เสียงนกร้องรับส่งดังก้องกังวานทั่วหุบเขา ป่าดึกดำบรรพ์สูงชะลูดหลายสิบเมตร ผู้คนบนผืนดินนี้เรียกตัวเองว่ากลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ พวกเขาพูดด้วยน้ำเบาและเนิบช้าตามลักษณะของคนที่ไม่มีชีวิตทุกข์ร้อน ไม่ผิดนักที่บางคนจะเรียกที่นี่ว่ายูโทเปีย และไม่ผิดนักที่จะบอกว่าหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ คือภาพสะท้อนว่าคนกับป่าสามารถถ้อยทีถ้อยอาศัยและอยู่ด้วยกันได้
แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่เคยต้องเผชิญกับความพยายามให้ ‘ป่าปลอดคน’ เพราะเมื่อปี 2559 ที่ภาครัฐได้ประกาศให้พื้นที่ของชุมชนดอยช้างป่าแป๋เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโฮ่ง ชาวบ้านในชุมชนนี้ต้องถูกรัฐยึดที่ดินที่เคยเลี้ยงปากท้องไปถึง 18 ไร่ ทำให้พวกเขาต้องลุกขึ้นสู้
ในปี 2562 พวกเขาลงมากรุงเทพฯ เพื่อร่วมชุมนุมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เรียกร้องผืนดินของบรรพบุรุษคืน ก่อนที่จะได้รับการอนุญาตให้เป็นพื้นที่นำร่องแก้ไขปัญหาป่าไม้ร่วมกับภาครัฐ
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดว่าพวกเขาโชคดีที่มีตอนจบสวยงาม..
แต่มันไม่ใช่โชค เพราะนับตั้งแต่การลงไปชุมนุมครั้งนั้น พวกเขาทำทุกวิถีทางเพื่อพิสูจน์ว่าแนวคิด ‘ป่าปลอดคน’ ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ โดยสิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำให้รัฐไทยเห็นเป็นประจักษ์ชัดเจนคือ ‘การจัดทำข้อมูลชุมชน’
เราขออาสาพาไปดูว่าข้อมูลสำคัญอย่างไรกับชุมชนแห่งนี้ มันเปลี่ยนความคิดของภาครัฐอย่างไร และมันตอบข้อสงสัยมากมายถึงเรื่องไร่หมุนเวียน การอนุรักษ์ และคนกับป่าได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร
ข้อมูลคืออำนาจต่อรองของชุมชน
“ทุกวันนี้ ถ้าเราลองเสิร์ชในกูเกิลจะพบว่า
ข้อมูลที่เล็กที่สุดของประเทศคือระดับตำบล ไม่ใช่ชุมชน
ฉะนั้น เราจึงเข้าใจว่าทำไมภาครัฐถึงแก้ปัญหาระดับชุมชนไม่ได้
เพราะจุดที่เล็กที่สุด คุณกลับไม่มีข้อมูล”
ข้างต้นคือข้อสรุปชุดหนึ่งของ ภัทรไพบูลย์ เรือนสอน หัวหอกที่รวบรวมข้อมูลของบ้านดอยช้างป่าแป๋ขึ้นเป็นรูปเล่ม ก่อนนำข้อมูลชุดดังกล่าวไปพูดคุยกรมอุทยานแห่งชาติในวันที่ 8 ธันวาคม 2565

ภัทรไพบูลย์ เรือนสอน
แนวคิดป่าปลอดคนเกิดขึ้นทุกครั้งที่กองทัพเรืองอำนาจ ภาพที่ใกล้ที่สุดคือภายหลังการรัฐประหารปี 2557 รัฐบาล คสช.ได้ออกนโยบาย 64/2557 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากสูญเสียผืนดินทำกิน และเกิดคดีไม่น้อยกว่า 46,000 คดีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้
ดั่งที่เล่าไปว่าตอนจบของบ้านดอยข้างป่าแป๋ดีกว่าในหลายพื้นที่ พวกเขาได้รับการรับรองให้เป็นพื้นที่แก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐ กลายเป็นพื้นที่แรกที่กระทรวงทรัพฯ ลงมาเป็นเจ้าภาพร่วมในการศึกษาและออกแบบการอยู่ร่วมกับป่า และยังได้ประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์แห่งที่ 12 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563
แต่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะดอยช้างป่าแป๋วิเศษกว่าพื้นที่อื่น แต่มันเกิดจากการทำงานอย่างแข็งขันของชุมชนแห่งนี้

