ความสนใจเกี่ยวกับคดีของ ‘บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา’ หลานของผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ดัง ก่อเหตุขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องข้อหา ‘ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย’ จนทำให้เจ้าตัวพ้นผิดทุกข้อกล่าวหา เริ่มซาลงไปแล้ว แม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้ยังปรากฎออกมาไม่หมด ตัวละครสำคัญยังไม่เปิดปากพูด และความเปลี่ยนแปลงยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ที่ผ่านมา แรงกดดันอย่างหนักหน่วงจากสังคม ทำให้ทั้งอัยการสูงสุด ตำรวจ และนายกรัฐมนตรี ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา วางกรอบระยะเวลาการทำงาน 7 วัน, 15 วัน และ 30 วัน ตามลำดับ
แม้เราอาจถกเถียงกันว่า สังคมได้ข้อสรุปแล้วในเบื้องต้น ด้วยการสร้างสัญลักษณ์ กระทิงแดง = กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม
แต่หากสังคมยังไม่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะในรูปแบบของข้อกำหนด กฎระเบียบ หรือกฎหมาย ไปจนถึงการนำตัวผู้ที่ใช้ดุลยพินิจอย่างไม่ถูกต้องมาลงโทษ
ที่สุด เมื่อกระแสสังคมซาลงไป – ทุกๆ อย่างก็อาจจะกลับไปเหมือนเดิม
กรณีเช่นคดีบอส อยู่วิทยา 2 3 4 … ก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก ทั้งในลักษณะที่เป็นข่าว หรือไม่เป็นข่าว
ยังเหลืออะไรให้ต้องติดตามกันอีก สำหรับกรณีของบอส อยู่วิทยา ?
สั่งไม่ฟ้องถูกกฎหมายหรือไม่
แม้คณะทำงานของอัยการสูงสุด จะยืนยันว่าการใช้ดุลยพินิจของเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เมื่อต้นปี 2563 เป็นไปตามระเบียบของกฎหมายทุกประการ
แต่อรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) ก็ออกมาเปิดประเด็นว่า การใช้ดุลยพินิจเปลี่ยนคำสั่งจากฟ้องเป็นไม่ฟ้องของเนตร อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กล่าวคือ พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องบอส อยู่วิทยา ไปตั้งแต่ปี 2556 แม้ต่อมา เจ้าตัวจะมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมาหลายครั้ง แต่ ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ระหว่างปี 2558-2560 ก็เคยมีคำสั่งยุติการพิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว
“คำสั่งฟ้อง” จึงถือว่าเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ในยุคนั้น
หากจะกลับคำสั่งอัยการสูงสุดให้รับพิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมอีก มีเฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้นที่มีอำนาจ ไม่ใช่รองอัยการสูงสุด
ตัวละครสำคัญ ยังไม่ ‘เปิดปาก’
ถึงวันนี้ ยังมีตัวละครสำคัญที่ไม่เปิดปากพูดเลย แม้ชื่อจะถูกพาดพิงในสื่อหลายครั้ง หนึ่งคือ ‘เนตร นาคสุข’ รองอัยการสูงสุด ผู้ลงนามในคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดชาด แม้จะถูกเชิญจากคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรให้ไปชี้แจงหลายครั้ง แต่เจ้าตัวยังไม่มาปรากฎตัวแต่อย่างใด
คำถามที่หลายๆ ฝ่ายคาใจก็คือ เหตุใดจึงเชื่อ ‘พยานหลักฐานใหม่’ ทั้งเรื่องประจักษ์พยานว่า รถจักรยานยนต์ของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรจจราจรที่เสียชีวิตเลี้ยวตัดหน้า รวมไปถึงการคำนวณความเร็วว่า รถเฟอร์รารี่ของบอส อยู่วิทยา วิ่งเร็วไม่ถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งขัดแย้งกับพยานหลักฐานเดิมที่นำมาสู่การสั่งฟ้องในเบื้องต้น
ผู้สื่อข่าวพยายามถามจากคณะทำงานของอัยการ แต่ไม่มีใครให้คำตอบแทนได้ เพราะเป็นดุลยพินิจของเจ้าตัว
คำตอบจึงต้องออกมาจากเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เพียงคนเดียวเท่านั้น
อีกตัวละครสำคัญที่ยังไม่ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง คือ ‘สมัคร เชาวภานันท์’ อดีต ส.ว.สรรหา ภาควิชาชีพ (ระหว่างปี 2551-2557) ผู้เป็นทนายความให้กับบอส อยู่วิทยา มาแต่ต้น และรู้จักกับ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตํารวจ หรือ กมธ.กฎหมาย ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพลิกคดีนี้ในเวลาต่อมา
ตั้งใจทำสำนวนอ่อน เพื่อเป่าคดี ?
