เริ่มปีใหม่มา เราก็เริ่มได้ข่าวเรื่องไฟไหม้ในพื้นที่เมืองมากขึ้น แน่นอนว่าไฟไหม้สำคัญในปีนี้ คือเพลิงไหม้ใหญ่ที่ลุกลามจากไฟไหม้ป่าที่แคลิฟอร์เนีย เพลิงไหม้รุนแรงของแคลิฟอร์เนียนั้น ยังมีบริบทที่ทั้งรัฐและผู้เชี่ยวชาญจะต้องร่วมกันหาทางออก และหาทางรับมือป้องกันที่หลายสายตาสงสัยไปยังความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เพลิงไหม้ใหญ่ในครั้งนี้รับมือและดับลงได้ยาก
จากไฟไหม้ที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งถือเป็นอีกโจทย์สำคัญที่เมืองต้องเผชิญ และปรับตัวเข้ากับภัยพิบัติใหม่ๆ บ้านเราเองก็ดูจะมีข่าวไฟไหม้เกิดขึ้นติดตามมาจนน่าสังเกต ถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่า ไฟไหม้กับพื้นที่เมืองดูจะเป็นอีกเรื่องสำคัญที่เมืองใหญ่ทั้งหลายต้องเผชิญ ในด้านหนึ่ง เพลิงไหม้แทบจะเป็นทั้งหายนะและเป็นโอกาสที่เมืองต่างๆ จะได้ปรับตัว ได้เรียนรู้ และสร้างเมืองขึ้นใหม่จากกองเถ้าถ่านนั้นๆ
ถ้าเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของเมืองต่างๆ เมืองสำคัญๆ มักจะมีจังหวะที่เมืองเติบโตขึ้นอย่างไร้ทิศทาง หรืออาจมีแนวคิดการสร้างเมืองจากแบบเดิม โดยเฉพาะการก้าวจากเมืองในยุคกลาง สู่การวางรากฐานของเมืองสมัยใหม่ โดยเป็นจังหวะของการวางผังของเมือง วางกฎระเบียบ ซึ่งส่งผลยาวนานมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ตำนานที่เราจะชวนไปดูในครั้งนี้เป็นตำนานกิโมโนปีศาจของหญิงร้างรัก ซึ่งนำไปสู่มหาอัคคีของกรุงเอโดะ โดยเพลิงไหม้ใหญ่นั้นยังสัมพันธ์กับการสร้างเมือง และการเปลี่ยนของเมืองที่เป็นรากฐานเมืองสู้ภัยของกรุงโตเกียวด้วย
เอโดะกับเมืองเสี่ยงไฟ
ถ้าเราจะบอกว่าไฟไหม้ใหญ่ เป็นรากฐานหนึ่งของกรุงโตเกียวในฐานะเมืองที่รับมือภัยพิบัติก็ไม่ผิดนัก รากฐานนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ศตวรรษแรกของการเป็นศูนย์กลางอำนาจของโตเกียว นั่นคือการตั้งกรุงเอโดะเป็นที่ว่าราชการของรัฐบาลโชกุน
ย้อนไปในปี 1603 โชกุนโตกุกาวะ อิเอยาซุ (Tokugawa Ieyasu) ทำการสถาปนาอำนาจรวมศูนย์จากยุคขุนศึก รวมญี่ปุ่นไว้ภายใต้อำนาจเดียว ในการสถาปนาอำนาจนั้นมีปราสาทเอโดะของเมืองเอโดะเป็นศูนย์กลางของอำนาจ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การปลูกสร้างสิ่งต่างๆ โดยมีปราสาทเอโดะเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ เมืองเอโดะจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วรอบรัศมีปราสาท ย่านสำคัญที่ยังปรากฏร่องรอยอย่างย่านโจคามะชิ (jōkamachi) มักประกอบด้วยคฤหาสน์ขุนนางและพ่อค้า โดยความใกล้และไกลปราสาทนั้นมักจะลดหลั่นไปตามลำดับชั้น