ชุมชนเตรียมฟังบรรยายจาก ภัทรไพบูลย์
ภัทรไพบูลย์ย้อนกลับไปในความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับภาครัฐเมื่อปี 2559 เขาสังเกตว่า ภาครัฐมีข้อมูลที่มากกว่าที่ชุมชนมีข้อมูลของตัวเอง และสิ่งที่ชุมชนทำได้คือการอ้างถึงคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ การเรียกร้องความเห็นใจ ซึ่งเขามองว่ามัน “ไม่ใช่ทางออกของการต่อสู้”
“การพูดด้วยพรรณนาโวหารให้คนเห็นใจ ไม่ใช่ทางออกของการต่อสู้ การต่อสู้มันต้องเอาข้อมูลมายันกันเพื่อให้ยอมรับซึ่งกันและกัน ถ้าชุมชนเรามีข้อมูลการทำไร่หมุนเวียนทั้งหมด เราจะแจ้งกับภาครัฐได้ว่าพื้นที่ไหนที่ชุมชนอาจรุกล้ำเข้าไปเมื่อครบรอบไร่หมุนเวียน หรือถ้าภาครัฐสงสัยในจุดไหน ก็สามารถมาถามข้อมูลจากเราได้” ภัทรไพบูลย์กล่าว
“เราต้องทำให้ภาครัฐเข้าใจเราด้วย เราต้องไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับภาครัฐมากเกินไป เพราะการชุมนุมมันคือการกดดัน แต่ถ้ายังมัวแต่กดดันด้วยปากเปล่า มันไม่สามารถทำให้ผู้มีอำนาจคล้อยตามเราได้ทั้งหมด” ภัทรไพบูลย์กล่าว
ชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋ค้นพบข้อมูลอะไรใหม่?
ด้านล่างนี้คือข้อมูลที่พวกเขาค้นพบ จนทำให้ภาครัฐคล้อยตาม และลบข้อครหาที่สังคมเคยตั้งคำถามกับพวกเขา

ภาพจาก: ภัทรไพบูลย์ เรือนสอน
- ไม่ใช่คนไทยหรือไม่ บุกรุกพื้นที่ป่าหรือเปล่า?
หนึ่งในการค้นพบจากเอกสารของภัทรไพบูลย์คือ เอกสารใบรัชชูปการ พ.ศ. 2462 (สมัยรัชกาลที่ 6) หรือเอกสารใบเสียภาษี ซึ่งถูกใช้แทนเอกสารแสดงตนในสมัยนั้น
เอกสารดังกล่าวกลายเป็นหลักฐานยืนยันข้อสงสัย 2 ประการ ข้อแรก ชุมชนแห่งนี้อยู่ในป่าผืนนี้มานานกว่า 100 ปี และข้อสอง ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนนี้เป็นคนสัญชาติไทย ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ
ชาวปกาเกอะญอในชุมชนดอยช้างป่าแป๋จึงเป็นคนไทย ไม่ได้บุกรุกป่ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และยังอาศัยมาก่อนการประกาศพื้นที่อนุรักษ์หรือเขตป่าสงวนใดๆ
- ทำไมที่ตั้งของชุมชนคาบเกี่ยว 2 จังหวัด 3 อำเภอ?
คำถามว่าทำไมชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยว 2 จังหวัด 3 อำเภอ เป็นคำถามที่ภาครัฐและชุมชนพยายามหาคำตอบมาเป็นเวลานาน โดยในทิศตะวันตก อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่, ทิศใต้ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และทิศตะวันออก อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน
กระทั่งชุมชนได้พบแผนที่เก่า ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ถึงได้เข้าใจว่าที่แท้แต่เดิมชุมชนตั้งอยู่ในมณฑลพายัพ กระทั่งในปี 2475 ได้มีการยกเลิกมณฑลพายัพ และตั้ง จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน ขึ้น ทำให้การลากเส้นแผนที่ในเวลาต่อมาได้ผ่าชุมชนออกเป็นทั้งหมดสามส่วน

