หากใครเคยเห็นภาพจากภาพยนตร์ pulp fiction หรือ trainspotting ในรูปแบบลายเส้นที่ต่างออกไป สีละมุนสบายตา แต่อยู่บนพื้นผิวที่ชัดเจน ราวกับเราจะสามารถความขรุขระนั้นได้ผ่านสายตาของเรา ผลงานเหล่านั้นมาจาก คุณวิน ที่หลายคนอาจคุ้นเคยในชื่อ ‘wawawawin’ เจ้าของผลงาน NFT ‘THE INCREDIBLE DOGE’
ผลงานของวิน มักทำให้เราจดจำได้จากฝีแปรงอันเป็นเอกลัษณ์ แม้เจ้าตัวจะไม่ค่อยเข้มงวดกับการทำตัวเองให้เป็นที่จดจำผ่านอัตลักษณ์ของงานเท่าไหร่นัก แต่ผลงานของเราสามารถทำให้เราจดจำได้ไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะในตอนที่เป็นงานภาพประกอบ บนโลกอินเทอร์เน็ต บนสิ่งพิมพ์ ไปจนถึงบนโลก NFT ที่เขายังคงหยิบเอาเอกลักษณ์ของตัวเองไปด้วยเสมอ
โดยเฉพาะการหยิบจับป็อปคัลเจอร์ไปถ่ายทอดในรูปแบบของตนเอง มาพูดคุยกับวิน ในการทำงานทั้งบนโลกออฟไลน์และออนไลน์ ถึงกระบวนการทำงาน การขาย และการคงความเป็นตัวเองเอาไว้จากงานทั้งสองฝั่ง
ตอนที่ตัดสินใจเข้าตลาด ตอนนั้นมองเห็นอะไร?
วินสนใจคริปโตเคอเรนซี่ตั้งแต่ปี 2018 ได้มั้ง ตอนนั้นตลาดมันเริ่มบูมครั้งแรกๆ เราจะได้ยินชื่อบิตคอยน์ อะไรพวกนี้ครั้งแรกๆ ตอนนั้นเราเป็นนักศึกษาอยู่ ก็เลยลงทุนนิดนึง ตอนนั้นเราก็ไม่คิดว่ามันจะมาไกลถึงเมตาเวิร์สหรอก ตอนนั้นเราคิดแค่ว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่กำลังน่าสนใจ มันพูดเรื่องการกระจายอำนาจ เราก็ไม่รู้ว่าจะจริงมั้ย แต่ก็ลองศึกษาไว้ ลงทุนไปตามกำลังทรัพย์ที่มี
สักพักมันก็เจ๊ง (หัวเราะ) ผ่านไปหลายปี ปลายปีที่แล้วมันก็กลับมาบูมอีกครั้ง พอมันเริ่มแมสครั้งแรก มันจะมีสิ่งที่เรียกว่า IPO พอมันผ่านไปประมาณนึง มันก็เทสต์ว่าโปรเจ็กต์ไหนมันเวิร์กบ้าง หลายอย่างก็ดูเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เราก็พอรู้จักมันบ้าง เราทำงานอาร์ตได้ เราก็เลยลองดู
ประมาณหกเดือนที่แล้ว ตอนเริ่มต้น เราเริ่มมินต์งานจากงานวาดสีน้ำที่มีอยู่แล้ว พอเราเห็นแล้วว่าคนมีอินไซด์ประมาณไหน พอมันไม่ได้ทำบนสิ่งพิมพ์ ข้อจำกัดมันก็น้อยลง พออยู่บนโลกดิจิทัล โลกบล็อกเชน ก็ทำให้เราขายงานเป็นดิจิทัลได้ ก็ลองดูแล้วกัน ก็ลองทำแบบแอนิเมตบ้าง เพนต์บ้าง มันต่างตรงที่เราขยับตามแพลตฟอร์ม ขอบเขตมันกว้างขึ้นเราก็ขยับตามมันไป
ถือว่าเราเริ่มต้นได้ง่ายขึ้นด้วยหรือเปล่า?