เมื่อเอโดะกลายเป็นเมืองหลวงใหม่ ทว่าโชกุนเองซึ่งมีความคิดสืบทอดในการสร้างเมืองมาจากยุคขุนศึก หรืออาจยังมีความคิดเรื่องความสงบมั่นคง การสร้างเมืองในยุคแรกของเอโดะจึงยังดำเนินรอยตามเมืองในยุคสงครามกลางเมือง คือเน้นการตัดถนนเป็นตรอกเล็กตรอกน้อย ใช้เรือน้อยในการข้ามแม่น้ำ มีการวางกลยุทธ์เมืองแบบยุคขุนศึก เพื่อรับมือกับการก่อกบฏและการบุกโจมตี ผังถนนมักจะแคบ วกวน และเต็มไปด้วยทางตันเพื่อควบคุมจำนวนประชากร และทำให้ล้อมปราบได้ง่าย
ทว่าด้วยผังของการก่อสร้างนี้เองทำให้บ้านเรือนและคฤหาสน์ ซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้มีลักษณะติดต่อกันในถนนแคบๆ การดับไฟจึงเป็นไปได้ยาก แม้อันที่จริงเอโดะนั้นจะอยู่รอดจากไฟไหม้ใหญ่มาได้ถึง 50 ปี ซึ่งถือว่าน่ามหัศจรรย์แล้ว แต่ตัวเมืองเอโดะเองก่อนไฟไหม้ใหญ่ ก็นับว่าเป็นเมืองที่เกิดเพลิงไหม้บ่อยครั้งจนเป็นเรื่องธรรมดา จนในปี 1657 ในรัชสมัยของจักรพรรดิโกะ-ไซ (Go-Sai-tennō) ได้เกิดเปลวเพลิงที่กล่าวกันว่า มาจากภูตผีปีศาจในกิโมโนสตรีตัวหนึ่งที่เผากรุงเอโดะเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ไปกว่า 60-70% ของพื้นที่
กิโมโนปีศาจและจุดเริ่มเมืองต้านภัย
มหาอัคคีแห่งเมเรกิเกิดขึ้นในวันที่ 8-20 มกราคม ปี 1675 ฤดูไหม้ไฟของเอโดะมักเกิดขึ้นช่วงฤดูหนาว ในช่วงที่อากาศเย็นและแห้ง ไฟที่เกิดขึ้นมักเกิดจากการจุดไฟของบ้านเรือน และมักถูกโหมโดยลมเหนือของหน้าหนาว
ต้นเพลิงของมหาอัคคีในครั้งนั้นเล่ากันว่า เกิดขึ้นในวัดวัดฮอนเมียวจิในเขตฮอนโง (Hongō) โดยทุกวันนี้ก็ยังมีเขตดังกล่าวปรากฏอยู่ในเมืองโตเกียว ตามตำนานเล่าว่า ไฟไหม้ใหญ่มาจากกิโมโนปีศาจ ทำให้ไฟไหม้ในครั้งนั้นมีอีกชื่อว่า เพลิงแห่งฟุริโซเดะ หมายถึงกิโมโนแขนเสื้อยาวของสตรี กิโมโนต้องสาปเกี่ยวข้องกับตำนานหญิงร้างรักที่ตกหลุมรักซามูไรหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเธอตัดกิโมโนลวดลายเดียวกันจากเสื้อผ้าของบุรุษท่านนั้น และออกแบบให้มีแขนเสื้อกว้างเป็นพิเศษ ด้วยความคะนึงหา เธอจึงเฝ้าสวมใส่และมองกิโมโนตัวนั้นจนตรอมใจและตายลงในวัยเพียง 17 ปี
นั่นคือตำนานที่เล่าสืบเนื่องว่า เมื่อกิโมโนแขนเสื้อยาวตัวนั้นตกไปถึงมือหญิงสาวคนใด หญิงผู้นั้นต้องมีอันเป็นไป ในที่สุดทางวัดที่ประกอบพิธีศพให้กับเหยื่อคนสุดท้ายจึงได้พยายามเผากิโมโนชุดนั้น แต่กิโมโนตัวนั้นไม่ยอมเผาไหม้ มันกลับโผบินขึ้นไปบนท้องฟ้า และพาเพลิงลุกลามจนกลายเป็นมหาอัคคีที่เผากรุงเอโดะไปเกือบสิ้น
