ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะมี ‘พ่อ’ ที่พร้อมอุทิศตัวเพื่อสมาชิกในบ้านเสมอไป กระแสสังคมกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ ‘Single Mother’ เต็มรูปแบบ ในขณะที่เหล่าบรรดาแม่ๆ จำเป็นต้องดูแลสารทุกข์สุขดิบครอบครัวโดยลำพัง วิทยาศาสตร์มีมุมมองอย่างไร เมื่อเดี๋ยวนี้หาพ่อคนได้ยากนัก
“ลูกไม่กี่คน เราเลี้ยงได้อยู่แล้ว”
ผมแปลกใจไม่น้อยที่เพื่อนๆ ผู้หญิงในวัยเดียวกันหลายคนดูยืนยันหนักแน่นว่า เธอสามารถสร้างครอบครัวได้เองโดยไม่ต้องมีผู้ชายมาคอยเลี้ยงดูปูเสื่อ หลายคนเผชิญประสบการณ์ที่ไม่สู้ดีนักในอดีต โดยเฉพาะปัญหาความสัมพันธ์อันคาราคาซังกับแฟนหนุ่ม ส่วนใหญ่ทำให้พวกเธอท้องแล้วปัดความรับผิดชอบ หายไปโดยไม่บอกลา บางรายหนีออกจากบ้านไปดื้อๆ ปล่อยให้ผู้หญิงเผชิญหน้ากับปัญหาตามลำพัง และมีเพื่อนที่รู้จักจำนวนไม่น้อยตั้งท้องตอนเรียนมัธยม ทำให้เธอพลาดการใช้ชีวิตในช่วงมหาวิทยาลัย หลายคนฟันธงว่าชีวิตเธอต้องเหลวแหลกแน่ๆ และลูกคงกลายเป็นเด็กมีปัญหาป่วนสังคมจากความไม่พร้อมของแม่วัยรุ่น
แต่ปัจจุบันลูกเธอโตอายุราว 12 ขวบได้แล้ว ช่วยงานอย่างแข็งขันแถมขยันเรียนอีกต่างหาก และไม่ได้เป็นภาระสำหรับแม่วัยสาวอย่างหักปากกาเซียน (อาจเป็นภาระช่วงแรกๆ แต่เธอคงจัดการมันได้แล้ว) คุณแม่ Single Mother วัย 30+ ทำลายข้อสบประมาทที่สังคมเพ่งเล็งเธอไว้อย่างสิ้นเชิง และเธอก็ดูมีความสุขดี
ในมุมมองที่ผู้เขียนเป็นผู้ชาย ยังทึ่งไม่น้อย และดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างความเป็นครอบครัวด้วยตัวคนเดียว ผู้หญิงดูมีความพร้อมต่อการเป็น Single Mother มากกว่าผู้ชายจะเป็น Single Father เสียอีก หรือปัจจุบันผู้ชายลดบทบาทความสำคัญลงไปแล้ว ครอบครัวยังสามารถเป็น “ครอบครัว” อยู่ได้อีกหรือไม่หากไม่มีพ่อ
ชิ้นส่วนที่หายไป
ผู้หญิงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในช่วงปี 1960 และ 1970 เป็นต้นมา ผู้หญิงออกทำงานนอกบ้านได้ทัดเทียมความสามารถกับผู้ชาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม สังคมยังมี Concept ของครอบครัวและความเป็นพ่อ คือการที่ผู้ชายต้องรับผิดชอบหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว ทำงานให้เยอะ หารายได้หลัก ซื้ออาหารกลับบ้าน พยายามไม่ให้ความหิวโหยคืบคลานมายังครอบครัว จากอิทธิพลทางสังคมที่มอบความร้ายกาจให้กับความยากจน กดดันเป็นอุปสรรคอันดับแรกๆในการเลี้ยงดูลูก
กระนั้นก็ตาม แม้การหาเลี้ยงครอบครัวจะจำเป็น แต่ผู้ชายกลับดูมีอิทธิพลน้อยมากในครอบครัว โดยเฉพาะการสนับสนุนสุขภาวะทางจิตของเด็กๆ ที่กำลังเติบโต ซึ่งหน้าที่ส่วนใหญ่มักตกเป็นของแม่ผู้เชื่อมความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกๆมากกว่า และในมิติของจิตวิทยาเอง ความสำคัญของพ่อก็ถูกมองข้ามไป นักจิตวิทยา Vicky Phares จากมหาวิทยาลัย South Florida ทำการรีวิวงานวิจัยกว่า 514 ชิ้น เกี่ยวกับจิตวิทยาครอบครัวและการเติบโตของเด็ก แต่กลายเป็นว่า งานวิจัยเกือบครึ่ง ไม่มีพ่ออยู่ในสารบบงานวิจัยเลย แม้แต่ในมิติของ Academic ยังชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันว่า “พ่อกำลังจะหายไป”
พ่อกำลังจะหายไป
วงการพ่อๆ กำลังหายไปจากสังคม ในขณะที่อัตราของ Single Mother กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น จากการสำรวจของ Sarah E.Hill และ Danielle J. Delpriore จากมหาวิทยาลัย Texas Christian นำเสนอภาพอัตราครอบครัวชาวอเมริกันปัจจุบันถึง 1 ใน 4 เป็น Single Mother จนมีคำกล่าวว่า “จำนวน Single Mother ที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ปัญหาหรอก แต่ภาวะขาดพ่อดีๆต่างหากที่กำลังเป็นปัญหา”
ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญสัดส่วนความไม่สมดุลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อผู้หญิงมีสถานะการเงินและสวัสดิภาพทางอาชีพดีกว่าผู้ชาย มีรายงานว่าเด็กๆ ที่เติบโตจากการเลี้ยงดูด้วยพ่อแม่แบบพร้อมหน้า ลดลงถึง 1.2 ล้านคน
- เด็กจำนวน 15 ล้านคน เติบโตโดยไม่มีพ่อ
- แต่เด็กเพียง 5 ล้านคนเติบโตโดยไม่มีแม่
ปัญหาความยากจนและหนี้สินเป็นชนักติดหลังที่คู่ชายหญิงส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ลงเอยด้วยการแต่งงงาน และผู้ชายมีความพร้อมน้อยกว่าในการเลี้ยงดูทายาทด้วยตัวคนเดียว ในขณะเส้นแบ่งความยากจน (Poverty line) ผู้ชายมีสัดส่วนอยู่ใต้เส้นความจนนี้มากกว่า จึงเป็นประเด็นที่พวกเขาต้องถีบตัวออกมาให้เร็วที่สุดภายใต้ข้อจำกัด
การศึกษาของ Wurzel ระบุว่า โดยทั่วไปแล้วครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวมักเป็นที่สนใจของการศึกษาวิจัยมากกว่าครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากเมื่อมีปัญหาหย่าร้างหรือเกิดการพลัดพรากในครอบครัว ส่วนมากพ่อจะสูญหายไปจากครอบครัวในลักษณะนี้มากกว่าแม่ ขณะเดียวกันแม่มักได้รับสิทธิในการเลี้ยงดูลูกมากกว่าพ่อในกรณีที่มีการฟ้องร้องในศาล เนื่องจากศาลวินิจฉัยได้ว่าสัญชาตญานของความเป็นแม่ มักให้ความอบอุ่นและให้ความเอาใจใส่ลูกมากกว่าสัญชาติญานของความเป็นพ่อ ปรากฏการณ์เช่นนี้ได้รับการตอกย้ำจากแนวโน้มทางด้านประชากรที่รายงานว่า ในปัจจุบันมีครัวเรือนที่มีแม่เป็นหัวหน้าครัวเรือนมากถึงประมาณ 1 ใน 3 และแม่เหล่านี้ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการหย่าร้างและมองว่าการหย่าร้างเป็นเรื่องธรรมดา การแยกทางหรือละทิ้งกัน รวมถึงปัญหามารดานอกสมรสที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย พบว่าสิทธิในการดูแลลูกนั้น 90 เปอร์เซ็นต์ของคู่หย่าร้าง ลูกมักอยู่กับแม่เสมอ
ภาวะขาดพ่อ มีอิทธิพลต่อการเติบโตของลูกๆ แม้จะไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก แต่ครอบครัวที่ไม่มีพ่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจต่อการเข้าสู่ช่วงวัยหนุ่มสาวของเด็กๆ (พบว่า “ฟีโรโมนชาย” ของพ่อ มีผลกระทบต่อประจำเดือนของลูกสาวในบ้าน) และลดอัตราเสี่ยงของพฤติกรรมเซ็กซ์เชิงลบของลูกๆ
แต่ในทางตรงกันข้าม ความทรงจำแย่ๆที่ลูกมีประสบการณ์กับพ่อในวัยเด็ก ทั้งในเชิงถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ก็ส่งผลเสียระยะยาวเมื่อพวกเขาเติบโต และมีแนวโน้มจะใช้เซ็กซ์เสี่ยงๆในการกระชับความสัมพันธ์กับผู้อื่นในลักษณะทำร้ายสุขภาพตัวเอง แต่เมื่อสังคมเผชิญหน้ากับเด็กสร้างปัญหาเราก็นิยมพุ่งเป้าไปที่การเลี้ยงดูของแม่ มากกว่าฝ่ายพ่อ ซึ่งแท้จริงแล้ว พ่อก็สามารถสร้างปัญหาการเลี้ยงดูไม่น้อยไปกว่ากัน
ถ้าไม่มีพ่อ จะยังเป็นครอบครัวอยู่ได้ใช่ไหม?