เหมือนกลับมาศึกษาใหม่อีกครั้งตอนต้นปี แต่เราก็ไม่ต้องตั้งต้นตั้งแต่แรก ว่ามันจะ scam หรือเปล่า มันโม้หรือเปล่า บางทีมันจะมีสิ่งที่ดูหลอกลวง ก็จริงนะ มันจะมีบางพื้นที่ที่มีพวก scam เยอะมาก แต่เราเข้าใจระดับหนึ่งแล้วว่ามันมีด้านนั้นแหละ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
เราเลยมาศึกษาเพิ่มเรื่อง NFT นี่แหละ อย่างคุณค่าของบนโลกบล็อกเชน ศิลปะ บันเทิง พอไปอยู่บนนั้นแล้วมันเป็นยังไง มีเพื่อนเราบางคนที่เข้ามาในตลาดก่อน ก็ชวนเราอีก เราก็เลยเข้าไปเลย
คิดว่างานของเรามีจุดเด่นอะไรที่ทำให้ขายได้?
โดยพื้นฐานเราค่อนข้างชอบงานที่ดูมีลักษณะให้ความรู้สึกดิบๆ ผสมอยู่ด้วย คือไม่จำเป็นจะต้องเป็นงานที่เนี๊ยบสมบูรณ์ 100% แค่สื่อสารอารมณ์ได้ดีก็เยี่ยมแล้ว รวมถึงความชอบพวกมีเดียป็อปคัลเจอร์ต่างๆ อย่างวิดิโอเกม/หนังสือการ์ตูนยุคเก่า สิ่งเหล่านี้มันทำให้เรารู้สึกถึงความ Nostalgia
บวกกับการที่เราพัฒนาผลงานจากการทำงานมืออย่างพวกภาพประกอบสีน้ำมาก่อน พอทรานฟอร์มมาเป็นงานดิจิตอลเองก็ตาม เรายังอยากให้เราให้ความรู้สึกถึงความวาดมืออยู่หน่อยๆ ก็ยังใส่ element ที่ดูเป็นพวกทีแปรงหรือลายเส้นดินสอสี แล้วก็พื้นผิวกระดาษอยู่ครับ
บนโลก NFT มันมีคนอินเหมือนกับเรา อย่างเช่น subculture บางอย่าง วัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตบางอย่าง ที่คนต่างชาติเข้าใจ เลยมีความสนใจบางอย่างร่วมกัน มันคือการที่งานของเราไปหาคนที่ชอบงานชิ้นนี้ได้ อย่างงานภาพประกอบ ต่อให้เราไม่อินเรื่องเอกลักษณ์เฉพาะตัวขนาดนั้น แต่มันก็มีบางอย่างของเราอยู่ในนั้น คนอาจจะชอบวิธีที่เราคิดองค์ประกอบ ฝีแปรง หรือลายเส้น
แต่บนโลก NFT มันโชคดีที่เราเข้าใจวัฒนธรรมโลกอินเทอร์เน็ต แล้วมีบางคนที่เข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสาร แล้วคนกลุ่มนั้นเห็นคุณค่าในงานนั้น
ตอนลงงานครั้งแรกกระแสตอบรับเป็นไงบ้าง?
มันก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น วินถือว่าวินยังอยู่ในระดับกลางๆ ตลาดมันรันด้วยความไฮป์ อาจจะเคยเห็นว่ามีคนที่ลงงานปุ๊บขายได้ปั๊บ วินยังไม่ใช่ขนาดนั้น บางชิ้นเขาขายได้เป็น 10 ETH เลย แต่เราเชื่อว่าหลายคนคงต้องเคยเจอปัญหาขายไม่ออก แม้แต่บางคนที่เรารู้สึกว่างานโคตรเจ๋งเลย แต่งานเขาก็ไม่ได้ขายเร็วขนาดนั้น เพราะมันไม่อาจไฮป์ไปได้ตลอดเวลา
ถ้าไม่ได้ขายได้ตลอดเวลา แล้วเรามี Marketing ยังไง?
เราจะมีงานที่อาศัยคอนเซ็ปต์ในการผลิต ถือเป็นชิ้นใหญ่อยู่บน Foundation ราคาจะสูงหน่อย แล้วก็มีชิ้นเล็กที่ขายอยู่บน Opensea ในคอลเลคชั่น wawawaworld เป็นตัวคาแรกเตอร์วาดเล่นๆ บางตัวเราวาดไว้ตั้งแต่เด็กๆ แล้วเอามาวาดใหม่ หรือวาดคาแรกเตอร์ที่เราซื้อของคนอื่นมาอีกที เป็นลายเส้นของเรา มันราคาถูกลงด้วย มันก็จะขายได้ไวกว่า เอาไว้คั่นเวลาตอนทำงานชิ้นใหญ่ สลับกันไป เหมือนโปรเจ็กต์หลักกับไซด์โปรเจ็กต์
ไม่ได้ขายออกแบบรวดเดียว ชิ้นใหญ่บางทีสามเดือนเพิ่งขายออกอย่างเงี้ย เราเลยต้องหาบางอย่างที่จะช่วยเราระหว่างนี้ได้ แบบไม่กระทบกับ traffic ของเราด้วย
วิธีการทำงานออฟไลน์ออนไลน์ต่างกันแค่ไหน?
อย่างที่บอกว่าเราทำงานภาพประกอบมาก่อน เราอยู่กับงานมาประมาณนึง แต่เรายังไม่กล้าเรียกตัวเองว่า Artist เลย ตอนนี้ก็ยังเขินๆ อยู่เลย (หัวเราะ) ที่จะเรียกตัวเองอย่างงั้น ภาพของเรามันต้องไปประกอบกับบริบทบางอย่าง คอนเทนต์บางอย่าง แต่เราไม่ได้ซีเรียสเรื่องอัตลักษณ์ขนาดนั้น อะไรที่มันถ่ายทอดคอนเทนตท์นั้นได้ดี เราก็ทำ เราไม่ได้คิดว่าจะต้องมีลายเส้นเฉพาะตัวขนาดนั้น เพราะมันมีข้อจำกัดประมาณนึง เพราะว่าเรายังต้องรับใช้การสื่อสารของคอนเทนต์นั้นเป็นหลัก
บางคนตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว หวงคำว่าศิลปินมากจนเราไม่อยากใช้มัน นักวาดภาพประกอบก็คือนักวาดภาพประกอบ เพนต์เตอร์ก็คือเพนต์เตอร์ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ แต่บางคนที่ทำงานในเชิงพานิชย์จะใช้คำว่าศิลปินไม่ได้นะ โอเค ถ้าหวงมากก็ไม่ใช้คำนี้ก็ได้ แต่ในโลก NFT เราจะเรียกตัวเองว่าอะไรก็ได้ จะเป็น NFT Creator หรือ NFT Artist ก็ได้ หรือจะเป็นอะไรก็ได้ ดังนั้นมันก็ไม่ได้มาพร้อมกับโจทย์ตั้งต้นเหมือนกับวาดภาพประกอบ
นอกเหนือจากนั้น พอมันเป็นโลกบล็อกเชน เราจะรู้สึกว่าบางคนงานโคตรเท่เลย เฉพาะตัวมากๆ ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ค่อยขายได้เท่าไหร่ในบ้านเรา พอมันไม่มีเส้นแบ่งเรื่องประเทศ คุณคนนั้นอาจได้เจอกับลูกค้าที่มีรสนิยมเดียวกันที่ไหนก็ได้บนโลกนี้
เราเองก็มีเรื่องที่เราอินอยู่แล้ว แล้วมันดันตรงกับโลกความกวนตีนของโลกอินเทอร์เน็ต วัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต อย่างมีม การ์ตูน บางลายเส้นที่ไม่สามารถขายได้ในงาน traditional มันทำให้เราวาดอะไรที่แปลกได้มากขึ้น อะไรที่มันเคยขายไม่ได้ มันแค่ต้องหากลุ่มคนที่มีความชอบตรงกันในพื้นที่นั้น งานที่เคยอยู่ในกระแสรองมันอาจจะขายได้ มีพื้นที่ มีสปอร์ตไลต์บนโลก NFT มากขึ้น
ถ้าเทียบกันอะไรยากกว่า?