ภาพจาก: ภัทรไพบูลย์ เรือนสอน
- ไร่หมุนเวียนหรือเลื่อนลอย ใช้พื้นที่เท่าไหร่กันแน่ ?
เราต่างคุ้นเคยกับคำว่า ‘ไร่เลื่อนลอย’ จากการผลิตซ้ำวาทกรรมในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ซึ่งนักเรียนในระบบเหล่านี้หลายคนเติบโตขึ้นไปเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย จนส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงพวกเขาที่อยู่ในป่า
ข้อมูลของภัทรไพบูลย์เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่ไร่หมุนเวียนที่พูดถึงคืออะไร อยู่ที่ไหน ตรงจุดไหนบ้าง
พวกเขาพบว่าชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋จะเปลี่ยนพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนทุก 7 ปี โดยใช้พื้นที่ทำไร่หมุนเวียนทั้งหมด 69 แปลง จำนวน 2,324 ไร่ จากพื้นที่ชุมชนทั้งหมด 21,300 ไร่ (10.91% ของพื้นที่ชุมชนทั้งหมด) ใช้พื้นที่นาและสวนถาวรอีกจำนวน 398 ไร่ และพื้นที่อยู่อาศัยและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 425 ไร่
ที่สำคัญคือ การปักหมุดพื้นที่ที่แสดงให้เห็นว่ามีการทำไร่หมุนเวียนในจุดไหนบ้างของชุมชน ซึ่งเป็นการลบวาทกรรมทำไร่เลื่อนลอยของชุมชนปกาเกาะญอ

ภาพจาก: ภัทรไพบูลย์ เรือนสอน
- ชาติพันธุ์อยู่ในป่าดีต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ ?
นอกจากการให้ข้อมูลการทำไร่หมุนเวียนอย่างละเอียด ทางภัทรไพบูลย์ยังพยายามสร้างโมเดลเชื่อมโยงระหว่างสภาวะโลกแปรปรวนกับการทำไร่หมุนเวียน
โดยเขาได้คำนวณว่าการทำไร่หมุนเวียนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้อย่างมีคุณภาพในปริมาณถึง 1.18 ล้านตัน ดูดซับคาร์บอน 4.34 ล้านตัน ขณะที่ปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเพียงแค่ 664 ตัน/ ปีเท่านั้น
วิถีชีวิตที่สมานเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติยังทำให้ชาวปกาเกาะญาในบ้านดอยช้างป่าแป๋รักษาต้นไม้ที่โตเต็มที่ได้มากถึง 196,052 ต้น ผลิตออกซิเจน 49,013 ล้านลิตร/ ปี คิดเป็นปริมาณออกซิเจนสำหรับเพียงพอให้คนหายใจ 392,014 คน/ ปี หรือคิดเป็น 0.52% ของคนไทยทั้งหมด

อ่างเก็บน้ำป้องกันไฟป่า
- ชุมชนจะช่วยป้องกันป่าไม้ได้อย่างไรอีก ?
อีกหนึ่งจุดขายของชุมชนดอยช้างป่าแป๋คือ การป้องกันไฟป่าด้วยทีมอาสาสมัครชุมชน แต่ความพิเศษของชุมชนดอยช้างป่าแป๋คือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการป้องกันไฟป่า
บัญชา มุแฮ หรือ ดี ปุ๊ นุ๊ หัวหน้าทีมเยาวชนดับไฟป่าของหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋เล่าว่า ทุกปี ชาวบ้านจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมป้องกันไฟป่าในพื้นที่ โดยมีการติดตั้งถังน้ำในป่าเกือบ 100 ถัง ใน ขุดสระน้ำดับไฟป่าขนาด 400,000 ลิตร (จำนวน 4 จุด) ครอบคลุมพื้นที่แนวกันไฟตลอด 30 กิโลเมตร เพื่อลดปัญหาในด้านการขนส่งน้ำ
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ดี ปุ๊ นุ๊ ได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการป้องกันไฟป่า โดยมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อมอนิเตอร์สถานการณ์ไฟป่า พร้อมกับติดตั้งสปริงเกอร์ ที่สามารถสั่งให้ทำงานได้ทันทีผ่านสมาร์ตโฟน

