บ่ายของวันพุธบนถนนเยาวราช ใต้ท้องฟ้าที่ดูอึมครึมเหมือนฝนพร้อมจะเทลงมาตลอดเวลา เราเดินสำรวจพื้นที่ใกล้เคียง ‘ชุมชนตรอกโพธิ์’ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีบ้านเรือนและร้านรวงมากมายเปิดให้บริการ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงเศษซากและเขม่าควันจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา
บ้านบางหลังถูกไฟเผาไหม้จนแทบจำไม่ได้ว่าเค้าโครงเดิมเคยเป็นอย่างไร และบางหลังไม่เหลือแม้กระทั่งโครงสร้างให้เห็น เนื่องจากอาคารส่วนใหญ่เป็นไม้ทำให้เพลิงลุกลามอย่างรวดเร็ว และแม้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ แต่ทรัพย์สินรวมถึงข้าวของต่างสูญไปกับกองเพลิง
ณ เวลานี้ เหลือเพียงแค่เสียงคร่ำครวญของเหล่าผู้ที่ได้รับผลกระทบ (ที่ลงทะเบียน) ประมาณ 300 ราย ไม่เพียงแค่คนไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเหล่า ‘แรงงานต่างชาติ’ ที่เข้ามาค้าแรงงานในเมืองกรุง และอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้จนกลายเป็นเหมือน ‘บ้าน’ ของพวกเขา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยเป็นเหมือนปลายทางของแรงงานอพยพจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา เมียนมา และลาว ที่เดินทางเข้ามาหางานทำในไทยทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เพื่อแสวงหางานที่มั่นคงและรายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
The MATTER ลงสำรวจพื้นที่และได้พูดคุยกับ ‘วง’ หญิงชาวลาว วัย 32 ปี ที่ไฟไม่ได้พรากแค่ที่อยู่อาศัย แต่ยังพรากงานของเธอไปด้วย, ‘ป้าน้อย’ แรงงานแผงตลาดวัย 68 ปี ที่ปัจจุบันยังไม่มีที่หลับนอนเป็นหลักแหล่ง และ ‘ป้าลัก’ วัย 70 ปี ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ลำพัง เกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้และการเยียวยาที่พวกเขาได้รับ
วง ชาวลาว วัย 32 ปี เข้ามาทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารที่ปัจจุบันโดนไฟไหม้ด้วยเช่นกัน เธอเริ่มเล่าให้ฟังว่า เบื้องต้นได้รับความช่วยเหลืออย่างดี และตอนนี้ย้ายไปอาศัยแถวคลองเตย เนื่องจากมีน้องพักอยู่ที่นั่นเธอจึงไปขออาศัยอยู่ด้วย เพราะแถวนี้มันไม่มีห้องเช่าเหลืออยู่แล้ว
“การช่วยเหลือก็พอให้อยู่ต่อได้ แต่ปัจจุบันก็ยังขาดพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นอย่างหม้อหุงข้าวกับพัดลม ซึ่ง 2 อย่างนี้ก็สำคัญ เพราะของ (ในบ้านเช่า) เราไม่เหลืออะไรเลย เพิ่งเข้าไปดูมาเมื่อเช้า ไม่เหลืออะไรเลย” หญิงชาวลาว วัย 32 ปี เล่า
วงเล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้อาศัยอยู่ในที่พักที่เถ้าแก่ (นายจ้าง) จัดหาให้ ซึ่งปัจจุบันที่ทำงานก็โดนไฟไหม้ไปด้วย ตอนนี้เธอจึงกลายเป็นคนตกงาน และไม่มีที่อยู่อาศัย
“ตอนนี้ตกงาน และไม่มีที่พัก ต้องขออาศัยคนอื่นอยู่ ยังไม่รู้ว่าจะเอายังไงต่อไป ยังคิดไม่ออก จะกลับบ้านก็ไม่มีเงิน”
เธออธิบายต่อว่าหลังจาดนี้จะหาที่พักก่อน และหากหางานทำได้ก็จะทำงานต่อที่ไทย แต่ถ้าไม่มีงานและที่พักเป็นหลักแหล่งจริงๆ เธอก็ต้องไปขอความช่วยเหลือกับสถานทูตลาว เพราะไม่มีเงินมากพอจะพาตัวเองกลับบ้าน ขณะที่ทุกวันนี้ยังอาศัยเงินบริจาคในการซื้อข้าว-ซื้อน้ำประทังชีวิตอยู่
