ไม่มีใครเก่งเท่าแม่เธอแล้ว
ศัพท์อินเทอร์เน็ตส่วนมากมาแล้วเดี๋ยวๆ ก็ไป แต่เมื่อมองไปยังการใช้ ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่เธอแล้ว’ ก็เป็นคำที่ดูมีทรงว่า จะอยู่ในคลังคำศัพท์การถกเถียงกับชาวเน็ตของเราไปตลอด ส่วนหนึ่งอาจเพราะมันเป็นประโยคที่พูดแล้วสะใจดี แต่อีกส่วนสำคัญคือเราหลายๆ คนมีความรู้สึกร่วมกันว่า แม่ของเราเนี่ยแหละเก่งที่สุด เป็นความรู้สึกที่เรามีติดตัวมาตั้งแต่วัยเด็ก และบ่อยครั้งแม้เราจะเติบโตขึ้น มีการเปลี่ยนสังคม ได้พบเจอผู้คนใหม่ๆ จนมาเถียงกับใครก็ไม่รู้บนโซเชียลมีเดีย แต่ตอนนี้เราหลายๆ คนก็ยังเชื่อเช่นนั้นอยู่ลึกๆ
ทำไมเรามองว่าแม่เก่งที่สุด? ทำไมต้องเป็นแม่? และมุมมองนั้นๆ ส่งผลอะไรกับเรา?
สัญชาตญาณในการเทิดทูน
มีหลากหลายปัจจัยที่ก่อร่างความรู้สึกนึกคิดของเรา และเมื่อพูดถึงตัวตนมนุษย์ การพยายามแยกปัจจัยทางสังคมและชีววิทยาออกจากกันนั้นทำได้ยาก เพราะบางครั้งทั้ง 2 อย่างนี้ก็มีผลกระทบต่อกันและกัน หนึ่งในตัวอย่างของความไม่อาจแยกออกจากกันได้ คือความรู้สึกเทิดทูนที่เรามีต่อบุพการีของเรา แน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งแรกๆ ที่สังคมไทยสอนให้เราต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณ เป็นพระในบ้าน ฯลฯ แต่ว่าอีกส่วนสำคัญที่นำมาซึ่งการเทิดทูนนั้น มาจากสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของเรา
ในวัยทารกของเรา ก่อนที่เราจะได้เรียนรู้และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อาจเรียกได้ว่าเราไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากลูกสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่สื่อสารผ่านการร้องเรียก ไม่ใช่ภาษา มุ่งโฟกัสไปกับการอยู่รอดเหนือสิ่งอื่นใด และที่สำคัญคือเราต้องการที่พึ่งพิงจากสิ่งมีชีวิตโตเต็มวัยที่อยู่กับเรา ในที่นี้คือผู้ปกครองของเรา และการต้องพึ่งพาพวกเขานั่นเองที่นำไปสู่กลไกป้องกันตัวเอง ชื่อว่า Fantasy Bond
Fantasy Bond เป็นทฤษฎีที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักจิตวิทยาคลินิก โรเบิร์ต ไฟร์สโตน (Robert Firestone) ตั้งแต่ปี 1985 และยังถูกพัฒนาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ไฟร์สโตนอธิบายว่า ในวัยทารกที่กำลังเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกของเรา เมื่อประสบเข้ากับประสบการณ์ในแง่ลบ เราจะสร้างภาพลวงตาถึงความปลอดภัยที่เราจะวิ่งเข้าหาได้ เช่น ความหงุดหงิด ความกลัว หรือความเจ็บปวดแบบไม่รู้ตัว เรามักผูกภาพลวงตาเหล่านั้นเข้ากับผู้ปกครองหลัก (Primary Caretaker) ของเรา โดยยกระดับพวกเขาให้แปรเปลี่ยนจากคนธรรมดา กลายไปเป็นบุคคลในอุดมคติ
มาถึงตรงนี้เราอาจจะเริ่มเข้าใจแล้วว่า ทำไมแม่เราทุกคนถึงเก่งจัง แต่คำถามถัดมาคือ ทำไมต้องเป็นแม่ล่ะ?
