จากเหตุโศกนาฏกรรม เด็กชายวัยย่าง 16 ขับรถหรูฝ่าไฟแดงชนนักศึกษาจบใหม่ดีกรีบัณฑิตเกียรตินิยมอนาคตไกลเสียชีวิต อันเป็นกระแสดังในช่วงเวลานี้ เหตุการณ์นี้ชวนให้หลายคนนึกย้อนไปถึงคดีแพรวา 9 ศพ ที่ตอนนั้นก็อายุประมาณ 16 ปีใกล้เคียงกัน แม้ปริมาณผู้เสียหายจะต่างกัน แต่ระดับความสะเทือนใจของคนในสังคมไม่ได้ต่างกันเลย กลับยิ่งรู้สึกเจ็บปวดที่มีเหตุเช่นนี้ซ้ำรอยขึ้นอีก และมันได้นำไปสู่ประเด็นคำถามหลายอย่างขึ้นในสังคม ทั้งในเรื่องความไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม เพราะทั้งสองคดีที่กล่าวมานั้น มีจุดร่วมบางอย่างคือ ทั้งคู่ยังเป็นเยาวชน และดูเหมือนทั้งคู่จะมีทรัพย์สินและความสามารถที่จะสู้คดีต่อได้ นำไปสู่ถึงประเด็นกฎหมายเยาวชนที่สังคมยังคงถกเถียงกัน
ขอเริ่มจากประเด็นกฎหมายเยาวชน มันก็คงเป็นคำถามอย่างง่ายเลยว่า จริงๆ กฎหมายเยาวชนมีไว้เพื่ออะไร? ทำไมสังคมเราต้องมีมาตรฐานที่ต่างกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ถ้ากฎหมายเยาวชนมีไว้เพื่อเล็งประโยชน์สูงสุดแก่เยาวชน แน่นอนว่าในแง่หนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเยาวชนคนนั้นกระทำความผิด/ละเมิดกฎหมาย กฎหมายควรปกป้องเยาวชนแค่ไหน?
เราลองมาดูปัญหาและข้อเสนออย่างสังเขปว่ามีอะไรกันบ้าง
ในหลายๆ ประเทศมีการตั้งคำถามถึงการกำหนดตัวเลขอายุเยาวชนแบบใหม่ บ้างนำเสนอให้ลดเหลือ 16 ปี แล้วจึงนับว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว บ้างก็นำเสนอให้เพิ่มเป็น 21 ปี สองความคิดนี้มีข้อดีและข้อเสียอยู่ หากเราอ้างอิงถึงปัญหาในเรื่องเยาวชนที่ก่อเหตุอาชญากรรมหรือคดีอุกฉกรรจ์ เช่นในกรณีนี้คือเมาแล้วขับฝ่าไฟแดงทั้งที่เจ้าตัวอายุเพียง 16 ในฐานะสมาชิกสังคม เราย่อมรู้สึกกังวลว่าการเป็นเยาวชนของเขาจะกลายมาเป็นเกราะคุ้มกันให้เขารอดพ้นการรับโทษทางกฎหมายได้หรือไม่ เพราะแม้แต่สื่อมวลชนก็ไม่สามารถเสนอชื่อจริงหรือรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตผู้ก่อเหตุได้มากนัก เนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน การนำเสนอให้เกิดการลดอายุของนิยามคำว่า ‘เยาวชน’ ก็อาจฟังดูเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อให้อาชญากรเด็กเหล่านี้ถูกพิจารณาตัดสินด้วยศาลทั่วไป ไม่ใช่ศาลเยาวชน
แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากเรากำหนดให้เด็กอายุ 16 ปีเป็นต้นไปเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ เด็กในวัยนั้นอาจกลายเป็นผู้เสียหายจากการถูกล่อลวง ถูกกดขี่ หรือถูกเอาเปรียบเนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์ชีวิตที่มากพอ เพราะถ้าสังคมจะมีอาชญากรเด็กอยู่จริง แต่นั่นก็ไม่ใช่เด็กส่วนใหญ่ในสังคมเสียหน่อย