เด็กแว้นฟังดูเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นเลือดร้อน มั่วสุม ออกมาแข่งมอเตอร์ไซค์ ดื่มเหล้า เสพยา ถ้าเป็นไปได้ เราก็ไม่ค่อยอยากจะเจอกับกลุ่มเด็กแว้นเท่าไหร่ ยิ่งในเวลากลางคืน การเจอกลุ่มมอเตอร์ไซค์ซิ่งโขยงหนึ่ง ย่อมเป็นภัยคุกคามชีวิต
ปีที่แล้ว ที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพได้จัดแสดงผลงาน ราตรีสีรุ้ง ของศิลปินชาวญี่ปุ่น ตัวงานจัดแสดง ‘สิ่งของ’ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘เด็กแว้น’ เอาไว้ แต่ศิลปินได้ย้อมสิ่งของเหล่านั้นให้เป็นสีรุ้งเหลือบแมลงทับเพื่อสื่อถึง ‘ความฝัน’ ของเหล่าเด็กแว้น – เด็กแว้นมีความฝันด้วยหรือ? เด็กที่ฟังดูเหมือนว่าไม่มีอนาคต ดูเหมือนมุมมืดของสังคม
นิทรรศการของ ทามูระ ยูอิจิโระ พาเราไปสำรวจอีกด้านของเด็กแว้น วัตถุที่ส่องแสงถูกจัดวางไว้กับเรื่องเล่าของชีวิตเด็กแว้น ชีวิตที่ประกอบไปด้วยความฝัน ความผูกพัน ความวิตกกังวล เป็นเรื่องราวที่แสนจะสามัญที่เด็กวัยรุ่นอายุ 15 ปีต้องเผชิญ นั่นสินะ สุดท้ายแล้ว กลุ่มคนที่เราเรียกว่า ‘เด็กแว้น’ ที่แสนน่ากลัวก็เป็น ‘เด็กวัยรุ่น’ เป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง วัยแห่งการค้นหาความฝันและค้นหาตัวตน
ตัดเรื่องความถูกผิดหรือมองว่าเด็กแว้นเป็นเพียงปัญหาสังคมที่ต้องกำจัด นักวิชาการจำนวนหนึ่งมองว่าเด็กแว้นเป็นวัฒนธรรมของวัยรุ่น เป็นวัฒนธรรมย่อยรูปแบบหนึ่ง และประกอบกับมุมมองสำคัญคือ เด็กแว้นก็คือกลุ่มเด็กวัยรุ่นวัย 14-15 ปี แต่อะไรล่ะที่ทำให้วัยรุ่นก้าวออกจากบ้าน บ่ายหน้าไปท้าความตายอยู่บนท้องถนน
เด็กแว้นในฐานะ ‘วัยรุ่น’
วัยรุ่นเป็นวัยที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน เป็นวัยที่ต้องเผชิญกับความยุ่งเหยิงของชีวิต ทั้งจากตัวเอง จากฮอร์โมน จากครอบครัวและจากความคาดหวังของสังคม วัยรุ่นอาจเป็นวัยที่ดูก้าวร้าว แต่จริงๆ ในตัวเด็กวัยรุ่นเองก็มีแง่มุมของความอ่อนไหว เต็มไปด้วยความรู้สึก มีความเปราะบางในแบบของตัวเอง
วัฒนธรรมแบบวัยรุ่นมี ‘การต่อต้าน’ เป็นหัวใจอยู่แล้ว สมัยหนึ่งเราต่างก็หัวดื้อ อยากทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่และสังคมห้าม อยากจะเอาชนะกรอบและกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่อยู่รอบตัว สำหรับการเป็นเด็กแว้น การท้าทายอาจจะข้ามไปสู่เส้นของกฏหมาย ของความปลอดภัย ของชีวิต แต่นั่นแหละ เพราะความท้าทายที่มีชีวิตเป็นเดิมพันนี้ เลยทำเลือดที่ร้อนอยู่แล้วของวัยรุ่นยิ่งเดือดสะใจเข้าไปใหญ่
ในงานวิจัยภาคสนาม ‘เร่ง รัก รุนแรง โลกชายขอบของนักบิด’ ของ ปนัดดา ชำนาญสุข ที่ลงไปสัมผัสคลุกคลีกับเด็กแว้น งานวิจัยส่วนใหญ่ก็จะพบคำตอบในทำนองใกล้เคียงกันคือเด็กแว้นมักเป็นกลุ่มที่ถูกสังคมทอดทิ้ง เป็นกลุ่มเด็กชายขอบ การออกมารวมตัวกันนำไปสู่การ ‘สร้างตัวตน’ และสร้างการยอมรับ ‘การได้รับการยอมรับ’ จึงดูเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จากการที่สังคมไม่ยอมรับ ไปสู่การยอมรับกันภายในกลุ่ม การยอมรับที่เกิดจาก ‘ความเจ๋ง’ ไม่ว่าจะจากการขับรถผาดโผน การสามารถท้าทายกฎหมายและขับรถซิ่งหนีจราจรได้