คณะทำงานของอัยการอ้างกรณีที่ความเห็นของ อ.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ จากภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คำนวณว่ารถเฟอร์รารี่ของบอส อยู่วิทยา วิ่งด้วยความเร็วประมาณ 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น ‘พยานหลักฐานใหม่’ เพราะไม่อยู่ในสำนวนพนักงานสอบสวนมาแต่ต้น
คำถามก็คือ เหตุใดวิธีการคำนวณความเร็วดังกล่าวถึงไม่อยู่ในสำนวน
ไม่รวมถึงกรณีที่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน เคยให้การว่ารถเฟอร์รารี่ของบอส อยู่วิทยา วิ่งด้วยความเร็วประมาณ 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ต่อมาก็ลดเหลือไม่ถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เมื่อถูกนำมาให้ข้อมูลกับคณะทำงานของตำรวจอีกครั้ง ก็กลับไปยืนยันตัวเลขเดิม 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยอ้างว่า “สับสนในการคำนวณข้อมูล”
เมื่อบวกกับการที่พนักงานสอบสวนไม่แจ้งข้อหา เสพยาเสพติด (โคเคน) หลังเกิดเหตุ
ข้อสงสัยเรื่องการ ‘สำนวนอ่อน’ เพื่อ ‘เป่าคดี’ ให้กับผู้ต้องหา จึงเป็นคำถามตัวใหญ่ๆ ในใจของใครหลายคน
กรณีนี้ คณะทำงานของตำรวจต้องหาคำชี้แจงมาเคลียร์ข้อสงสัยให้กับสังคมให้ได้
บทบาทของกรรมาธิการ สนช.
บทบาทของ กมธ.กฎหมาย สนช. ซึ่งมี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน (ทำงานระหว่างปี 2557-2562) ก็ยังเป็นคำถามว่า มีส่วนสำคัญทำให้ผลของคดีนี้เปลี่ยนไปหรือไม่
เรื่องหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ การที่บอส อยู่วิทยา ยื่นหนังสือร้องความเป็นธรรมต่อ กมธ.กฎหมาย สนช. เป็นหนึ่งในข้ออ้างที่เจ้าตัวใช้เลื่อนพบพนักงานอัยการถึง 8 ครั้ง จนเจ้าตัวหนีไปต่างประเทศและหนึ่งในข้อกล่าวหา ‘ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือหรือแจ้งหน้าที่หน้าที่’ หมดอายุความไปเมื่อปี 2560 เหลือเพียงข้อหา ‘ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย’ ซึ่งเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด กลับคำสั่งเป็นไม่ฟ้องตอนต้นปี 2563 (จากอายุความคือปี 2570)
ธานี อ่อนละเอียด อดีตเลขานุการ กมธ.กฎหมาย สนช. เคยตั้งโต๊ะชี้แจงว่า คณะกรรมาธิการทำงานตามหน้าที่ เมื่อทนายความของบอส อยู่วิทยา ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม วันที่ 4 พฤษภาคม ปี 2559 จากนั้นจึงเรียกพยาน 8 รายมาให้ข้อมูล ในวันที่ 13 พฤษภาคม ปี 2559 แล้วเสนอรายงานให้กับพนักงานอัยการในอีก 6 เดือนถัดไป
ที่น่าสนใจก็คือ มีสื่อจำนวนหนึ่งเข้าถึงเอกสารสรุปผลการประชุมครั้งที่พิจารณาคดีของบอส อยู่วิทยา จำนวน 3 ครั้ง พบว่ามีเอกสารบางส่วนหายไป โดยผู้เกี่ยวข้องอ้างว่า “เป็นการประชุมลับ”
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงคำถามสำคัญ ที่ยังไม่มีใครตอบกันว่า ที่สุดแล้ว จะนำตัวบอส อยู่วิทยา กลับไทยมาลงโทษได้อย่างไร
จะเห็นได้ว่า ยังมีหลากหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ – ตัวละครสำคัญยังออกโรงไม่ครบถ้วน
แม้คณะทำงานของตำรวจเตรียมแถลงผลการศึกษาข้อเท็จจริงคดีนี้ในสัปดาห์หน้า ส่วนคณะทำงานของนายกฯ ที่มีวิชา มหาคุณ เป็นประธาน จะให้คำยืนยันว่าจะต้อง “สร้างความเปลี่ยนแปลง” ให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อคืนความเชื่อมั่นสู่กระบวนการยุติธรรมของไทย ก็ตาม
หากเทียบกับภาพยนตร์ เรื่องราวที่ผ่านมายังอยู่ในช่วงอินโทรเท่านั้น ยังไม่เข้าสู่ไคลแม็กซ์ อย่าว่าแต่ไปถึงบทสรุปแต่อย่างใด
กระแสสังคมมีผลมากๆ ต่อการกดดันให้ผู้มีอำนาจกระทำการใดๆ จึงอยากชักชวนให้ทุกๆ คนคอยติดตามกรณีของบอส อยู่วิทยา ต่อไปอย่างใกล้ชิด
จับ บอส อยู่วิทยา มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้ก็เรื่องหนึ่ง (ถูกผิดอย่างไรให้ศาลตัดสิน) แต่ใช้บทเรียนจากกรณีนี้มาเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมก็เป็นอีกเรื่อง ที่น่าจะมีความสำคัญไม่แพ้กัน