เวลาพูดถึงการเลี้ยงดูลูกหลาน มักมีคำพูดสอนใจว่า ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ รวมๆ เป็นการตักเตือนพ่อแม่ว่า เอ้อ รู้แหละว่ารักลูก แต่ความรักที่กลายเป็นการตามใจ สุดท้ายลูกก็อาจจะเสียคน กลายเป็นการรังแกทำร้ายลูกโดยที่ไม่ตั้งใจ ที่มาของคำที่แสนติดหูนี้ก็มาจากหนังสืออ่านนอกเวลาชื่อ ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ เป็นบทกลอนเล่าเรื่องราวสอนใจของพระยาอุปกิตศิลปสาร เนื้อเรื่องก็ว่าด้วยเศรษฐีที่ตามใจลูก จนสุดท้ายเสียคนตกยากไปตามเรื่องตามราว
บทกลอนของพระยาอุปกิตฯ เขียนขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โน่น ในเนื้อเรื่องเล่าถึงเจ้าเด็กที่พ่อตามใจจนเกินเหตุ พอครูจะตีก็เปลี่ยนครู สุดท้ายพอลูกตกยากก็ร้องว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” อารมณ์ประมาณว่าอะไรของแกเนี่ย ซวยก็เพราะการกระทำของตัวเอง แต่สุดท้ายยังจะโทษพ่อแม่ตัวเองอีกเนอะ ตอนจบเรื่องผู้แต่งที่อยู่ในยุคสมัยที่กำลังปฏิรูปการศึกษาก็บอกว่า ต่อไปนี้จะไม่มีเรื่องแบบนี้แล้ว เพราะทุกคนจะได้เรียนหนังสือตามพระราชบัญญัติกัน
กลับมาที่เรื่องการรังแกของพ่อแม่ แนวคิดสำคัญที่เรามักใช้กับเด็กๆ ก็น่าจะพูดได้ว่าเรามักเชื่อในเรื่องของการควบคุม ประมาณว่าถ้าไม่มีความเข้มงวด ไม่มีกฎ ไม่มีระเบียบ ไม่มีการลงโทษที่จริงจัง สุดท้ายเด็กก็จะมีแนวโน้มเละเทะไปเหมือนในนิทานสอนใจ
ดูเหมือนว่าการรังแกหรือผลร้ายต่อเด็กอาจจะไม่ได้มาจากแค่การปล่อยปละละเลยจนเกินไป แต่ความเข้มงวดที่มากเกินไปก็ดูจะเป็นการรังแกลูกๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
เด็กสปอยล์?
ถ้าจะเรียกผลผลิตของพ่อแม่รังแกฉันว่า ‘เด็กสปอยล์’ ก็คงไม่คลาดเคลื่อนเท่าไหร่ ประมาณว่าทำให้ ‘เสีย’ คุณภาพไป (spoiled) ทีนี้โดยนัยมันก็เหมือนว่าเด็กเนี่ย ถ้าไม่ดัด ไม่ทุบ ก็มีแนวโน้มที่จะย่ำแย่ลงไป ในโลกตะวันตกสมัยก่อนเองก็เชื่อคล้ายๆ กัน เป็นความเชื่อที่มีฐานคิดจากศาสนาคือเชื่อว่า ธรรมชาติ (nature) ของคนนั้นเป็นสีดำ พ้องกับความเชื่อเรื่องบาปกำเนิด การขัดเกลาต่างๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อทำให้มนุษย์บริสุทธิ์และได้ขึ้นสวรรค์
ต่อมาพอองค์ความรู้เริ่มเปลี่ยน เริ่มมีแนวคิดที่เชื่อในมนุษย์มากขึ้น (มากกว่าศาสนาหรือพระเจ้า) ก็เริ่มมีอีกแนวคิดคือเด็กคือผ้าขาว John Locke นักปรัชญาคนสำคัญเป็นคนเสนอว่าเด็กนั้นก็เหมือนกับกระดาษว่างๆ (tabula rasa) คือเกิดมาพร้อมกับความสะอาดบริสุทธิ์ ไม่ได้เต็มไปด้วยบาปอย่างที่ยุคก่อนหน้าบอก
ดังนั้น เลยเหมือนมีความคิดสองทางที่เราจะบอกว่าเด็กถูกทำลายได้อย่างไร ทางหนึ่งก็บอกว่าเด็กเนี่ยต้องกำกับเพราะมีแนวโน้มจะสปอยล์ได้ด้วยตัวเอง แต่อีกทางก็บอกว่าเด็กเป็นสีขาวนะ สังคมต่างหากที่ทำร้ายเด็ก
ในยุคศตวรรษที่ 20 ความรู้ที่เกี่ยวกับเด็กและการเลี้ยงดูลูกก็เลยมีแนวโน้วที่จะไปทางฐานคิดแบบมนุษยนิยม Benjamin Spock กุมารแพทย์ที่ออกหนังสือแนวทางการเลี้ยงลูกชื่อ ‘Baby and Child Care’ หนังสือขายดีในปี 1946 ก็บอกว่าให้ทำเหมือนกับเด็กๆในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลและเป็นมิตร ซึ่งต่อมาในปี 1957 ในฉบับปรับปรุง คุณหมอก็ปรับว่าพ่อแม่เองก็ต้องให้ความสำคัญกับระเบียบวินัยด้วยแหละ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย
ความเข้มงวดที่มากเกินไปอาจทำให้เด็กๆ ร้าย
เราอาจรู้สึกว่าการให้เด็กๆ อยู่กับกฎระเบียบมากๆ ในที่สุดก็น่าจะทำให้มีความประพฤติดี เป็นเด็กเรียบร้อย แต่มีงานศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่าการเลี้ยงดูด้วยความเข้มงวดค่อนข้างส่งผลเสียกับเด็กมากกว่า โดยพบว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่เข้มงวดมีแนวโน้มที่จะปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ยากกว่า มีปฏิภาณไหวพริบน้อยกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่สบายๆ เช่นจากการสำรวจวัยรุ่นในอเมริกาจากครอบครัวที่เข้มงวดบอกว่าตัวเองรู้สึกว่าได้รับการยอมรับในหมู่เพื่อนน้อยกว่า ส่วนการสำรวจความเห็นของครูในปักกิ่งก็พบว่า ครูจะมองเห็นว่าเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวที่เข้มงวดมีแนวโน้มที่จะเข้าสังคมยากกว่าและมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากกว่า
แนวโน้มที่น่ากังวลอีกอย่างคือ พอมีกฎที่เข้มงวดเยอะๆ แล้ว แทนที่เด็กจะปรับตัวเข้าตามกฎ งานศึกษาชิ้นหนึ่งกลับพบว่าเด็กกลับกลายเป็นพวกขี้โกงและขี้โกหกจากการหลีกหนีการทำโทษต่างๆ ก็อย่างว่าเนอะ เด็กคือสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่ก้อนแป้งที่ยิ่งกดแรงยิ่งได้รูปตามที่เราต้องการ
Victoria Talwar นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กจาก McGill University ในแคนาดาทำการทดลองในโรงเรียนสองแห่งในแอฟริกา โรงเรียนแห่งหนึ่งมีนโยบายผ่อนปรนในขณะที่อีกโรงเรียนมีนโยบายที่เข้มงวดมากกว่า การทดลองคือให้เด็กสองโรงเรียนเล่นเกมทายวัตถุ โดยในช่วงของการทดลองผู้ใหญ่ที่คุมการทดลองออกจากห้องแล้วกลับมาถามว่ามีใครแอบดูป่าวเอ่ย ผลการทดลองคือในโรงเรียนที่ใช้นโยบายก็มีทั้งเด็กที่พูดจริงและโกหกปะปนกันไป ส่วนโรงเรียนที่มีนโยบายเข้มงวดกลายเป็นว่ามีสัดส่วนเด็กที่โกหกมากกว่า โดยนอกจากจะมีจำนวนเด็กที่โกหกมากกว่าแล้วยังพบว่าเด็กๆ มีแนวโน้มที่จะโกหกเก่งกว่าด้วย
เรื่องการเลี้ยงลูกจริงๆ ก็ไม่น่ามีคำตอบสุดท้ายเพราะในตัวมันเองก็เป็นเรื่องซับซ้อน เด็กแต่ละคนก็อาจจะไม่เหมือนกัน ซึ่งก็แน่ล่ะว่าความสุดโต่ง ไม่ว่าจะแบบที่เต็มไปด้วยกฎหรือแบบที่ปล่อยไปเลย ทางใดทางหนึ่งก็ไม่น่าใช่คำตอบที่ดีนัก Susan Newman นักจิตวิทยาทางสังคมและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบอกว่า ความสำคัญของกฎคือการให้เหตุผลเกี่ยวกับกฎนั้นๆ และสิ่งสำคัญคือการให้เด็กๆ ที่อยู่ภายใต้กฎได้มองเห็นหรืออธิบายว่าจะเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นบ้างในการไม่ทำตามกฎ
ซึ่งการให้เหตุผลหรือร่วมทำความเข้าใจโดยที่เด็กๆ ได้มีเสียงในการพูดคุยด้วยนั้นจะยิ่งทำให้เด็กเข้าใจ เชื่อถือและเคารพมากกว่าแบบที่บังคับแบบไม่ลืมหูลืมตา รวมไปถึงตัวเด็กเองก็จะได้เรียนรู้และสามารถปรับตัวในการรับมือกับปัญหาอื่นๆ ที่กำลังจะเจอในอนาคตด้วย