ในความรู้สึกเรา ครูคือผู้ชี้นำและผู้ที่หวังดีต่อศิษย์ บางท่านอาจจะดุบ้าง รุนแรงกับเราบ้าง แต่โดยนัยเราก็รู้ว่าครูท่านต่างก็มีเจตนาที่ดี อยากให้เราเติบโต แต่ระยะหลังเริ่มมีข่าวที่น่าตกใจเกี่ยวกับครูและศิษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ข่าวการบังคับเด็กแพ้เต้าหู้ให้กราบหน้าเสาธง ข่าวการปาแก้วใส่เด็ก ข่าวการกลั่นแกล้งเด็กอนุบาล
ล่าสุด มีกรณีครูที่คุมสอบ GAT/PAT ให้นักเรียนหญิงขูดเล็บที่ทาเอาไว้เพื่อความสวยงามทิ้ง นอกจากปัญหาเรื่องความรุนแรงที่ทำให้นักเรียนบาดเจ็บหรือเรื่องของการไม่มีกฎเกณฑ์ระบุไว้ จะว่าไปไอ้เรื่องทำโทษแรงๆ กับนักเรียนก็เป็นสิ่งที่ครูมักใช้กับนักเรียนในนามของความหวังดีอยู่บ้าง เช่น การตี การตัดผม หรือการทำให้อับอายต่างๆ
บ้านเราเองยังมีความเชื่อเรื่องความจำเป็นของความรุนแรง ที่เอ้อ เด็กบางคนมันก็ต้องกำราบเนอะ มันเลยมีแนวคิดแบบไม้เรียวสร้างคน ซึ่งสุดท้ายก็น่าคิดว่า ไอ้การสร้างคนที่ ‘มีการศึกษา’ ด้วยกระบวนการของการห้ามและการลงโทษ มันช่างย้อนแย้งกับการส่งเสริมให้คนคิดเป็น ซึ่งไอ้การคิดเนี่ยมันน่าจะเป็นเจตนารมย์สำคัญของการมีการศึกษามากกว่าหรือเปล่า
ฟังก์ชั่นของการลงโทษ
การลงโทษคือการใช้ความรุนแรงเพื่อก่อให้เกิดความเจ็บปวดไม่ว่าจะโดยทางร่างกายหรือทางจิตใจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาต่างๆ จริงๆ ในศตวรรษที่ 19 รวมถึงบ้านเราเองสมัยก่อน ก็ค่อนข้างเชื่อในเรื่องการใช้การลงโทษเพื่อขัดเกลาสั่งสอนเด็กอยู่บ้าง
แต่ระยะหลังนี้ แม้แต่ในไทยเองก็เริ่มมีการตั้งคำถามและปรับเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการใช้วิธีการที่เป็นแง่ลบ (negative force) เช่น การลงโทษด้วยความรุนแรงทั้งหลาย เพราะหลักๆ แล้วมันประกอบขึ้นด้วยพลังเชิงลบ เป็นการควบคุมคนด้วยความกลัว อำนาจ และการบังคับ การใช้การลงโทษหรือความรุนแรงมากๆ จึงนำไปสู่การสื่อสารที่บกพร่องลงไป
และแล้วบ้านเราก็ยกเลิกการตีไปในที่สุด (แน่นอนว่ามาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าควรจะคงการลงโทษไว้)
ในสหรัฐมีกระแสต่อต้านการลงโทษที่รุนแรงกับเด็ก และมีการศึกษารายงานว่าการใช้ความรุนแรงในการลงโทษส่งผลกับผลการศึกษาและสุขภาวะของเด็กในระยะยาว มีรายงานว่าเด็กจำนวนมากที่ถูกลงโทษด้วยการตีหรือความรุนแรงต่างๆ มักจะเกิดปัญหาทางอารมณ์ไม่ว่าจะเป็น ภาวะซึมเศร้า ภาวะหวาดกลัว ไปจนถึงความเกรี้ยวกราดในเวลาต่อมา และนักเรียนที่ถูกกระทำรุนแรงเหล่านี้มักต้องถอนตัวออกจากระบบการศึกษาและไม่สามารถที่จะไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้
การบังคับหรือความเข้าใจ
คำถามที่น่าคิดคือ ในที่สุดแล้วสิ่งที่เราควรสอนเด็กๆ คืออะไร และอย่างไร เช่นการห้ามหรือให้กระทำสิ่งที่ควรทำต่างๆ มันควรเกิดจากความกลัวและการจดจำเรียนรู้กฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ หรือมันควรเกิดจากการรู้จักคิด ทบทวน และตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ มันมีเหตุผลของมันมั้ย
ถ้าเราอยากให้เด็ก เป็นผู้ใหญ่ เราก็ควรมองและปฏิบัติกับเด็กๆ เหล่านั้นอย่างผู้ใหญ่คนหนึ่ง ด้วยการเคารพ รับฟัง และใช้เหตุผล
ซึ่งการเข้าไปล่วงละเมิด ห้ามปราม และลงโทษ มันน่าจะไม่ใช่สิ่งแรกๆ ที่ผู้ใหญ่เขาทำกันเนอะ