(Trigger Warnings : ความตาย, การสูญเสีย)
เคยคิดเล่นๆ มั้ยว่า ถ้าเราจากโลกนี้ไป ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านจะไปอยู่ที่ไหน? หรือเคยรู้สึกลำบากใจมั้ย เมื่อเวลาคนใกล้ตัวจากไป เราไม่รู้จะจัดการกับข้างของของเขายังไงดี?
สิ่งของไม่ว่าจะถูกหรือแพง เล็กหรือใหญ่ ใหม่หรือเก่า ทุกอย่างล้วนมีเรื่องราว ความทรงจำ และคุณค่าทางจิตใจซ่อนเอาไว้ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อคนใดคนหนึ่งจากโลกนี้ไป ภาระหน้าที่ในการจัดการข้างของ มีเพียงแต่ผู้ที่ยังอยู่เท่านั้นที่จะต้องรับผิดชอบ
สิ่งของที่เหลือไว้กับความลำบากใจของผู้ที่ยังอยู่
เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง คนรอบตัวล้มหายตายจาก เหลือไว้เพียงสิ่งของไว้ดูต่างหน้า ที่สะท้อนถึงร่องรอยการมีอยู่ของพวกเขา ทำให้เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเคลียร์ข้าวของเหล่านั้น มันเหมือนกับว่าเราลบพวกเขาออกจากความทรงจำไปอีกครั้งหนึ่ง เสื้อผ้าที่เขาชอบใส่ รองเท้าที่เขาชอบสวม ตุ๊กตาที่เขานอนกอดประจำ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทิ้งของหล่านั้นไป โดยปราศจากความรู้สึกอาลัยอาวรณ์
แต่ถ้าจะเก็บไว้ก็คงไม่ได้เอาไปใช้ทำอะไร นอกจากตั้งไว้เฉยๆ ให้ฝุ่นเกาะ บางครั้งมองไปเห็นก็รู้สึกเจ็บปวดถึงการไม่มีอยู่ของพวกเขา บางครั้งก็คิดถึงจนรู้สึกหดหู่ คงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำอะไรกับของเหล่านั้นสักที ซึ่งถึงแม้เราจะรู้ดีอยู่แล้วว่าของบางอย่าง ไม่นำไปบริจาคก็ต้องนำไปทิ้ง แต่ในใจก็อดรู้สึกผิดไม่ได้ เพราะไม่แน่ใจว่าคนที่จากไปต้องการให้เรายุ่งกับของมีค่าของเขาหรือเปล่า และไม่รู้ว่าจะถามเจ้าตัวได้ยังไง ในเมื่อเขาไม่ได้อยู่ให้ถามแล้ว
ความยากของการจัดการสิ่งของของคนที่จากไป
จึงไม่ได้อยู่ที่วิธีจัดการ
แต่เป็นความรู้สึกขณะนั้นต่างหาก
ซึ่งถ้าจะหาทางออกให้กับความลำบากใจนี้ ก็คงต้องอาศัยความร่วมมือของเจ้าของ ในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ด้วย และนี่ก็เป็นที่มาของแนวคิดการจัดเก็บบ้านที่ผู้คนนิยมในช่วงหลายปีมานี้
จะอยู่หรือจากไป สุดท้ายก็ต้องทิ้ง
Death Cleaning หรือการทำความสะอาดบ้านก่อนตาย เป็นแนวคิดการจัดเก็บบ้านของชาวสวีเดน ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในปี ค.ศ.2017 จากหนังสือของ มาร์การิต้า แม็กนัสเซน (Margareta Magnussen) ชื่อ The Gentle Art of Swedish Death Cleaning: How to Free Yourself and Your Family from a Lifetime of Clutter โดยเธอได้อธิบายแนวคิดนี้ไว้ว่า เป็นวิธีปลดปล่อยตัวเอง ครอบครัว หรือคนที่อยู่ข้างหลังจากช่วงชีวิตที่ยุ่งเหยิง และเธอก็ได้ขอให้ผู้อ่านระลึกถึงคนรักของตัวเอง ที่จะต้องต่อสู้กับทรัพย์สิน ข้าวของเครื่องใช้ หลังจากที่เราเสียชีวิต
พยายามอย่าสะสมของที่ไม่จำเป็น
เพราะเมื่อวันหนึ่งคุณจากโลกนี้ไป
ครอบครัวหรือคนที่อยู่ข้างหลังจะต้องมาจัดการสิ่งเหล่านั้น
ซึ่งฉันคิดว่ามันไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่
– มาร์การิต้า แม็กมัสเซน