NFT จะยากกว่าในบางมุม กระบวนการทำงานออฟไลน์ของเรา เราดีลกับลูกค้าได้แล้ว มีจุดมุ่งหมายแล้ว อย่างน้อยที่สุด ไม่ว่ามันจะถูกใจคนดูหรือเปล่า ถูกใจตัวเองหรือเปล่า บางชิ้นเราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้สวยขนาดนั้น แต่ถ้ามันตอบโจทย์เรื่องการสื่อสารคอนเทนต์ อารมณ์ ไปแล้วมันก็โอเคแล้ว อาจจะไม่ต้องสวยตลอดเวลา เต็มร้อยตลอดเวลาก็ได้ แค่ตรงตามเช็กลิสต์ที่มีก็พอใจแล้ว
แต่ NFT มันเหมือนการทดลอง เราคาดเดาผลมันไม่ได้เสมอไป แม้จะบอกว่าเรามั่นใจว่ามีคนสนใจเหมือนเราแน่นอน แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะขายได้เสมอไป มันก็ต้องอดทนสูงมากเลยนะ เวลารอฟีดแบค พอทุกอย่างถูกตีค่าเป็นตัวเลขแล้ว อย่างยอดผู้ติดตาม ไลก์ หรือราคาที่ขาย เราก็เผลออดเทียบตัวเองกับคนอื่นไม่ได้
เวลาเราดูหนังเราไม่ชอบตีค่ามันเป็นคะแนน บางทีเราดูหนัง เพื่อนถามให้กี่คะแนน เราก็จะตอบไม่ได้ งานวาดก็เหมือนกัน
แต่โลก NFT ทุกอย่างมันถูกตีเป็นตัวเลข ทำให้คนประสาทเสียได้เหมือนกัน มันเลยเป็นความยากอีกแบบนึง นอกคอมฟอร์ตโซนของเรา แต่งานภาพประกอบของเรามันมีจุดเซฟโซน มีฟีดแบคไปกลับ แต่ NFT เราต้องหาฟีดแบคนั้นด้วยตัวเอง เหมือนการทดลองจริงๆ
แล้วเรารับมือกับความกังวลบนโลก NFT ยังไง?
จัดการไม่ได้ครับ (หัวเราะ) ต้องเปลี่ยนตัวเองแหละครับ สำหรับเรา เราคุยกับตัวเองกับเพื่อนบ่อยๆ บางทีเรากังวลกับตัวเลขตอนนั้น แต่บางงานมันก็ต้องใช้เวลา อย่างงาน THE INCREDIBLE DOGE ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะขายออก พองานออกไป ก็เฉยๆ เราเลยเกิดคำถามว่า แล้วทำไมมันยังไม่โดนสักที แต่พอมันขายได้แล้ว มันก็ไปไกลเลย เราต้องจำไว้ว่าเราไม่ได้ควบคุมทุกอย่างได้ พอมันถูกตีค่าว่าขายออกหรือไม่ออก มันชอบทำให้เราตีค่าคุณค่าของงานไปด้วย แต่มันไม่ได้สัมพันธ์กันขนาดนั้น ไม่ได้หมายความว่างานที่ขายออกคืองานที่ดี ขายไม่ออกคืองานที่ไม่ดี บางทีแค่สกุลเงินมันขยับ โลก NFT ก็ชะลอลงแล้ว
ทั้งฝั่งออฟไลน์และออนไลน์หรือแม้แต่บนโลก NFT ต่างก็มีวิธีการทำงาน วิธีการขาย ที่แตกต่างกันไป ถือเป็นอีกด่านที่เราต้องปรับตัวเพื่อให้ผ่านไปและคงอยู่ในตลาด ที่อาจจะย้ายไปบนโลกใบใหม่อย่าง NFT ด้วย