“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็น ‘คนดี’ คนหนึ่ง ที่มีโอกาสขึ้นมาปกครองบ้านเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี” หนังสือ ‘มาเหนือเมฆ’ หน้า 29
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ‘มาเหนือเมฆ’ หนังสือที่เขียนขึ้นโดยแฟนคลับของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมี คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา เป็น บก.ใหญ่ วางแผงขายในร้านหนังสือทั่วไป และก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่หนังสือดังกล่าวจะกลายเป็นหนังสือขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หมดแผงในเวลาอันรวดเร็ว
แต่ไม่มีอะไรหยุดความใคร่รู้ไปได้ เราเดินไปทุกร้านหนังสือในห้างทั้งเซนทรัลพระราม 9 จนมาจบที่ B2S ของเซนทรัลลาดพร้าว และในที่สุดหนังสือที่มีรูปหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ชูนิ้วทำท่าไอเลิฟยู พร้อมภาพด้านหลังเป็นปุยเมฆ และข้อความคำว่า ‘มาเหนือเมฆ’ ตัวใหญ่โตก็มาอยู่ในมือเรา
เราใช้เวลาไม่นานในการอ่านทั้งเล่มจบลงอย่างรวดเร็ว ก่อบได้ข้อค้นพบ 5 ข้อถึงหนังสือเล่มนี้ ซึ่งสะท้อนแนวคิดทางการเมืองของกลุ่มแฟนคลับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ ลุงตู่ หรืออาจอธิบายเลยไปไกลกว่านั้นว่าคือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง ในสังคมไทยได้ไม่มากก็น้อย
- ที่มาของชื่อหนังสือ ‘มาเหนือเมฆ’
“‘หากเป็นแบบนี้ ผมขอโทษด้วยที่ต้องยึดอำนาจ’… เป็นปรากฎการณ์มาเหนือเมฆที่แท้จริง” – ทิวา สาระจูฑะ เขียนไว้ในหน้า 14
“ผมตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ‘มาเหนือเมฆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือล่าสุดที่ท่านตัดสินใจลงปาร์ตี้ลิสต์ของพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นตัวอย่างการมาเหนือเมฆของท่านจริงๆ อย่างที่ไม่มีใครคาดเดาได้” คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา เขียนไว้ในบทบรรณาธิการหน้า 238
ทั้งสองข้อความที่ยกมาช่วยตอบคำถามถึงที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ได้ดีที่สุดแล้ว หรือแปลได้ว่าทุกย่างก้าวทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แต่เมื่อครองอำนาจแล้ว ในมุมมองของกองเชียร์กลับทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ
- หนังสือของแฟนคลับประยุทธ์ เพื่อแฟนคลับประยุทธ์ โดยแฟนคลับประยุทธ์
“ขอยอมรับว่าผมเป็นแฟนคลับของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ ลุงตู่ ผมจึงผลิตหนังสือเล่มนี้” คำรณในฐานะ บก.ของหนังสือเล่มนี้เขียนไว้ในบทบรรณาธิการหน้า 238
นอกจากคำยืนยันจากปลายปากกาของ บก. เอง ทีม The MATTER ยังชวนผมตั้งข้อสังเกตถึงขนาดตัวอักษร การเคาะย่อหน้ากระดาษ การจัดเรียงรูปเล่มว่ามีขึ้นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่น่าะจะเป็นผู้สูงอายุ จึงมีการใช้ตัวอักษรที่ใหญ่กว่าหนังสือที่วางขายในปัจจุบัน รวมถึงมีการเคาะย่อหน้าไม่ให้ยาวพรืดเกินไปเพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน
ตลอดจนทีมที่ร่วมเขียนในเล่มนี้ ซึ่งประกอบด้วย
- ทิวา สาระจูฑะ อดีต บก. นิตยาสารสีสัน
- รุ่งเรือง ปรีชากุล อดีต บก.บห.สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
- หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารงานบุคคล มธ.