โดย death cleaning ก็เป็นหนึ่งในแนวคิดของชาวมินิมอล (minimalism) ที่นิยมจัดเก็บบ้านให้เป็นระเบียบ และเหลือน้อยชิ้นให้มากที่สุด ซึ่งวิธีคมมาริ (Konmori) ที่โด่งดังของนักจัดบ้านสาว มาริเอะ คอนโดะ (Marie Kondo) ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน
จริงๆ แล้ววิธีเก็บบ้านของมาร์การิต้า มีคอนเซ็ปต์ที่ไม่ต่างไปจากวิธีคมมาริเท่าไหร่นัก โดยหัวใจหลักของวิธีเก็บบ้านทั้งคู่ ไม่ใช่แค่การเก็บกวาดให้สะอาดตา หรือปัดกวาดเช็ดล้างให้เงาวิบ แต่เป็นการค่อยๆ ตัดสินใจอย่างละเอียดว่าสิ่งไหนที่ควรเก็บ และสิ่งไหนที่ควรปล่อยไป
ซึ่งในวิธีคมมาริ สิ่งที่ควรเก็บคือสิ่งที่รู้สึกสปาร์กจอย ถูกใจ รู้สึกมีความสุขด้วย แต่ในวิธีของ death cleaning สิ่งที่ควรเก็บ คือสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตของเราและคนรอบข้างจริงๆ เพื่อให้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เราไม่ต้องมายึดติดกับสิ่งของที่ไม่จำเป็นมากนัก และเมื่อเราจากไป คนรอบข้างก็ไม่ต้องมาจัดการของเหล่านั้นให้วุ่นวายด้วย ยังไงเราลองมาดูตัวอย่างวิธีของ death cleaning ไปด้วยกัน
ไม่รู้เริ่มตรงไหน เดินไปที่ตู้เสื้อผ้า
การเลือกเก็บเสื้อผ้าเป็นการเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด เพราะทุกคนน่าจะต้องมีเสื้อตัวเก่ง และเสื้อที่ซื้อมาไว้แต่ไม่เคยใส่เลยอย่างแน่นอน ลองรื้อเสื้อผ้าทั้งหมดในตู้ออกมา แล้วพิจารณาไปทีละตัว ทีละตัว ตัวไหนที่เราใส่บ่อย หรือเอาไปแมตช์กับตัวอื่นๆ ได้ ให้พับเก็บเข้าตู้เสื้อผ้าเหมือนเดิม ส่วนตัวที่ไม่ใส่เลย ก็นำไปซักกำจัดคราบหรือกลิ่น แล้วบริจาคให้กับคนที่ต้องการ หรือโพสต์ขายมือสองก็ย่อมได้ เพราะสมัยนี้เสื้อผ้ามือสองก็เป็นกระแสที่มาแรงเหมือนกันนะ
ทิ้งของที่อาจทำร้ายความรู้สึกของคนเจอ
เราทุกคนล้วนมีความลับที่ไม่อยากให้ใครรู้ ใครเห็น แต่เราก็รู้ดีว่าเมื่อเราจากไป ใครจะเป็นคนที่ค้นเจอความลับนั้นบ้าง ซึ่งความลับที่ว่านี้ก็อาจทำร้ายความรู้สึกของคนที่เจอ ทำให้พวกเขารู้สึกอับอาย โกรธ หรือเสียใจ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นจะต้องเก็บเอาไว้ ก็โยนทิ้งไปเลยก็ดีนะ
หากรู้ว่าต้องทำอะไรกับสิ่งของนั้น เขียนโน้ตไว้
สิ่งของบางอย่าง เรารู้ว่าต้องจัดการกับมันยังไงเมื่อเราจากไปแล้ว หรือมีจุดประสงค์อะไรให้คนที่ยังอยู่ทำเพื่อเราบ้าง เช่น ส่งสิ่งนี้คืนเจ้าของเดิมให้ที หรือสิ่งนี้นำไปบริจาคได้เลย ถ้ามีจุดประสงค์ดังกล่าว เขียนใส่กระดาษโน้ตแล้วแปะติดไว้ เพื่อให้คนที่ยังอยู่จัดการกับมันได้ง่ายขึ้น
หลีกเลี่ยงภาพถ่ายและจดหมาย
สิ่งที่ย้ำเตือนความทรงจำของมนุษย์ได้ดีที่สุดก็คือภาพถ่ายและจดหมาย ครั้นเมื่อเราหยิบขึ้นมาดู เหตุการณ์ ณ ขณะนั้นก็ปรากฏขึ้นในหัวอย่างรวดเร็ว บางเหตุการณ์นั้นสุข บางเหตุการณ์นั้นเศร้า บางเหตุการณ์ร้ายแรงจนไม่อยากจดจำ ทำให้เกิดความรู้สึกแทรกซ้อนหลายอย่างขณะจัดเก็บบ้าน และติดอยู่กับความรู้สึกนั้นจนไม่เป็นอันทำอย่างอื่นต่อ
ฉะนั้นแล้ว เลือกเก็บหรือกำจัดสิ่งของชิ้นใหญ่ๆ หรือของที่ไม่ได้ผูกพันกับความรู้สึกของเราก่อน จากนั้นค่อยไล่ระดับลงมาเก็บของชิ้นเล็กๆ น้อยๆ ที่มีคุณค่าทางใจ แบบนี้จะเป็นวิธีที่ง่ายกว่า
ซื้อน้อยลง จะไม่ได้ลำบากใจในภายหลัง