เมื่อดูเฉพาะมิติด้านกฎหมายแรงงานเยาวชน ในปัจจุบัน เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 นั้นไม่สามารถทำงานได้ และเด็กอายุระหว่าง 15-18 ปีนั้น กฎหมายอาจอนุญาตให้พวกเขาทำงานได้ แต่เต็มไปด้วยเงื่อนไขสารพัด ซึ่งแน่นอนว่ากฎหมายมีเจตนาเพื่อคุ้มครองไม่ให้พวกเขาถูกเอาเปรียบ แต่ขณะเดียวกัน มันอาจทำให้เกิดการปิดกั้นโอกาสการทำงานของพวกเขาได้ด้วยเช่นกัน หรือกลายมาเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าคือทำให้แรงงานเด็กเหล่านี้ หลุดออกจากระบบ และกลายเป็นแรงงานเถื่อนเพื่อทำงานบางอย่างที่กฎหมายไม่อนุญาต
มากกว่านั้นยังมีมิติด้านการศึกษา มิติด้านการเงิน หรือมิติด้านการมีเพศสัมพันธ์ที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งการกำหนดอายุที่สามารถยินยอมได้ (age of consent) ควรจะคำนึงในปัจจัยอะไรยังเป็นเรื่องที่ในหลายประเทศยังต้องหาข้อตกลง
หากเรากำหนดให้เด็กอายุ 16 สามารถตัดสินใจในเรื่องนี้เองได้ มันจะเป็นประโยชน์กับพวกเขาหรือกับสังคมจริงรึเปล่า
ผู้เขียนคิดว่า มันอาจจะมีจุดที่ทั้งสองความคิดนี้สามารถประนีประนอมกันได้คือ กฎหมายอาจเปิดพื้นที่ให้ต้องตัดสินอาชญากรรมบางประเภทด้วยศาลปกติโดยไม่เกี่ยงอายุของผู้ต้องหา เช่น ค้ายา ค้าอาวุธ เมาแล้วขับ ข่มขืน ฆาตกรรม คดีอุกฉกรรจ์ เพื่อให้พวกเขาไม่ใช้สิทธิความเป็นเยาวชนเอาเปรียบคนในสังคม แต่ในมิติด้านอื่นๆ ยังคงได้รับความคุ้มครองแบบเดิม ยกตัวอย่างเช่น หากเยาวชนเป็นผู้เสียหาย แม้แต่จากคดีอุทลุม อย่างพ่อแม่ทำร้ายร่างกายลูก หรือคนใกล้ตัวล่วงละเมิดทางเพศ ถ้าหากเราเพิ่มการคุ้มครองเยาวชนให้เป็นอายุ 21 ซึ่งวัยนี้หลายๆ คนก็ยังเรียนอยู่ กฎหมายก็จะยังรักษาประโยชน์และคุ้มครองตัวเด็กได้
กฎหมายเยาวชนก็ดูจะเป็นประเด็นสำคัญถึงขั้นมีซีรีส์เกาหลีชื่อ Juvenile Justice ที่ชวนให้คิดและทิ้งปมคำถามไว้ให้คนดูว่ากฎหมายเยาวชนนั้นแท้จริงควรมีหน้าตาประมาณไหน หนึ่งในตัวอย่างหนึ่งที่ซีรีส์ท้าทายประเด็นนี้ได้อย่างซับซ้อนคือ คดีเกี่ยวกับลูกผู้พิพากษาศาลเยาวชนที่โกงข้อสอบ จำเลยที่ดันเป็นลูกของผู้พิพากษาซึ่งว่าความในคดีโกงข้อสอบที่ว่านี้ยิ่งทำให้เรื่องใหญ่โตและเห็นถึงผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน ไม่อยากสปอยล์มากสำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูเพราะซีรีส์เล่าออกมาอย่างสนุก ดุดัน ตื่นเต้น และดูมีความสมจริงมากเสียจนชวนให้คิดเลยว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย จะมีการเล่นแร่แปรธาตุด้วยเล่ห์กลไหน แค่คิดก็สนุกปนเจ็บช้ำไปด้วยแล้ว