นอกจากตำนานร้างรัก ยังมีอีกหลักฐานระบุว่า ต้นเพลิงมาจากบ้านขุนนางซึ่งเป็นที่ปรึกษาสำคัญของโชกุนที่กำลังอยู่ในวัยเยาว์ ในสมัยนั้นเอโดะมีกฎว่า หากบ้านเรือนเป็นต้นเพลิงจะต้องโทษสถานหนัก แต่ถ้าเป็นอารามจะต้องโทษสถานเบา จึงเชื่อกันว่ามีการซัดทอดให้วัด เพื่อเป็นการป้องกันทางการเมืองอย่างหนึ่ง
หลังจากกรุงเอโดะติดไฟในครั้งนั้น โชกุนได้ทำการปรับเมืองขนานใหญ่ อย่างแรกคือ จัดการย้ายคฤหาสน์ขุนนางและวัดออกไปจากรอบปราสาท และเปลี่ยนที่ว่างๆ เดิมให้กลายเป็นพื้นที่อพยพเมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมถึงที่ว่างๆ นั้นทำหน้าที่เป็นพื้นที่ป้องกันไฟไปในตัว
นอกจากการย้ายวัดและคฤหาสน์ออกไปแล้ว ยังมีการตัดถนนรูปสี่เหลี่ยมรอบปราสาทเป็นถนนกว้าง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันไฟ มีการสร้างถนน สะพานข้ามแม่น้ำ มีการวางคันดินตามแนวแม่น้ำ และที่สำคัญคือ โชกุนมองเห็นความเสี่ยงของวัด จึงได้สั่งให้ทุกวัดล้อมด้วยกำแพงซึ่งก่อด้วยคันดินที่ปิดด้วยกระเบื้องดินเผา ให้เป็นแนวป้องกันเปลวไฟที่อาจเกิดขึ้นจากกิจการภายในวัด และยังเป็นกำแพงป้องกันไฟในพื้นที่รอบนอก
การขยายเมืองเอโดะหลังไฟไหม้นั้น ทำให้เมืองที่แออัดจากที่เคยกระจุกตัวอยู่รอบปราสาทในระยะ 8 กิโลเมตร ขยายตัวกลายเป็น 16 กิโลเมตร มีผังถนน พื้นที่ย่าน สาธารณูปโภคป้องกันภัยพิบัติ และพื้นที่อพยพหลบภัยนับตั้งแต่ตอนนั้น
กรณีเพลิงไหม้เมเรกิมีความน่าสนใจคือ เกิดก่อนเพลิงไหม้ลอนดอนในปี 1666 (เกิดก่อนราว 9 ปี) ไฟไหม้ของลอนดอนเองก็เปลี่ยนการเติบโตที่ไร้ทิศทางของเมืองยุคกลางของลอนดอน ไปสู่การวางแนวทางเรื่องกฎหมายอาคาร การห้ามปลูกสร้างอาคารไม้ในเขตเมืองลอนดอน ไปจนถึงการก่อตัวขึ้นของระบบประกันภัย และระบบบริการดับเพลิง
จากเอโดะสู่ลอนดอน เมืองสำคัญของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นชิคาโก ซึ่งก็ถูกไฟไหม้ใหญ่ในปี 1871 เพลิงไฟที่ชิคาโกได้เปิดโอกาสให้สถาปนิกและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะอาคารสูงหรือตึกระฟ้าได้ผงาดขึ้นจากกองเถ้าถ่าน เพลิงไหม้จึงมักสัมพันธ์กับการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงของเมืองรูปแบบหนึ่ง เป็นโจทย์ที่มนุษย์เราจะได้แก้ทั้งในระดับผังเมือง ไปจนถึงนวัตกรรมต่างๆ จากในระดับเมืองสู่ในระดับบการออกแบบ เช่น วัสดุ หน้าตาอาคาร ไปจนถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ที่กลับมาท้าทายความสามารถในการปรับตัวและรับมือของเรา
จากไฟไหม้ใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า มนุษย์เราก็ยังสามารถสร้างเมืองขึ้นใหม่จากกองเถ้าถ่านได้เสมอ และเมืองก็มักจะต้องดีขึ้นทุกครั้ง
อ้างอิงจาก