่พอมาดูข้อกฎหมายแล้วพบว่าไม่ใช่ เราก็ไม่สามารถทำตามกระแสได้
สอง พอรู้ว่าผิดกฎหมายแล้ว ก็จะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อใช้ประกอบเป็นพยานหลักฐาน
สาม พอได้ทั้งข้อกฎหมายดาวข้อมูลแล้ว ก็จะเริ่มมาเขียนคำร้อง/คำฟ้อง สรุปที่มาที่ไป แล้วก็จะส่งข่าวนับหมายผู้สื่อข่าว แล้วก็ไป ก็แค่นั้นเอง
แล้วก็ถ่ายรูปชี้นิ้ว
(หัวเราะ)
เขียนคำร้อง/คำฟ้องเองทุกอัน
ใช่
เวลาสืบหาข่าว มีคนช่วยไหม มีแหล่งข่าวระดับ insider หรือเปล่า
มีบ้าง ที่เขามาเป็นแหล่งข่าวให้เรา แต่ไม่เยอะ อาจจะไม่กี่ % ที่ผมหาเองน่าจะเกิน 90%
ที่มารายได้คุณศรีสุวรรณทุกวันนี้มาจากไหนบ้าง อันนี้น่าจะเป็นคำถามบังคับ
ก็ส่วนใหญ่ที่สื่อมาสัมภาษณ์ก็จะถามผมเรื่องนี้ รายได้ส่วนใหญ่ก็มาจากการทำคดี แม้แต่คนมาร้องเรียนผม ก็บอกกันตรงๆ ว่า ผมช่วยค่าน้ำมันพี่นะ
แต่มันก็มีศัพท์คำนึงในการเรียกค่าตอบแทนโดยมิชอบ คือคำว่า ‘เคาะกะลา’ จะไปร้องเรียนองค์กรนั้นหรือบุคคลนี้ พอแลกผลประโยชน์กันก็จบ สมมุติมีคนมากล่าวหาคุณศรีสุวรรณลักษณะนี้ จะชี้แจงยังไง
ตัวผมเองก็ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายการเมืองใดทั้งสิ้น ผมก็ไม่รู้ว่าจะไปเคาะกะลาเพื่อประโยชน์อะไร หรือจะไปกลั่นแกล้งข้าราชการก็ไม่น่าจะใช่ ที่ผมไปร้องเรียนเพราะเหตุมันปรากฎ ถ้าจะไปเคาะกะลา มันน่าจะไม่เคยมีประเด็นมาก่อน แล้วศรีสุวรรณเป็นคนเริ่ม อันนี้อาจจะวิพากษ์วิจารณ์ได้
แต่ส่วนใหญ่มันมีเรื่องอยู่ในสื่อ แล้วผมก็ไปเจาะลึก
สังคมไทยแบบไหนที่คุณศรีสุวรรณอยากให้เป็น ในอนาคต
เนื่องจากผมเป็นนักกฎหมายและผู้ใช้กฎหมาย ผมอยากให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพกฎหมายเป็นหลัก แล้วก็ลดเรื่องของระบบอุปถัมภ์ให้มันน้อยลง มันคงจะไม่หมดไปง่ายๆ แต่ให้มันน้อยลง อย่าให้มันมากกว่าระบบคุณธรรม ไม่เช่นนั้นสังคมจะอยู่ไม่ได้ ถ้าเล่นพวกเล่นสายกันตลอด มันจะไม่ไหว อย่างเนี้ย ผมอยากเห็น
การสอนคนให้มีวินัยก็สำคัญ และหลายครั้งฟังผู้ว่าฯ ชัชชาติพูด ผมก็ไม่เห็นด้วย เหมือนเอาใจพวกเยาวชนมากเกินไป เช่น ตัดผมไม่เกี่ยวกับความคิด ทั้งที่เนี่ยเป็นการสร้างระบบวินัยให้กับเด็ก มาเรียนคือการสร้างวินัย แล้วพอคุณผ่านระบบการศึกษาไป คุณก็จะเคารพกฎจราจร
สมมุติเวลาผ่านไป 10 ปี 20 ปี ลูกคุณศรีสุวรรณโตขึ้น อยากให้ทั้งลูกและสังคมไทย จดจำตัวเองอย่างไร
ไม่ต้องมาจดจำอะไรผมหรอก ก็แค่เป็นคนหนึ่งๆ ในสังคมที่ทำงานตามความชอบ ความเห็น ความรู้สึกของตัวเองเป็นหลัก เราคงไม่ใช่บุคคลที่น่าจดจำเป็นรัฐบุรุษอะไรหรอก ตายไปก็เผา ผมบริจาคร่างกายไปหลายอย่าง ดวงตาบริจาคไปแล้ว จริงๆ อยากจะบริจาคทั้งหมด เพราะตายไปก็เอาไปไม่ได้ แต่ยังไม่มีเวลา
ตายไปก็คือตาย จะมาจดจำอะไรผม ยังมีคนใหม่ๆ เกิดขึ้นในสังคมเยอะแยะมากมาย อย่าไปยึดติดว่าตัวเองต้องมีชื่อเสียงโด่งดัง ผมคิดแบบนั้น