ในอีกด้านหนึ่ง เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความรู้สึกไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของสังคมเรากลายเป็นความรู้สึกร่วมกันของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้กระทำผิดเป็นเยาวชนที่อาจมีเส้นสาย มีคนมีสีหนุนหลัง เพราะพ่อแม่มีทุนหนา ดั่งวลีว่า “รวย=รอด” กระบวนการทางกฎหมายและการตัดสินนั้นจะยิ่งสร้างรอยแผลให้คนในสังคม ดั่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แค่คิดว่าหากเรื่องเหล่านี้ไม่เป็นข่าวดังล่ะ หรือถ้าผู้เสียหายไม่ได้มีดีกรีเกียรตินิยม มีอาชีพการงานอนาคตไกล หากเป็นชาวบ้านคนธรรมดาทั่วไป เราอาจจะไม่ได้เห็นกรณีเหล่านั้นได้ออกมาเป็นข่าวเลย
ในขั้นพื้นฐานที่สุดกฎหมายเยาวชนนั้นมีจุดประสงค์ที่ดี นั่นคือหากเรามองว่า ถึงผู้ก่อเหตุจะทำเรื่องที่ผิดมหันต์ร้ายแรง แต่การลงโทษทัณฑ์ที่รุนแรงแบบเดียวกับกฎหมายผู้บรรลุนิติภาวะ ก็อาจจะส่งผลเสียต่อเยาวชนผู้ก่อเหตุในระยะยาว และอาจกลายมาเป็นปัญหาสังคมในอนาคตได้ เพราะไม่ได้มีอะไรการันตีว่าการลงโทษที่รุนแรงจะช่วยให้เขาเป็นคนดีขึ้นเสมอไป ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่เด็กอายุ 16 จะมีรถขับเป็นของตัวเอง และแน่นอนว่าชื่อเจ้าของรถย่อมไม่ใช่ชื่อของเด็ก ในอีกแง่หนึ่งนั้นก็ชัดเจนว่าเด็กคงทำด้วยตัวเองไม่ได้ บางทีผู้ปกครองเด็กก็อาจสมควรเป็นผู้รับผิดชอบและต้องโทษยิ่งกว่าตัวเด็กเสียเองอีกด้วย ซึ่งในบางส่วนของข้อกฎหมายก็มีอยู่บ้างที่ทำให้ผู้ปกครองต้องรับโทษร่วมกัน หรือ รับแทนเยาวชนผู้กระทำผิด
ทั้งนี้ ปัญหาที่หยั่งรากลึกจริงๆ ก็อาจไม่ใช่ประเด็นเรื่องตัวกฎหมายเยาวชนเสมอไป มันอาจจะเป็นเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดของผู้มีอำนาจ การเลือกข้างหรือมีอคติในการตัดสินว่าความ หรือการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
เราเคยเห็นข่าวการตกลงยอมความไกล่เกลี่ยและเรียกร้องค่าเสียหายทั้งๆ ที่เป็นคดีอาญาเกิดขึ้นในสังคมนี้ หรือในกรณีนี้ที่แค่เพียงการที่เราไม่ได้รับการยืนยันข่าวอย่างแน่ชัดว่า มีการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายผู้กระทำผิดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจรึเปล่า มันสะท้อนความไม่มั่นคงในการบังคับใช้กฎหมาย
สิ่งต่างๆ เหล่านี้นี่เองที่ทำให้เรารู้สึกละเหี่ยใจกับกระบวนการยุติธรรมที่ดูแล้วทำให้รู้สึกเหมือนมันจะมีหลากหลายมาตรฐานเหลือเกิน การมีอยู่ของกฎหมายเยาวชนที่ตอกย้ำให้เห็นว่ากฎหมายมันไม่ได้มีมาตรฐานเดียวจริงๆ ก็ยิ่งจุดชนวนการตั้งคำถามถึงปัญหาในกฎหมายเยาวชนได้ง่ายขึ้น ทั้งๆ ที่บางทีปัญหาอาจไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย แต่อาจเป็นความอยุติธรรมที่สัมผัสได้ตั้งแต่ส่วนบนยอดถึงล่างสุดของสังคมเราเลยก็ได้
อ้างอิงจาก