‘The best you ever had. Is just a memory and those dreams.
Fluorescent Adolescent’
ท่ามกลางชีวิตประจำวันอันน่าเบื่อหน่าย การรักษาและดำเนินชีวิตไปตามกรอบและกฎเกณฑ์อย่างไม่รู้จบ ในนามของความเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเราเงยหน้าและลืมตาตื่นขึ้นมา ความฝันและความทรงจำ สองสิ่งที่แสนสำคัญกับชีวิตของเราก็เริ่มหลุดลอย และถูกลืมเลือน ผกผันไปอายุและความมั่นคงในชีวิต… การหลุดลอยและการลืมเลือนอันแสนเศร้า
เราทุกคนต่างเคยผ่านห้วงเวลาของการเป็นวัยรุ่น ช่วงเวลาอันแสนแปลกประหลาด เป็นวัยที่ฮอร์โมนของกำลังพลุ่งพล่าน เป็นรอยต่อของความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ เป็นช่วงที่ทั้งเราทั้งกำลังก้าวพ้นจากกฎเกณฑ์ของความเป็นเด็ก เรียนรู้ไปสู่กรอบของสังคมรูปแบบใหม่ๆ เป็นเวลาที่สามารถใช้สิทธิพิเศษบางอย่างของความเป็นวัยรุ่น ในเวลานั้นเราทั้งเต็มไปด้วยความหวัง ความมั่นใจ เป็นวัยแห่งความพลุ่งพล่าน การตั้งคำถาม และการแหกคอก
เนื้อเพลง กระทั่งทั้งอัลบั้มของ Fluorescent Adolescent ส่วนหนึ่งจึงเป็นพาเรากลับไปยังห้วงเวลาคลุ้มคลั่งอันแสนพร่าเลือน ช่วงชีวิตที่แสนวุ่นวาย นึกถึงวัยแห่งความดื้อรั้น แต่ก็ยังคงเปี่ยมไปด้วยความฝัน ความกล้าหาญ ที่สับสนไปกับความน่าหวั่นใจถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
การเป็นช่วง ‘รอยต่อ’ ของความเป็นวัยรุ่นนี้เองที่ทำให้วัยรุ่นเป็นกลุ่มคน เป็นช่วงวัยที่เต็มไปด้วยการท้าทาย การต่อต้านและการต่อสู้ ถ้าเรามองจากวรรณกรรมประเภทวรรณกรรมเยาวชน เรียกกันอย่างลำลองว่า ‘YA-Young Adult Fiction’ งานเขียนของวัยรุ่น ว่าด้วยวัยรุ่น ที่นอกจากจะพูดเรื่องปัญหาของวัยรุ่นเองแล้ว งานเขียนกลุ่มวรรณกรรมเยาวชนมักพูดถึง ปัญหาของภายนอกที่วัยรุ่นต้องเผชิญ กระทั่งดับเครื่องชนเพื่อต่อต้านกับระบบต่างๆ ดังเช่นที่ฮังเกอร์เกม หรือแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ของวัยรุ่น การต่อสู้ในชีวิตจริงกับระบบที่เป็นนามธรรม การต่อสู้ที่ไม่ต่างอะไรกับการต่อสู้กับระบบของเมืองพาเน็ม หรือลอร์ดโวเดอร์มอแต่อย่างใด
ยิ่งถ้าเรามองว่าวรรณกรรมคือ ‘แสงนำทาง’ มีงานเขียนที่บอกกระทั่งว่า งานของเยาวชนนี่แหละ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก เด็กๆ พวกที่เรามองว่าไม่ได้เรื่องได้ราวนี่แหละ ในที่สุดบางทีอาจจะเอาอ่าวกว่าพวกเราหลายขุม
Adolescent : ความเจ้าปัญหา ความหัวขบถ และการรักษาความฝัน
แค่คำว่าวัยรุ่นเองก็ถือว่ามีปัญหาในตัวเองอยู่แล้ว อะไรคือวัยรุ่น? วัยรุ่นต้องอายุเท่าไหร่? ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าคำว่าวัยรุ่นค่อนข้างเริ่มมีความสำคัญแพร่หลายก็ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นักสังคมวิทยาบอกว่าการให้ความสำคัญของวัยรุ่นนั้นเกิดจากยุคสมัยใหม่และโลกทุนนิยม คือเมื่อก่อนสังคมชนเผ่ามีการแบ่งระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ มีพิธีกรรมที่บอกว่าเด็กได้กลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่พอเข้าสู่โลกสมัยใหม่ มีระบบการศึกษา พร้อมๆ กับแนวคิดเรื่องจิตวิทยาพัฒนาการ ทำให้เส้นแบ่งความเป็นเด็กและผู้ใหญ่พร่าเลือน มีการแบ่งช่วงเวลาของการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ที่ยาวนานขึ้น