แม่ ผู้เลี้ยงดู และตัวอย่างของความเป็นหญิง
เมื่อไฟร์สโตนพูดถึงผู้ปกครองหลักของเรา สิ่งที่มักพ่วงมาด้วยเสมอคือ “ผู้ปกครองหลักมักจะเป็นแม่” นั่นคือเบาะแสแรก รวมถึงมุมมองของเราต่อแม่และความเป็นแม่ ที่ผูกติดพวกเขาเข้ากับการเป็นผู้ปกครองหลัก และบทบาททางเพศของผู้หญิงอยู่เสมอโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าแม่ของเราจะทำหน้าที่นั้นในชีวิตของเราจริงๆ หรือไม่ก็ตาม
แล้วมุมมองของเด็กต่อแม่เป็นยังไง? ในงานวิจัย How children see their parents – a short intergeneration comparative analysis โดยอิโยน่า ลีปาดาตู (Ioana Lepadatu) จากคณะสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Universitatea Spiru Haret พาเราไปสำรวจว่า เด็กชายและเด็กหญิงต้องการและไม่ต้องการอะไรในตัวพ่อแม่ของพวกเขาบ้าง
คำตอบของกลุ่มตัวอย่างทั้งเด็กชายและเด็กหญิงในประเด็นต่างๆ ทำให้เรามองเห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับมุมมองที่เรามีต่อความเป็นพ่อและแม่ รวมถึงความเป็นชายและหญิงที่เราปลูกฝัง เลี้ยงดูให้กับเด็กในสังคมของเรา โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
มุมมองเกี่ยวกับพ่อ:
- พ่อในอุดมคติของเด็กผู้ชายคือ ‘พ่อผู้เป็นนักกีฬา’ (Sports Father) สำหรับเด็กผู้หญิงคือ ‘พ่อที่ตามใจ’ (Sweet Father)
- พ่อที่ไม่พึงประสงค์ที่สุดของทั้งเด็กชายและเด็กหญิงคือ ‘พ่อที่มีหลายทักษะ’ (Jack-of-All-Trades Father) ด้วยเหตุผลว่า พ่อประเภทนี้มักอยู่กับงานมากที่สุด และเด็กๆ มองว่างานคือศัตรูของพวกเขา
- สำหรับเด็กผู้ชาย พ่อที่ไม่ดูเหมือนจะเป็นพ่อคือ ‘พ่อผู้ถือตัว’ (Important Father) ส่วนเด็กผู้หญิงคือ ‘พ่อที่ชอบหว่านเสน่ห์’ (Seductive Father)
มุมมองเกี่ยวกับแม่:
- แม่ในอุดมคติ แม่ที่เด็กผู้หญิงอยากเป็น และเด็กผู้ชายอยากแต่งงานด้วยคือ ‘แม่ที่เหมือนเพื่อน’ (Mother-friend)
- แม่ที่เป็นที่ต้องการน้อยที่สุดของเด็กๆ คือ ‘แม่ที่ไม่มีเวลาให้’ (Busy Mother)
- แม่ที่ไม่เหมือนจะเป็นแม่สำหรับเด็กผู้ชายคือ ‘แม่ที่ใจเย็น’ (Calm Mother) สำหรับเด็กผู้หญิงคือ ‘แม่ที่ชอบแต่งตัว’ (Fashion Mother)
ในการเก็บข้อมูลดังกล่าว หัวข้อแม่ในอุดมคติจึงสามารถสรุปได้ว่า เด็กๆ มีความต้องการในด้านการสนับสนุนทางอารมณ์ความรู้สึก แต่สังคมของเราวาดภาพให้พวกเขาเห็นว่าหน้าที่นั้นๆ ผูกติดอยู่ที่ผู้เป็นแม่ และมองว่าหากแม่เป็นแม่ที่เพ่งความสนใจไปกับการงาน แปลว่าแม่คนนั้นไม่ใช่แม่ที่ดี โดยผู้วิจัยเขียนในบทคัดย่อว่า
“ผลการทดลองบอกเราว่า เด็กผู้หญิงมีโอกาสที่จะวิพากษ์วิจารณ์แม่ และยินยอมต่อการกระทำของพ่อ”
ผลการวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากปี 2015 ในประเทศโรมาเนีย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ต่อยอดมาจาก Connaissance de l’enfant หนังสือข้อเขียนโดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส โรส วินเซนต์ (Rose Vincent) ในปี 1969 ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า แม้ช่องว่างเวลาระหว่างทั้ง 2 งานวิจัยจะอยู่ที่ระยะเวลา 50 ปี แต่ผลการทดลองยังคงบอกเราได้ว่า มุมมองของสังคมต่อแม่และผู้หญิงยังเป็นเช่นเดิมอยู่
หรือแม่เราไม่ต้องเก่งไปกว่าใคร?