คุณอาจจะยังไม่พบผู้ชายคนใดที่มีความโดดเด่นจากความเป็นพ่ออยู่ในสายตา มีหลักฐานหลายๆ ชิ้นชี้ว่า แม้พ่อจะมีความจำเป็นในการอุทิศตัวเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี แต่ก็ยังมีคนอื่นๆ ที่ทดแทนช่องว่างนี้ได้เช่นกัน แม้เด็กๆ ที่เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของแม่เพียงคนเดียวจะเผชิญหน้ากับความยากลำบากกว่าเด็กคนอื่นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าความสุขระยะยาวจะหายไปจากชีวิตเสียทีเดียว
ไม่มีพ่อก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเลี้ยงคนเดียว ยอมรับเถอะว่า การเลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียวไม่ใช่เรื่องง่าย แม้คุณจะพร้อมขนาดไหนก็ตาม จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Columbia พบว่า มีบรรดาแม่ๆ เพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถเลี้ยงด้วยตัวคนเดียวได้อย่างแท้จริงโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากใครๆเลย แต่อีก 83 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่า ยังไงต้องการความช่วยเหลือจากครอบครัวเป็นแบ็คข้างหลังให้อยู่ดี
ไม่ใช่เรื่องดีหากการเลี้ยงลูกคือการเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ ตามความสะดวกอย่างที่หลายคนทำ เช่น ปีแรกให้แม่เลี้ยง ปีที่ 2 ให้ยายเลี้ยง ปีต่อๆ ไปให้บรรดาป้าๆ เลี้ยง จากนั้นก็ส่งพวกเขาไปโรงเรียนประจำ เพราะเด็กยังต้องการสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ปลอดภัยและไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยจนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับใครได้เลย
เด็กๆ ที่โตขึ้นมาหน่อย สามารถสร้างพันธะความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่พวกเขาสนิทสนมได้ อย่างครู โค้ชกีฬา หัวหน้ากลุ่มชุมชน หรือผู้นำในสังคมคนอื่นๆ ที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ก็ช่วยเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดี
พ่อที่มีความพร้อมกำลังหายาก ปัจจัยต่างๆ บีบคั้นให้พวกเขาหลีกเลี่ยงภาระที่ควรรับผิดชอบ เขาต้องรู้สึกว่าเป็นส่วนสำคัญในการเลี้ยงดูเด็กไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าแม่ๆ เลย
แต่ท้ายสุดเมื่ออะไรก็ไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่คาดหวัง ความไม่สมบูรณ์ของครอบครัวก็คือความท้าทาย
แม้สังคมจะพยายามกู้คืนภาพครอบครัวเปี่ยมสุขทุกๆ วันของครอบครัว แต่การทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวจากการที่ไม่มีเหมือนคนอื่น ไม่ควรเป็นข้อบกพร่องในการเติบโต การเลี้ยงลูกให้ดีหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นกับจำนวนพ่อแม่ที่อยู่บ้าน หากแต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพในการเลี้ยงดูมากกว่า
ไม่พร้อมเหมือนคนอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเริ่มอะไรล้าหลังกว่าชาวบ้านหรอกนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Parenthood Disadvantages U.S. Children in Math and Science, Press Release – August 21, Department of Public Information
The Father Factor. Paul Raeburn March 2009
How Dads Develop. Brian Mossop August 2011
Cover Illustration by Namsai Supavong