คนต่อมาที่เราได้พูดคุยด้วยคือ ป้าน้อย แรงงานวัย 68 ปี ที่พบเจอกันหน้าศูนย์พักพิงวัดสัมพันธวงศ์ ป้าน้อยเล่าให้เฟังสั้นๆ ว่า ปัจจุบันความช่วยเหลือสำหรับตัวเองเพียงพอแล้ว แต่กับบางบ้านหรือบางครอบครัวที่มีคนเยอะเขาก็มีความต้องการเยอะ ส่วนบ้านป้าคนน้อยก็เอาของบริจาคมาแค่พอกิน
“ปัจจุบันยังไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ตอนแรกก็เช่าอยู่ในชุมชน แต่พอไฟไหม้ก็ต้องไปนอนที่วัด ไปขอแม่ชีนอนด้วย แต่พี่สาวเราเขาก็โทรมาบอกว่านอนไม่หลับเราก็เลยต้องกลับไปหาแก บางวันเลยไปนอนบ้านพี่สาวบ้าง แต่บางวันไม่มีที่นอนก็ไปนอนที่แผงตลาดที่ทำงานอยู่”
“นอนที่แผงตลาดได้ด้วยเหรอป้า แล้วนอนยังไงล่ะ?” เราถามด้วยความสงสัย
“นอนได้ เพราะเราอยู่ที่แผงตลาดมานาน มันก็จะไม่มีใครกล้ายุ่งกับเรา แต่ถ้าเป็นพวกคนที่มาใหม่ๆ ก็อาจจะโดนแกล้ง” ป้าน้อยตอบสั้นๆ
หลังจากนั้น เราจึงบอกลาและให้กำลังใจป้าน้อย ซึ่งแกก็ตอบกลับมาด้วยรอยยิ้มและเดินไปต่อแถวรับของบริจาค เราจึงเริ่มสำรวจพื้นที่โดยรอบศูนย์พักพิงอีกครั้ง จนกระทั่งไปเจอหญิงสูงวัยคนหนึ่งที่กำลังเดินออกมาจากบริเวณที่รับของบริจาค
เธอคนนั้นคือ ป้าลัก หญิงวัย 70 ปี ที่อาศัยอยู่ในบ้านเช่าที่ชุมชนนี้เพียงลำพัง และกลายเป็นผู้ประสบภัยชั่วข้ามคืนจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนี้ ป้าลักเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันอายุ 70 ปีแล้ว และอาศัยอยู่ที่นี่คนเดียว ส่วนความต้องการในตอนนี้คือการซ่อมแซมบ้านเช่า
“ความต้องการตอนนี้ไม่รู้จะเอาอะไร อย่างแรกก็อยากให้ซ่อมหลังคา เพราะหลังคาพัง ของในบ้านก็หายไปกับไฟเยอะเลย ทั้งของตรงระเบียง แอร์หายไปหมด เครื่องซักผ้าก็พัง เสียหมดแล้ว ตู้เย็น ทีวี พัดลม ก็ใช้ไม่ได้ ไม่กล้าใช้ด้วยกลัวไปต่อไฟแล้วจะระเบิดขึ้นมาอีก”
เราถามป้าลักเกี่ยวกับความช่วยเหลือและที่อยู่อาศัยของเธอในตอนนี้ ซึ่งป้าลักตอบว่า ความช่วยเหลือตอนนี้มันเพียงพอแล้ว เพราะมันก็ทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ สิ่งสำคัญคือจะอยู่บ้านหลังนี้ต่อได้อย่างไร และจะได้อยู่ตอนไหน เพราะตอนนี้ก็ต้องไปเช่าที่อื่นอยู่ ซึ่งเธอยังคงนับวันรอที่จะได้กลับมาอยู่บ้านหลังเดิมหลังการซ่อมแซม
เราแยกจากป้าลักด้วยร้อยยิ้มและการให้กำลังใจเช่นกับที่ทำกับทุกคน คนต่อมาที่เราพูดคุยด้วยคือ นก นักพัฒนาสังคมปฏิบัติการ จากสำนักงานเขตสัมพันธ์วงศ์ หลังจากพูดคุยทำความรู้จักกันได้สักพัก บทสนทนาเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยก็เริ่มขึ้นในช่วงที่ผู้คนหน้าเต็นท์บริจาคบางตาลง
พี่นกเริ่มเล่าให้ฟังว่า ตัวเลขของผู้ที่อาศัยพักอยู่ที่วัด ตอนนี้มีประมาณ 60 กว่าคน แต่ที่มาคืนแรกจะอยู่ที่ประมาณ 70-80 คน เพราะเหมือนเขายังไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งตอนนี้ก็ทยอยย้ายออกกันแล้ว
“ต้องเล่าก่อนว่าชุมชนนี้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้และบ้านเช่า พอไฟไหม้มันเลยไปหมดเลย ซึ่งการย้ายออกไปหาห้องเช่าอยู่ พวกเขา (แรงงานต่างชาติ) จัดหากันเองหมดเลย เพราะเขาจะมีเครือข่ายของเขาที่คอยช่วยเหลือกัน” นักพัฒนาฯ เล่า