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ไฟร์สโตนคิดค้นและพัฒนาทฤษฎี Fantasy Bond ขึ้นมาคือ เพื่อให้นักจิตวิทยาและนักจิตเวชใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายชิ้นส่วนของผู้เลี้ยงดูเราที่ยังมีบางส่วนตกค้างอยู่ในเรา รวมไปถึงผลกระทบของการตกค้างเหล่านั้น เพราะแม้ว่าเราจะโตขึ้นมาแล้ว แต่ภาพลวงตา Fantasy Bond ยังติดตัวเราไปและกลายร่างออกมาเป็นรูปแบบพฤติกรรม หรือแนวคิดอื่นๆ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับการค่อยๆ เรียนรู้และตีความโลกรอบตัวเรา
เวอร์ชั่นล่าสุดของทฤษฎีดังกล่าว พบได้ในหนังสือที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2022 ของไฟร์สโตนคือ Challenging the Fantasy Bond: A search for personal Identity and Freedom ในบทที่ชื่อว่า ‘Idealization of parents and family’ หรือการสร้างอุดมคติของความเป็นบุพการีและครอบครัว โดยในบทนี้เขาพูดถึงผลกระทบของการยึดถือภาพลวงตาต่อตัวเราเอง หรือที่เราเรียกว่าอุดมคติ ว่ามันอาจทำให้เราจำเป็นต้องมองประสบการณ์อื่นๆ ด้วยความบิดเบี้ยว เพื่อที่จะคงภาพของพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบเอาไว้ให้ได้ เช่น
- การด้อยค่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรัก เพราะว่าคู่ของเราไม่เหมือนพ่อแม่เรา
- การมองว่าครอบครัวถูกต้องเสมอ และหากมีอะไรที่ผิดพลาด นั่นเป็นเพราะตัวเราเอง
- การมองภาพว่าตัวเองอ่อนแอ เนื่องจากยังผูกติดอยู่กับมิติความสัมพันธ์ที่มีผู้ปกครองหลัก
- การเลือกความต้องการของพ่อแม่มากกว่าความต้องการของตัวเอง
- การโยนความผิดให้พ่อแม่ เมื่อตัวตนที่แท้จริงของเขาไม่อาจเทียบเคียงกับภาพลวงตาที่เรามี
ภาพลวงตา Fantasy Bonding สามารถนำพาเราไปได้หลายทิศทาง เราอาจมองว่าพ่อและแม่ของเราเก่งเกินไป มองว่าตัวเองอ่อนแอเกินไป หรือโกรธเกลียดพวกเขา เพราะว่าพวกเขาไม่ดีเท่าที่เราคาดหวัง แน่นอนว่าในระดับหนึ่ง มนุษย์ทุกคนอยู่ด้วยความคาดหวังอยู่แล้ว แต่ในการใช้ชีวิต เราอาจจะลองก้าวถอยหลังออกมาจากอุดมคติสักก้าวดีไหม?
แม่เราต้องเก่งที่สุดจริงหรือเปล่า? พ่อของเราต้องเก่งไหม? เราต้องมองหาพวกเขาในทุกคนเลยหรือไม่? และครอบครัวของเราจะคืออะไร หากไม่ใช่มนุษย์ผู้ผิดพลาดได้เสมอ? คำถามเหล่านี้ไม่มีคำตอบตายตัว แต่เพียงเริ่มคิด มันก็อาจเป็นการจุดประกายบางอย่างสำหรับการเติบโตที่มีอิสระและสบายใจกว่า เพราะจะเกิดอะไรขึ้น หากวันหนึ่งเราเริ่มสวมหมวกการเป็นพ่อคนแม่คน
แล้วพบว่าตัวเราเองไม่อาจไปถึงภาพลวงตาที่เรามีอยู่ได้?
อ้างอิงจาก