- นิติพงษ์ ห่อนาค อดีตสมาชิกวง ‘เฉลียง’
- พ.สิทธิสถิตย์
ต่างยืนยันได้ดีว่าหนังสือเล่มนี้เป็นของแฟนคลับประยุทธ์ เพื่อแฟนคลับประยุทธ์ โดยแฟนคลับประยุทธ์
- แนวคิดกองเชียร์ประยุทธ์
อย่างที่บอกไปว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือของแฟนคลับประยุทธ์ เพื่อแฟนคลับประยุทธ์ โดยแฟนคลับประยุทธ์ เราจึงน่าจะพอถอดแนวคิดของกองเชียร์ประยุทธ์จากหนังสือเล่มนี้ออกมาได้บ้าง ดังนี้
- ประยุทธ์เป็น ‘คนดี’
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็น ‘คนดี’ คนหนึ่ง ที่มีโอกาสขึ้นมาปกครองบ้านเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี โดยมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความมุ่งมั่น มีความจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันส่งผลให้การบริหารชาติบ้านเมืองเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง” รุ่งเรือง ปรีชากุล หน้า 29
คำว่า ‘คนดี’ ในมุมของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ทุกคนคล้ายกันคือ ประกอบไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (แบบไทยๆ) และยืนอยู่ขั้วตรงข้ามกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคไทยรักไทย ซึ่ง ‘โกงกิน’ และ ‘สร้างความแตกแยก’ ให้ประเทศชาติ
“ตลอด 4 ปีหลังการรัฐประหารในปี 2557 และ 4 ปีที่มาจากการเลือกตั้งนับตั้งแต่ปี 2562 ไม่ปรากฎว่ามีการทุจริตในรัฐบาลผสมที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด” รุ่งเรือง ปรีชากุล หน้า 33
ถึงแม้คำยืนยันดังกล่าวจะคัดค้านสายตาของใครหลายคน และอยากยกกรณี เช่น ตั๋วช้าง, ทุนจีนเทา หรือพนันออนไลน์ขึ้นมาเถียงว่า เป็นเพราะระบบที่ประยุทธ์สร้างขึ้นนั่นเองที่เอื้อให้เกิดการทุจริตเหล่านี้ และอาจยังอยากพูดต่ออีกว่า “จะโกงได้ไง” ในเมื่อองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถูกคัดสรรขึ้นมาด้วยมือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนั้น แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นของแฟนคลับ เพื่อแฟนคลับ และโดยแฟนคลับประยุทธ์
ในเรื่องความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเด็นนี้ถูกตอกย้ำผ่านบท ‘ชีวิตนี้เพื่อชาติและประชาชน’ โดยเป็นการเล่าประวัติของประยุทธ์โดยสังเขป ตั้งแต่เข้าเรือนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ การสมัครใจถวายตัวอารักขาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรและพระพันปีหลวง การได้รับหัวใจสีม่วงของทหารเสือราชินี ตลอดจนหน้าที่ของประยุทธ์ระหว่างเกิดความขัดแย้งทางการเมืองก่อนการรัฐประหารปี 2557 เพื่อสะท้อนว่าทั้งหมดทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตนเหมือนนักการเมืองทั้งหลาย
นอกจากนี้ ยังมีการอุทิศตอนหนึ่งให้แก่เรื่อง ‘ผลัดแผ่นดิน… เปลี่ยราชกาล’ เพื่อเชิดชู พล.อ.ประยุทธ์ ว่าสามารถจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.9 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.10 ได้อย่างสมเกียรติ ซึ่งในสายตาของกองเชียร์ลุงตู่แล้วถือว่าเป็นคุณงามความดีที่ควรค่าแก่การชื่นชม
- ประยุทธ์เป็น ‘คนเก่ง’
ตั้งแต่หน้า 67-203 ของหนังสือเล่มนี้ถูกอุทิศให้บท ‘แม่น้ำแห่งผลงาน’ ที่พูดถึงการทำงานในฐานะนายกฯ ตลอด 8 ปี 10 เดือนของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งการรับมือกับวิกฤต COVID-19, การลงทุนสร้างเครือข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และการฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย
ถึงแม้ใครหลายคนอาจคันมือคันปากที่จะเถียงว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นความจริงเพียงด้านเดียว และการยกแม่น้ำผลงานไม่ต่างจากการชักแม่น้ำทั้งห้า เพราะเรื่องรถไฟฟ้าก็เป็นเรื่องที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคยเสนอมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือเรื่องไวรัส COVID-19 ก็เถียงกันได้เป็นวันว่า เป็นผลงานของรัฐบาลหรือภาคประชาชนเองที่ตื่นตัวช่วยกันเองกันแน่
แต่เถียงกับหนังสือไปคงไม่มีความสำคัญนัก เพราะในเกมการเมืองของการเลือกตั้งปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ต้องการที่นั่งในสภาเพียง 25 ที่นั่งเพื่อให้ ส.ว.โหวตให้ตนเองครองตำแหน่งต่อไป และการได้มาซึ่ง 25 ที่นั่งนั้น เพียงรักษาฐานคะแนนของตัวเองและแฟนคลับให้เหนียวแน่นดั่งที่หนังสือพยายามสื่อสารก็อาจเพียงพอแล้ว
- ระบอบทักษิณ
ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยอธิบายถึงลักษณะของแนวคิด ‘การเมืองแบบคนดี’ ไว้อย่างนึงว่า เป็นการเมืองแบบขั้วตรงข้ามคือ เมื่อมีฝั่งนึงเป็นคนดี ก็ต้องสร้างอีกฝั่งที่เป็นคนร้ายขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หนังสือเล่มนี้ได้ตอกย้ำว่าในมุมของผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ตัวร้ายของการเมืองไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมาคือ ระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นต้นธารของความเลวร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย ทักษิณทั้งทุจริตคอรัปชั่น เป็นหุ่นเชิดชักใยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ และเป็นนักโทษการเมืองที่หนีคดีอยู่ในต่างประเทศ
“รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย” รุ่งเรือง ปรีชากุล หน้า 41
ตรงข้ามกัน พล.อ.ประยุทธ์ คือคนที่มาสลายความเลวร้ายทั้งมวลนั้น เปรียบประดุจเทพบุตรขี่ม้าขาวที่ฝ่าเข้าไปกลางวงผีห่าที่สูบกินประเทศชาติ ยอดเปลืองตัวเกลือกกลั้วลงไปในขี้ไคลทางการเมืองเพื่อกอบกู้ประเทศชาติ เป็นคนดีผู้ไม่เคยมีมลทินจากการคอรัปชั่น
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โชอา พิสูจน์ตัวเองให้เห็นตั้งแต่ขึ้นมาบริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่าได้ยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญ การดำเนินการทุกอย่างของรัฐต้อง ‘สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ’” รุ่งเรือง ปรีชากุล หน้า 57
ในสายตาของหนังสือเล่มนี้ ความเป็นคนดีของประยุทธ์ถูกผูกเข้ากับความซื่อสัตย์ (เพราะขาดการตรวจสอบ) ขณะที่ความเลวร้ายฉ้อฉลถูกนำไปผูกไว้กับทักษิณอย่างเหนียวแน่น ซึ่งความเป็นคนดีแบบนี้จะถูกผูกเข้ากับ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ อีกทอดนึง
- ประชาธิปไทย
อีกมุมหนึ่งที่สะท้อนความเป็นกองเชียร์ลุงตู่ได้อย่างดี ปรากฎอยู่ใน 8 ของหนังสือเล่มนี้ โดย ทิวา สาระจูฑะ ตั้งคำถามไว้ว่า “ประเทศไทยเราเหมาะกับประชาธิปไตยแบบตะวันตกแท้ๆ หรือเปล่า? เราอาจต้องการระบบการปกครองแบบเฉพาะของไทยก็เป็นได้” ถึงแม้ ทิวา สาระจูฑะ จะไม่ได้ขยายความให้ชัดเจนนักว่าระบบการปกครองแบบเฉพาะของไทยเป็นอย่างไร แต่เขาได้พูดอ้อมๆ ถึงปัญหาการเมืองไทยไว้ว่า
“ปัญหาการเมืองในบ้านเราที่ทำให้เกิดการปฏิวัติวนซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ได้เป็นที่ระบอบ แต่เป็นปัญหาที่ตัวบุคคล” ทิวา สาระจูฑะ หน้า 8
ซึ่งแปลได้ว่าในสายตาของแฟนคลับลุงตู่ พวกเขายอมรับการรัฐประหารได้ ตราบใดที่คนที่ทำรัฐประหารทำไปเพื่อความถูกต้อง และมี ‘ความดี’ เหนือกว่ารัฐบาลที่ถูกรัฐประหาร
ปัญหาอีกประการที่ถูกสะท้อนผ่าน รุ่งเรือง ปรีชากุล ในหน้า 41 คือ การเลือกตั้งเป็นปัญหา เพราะทำให้ได้นักการเมืองที่โกงกินเข้ามาบริหารประเทศ โดยตลอดระยะเวลา 23 ปี นับตั้งแต่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จนถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “ประเทศไทยเหมือนคนป่วย” เพราะไม่ว่าเมื่อใดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีอำนาจ จะต้องมีเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่นตามเป็นเงา
ซึ่งถ้าเชื่อมโยงกันอาจสรุปได้ว่า กลุ่มคนที่เชียร์ลุงตู่มองไปที่ปลายทางมากกว่าต้นทางและระหว่างทาง พวกเขาไม่เชื่อว่าระบอบการตรวจสอบที่เข้มแข็งจะทำให้การเมืองโปร่งใส พวกเขาไม่เชื่อว่าการรัฐประหารเลวร้ายตราบใดที่ทำต่อรัฐบาลที่เลวร้ายกว่า และพวกเขาไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นวิธีการที่ยุติธรรมต่อทุกคนเสมอไป เพราะอย่างน้อยมันก็ไม่ยุติธรรมต่อพวกเขาที่เชื่อว่า นักการเมืองเลวเสมอต้นเสมอปลาย
ดังนั้นแล้ว คนกลุ่มนี้ยอมรับได้หากนายกฯ มาจากการรัฐประหาร หรือทำลายการเลือกตั้ง หรือสร้างระบอบที่อุ้มเอื้อตัวเอง ตราบใดที่ คนเหล่านี้ไม่คอรัปชั่น แสดงตนว่าเป็นคนดี รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และยืนตรงข้ามระบอบทักษิณ
- ความคาดหวังของกองเชียร์ประยุทธ์
จังหวะเวลาที่หนังสือเล่มนี้ออกวางขายคือ 20 กุมภาพันธ์ 2566 หรือก่อนรัฐบาลชุดนี้สิ้นสุดวาระประมาณ 1 เดือน มันจึงอาจไม่ใช่ความบังเอิญที่หนังสือเล่มนี้จัดทำเสร็จพอดี แต่มีนัยยะบางอย่างที่ผู้จัดทำต้องการส่งถึงผู้อ่านในการเลือกตั้งครั้งนี้
“ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายที่มีแต่จะทวีขึ้นหลังจากวันนี้ ฉันขอตัดสินใจเลือกคนขับที่ฉันพิสูจน์แล้วว่าวางใจได้ เพราะฉันขับรถไม่เป็น” พ.สิทธิสถิตย์ หน้า 235
“แม้การได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้ง ก็จะอยู่ในตำแหน่งได้อีก 2 ปีก็ตาม.. การที่ตัดสินใจแยกตัวเองออกจากพรรคพลังประชารัฐ นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ควรสนับสนุนเพราะเป็นการหนีจากความเน่าเฟะของนักการเมืองในพรรค.. ไปเริ่มต้นใหม่กับพรรคใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ที่ดีกว่าเดิม” หริรักษ์ สูตะบุตร หน้า 212
เป็นการยืนยันได้ว่ากองเชียร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในหนังสือเล่มนี้คาดหวังให้แฟนคลับเลือก พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ต่อไป ถึงแม้รู้ทั้งรู้ว่าจะมีระยะเวลาเหลือแค่ 2 ปีเท่านั้น และรู้ทั้งรู้ว่าถ้าเป็นตามนั้นจริง พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ ที่ครองอำนาจยาวนาน 11 ปี ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับสองในทำเนียบครองตำแหน่งนานที่สุดของนายกฯ ไทย เป็นรองเพียง จอมพล ป. พิบูลสงคราม
แต่ก็น่าคิด เพราะรู้ทั้งรู้เช่นนั้นหรือเปล่า ก่อนหน้านี้จึงมีกระแสว่า ส.ว. เตรียมจะแก้ไขกฎหมายกำหนดระยะเวลาครองอำนาจของนายกฯ เอาไว้ที่ 8 ปี เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ยาวไปไม่สิ้นสุด
ภาพฝันของแฟนคลับ พล.อ.ประยุทธ์ บางคนไปไกลกว่านั้น ถึงขั้นหวังให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็น ‘รัฐบุรุษ’ เคียงข้าง พล.อ.เปรม และ ปรีดี พนงยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส
“ถ้าไม่มีอะไรพลิกผัน บางทีหลังจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะมีรัฐบุรุษเพิ่มขึ้นอีกคน” ทิวา สาระจูฑะ หน้า 14
- สิ่งที่อยากให้พูดถึง แต่หนังสือเล่มนี้ไม่พูดถึง
ในฐานะผู้อ่านที่อ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ และกลับมาอ่านซ้ำบางบท 2-3 รอบเพื่อทำการรีวิว มีหลายประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วยกับหนังสือเล่มนี้ แต่ถ้ายกขึ้นมาพูดคงเขียนไม่จบในบทความนี้ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมหัวข้อเดียว เพื่อหวังว่าในการพิมพ์ครั้งต่อๆ ไปทีมเขียนหนังสือเล่มนี้จะมีการเพิ่มเติมลงมาในหนังสือ นั่นคือส่วนของประเด็น ‘ที่มาองค์กรอิสระ’
ทำไมถึงอยากให้พูดเรื่องนี้? คำตอบง่ายๆ คนเราจะดีได้อย่างไร ถ้าไม่เปิดรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการตรวจสอบที่โปร่งใส
ข้อมูลจาก iLaw เปิดเผยที่มาขององค์กรอิสระพบว่า องค์กรอิสระไม่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ล้วนมีความยึดโยงกับระบอบที่ พล.อ.ประยุทธ์สร้างขึ้นทั้งสิ้น เช่น ศาลรัฐธรรมนูญที่ 5 คนจาก 9 คนถูกเลือกโดย ส.ว. ที่ถูกเลือกมาอีกต่อโดย คสช. หรือ กกต. ที่ทั้ง 7 คนล้วนถูกคัดสรรโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ซึ่งมีที่มาจาก คสช. เช่นกัน
และภาพที่เกิดขึ้นต่อมาก็เช่น ปปช. ไม่ยอมเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการรับตำแหน่งนายกฯ ปี 2562 โดยให้เหตุผลว่า “เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีฯ ของผู้ยื่นที่ยื่นไว้เพื่อเป็นหลักฐาน” ซึ่งเป็นผลจาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่ถูกเสนอโดย สนช. นั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีคดี ‘นาฬิกายืมเพื่อน’ ที่นักข่าวของ The MATTER ติดตามมาตลอด แต่สุดท้าย ปปช. ก็ยื่นกลับมาเพียง ‘กระดาษเปล่า’
ยังมีตัวอย่างการทำงานขององค์กรอิสระในห้วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมาที่น่าเคลือบแคลงอีกมาก และหากจะให้นับคงพูดกันไม่หวาดไม่ไหว ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์สาบานไม่ครบ จนถึงสูตรคิดคะแนนเลือกตั้งปี 2562 ของ กกต.
หาก ‘มาเหนือเมฆ’ จะยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนดีอย่างที่กล่าวมาจริง หวังว่า ‘มาเหนือเมฆ’ ฉบับจัดพิมพ์ครั้งต่อๆ มา จะมีการเพิ่มประเด็นนี้ลงไปบ้าง เพื่อยืนยันว่าคนดีแบบ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นดีจริง ดีแท้ และดีตรงตามมาตรฐานแบบตรวจสอบได้