บัญชา มุแฮ กำลังเช็กสภาพไฟป่าจากสมาร์ตโฟน
สิทธิพล บุญมา เป็นหนึ่งในทีมเยาวชนดับไฟป่า เขาเข้าร่วมดับไฟป่าตั้งแต่อายุ 11 ปี จนถึงตอนนี้อายุ 23 ปีแล้ว โดยทุกวันนี้ เมื่อเข้าฤดูไฟป่า (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน) สิทธิพลจะเข้าไปนอนในป่าอาทิตย์ละอย่างน้อย 5 วัน เพื่อทำแนวกันไฟ ตรวจดูความพร้อมของอุปกรณ์ และป้องกันไฟป่าไม่ให้ลุกลาม
“ผมรู้สึกว่าต้องทำ (ทีมเยาวชนดับไฟป่า) มันคือหมู่บ้านเรา เพราะบรรบุรุษเราสอนว่า ดินน้ำป่าเราต้องใช้ เราต้องรักษา เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน” สิทธิพลพูดถึงเหตุผลที่เข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร
ทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านดอยช้างป่าแป๋หนักแน่น น่าเชื่อถือ และเปลี่ยนความคิดภาครัฐที่มองคนอยู่ในป่าไปตลอดกาล
จากข้อมูลสู่ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์
ไม่ผิดที่จะบอกว่าข้อมูลชุดดังกล่าวมีส่วนที่ทำให้ภาครัฐหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงทรัพฯ เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งล่าสุดกำลังจะเข้าที่ประชุม สว.ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
แต่สำหรับชาวบ้านแล้ว กฎหมายฉบับนี้เป็นมากกว่ากฎหมาย แต่มันคือเครื่องยืนยันสิทธิในชุมชน การรักษาประเพณี และวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม
“ถ้าเรามองถึงความชอบธรรม ชุมชนชาติพันธุ์หลายกลุ่มอยู่ในป่ามาก่อนประกาศใช้กฎหมายป่าไม้ต่างๆ และพวกเราสามารถปกป้องป่าได้ เราทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ด้วย” ดี ปุ๊ นุ๊ กล่าว
“ถ้ามีกฎหมายคุ้มครองพวกเราจากเข้ามาของทุน มันจะทำให้ชุมชน ป่า และเจ้าหน้าที่อยู่ด้วยกันและทำงานด้วยกันเพื่อปกป้องป่าได้” ดี ปุ๊ นุ๊ อธิบายเพิ่มเติม
“มันไม่ได้สำคัญกับชุมชนดอยช้างป่าแป๋ มันสำคัญกับชาติพันธุ์ทุกกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ป่า ถ้าเราไม่มีกฎหมายชุดนี้แลให้รัฐมากำหนด มันอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นป่าข้าวโพด หรือสร้างปัญหาที่เราอาจคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น” ภัทรไพบูลย์กล่าว
ดอยช้างป่าแป๋ได้พิสูจน์ทั้งเชิงปฏิบัติและข้อมูลแล้วว่า ‘ป่าปลอดคน’ ไม่ใช่ทางออกเดียวในการอนุรักษ์ป่า และคนในป่าเองก็ดูแลและหวงแหนผืนป่าไม่ต่างจากนักอนุรักษ์ทั้งหลาย
พวกเขาพิสูจน์แล้วว่าพวกเขาอยู่กับป่าและดูแลป่า พวกเขาดื่มน้ำและรักษาแม่น้ำ พวกเขาจับเขียดกินและดูแลผา พวกเขาจับปลากินและรักษาลำห้วย ดั่งเช่นบทเพลงที่พวกเขาร้องรำ