จากงานศึกษาและนิทรรศการราตรีสีรุ้ง ภาพลางๆ ของเด็กแว้นที่เคยดูน่ากลัวก็ดูจะอ่อนนุ่ม เป็นเหล่าวัยรุ่นที่รุนแรงแต่ก็อ่อนไหวอยู่ในที ในงานวิจัยของปนัดดาชี้ให้เห็นว่าเด็กแว้นเองก็มีมิติที่ละเอียดอ่อน มีความสัมพันธ์ที่พิเศษ เช่นระหว่างเพื่อนในแกงค์ ไปจนถึงความผูกพันธ์พิเศษระหว่างเด็กแว้นกับรถ เด็กแว้นรักรถ พวกเขาถนอมรถราวกับว่ารถมีหัวใจ ในราตรีสีรุ้ง เรื่องเล่าของเด็กแว้นให้ภาพเด็กธรรมดาๆ ที่ต้องผ่านห้วงเวลา เป็นเด็กที่มีความฝันและความผิดหวัง เด็กที่เจอปัญหาภายในครอบครัว ผ่านการบวช ไปจนการเผชิญกับเรื่องเหนือธรรมชาติ
‘เป็นตำรวจไม่ได้ ก็เป็นมือปืน’
งานศึกษาของปนัดดาอ้างอิงเสียงสัมภาษณ์ของนายตำรวจคนหนึ่งที่ต้องรับมือเด็กแว้นว่า “เขาไม่คิดว่าตำรวจเป็นฮีโร่ เพราะเขารู้ดีว่าเขาเป็นตำรวจไม่ได้ เขาเป็นมือปืนได้ เขาจึงถือว่ามือปืนคือฮีโร่ของเขา” ปนัดดาสรุปว่าเด็กแว้นคือกลุ่มคนที่ไม่มีทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมอย่างที่เราๆ มี และในการสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ – คือการออกไปท้าทายกับกรอบของสังคมเดิม กลับกลายเป็นว่าทำให้วัยรุ่นเหล่านี้นำตัวเองเข้าไปอยู่ในภาวะเสี่ยง เสี่ยงต่อชีวิต เสี่ยงต่อสุขภาพ ปนัดดาสรุปว่า เด็กแว้นจึงเป็นทั้งผู้ถูกกระทำและเป็นผู้กระทำต่อคนอื่นในสังคมด้วย
การตัดสินคนอื่นเป็นเรื่องที่เราทำเสมอ เรานั่งอย่างสุขสบาย มีการศึกษาที่ดี ก่อนที่เราจะชี้นิ้วตัดสินคนอื่นไปอย่างง่ายดาย เราต่างลืมไปว่าเรามีเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกัน มีต้นทุน โอกาส มีความฝันและมีภาพอนาคตที่แตกต่างกัน วัยรุ่นบางคนเห็นภาพและมีความฝันได้อย่างจำกัด ในบทความของ ทิพาพร ทานะมัย พูดถึงการเปลี่ยนบทบาทของเด็กแว้น การขับขี่ผาดโผนทำให้วัยรุ่นที่เคยถูกทอดทิ้งกลายเป็นจุดสนใจ กลายเป็นพระเอกบนเวทีได้อีกครั้ง ฉากหน้าแห่งการเสี่ยงชีวิตนั้นเป็นฉากที่บดบัง ‘ความผิดหวัง’ ของเหล่านักซิ่งเอาไว้ เบื้องหลังที่เต็มไปด้วยความล้มเหลวและการถูกปฏิเสธ ทั้งจากระบบการศึกษา จากสถาบันครอบครัว ไปจนถึงการไม่ได้รับการยอมรับ
สุดท้ายปัญหาเรื่องเด็กแว้นก็นำไปสู่คำตอบเดิมๆ ความเข้าใจที่เราต่างรับรู้แต่ก็ไม่แยแสสนใจ เพราะการชี้นิ้วและหาทางกำจัดเป็นเรื่องง่าย เรื่องที่ยากคือการสืบสาวไปยังต้นเหตุที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคนในสังคม – สังคมเดียวกันกับที่เราทุกคนอยู่ คำตอบน่าเบื่อเรื่องความเหลื่อมล้ำ การกระจายทรัพยากรที่ไม่ธรรม การเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานและความรุนแรงที่แฝงอยู่ทุกที่แม้แต่ในครอบครัว
เมื่อเราเข้าใจว่าเด็กแว้นก็คือเด็กวัยรุ่น แต่เป็นวัยรุ่นที่เลือกจะก้าวเดินออกจากบ้าน ไปเสี่ยงตายบนท้องถนนและหันเหหาการยอมรับโดยมีความรุนแรงและความเสี่ยง เพราะเราต่างต้องการแสวงหาพื้นที่แห่งการยอมรับและพื้นที่ที่ปลอดภัย ถ้าสังคมและบ้านปลอดภัย ใครจะอยากออกไปเสียจากบ้าน
อ้างอิงข้อมูลจาก