ปัญหาหลักๆ ที่นำมาสู่กองพะเนินทั่วบ้าน นั่นก็คือการช้อปปิ้งแบบขาดสติ ทำให้สุดท้ายเรารายล้อมไปด้วยของที่ไม่จำเป็น ไม่รู้ซื้อมาทำไม ซื้อมาแล้วก็ได้แค่ตั้งไว้เฉยๆ เสียดายเงิน แถมยังไม่มีที่จะเก็บอีก และของเหล่านั้นก็จะกลายไปเป็นภาระของคนข้างหลังในที่สุด เพราะพวกเขาตัดสินใจไม่ถูกว่าควรทำยังไงดี เมื่อรู้แบบนี้แล้ว การซื้อของให้น้อยลงหรือคิดก่อนซื้อให้มากขึ้น ก็ถือเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมได้ดีเลยล่ะ
อย่าลืมที่จัดการข้าวของบนโลกออนไลน์
ถ้าพูดถึงการจัดเก็บสิ่งของ เรามักจะนึกถึงสิ่งของทางกายภาพเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากยุคสมัยนี้โลกออนไลน์ก็คือ โลกที่คาบเกี่ยวกับโลกแห่งความจริงของมนุษย์ด้วยเช่นกัน ข้อมูลต่างๆ ที่จัดเก็บไว้ในนั้น ก็เลยถือเป็นสิ่งของที่เราต้องจัดการไปด้วย
หมั่นจัดระเบียบเดสก์ท็อป ลบไฟล์ที่ไม่จำเป็นแยกโฟลเดอร์ให้กับกลุ่มไฟล์ต่างๆ แค่นี้ก็จะช่วยให้เรามีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลมากขึ้น รวมไปถึงลบข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์บนโลกออนไลน์ เพราะเมื่อเราจากไป พื้นที่แห่งนั้นอาจเป็นที่ที่ผู้คนใช้ระลึกถึงเราก็ได้
บางคนอาจจะมองว่า death cleaning เป็นแนวคิดที่น่าหดหู่ คิดว่าต้องทำในช่วงที่ใกล้จะจากไปหรือช่วงบั้นปลายของชีวิตเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว เราสามารถจัดการข้าวของในบ้านด้วยแนวคิดนี้ในช่วงไหนของชีวิตก็ได้ และยิ่งเราได้ลงมือจัดการเร็วเท่าไหร่ สภาพแวดล้อมในบ้านหรือห้องของเราก็ยิ่งเป็นระเบียบมากเท่านั้น อีกทั้ง บนโลกที่มีแต่ความไม่แน่ไม่นอนนี้ เราเองก็คงไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าเราจะจากไปเมื่อไหร่แน่ การเตรียมความเรียบร้อยไว้ก่อนก็คงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรนัก
“บางครั้งเราเริ่มตระหนักได้ว่าตู้เสื้อผ้าหรือลิ้นชักเก็บของเริ่มปิดยากขึ้น และถ้าเป็นอย่างนั้น แปลว่าเราจะต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว แม้ว่าเราจะอายุ 30 ต้นๆ ซึ่งยังหากไกลจากความตายก็ตาม เราก็สามารถทำ death cleaning ได้เหมือนกัน” มาร์การิต้า แม็กนัสเซน กล่าว
death cleaning ไม่เพียงแต่จะทำให้คนข้างหลังจัดการกับข้าวของของเราได้ง่ายขึ้น แต่ยังทำให้ในปัจจุบัน เรารู้จักใช้ชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมายมากขึ้นด้วย เพราะการได้ตัดสินใจว่าจะเก็บหรือทิ้งสิ่งไหนบ้าง ทำให้เราได้ฝึกที่จะโฟกัสกับสิ่งของ ผู้คน หรือเรื่องราวที่สำคัญกับชีวิตของเราจริงๆ เช่นกัน และสอนให้เราเข้าใจอีกว่า การที่เราต้องปล่อยข้าวของบางอย่างไปนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่เห็นคุณค่าของมันเสียทีเดียว เพราะบางครั้งมันอาจจะสามารถแปรเปลี่ยนไปเป็น ‘ของขวัญ’ ชิ้นหนึ่ง ที่เราส่งต่อหรือบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการมันจริงๆ ก็ได้นะ
สุดท้าย วิธีการจัดเก็บบ้านก็ไม่มีผิด ไม่มีถูก ไม่มีกฎตายตัวอะไรทั้งสิ้น ขอเพียงแค่เราได้จัดการความยุ่งเหยิงตรงหน้าจนสำเร็จ และรอบตัวเต็มไปด้วยสิ่งของที่จำเป็น หรือสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจกับเราจริงๆ ก็พอแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก