หากไม่มีร่องรอยของเลือด แต่เป็นการใช้ ‘กฎหมาย’ มาสร้างความรุนแรงกับผู้อื่นโดยอ้างนามของความดี … ถือเป็นเรื่องที่โหดร้ายไหม?
หลังจาก ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โดนวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล เจ้าของช่องยูทูบ ศักดินาเสื้อแดงเข้าไป ‘ตบสั่งสอน’ ประเด็นเรื่องความรุนแรงก็ถูกพูดถึงอีกครั้ง
พูดถึงแบบไหน? หลายคนมองว่า ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็มีคำถามว่า ความรุนแรงที่เกิดจากการฟ้องร้องคดี นำไปสู่ความเสียหายในการใช้ชีวิตของผู้ที่ถูกศรีสุวรรณฟ้องร้องนั้น เมื่อเทียบกับการตบหน้าแล้ว อย่างไหนรุนแรงกว่ากัน
เชื่อว่า หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตากับศรีสุวรรณ ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘นัก(ฟ้อง)ร้อง’ กันอย่างดี ซึ่งหากนับเฉพาะปีนี้ ศรีสุวรรณก็ได้ฟ้องร้องเรียนไปแล้วอย่างน้อย 57 เรื่อง เช่น กรณียื่นร้อง กกต.เรื่องชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ทำป้ายหาเสียงเป็นกระเป๋า แถมยังเคยโพสต์ข่มขู่กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดี 8 ปีประยุทธ์ว่า ใครลงถนน จะแจ้งจับสถานเดียว พร้อมกับกล่าวว่า “คุกมีไว้ขังพวกไม่เคารพกฎหมาย”
แน่นอนว่า ด้วยความเป็นนักฟ้องร้องของศรีสุวรรณ ทำให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการต้องไปต่อสู้คดี หรือบางครั้งก็เจอผลกระทบจากแรงกดดันทางสังคมมากมาย The MATTER ขอรวมเสียง 3 ผู้เสียหายที่ออกมาเล่าถึงความเดือดร้อนจากการกระทำของศรีสุวรรณ รวมถึง จำนวนคดีที่ศรีสุวรรณฟ้องร้องไป เพื่อให้เห็นถึงผลที่มาตามมาจากการใช้ความรุนแรงที่กระทำภายใต้นามของ ‘กฎหมาย’
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
“ในฐานะคนเคยโดนศรีสุวรรณไล่ฟ้องเรื่อยเปื่อย จนส่งผลกระทบต่อชีวิตและอาชีพ ไม่มีใครติดตามว่าหลังจากศรีสุวรรณยื่นฟ้อง เรื่องนี้เป็นเท็จจริงอย่างไร คนที่ไม่ได้ติดตามหลายคนก็ไม่รู้ เพราะมีแต่ข่าวนี้ลง”
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการฟ้องร้องของศรีสุวรรณ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา
อ.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ตนถูกแหล่งทุนปฏิเสธ มีการยกเลิกการบรรยายพิเศษ คนในครอบครัวเกิดความกังวลต้องคอยรับสายโทรศัพท์จากการฟ้องเรื่อยเปื่อยที่เลือกคดีโทษสูงแบบไร้มูลเพื่อให้เป็นข่าว ฟ้องคนไปทั่ว
“ผมพูดตรงๆ ว่าสิ่งที่ศรีสุวรรณ ทำกับผมและหลายคน รุนแรงกว่าการต่อยหน้ามาก เป็นความรุนแรงที่มองไม่เห็น แต่บ่อยครั้งมันฆ่าคนทั้งเป็น เหมือนวิทยุยานเกราะช่วง 6 ตุลา เหมือนความเห็นทางการเมืองของทมยันตี และฝ่ายขวาอีกหลายคน พวกนี้ก็อาจไม่เคยฆ่ามดสักตัว แต่ความเห็นของพวกเขาก็นำสู่ความเกลียดชังมากมาย”
อ.ษัษฐรัมย์ ยังเล่าว่า ตนโกรธและเกลียดศรีสุวรรณเป็นอย่างมาก แต่เมื่อช่วงต้นปีที่ ตนก็ตัดสินใจให้อภัยเขา เพราะเห็นแก่ว่าเขามีลูกเพิ่งเกิด และวันหนึ่งเขาก็จะเข้าใจว่าเรื่องสังคมที่เท่าเทียมและรัฐสวัสดิการที่ผมเรียกร้องสำคัญอย่างไร ที่คนจะมีชีวิตอย่างเท่าเทียม