“วิธีการดูแล เยียวยาเบื้องต้นทำยังไง?” เราถามพี่นก และได้คำตอบว่า เบื้องต้นจะมีการสอบปากคำโดยตำรวจว่าเขาอยู่อาศัยที่นี่ และเป็นเจ้าบ้านจริงหรือไม่ ซึ่งการเยียวยาจะมีทั้งจากทางรัฐและเอกชน ตั้งแต่เงินสดไปจนถึงข้าวของ
“ในส่วนของแรงงานต่างชาติ เราก็จะมีการจัดหาล่ามมาเพื่อการสื่อสารเบื้องต้น อย่างบางคนอยู่ไทยนานก็จะพูดไทยได้ เราก็จะให้เขาคุยกับเพื่อนเขา ซึ่งถ้าไม่มีที่อยู่ ตอนนี้ที่พักในวัดก็จะมีการแบ่งห้อง ทั้งห้องรวมหญิง-ชาย และห้องหญิงล้วนซึ่งจะใช้ห้องของแม่ชีในวัด
ส่วนด้านแผนการดูแลผู้ประสบภัยระยะยาว พี่นกกล่าวว่านายจ้างจะให้การช่วยเหลือโดยการมอบเงินสมทบบ้าง หรือประกันสังคม ซึ่งปกติเราก็มีกฎหมายรองรับพวกเขาอยู่แล้ว ซึ่งแรงงานต่างชาติทุกคนที่นี่ถือบัตรชมพู (บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่กรมการปกครองออกให้) ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่
“ความช่วยเหลือมาเร็วมาก และมาจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะปัจจัยเงินของ และตอนนี้ก็มีการเคลียร์พื้นที่และเปิดทางให้เจ้าบ้านหรือผู้เช่าเข้าไปดูได้แล้วว่ามีทรัพย์สินอะไรที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นคนอื่นๆ ก็ยังเข้าไม่ได้
ซึ่งตำรวจและเทศกิจก็จะให้ความร่วมมือจัดเวรยามตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัย เพราะตอนนี้โครงสร้างอาคารมันก็ทรุดแล้ว และไม่สามารถอยู่อาศัยได้แล้ว และป้องกันการโจรกรรมด้วย” พี่นกเล่า
นักพัฒนาฯ อธิบายเกี่ยวกับการจัดการของทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกทม. มาลงพื้นที่ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเรื่อง และยังคงติดตามงานอยู่ตลอด
ซึ่งพอฟังถึงตรงนี้เราก็อดไม่ได้ที่จะต้องถามต่อ “ระหว่างที่เขามาตรวจเยี่ยมมีใครไปร้องเรียนกับผู้ว่าฯ บ้างไหม?” เนื่องจากทุกครั้งที่เราเห็นการลงพื้นที่ของผู้ว่าฯ ตามชุมชนต่างๆ ก็มักจะมีชาวบ้านมาพบปะและพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ ในพื้นที่อยู่เสมอ
“เราต้องเข้าใจส่วนนึงนะ ว่าบางทีประชาชนที่เขาเดือดร้อน การช่วยเหลือใดๆ ก็ตามมันจะดูช้าสำหรับเขา เขาจะรู้สึกว่าความช่วยเหลือมันเข้ามาช้า เพราะบ้านเขาพัง ข้าวของเขาเสียหาย ไฟไหม้ 1 ครั้งมันไปหมดเลย มันเหลือแค่สถานที่ และที่มันก็เป็นของคนอื่นที่เขาให้เช่า ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเจ้าของที่จะเอายังไงต่อ” พี่นกตอบพร้อมเล่าต่อว่า ตอนนี้ก็มีเงินเยียวยาเบื้องต้นของ กทม.ที่มอบให้ตามระเบียบวาระอยู่แล้ว ประกอบกับของเอกชน ซึ่งคนที่จะรับของต้องมีบัตรแสดงตัวตนที่เป็นบัตรสีชมพูเพื่อแสดงตนว่าใครเป็นผู้ประสบภัย
“ในฐานะที่อยู่หน้างาน คิดว่ายังขาดอะไรไหม?” เราถามคำถามสุดท้ายกับพี่นกก่อนที่จะล่ำลากัน ซึ่งพี่นกก็บอกเราว่า ปัจจุบันความขาดด้านของใช้ หรือของบริจาคไม่มีแล้ว แต่ตอนนี้ต้องการ ‘จิตอาสา’ ในการช่วยย้ายของที่เหลือตกค้างไปช่วยเหลือผู้อื่นๆ ต่อไป