ล่อซื้อ (sting, buy and bust) กับ ล่อให้กระทำผิด (entrapment) เป็นความเหมือนที่แตกต่าง
คำแรก คือรู้ว่าทำผิดแต่ขาดพยานหลักฐาน เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้การล่อซื้อเพื่อให้ผู้ต้องสงสัยคนนั้นๆ กระทำผิด ส่วนคำหลัง คือสร้างจูงใจโดยใช้ผลประโยชน์บางอย่างเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำผิด ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะกระทำผิดแต่แรก
การล่อซื้อเป็นหนึ่งในวิธีการเสาะหาพยานหลักฐานเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดที่ใช้กับในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในไทย ที่มีการล่อซื้อในคดีอาญาต่างๆ ค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ คดีค้ายาเสพติด คดีค้าอาวุธสงคราม คดีค้าประเวณี คดีขายสลากกินแบ่งเกินราคา คดีรับของโจร คดีขายเครื่องสำอางไม่ได้คุณภาพ ฯลฯ ไปจนถึงคดีขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
ที่แม้ไทยจะไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการ ‘ล่อซื้อ’ ไว้อย่างชัดเจน (ยกเว้นกฎกระทรวงและระเบียบเกี่ยวกับการล่อซื้อยาเสพติด) แต่ก็ถือเป็นวิธีการที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และที่ผ่านมาก็มีคำพิพากษาของศาลฎีการองรับไว้เป็นจำนวนมาก ว่าการล่อซื้อเป็นหนึ่งในวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
อย่างไรก็ตาม การ ‘ล่อซื้อ’ ก็ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ในบางกรณีเป็นการ ‘ล่อให้กระทำผิด’ หรือไม่ โดยมีเจตนาอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ?
หลายคดีศาลก็ไม่รับพยานหลักฐานที่ได้จากการล่อซื้อนั้นๆ มาประกอบการพิจารณา เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2551 ที่ตำรวจขอซื้อยาลดความอ้วนผสมสารเฟนเดอมีน (ซึ่งขายได้เฉพาะในโรงพยาบาลหรือคลินิก) จากร้านขายยาหนึ่ง ตอนแรกเจ้าของร้านไม่ขาย แต่ตำรวจอ้างว่าแฟนอยากใช้ เจ้าของร้านจึงยอมขายยาลดความอ้วนผสมเฟนเดอมีนที่ตัวเองซื้อไว้กินเองให้
ในบางกรณีที่ผู้ล่อซื้อเป็นเอกชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ศาลก็ไม่รับไว้พิจารณาเช่นกัน คดีที่มีการอ้างถึงกับบ่อยๆ คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2543 ที่ไมโครซอฟต์ฟ้องเอเทค คอมพิวเตอร์ว่าทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ที่ศาลยกฟ้อง เนื่องจากทางโจทก์เป็นผู้สั่งให้จำก็อปปี้โปรแกรมลงแผ่นบันทึกเอง จึงถือว่า “โจทก์เป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำผิดดังกล่าวขึ้น โดยไม่มีเจตนาจะกระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อ”
ทั้งนี้ หากพิจารณาดีๆ จะเห็นว่า ศาลไทยยังพร้อมรับการพิจารณากรณีล่อซื้ออยู่ แต่หากเป็นการล่อให้กระทำผิดจะตัดพยานหลักฐานในส่วนนั้นออกไป
ซึ่งทั้ง 2 คำนี้ มีข้อแตกต่างเป็นเส้นบางๆ ก็คือตัวจำเลยมี ‘เจตนาที่จะกระทำผิดแต่แรก’ หรือไม่
การ ‘ล่อซื้อ’ ในหลายๆ ชาติก็ทำคล้ายของไทย โดยจะดำเนินการ 4 ขั้นตอน
- สร้างโอกาสในการทำผิดโดยเจ้าหน้าที่ร่วมวางแผนไว้
- มีเป้าหมายของปฏิบัติการนั้นๆ ชัดเจน ทั้งบุคคล/กลุ่มบุคคล
- ใช้เจ้าหน้าที่ซึ่งอำพรางตัวหรือใช้ตัวแทน ดำเนินการในลักษณะการลวง
- เพื่อให้บุคคลเป้าหมายนำไปสู่สถานการณ์ Gotcha หรือจับได้ซึ่งหน้านั่นเอง
แต่ถ้าการล่อซื้อนั้นๆ ถูกตัดสินว่าเป็นการ ‘ล่อให้กระทำผิด’ ระบบศาลหลายชาติก็จะมีวิธีดำเนินการที่แตกต่างกัน เช่น ศาลสหรัฐอเมริกาให้ยกฟ้องไปเลย ศาลอังกฤษใช้วิธีตัดพยาน ศาลสิงคโปร์ให้ยังรับฟังได้แต่ชั่งน้ำหนัก เป็นต้น
เคยมีงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า การล่อซื้อของไทยยังไม่มีมาตรการควบคุมเจ้าหน้าที่และสายลับที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางคดีที่เอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องได้ เช่น การกระทำผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 สิ่งที่ตามมาก็คือ “จะก่อให้เกิดผลกระทบกับหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ล่อให้กระทำผิด ฝ่ายผู้ถูกล่อให้กระทำผิด เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนทั่วไป” โดยเฉพาะเรื่องความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม การถูกใช้เป็นเครื่องมือดำเนินคดี ไปจนถึงเปิดโอกาสให้เกิดคอร์รัปชั่น
หลายชาติไม่ปฏิเสธการล่อซื้อเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพียงแต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และต้องมีมาตรการป้องกันการใช้อำนาจดังกล่าว ไม่ให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมาในอนาคต ทั้งการใช้อำนาจโดยมิชอบ การเรียกรับทรัพย์สิน หรือการกลั่นแกล้งบุคคลใดให้สิ้นอิสรภาพ
ที่อาจสร้างความเสียหายทั้งต่อตัวเจ้าหน้าที่และต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
อ้างอิงข้อมูลจาก
– โครงการศึกษาวิจัย ‘กฎหมายเกี่ยวกับการล่อให้กระทำความผิดอาญา: ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายนานาชาติ’ ศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– รายงานการวิจัยเรื่อง ‘ปัญหาการล่อซื้อในคดีละเมิดลิขสิทธิ์’ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เขียนโดยอำนาจ เนตยสภา