“ทั้งนี้ผมตระหนักดีว่าการกล่าวว่าให้อภัยเขา ผมพูดด้วย อภิสิทธิ์บางอย่าง เพราะผมมีปากกา มีไมค์ มีพื้นที่ที่สามารถขยายความเห็นของผมเพื่อโต้แย้ง และทำให้เขาเป็นตัวตลกต่อไปได้”
“เครื่องมือแต่ละคนไม่เท่ากัน ภาวะการถูกกดขี่ของคนไม่เท่ากัน ผมเอาศีลธรรมที่ตัวเองเชื่อยึดถือไปบอกว่าให้แต่ละคนยักไหล่กับศรีสุวรรณก็ไม่ได้เช่นกัน”
ด้วยเหตุนี้ อ.ษัษฐรัมย์จึงมองว่า เป็นไปตามที่แต่ละคนสะดวก จะถอดบทเรียน หรือปฏิรูปนิยามของคำว่าสันติวิธีก็ทำไปพร้อมกันได้ จะเน้นความถูกต้องทางการเมือง ก็ให้พูดถึงความรุนแรงประเภทที่เรามองไม่เห็นด้วย ทำไปได้พร้อมกัน
กรณีที่ อ.ษัษฐรัมย์โดนฟ้องร้องนั้น มาจากการที่ศรีสุวรรณแจ้งข้อกล่าวหากับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปทอ.) ในเรื่องที่ อ.ษัษฐรัมย์โพสต์ข้อความว่า “วิธีที่จะรับลูกต่อจากการต่อต้านเผด็จการ และรัฐอำนาจนิยมจากการใช้ความรุนแรงเมื่อคืน ที่ง่าย สันติและใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด คือการนัดหยุดงานทั่วประเทศ”
ศรีสุวรรณ ระบุว่า การชงไอเดียเสนอนัดหยุดงานทั่วประเทศนั้น เป็นเรื่องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา ม.117 ซึ่งอยู่ในหมวดที่เกี่ยวกับความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรด้วย ซึ่งกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ว่า “ผู้ใดยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้าง หรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขาย หรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใด ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาลหรือเพื่อข่มขู่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และยังบอกว่า อาจเข้าข่าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14 (3) อีกด้วย
สหรัฐ สุขคําหล้า
“ความรุนแรงที่ศรีสุวรรณทำกับผมคือการเกือบที่จะทำให้ผมเรียนไม่จบมหิดลหลังจากทำหนังสือไปยืนสำนักงานพุทธศาสนา ทำให้ตัวผมนั้นเกือบถูกเพิกถอนสภาพนักศึกษา”
สหรัฐ สุขคําหล้า หรืออดีตสามเณรโฟล์ค หนึ่งในผู้ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และโดนศรีสุวรรณฟ้องร้องเช่นกัน ออกมาเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แม้ว่ามหาวิทยาลัยมหิดลจะมองว่า การแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิ์ของนักศึกษา แต่ตนก็ยังเจอกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ดี
“ครั้งหนึ่งผมไม่มีเงินกินเพราะไม่มีกิจนิมนต์หรืองานอะไรเลย ยังดีที่หาบิณฑบาตเลี้ยงชีพเป็นรายวัน จนอาจารย์คมกฤช และ อาจารย์ไพรวัลย์ หรือคนเสื้อแดงค่อยช่วยบริจาคเงินให้ (ส่วนตัวผมอายมากเพราะไม่อยากรบกวนใคร)”
หลังจากนั้น สหรัฐก็ถูกบังคับ ให้สึกจากการเป็นสามเณร โดยใช้กลไกรัฐปราบปรามคนเห็นต่างและทำให้เด็กอย่างผมหมดอนาคต เรียกว่าฆ่าให้ตายทั้งเป็น
สหรัฐทิ้งท้ายว่า “แค้นความหลังผมยังจำไม่ลืม”
ไม่ใช่เพียงแต่สหรัฐเท่านั้น แต่หากย้อนไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ศรีสุวรรณเคยยื่นหนังสือถึงมหาเถรสมาคม ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธฯ ให้ตรวจสอบกรณีพระสงฆ์ที่ออกมาร่วมขบวนชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย
ในคำร้อง ระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในแต่ละยุคสมัยเป็นธุรกิจของฝ่ายบ้านเมือง เป็นหน้าที่ของฆราวาสผู้มีสิทธิตามกฎหมายโดยเฉพาะ ไม่ใช้หน้าที่ของพระภิกษุสามเณรผู้อยู่นอกเหนือการเมืองข้อนี้แสดงโดยชัดแจ้งว่า ความเป็นพระภิกษุสามเณรไม่ควรแก่การเมืองโดยประการทั้งปวง
สมบัติ บุญงามอนงค์
“ในฐานะผู้ที่เคยประสบภัยศรีสุวรรณคนหนึ่ง มีเรื่องขำจะเล่าคือ ตอนที่มี Car Mob จากเกษตรไปปทุมธานี ศรีสุวรรณไปแจ้งความที่ สน.บางเขน กล่าวหาผมกระทำผิดกฎหมาย ม.116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
อีกหนึ่งเสียงจาก สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกมาแชร์เรื่องราวผลกระทบจากการฟ้องร้องของศรีสุวรรณ แม้ว่า การฟ้องร้องนั้นจะเป็นเรื่องที่เขามองว่าไร้สาระก็ตาม
“ข้อเท็จจริงคือ ผมไม่ได้อยู่ที่เกษตรในวันนั้น แต่เดินทางมาที่ปทุมธานี เรื่องนี้ผมก็แย้งกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ไม่มีข้อเท็จจริงว่าตัวผมอยู่ในเหตุการณ์จะฟ้องผมได้ยังไง ทนายให้คำแนะนำว่า ตอนที่ศรีสุวรรณมาเบิกพยานแล้วคดีสิ้นสุด ก็ค่อยฟ้องศรีสุวรรณคืน”
“ปัญหาของผมคือ ผมไม่ชอบไปศาลเพราะมันเสียเวลา และถ้าจะให้ไปพบหน้ากับคุณศรีสุวรรณอีก ผมก็ไม่เห็นประโยชน์อันใด นอกจากมองว่าเป็นกิจกรรมการใช้เวลาที่หาสาระมิได้ #ผู้ประสบภัยศรีสุวรรณ”
สำหรับการฟ้องร้องในครั้งนั้น ศรีสุวรรณ กล่าวว่า การจัดกิจกรรม Car Mob Call Out เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 เข้าข่ายความผิดหลายข้อหา อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และถือเป็นพฤติการณ์ที่ไม่ยำเกรงกฎหมายของบ้านเมือง
ฟ้องไปแล้วกี่คดี?
ศรีสุวรรณเคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า เขาได้ร้องเรียนคดีการเมืองปีละ 140-150 คดี รวมถึงได้ฟ้องคดีปกครองทั่วประเทศมาแล้ว 4,000-5,000 คดี โดยมองว่า การกระทำของตนเป็นการช่วยเหลือสังคม
แต่หากนับรวมแค่เฉพาะปีนี้ ข้อมูลจากบีบีซีไทยระบุว่า เขาได้ร้องเรียนไปแล้วอย่างน้อย 57 คดี
หากไปย้อนดูคดีดังๆ ของศรีสุวรรณ จะพบว่า เขาเคยฟ้องร้องคดี ม.112 อีกหลายต่อหลายครั้ง เช่น นารา-เครปกระเทย กรณีโฆษณาลาซาด้า, แอดมินเพจเยาวชนปลดแอก-Free YOUTH กรณีโพสต์ข้อความชวนคนมาชุมนุมและเดินขบวน, ไทยเวียตเจ็ท กรณีเล่นมุกเที่ยวบิน ‘น่าน-มิวนิค’
นอกจากนี้ คดีอื่นๆ เช่น ยื่น กกต.ยุบอนาคตใหม่ กรณีพรรคไทยรักษาชาติประกาศเทคะแนนให้, ยื่น กกต.เอาผิดพรรคไฟเย็น และพรรคก้าวล่วง กรณีอ้างใช้ชื่อพรรคการเมืองโดยไม่มีการจดแจ้ง
ดังนั้นแล้ว กรณีของศรีสุวรรณที่ฟ้องร้องผู้คนมากหน้าหลายตานี้ จึงถือเป็นเรื่อง ‘ความรุนแรง’ ไม่แพ้กัน
เหมือนอย่างที่ ลักขณา ปันวิชัย หรือ ‘คำ ผกา’ นักเขียนและพิธีกรชื่อดัง กล่าวว่า “การ ‘ชก’ ศรีสุวรรณ เป็นการปะทะกันระหว่าง ความรุนแรงทางกายภาพตรงไปตรงมาเรียบๆ ง่ายๆ กับ ความรุนแรงแฝงเร้นที่ศรีสุวรรณกระทำผ่านกลไกกฎหมายในนามของการปกป้องความดีความถูกต้อง”
“เป็นความรุนแรงที่ถูกเคลือบด้วยเสื้อผ้าไหมลายไทยสีพาสเทลที่ลึกๆ แล้วโหดร้ายไม่น้อยไปกว่าความรุนแรงที่มีรอยเลือด”
อ้างอิงจาก