ช่วงวัยรุ่นนั้นสัมพันธ์กับทั้งลักษณะทางกายภาพ และมุมมองที่สังคมมองคนในช่วงวัยหนึ่งๆ โดยรวมวัยมักถูกมองว่า เป็นวัยแห่งความบ้าคลั่ง มีนิยามสั้นๆ ว่าเป็นข่วง ‘Strom and Stress’ ส่วนหนึ่งก็มองจากความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ และที่สำคัญคือการอยู่ในรอยต่อ การพ้นจากภาวะกรอบกฎเกณฑ์ต่างๆ ในวัยเด็ก และการเตรียมเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ วัยรุ่นจึงถูกมองด้วยความกว้างๆ สองด้าน คือวัยแห่งความว้าวุ่น พร้อมๆ กับเป็นช่วยวัยแห่งความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา สำหรับเราที่ผ่านวัยนั้นมาแล้ว เรามักจะมองย้อนกลับไปยังห้วงเวลาวัยในรุ่นในลักษณะโหยหาอดีต เป็นความทรงจำที่วุ่นวายทว่าสนุกสนาน
ในระยะหลัง จากแนวคิดที่มองวัยรุ่นว่าเป็นวัยแห่งความบ้าคลั่งก็เริ่มมีการทบทวนนิยามกันใหม่ ว่าส่วนหนึ่งนั้น อาจจะด้วยความที่วัยรุ่นเป็นวัยที่อยู่ในช่วงรอยต่อ ซึ่งนักคิดแนวโครงสร้างนิยมมักมองว่า พวกคนหรืออะไรก็ตามที่ไม่สามารถถูกจัดกลุ่มได้ว่าเป็นอะไร อะไรที่อยู่ตรงกลาง เลื่อนไหลไปมาระหว่างความหมายสองด้าน สังคมก็มักจะไม่ค่อยชอบเท่านั้น วัยรุ่นที่จะเป็นเด็กก็ไม่ใช่ ผู้ใหญ่ก็ยังไม่ถึง หลายครั้งความเป็นวัยรุ่นก็เลยกลับมาท้าทายความเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างที่เราคาดไม่ถึง นักคิดบางคนบอกว่าผู้ใหญ่บางคนรู้สึกว่าวัยรุ่นเป็นภัยคุกคาม เพราะนอกจากวัยรุ่นจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ได้ วัยรุ่นยังถูกนิยามเข้ากับอนาคต และทำให้ผู้ใหญ่กลายเป็นช่วงวัยที่ไร้อนาคตไปโดยปริยาย
ในทำนองเดียวกัน วัยรุ่นถือช่วงเวลาแห่งสิทธิพิเศษ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เรารู้ดีว่าเรากำลังมีอิสระมากที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต เป็นช่วงที่เราพ้นจากกฎจำนวนมหาศาลของวัยเด็ก และเตรียมเข้าสู่การหล่อหลอมแบบใหม่ การทำตามกฎระเบียบ และเส้นทางของผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จบอันกำลังรออยู่เบื้องหน้า ช่วงเวลาที่ตัวตนของเราค่อยๆ ถูกทำลายจากมาตรฐานและบรรทัดฐานทั้งปวงที่สังคม
ทั้งหมดนี้จึงไม่แปลกที่วัยรุ่นจึงเป็นวัยแห่งการต่อต้าน ทั้งในแง่ที่เป็นวัยของการตั้งคำถาม เป็นวัยที่ยังมีความเป็นเด็ก มีความฝัน เป็นวัยที่เขาเหล่านั้นตระหนักถึงอิสรภาพที่ค่อยๆ หายไป พร้อมกันนั้นเราก็ต้องอย่าลืมว่า ครึ่งหนึ่งของความเป็นวัยรุ่นก็คือความเป็นผู้ใหญ่ เป็นกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษา ได้รับข้อมูลที่หลายครั้งอาจเป็นเวอร์ชั่นอัพเดทมากกว่าเราที่ร้างราจากวงการการศึกษามาพักหนึ่งแล้วก็ได้
วรรณกรรมเยาวชนในฐานะวรรณกรรมของปัญหา และทำไมปัญหาและการต่อต้านถึงสำคัญ
วัยรุ่นเริ่มมีบทบาทสำคัญก็ด้วยหลายแง่ ทั้งการเป็นช่วงวัยที่อยู่ในระบบการศึกษา การเป็นกลุ่มช่วงอายุที่ค่อยๆ มีจำนวนมากขึ้น เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค มีวัฒนธรรมเฉพาะของตัวเอง (youth culture) มีการกินดื่ม เที่ยวเล่น การแต่งกาย ความสนใจเฉพาะ ธุรกิจและกิจกรรมหลายอย่างเฟื่องฟูได้ก็ด้วยวัยรุ่นเป็นตัวขับเคลื่อน อีกทั้งที่หลายครั้งความเปลี่ยนแปลง ด้านเศรษฐกิจและประวัติศาสตร์ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับคนหนุ่มสาวและวัยรุ่น
ในแง่ของวรรณกรรม งานเขียนที่ว่าด้วยเยาวชนจึงเป็นกลุ่มงานเขียนที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และในห้วงเวลาสิบ หรือกระทั่งยี่สิบปีที่ผ่านมา ประเภทวรรณกรรมพิเศษที่แบ่งโดยวัยนี้ ค่อยๆ ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การเป็นประเภทงานเขียนยอดนิยมที่มีนักอ่านวัยรุ่นเป็นผู้บริโภคจำนวนมาก การค่อยๆ ได้รับการสนใจศึกษาทำความเข้าใจในฐานะประเภทหนึ่งของวรรณกรรมร่วมสมัย และแน่นอนว่ากลายเป็นสัญลักษณ์ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมวัยรุ่น โดยเฉพาะการเป็นส่วนสำคัญของการต่อสู้ทางการเมือง ที่ไม่ได้จำกัดแค่ในประเทศไทยแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ เราก็มักจะมองคำว่าวรรณกรรมเป็นงานที่เก่าหน่อย มองว่าถูกเขียนขึ้นอย่างตั้งอกตั้งใจ ประณีตบรรจง จนกระทั่งระยะหลังที่โลกวิชาการเริ่มมองงานเขียนป๊อปๆ ร่วมสมัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ตรงนี้เองที่งานเช่นวรรณกรรมเยาวชนเริ่มเปลี่ยนความหมายจากงานอ่านสนุก เรื่องของเด็ก
มาสู่งานที่เราควรทำความเข้าใจ
ในฐานะเนื้อหนังหนึ่งของสังคมร่วมสมัย
เราเริ่มไปอ่านว่าทำไมงานวัยรุ่นถึงชอบวาดโลกมืดมนแบบดิสโทเปีย หลายครั้งวรรณกรรมก็ทำหน้าที่เป็นอุปลักษณ์ (metaphor) ที่เป็นรูปธรรมของโลกแห่งความจริง โลกที่เต็มไปด้วยการบังคับ รัฐบาลที่กดขี่ และการลุกขึ้นสู้ก็ล้วนเป็นภาพของสังคมที่ถูกวาดให้จัดจ้านชัดเจนมากขึ้น เป็นความรู้สึกถึงกรอบเกณฑ์และความปรารถนาที่อยากจะเอาชนะความไม่ถูกต้องต่างๆ ของโลกใบนี้
ประเด็นสำคัญของความสนใจในตัววัยรุ่น รวมถึงงานเขียนที่มีวัยรุ่นเป็นศูนย์กลาง เลยอยู่ที่เงื่อนไขต่างๆ ของตัววัยรุ่นเอง ทั้งการเป็นวัยแห่งอิสระ ช่วงเวลาแห่งความท้าทาย การไม่ติดอยู่กับกรอบ และยิ่งถ้าเรามองไปที่วรรณกรรม วรรณกรรมเยาวชนถือเป็นการจำแนกด้วยอายุซึ่งต่างจากการแบ่งประเภทวรรณกรรมทั่วไปที่แบ่งตามประเภทไม่ใช่วัย มีบทความชื่อ If Fiction Changes the World, It’s Going to Be YA คือบอกว่าถ้าเรายังเชื่อว่าวรรณกรรมจะเปลี่ยนโลกได้ ก็ย่อมต้องเป็นวรรณกรรมเยาวชนนี่แหละ
ฟังดูแล้ว ทั้งจากตัวงานเขียนเอง ไปจนถึงกระแสของเหล่าวัยรุ่นที่ปรากฏอยู่ตอนนี้ วันนี้ ก็นับว่างานเขียนและเรื่องราวของเหล่าวัยรุ่นที่ช่างตั้งคำถาม ยังไม่ถูกจำกัดโดยความเป็นผู้ใหญ่ เป็นห้วงวัยที่ยังปรารถนาจะรักษาความฝันและอนาคตของตัวเองเอาไว้
วัยรุ่นที่จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องพูดอย่างยืดยาวว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่ครอบครองอนาคต และการออกมาปกป้องอนาคตและความฝันของตนนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก