การสั่งไม่ฟ้อง ‘วรยุทธ (บอส) อยู่วิทยา’ จนเจ้าตัวหลุดทุกคดี สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อวงการยุติธรรมไทย
แต่หลายคนที่ไม่ได้ติดตามคดีนี้อย่างละเอียด อาจจะงงๆ กับตัวละครที่เกี่ยวข้องทั้งหมด The MATTER ขอสรุปจักรวาลของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดไว้ในโพสต์เดียว เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของทุกๆ คน
เหตุการณ์โดยสรุป
เวลาราว 05.30 น. ของวันที่ 3 กันยายน ปี 2555 วรยุทธ (บอส) อยู่วิทยา ขับรถยนต์หรูยี่ห้อเฟอร์รารี่ ชนเข้ากับรถจักรยานยนต์ตราโล่ห์ของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจจราจร สน.ทองหล่อ บนถนนสุขุมวิทขาออก วิ่งไปพระโขนง ระหว่างซอยสุขุมวิท 47 และ 49 แรงชนทำให้ ด.ต.วิเชียรตกจนรถมากระแทกกระจกหน้าของรถยนต์บอส ก่อนตกลงบบนถนน เสียชีวิตทันที ส่วนรถจักรยานยนต์ถูกลากไปจนถึงบริเวณปากซอยสุขุมวิท 49 หลังเกิดเหตุ บอสได้หลบเข้าไปในบ้านพักส่วนตัวในซอยสุขุมวิท 53 ก่อนจะมอบตัวกับตำรวจในวันเดียวกัน
ตัวละครสำคัญ
1.) วรยุทธ (บอส) อยู่วิทยา / หลานผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลัง ‘กระทิงแดง’ / ผู้ต้องหาคดีชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 ภายหลังใช้วิธีประวิงเวลา และหลบหนีคดีไปต่างประเทศ จนหลายข้อหาหมดอายุความ และอัยการสั่งไม่ฟ้องในปี 2563
2.) ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ / ตำรวจจราจร สน.ทองหล่อ (เสียชีวิต) / ถูกรถยนต์ Ferrari ของบอส อยู่วิทยา ชนเสียชีวิต เวลาตีห้าครึ่ง วันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2555 ระหว่างขับรถจักรยานยนต์อยู่บนถนนสุขุมวิทขาออก วิ่งไปพระโขนง ระหว่างซอยสุขุมวิท 47 และ 49
3.) สมัคร เชาวภานันท์ / ทนายความของบอส อยู่วิทยา / อดีต ส.ว.แต่งตั้ง ปี 2551-2554 เคยทำงานใน กมธ.ตำรวจวุฒิสภา ชุดปี 2554-2557 ร่วมกับ พล.ร.อ.ศิษฐวัขร วงษ์สุวรรณ ผู้ยื่นหนังสือขอเลื่อนพบตำรวจให้กับบอส อยู่วิทยา จนบางข้อหาหมดอายุ และยื่นขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุด-กมธ.กฎหมาย สนช. นำไปสู่การเปลี่ยนผลคดี อัยการสั่งไม่ฟ้องในท้ายสุด
4.) พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ / ประธาน กมธ.กฎหมาย สนช. (น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) / ประธานของคณะกรรมาธิการ ชุดที่มีบทบาทสำคัญ ในการยื่นคำร้องให้อัยการสูงสุดสอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม นำไปสู่การเปลี่ยนคำสั่งจาก ‘ฟ้อง’ เป็น ‘ไม่ฟ้อง’
5.) พ.ต.ต.ธนสิทธิ แตงจั่น (ยศขณะนั้น) / ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน / ผู้เปลี่ยนคำให้การ รถยนต์ของบอส อยู่วิทยา เคยวิ่ง 177 กม.ต่อชั่วโมง เหลือ 79 กม.ต่อชั่วโมง
6.) สายประสิทธิ์ เกิดนิยม / ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยยานยนต์ / ให้ความเห็นปี 2560 คำนวณความเร็วรถบอส อยู่วิทยา อยู่ที่ 76 กม.ต่อชั่วโมง ไม่ใช่ 177 กม.ต่อชั่วโมง
7.) พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร, จารุชาติ มาดทอง / ประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ ผู้ออกมาให้ข้อมูลในปี 2560 โดยอ้างว่า ด.ต.วิเชียร เป็นผู้เปลี่ยนเลน ตัดหน้ารถของบอส อยู่วิทยา กระชั้นชิดจนเกิดอุบัติเหตุ และให้ข้อมูลว่า รถ Ferrari น่าจะวิ่งเร็ว 50-60 กม./ชั่วโมงเท่านั้น
8.) เนตร นาคสุข / รองอัยการสูงสุด / ผู้ลงนามในคำสั่งไม่ฟ้องคดีบอส อยู่วิทยา ข้อหา ‘เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย’ ซึ่งเป็นข้อหาสุดท้ายในคดีนี้
9.) พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ / ผู้ช่วย ผบ.ตร. (น้องชายของเนวิน ชิดชอบ) / ผู้ลงนามแทน ผบ.ตร. ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา ของอัยการ
ข้อกล่าวหา
- เมาแล้วขับ (ไม่ฟ้องตั้งแต่แรก)
- ขับรถเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (หมดอายุความปี 2556)
-
ขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินเสียหาย (หมดอายุความปี 2556)
-
ชนแล้วหนี ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ (หมดอายุความปี 2560)
-
ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (หมดอายุความปี 2570 แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องในปี 2563)
ในทางนิตินัย คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ถือว่าคดี ‘สิ้นสุดแล้ว’ เว้นแต่มีพยานหลักฐานใหม่ / ครอบครัวผู้เสียหายฟ้องเอง (ซึ่ง ด.ต.วิเชียร ไม่มีลูกและภรรยา ส่วนพ่อแม่ก็เสียชีวิตแล้ว
ดังนั้น การตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบของฝ่ายอัยการ ตำรวจ หรือรัฐบาล ไม่ว่าจะให้เวลาทำงาน 7 วัน 15 วัน หรือ 30 วัน จึงไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้น (หากไม่พบพยานหลักฐานใหม่) เป็นเพียงการศึกษาข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมาย และอาจจะมีข้อเสนอแนะบางอย่างเท่านั้น
นี่คือคดีใหญ่ที่สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมไทยคดีหนึ่ง น่าสนใจว่าผู้เกี่ยวข้องจะกู้คืนความเชื่อมั่น และหาวิธีอุดช่องโหว่นี้อย่างไร
เพื่อให้วลี ‘คุกมีไว้ขังคนจน’ ไม่เป็นจริงในสังคมไทยอีกต่อไป