“แล้วจะรู้ว่าเป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย”
คำพูดจากภาพยนตร์ Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ ที่ถ้าทุกคนลองคิดดีๆ เด็กที่กำลังเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยก็มักจะบ่นทำนองนี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเปลี่ยนโฉมไปมากแล้ว นับตั้งแต่ระบบเอนทรานซ์ แอดมิชชัน จนมาถึงระบบล่าสุดคือ ทีแคส
แต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยปีนี้กลับมีกระแสดราม่าเกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งเรื่อง ทปอ.สื่อสารไม่ชัดเจน จนส่งผลให้นักเรียนจำนวนมากสับสนในการเตรียมตัวสอบ หรือข้อสอบออกไม่ตรงตามโครงสร้างข้อสอบที่กำหนดไว้ จนทำให้เด็กที่กำลังยื่นคะแนนได้ปีนี้ รวมทั้งเด็กรุ่นต่อๆ ไป ต่างล้วนเกิดความกังวลกับความไม่แน่นอน
จนเกิดแฮชแท็ก #Dek67 เพื่อวิจารณ์ปัญหาเหล่านี้กัน ดังนั้น The MATTER จึงจะพาทุกคนไปดูกันว่าระบบ TCAS ที่ถูกใช้ในปัจจุบันมีปัญหาอะไรซุกอยู่บ้าง พร้อมทั้งพูดคุยกับพี่ลาเต้ Dek-D ถึงประเด็นดังกล่าว เพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
TCAS คืออะไร
TCAS (Thai University Center Admission System) คือ ระบบที่ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ซับซ้อนในอดีต
โดยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยบ่อยครั้ง ตั้งแต่ระบบเอนทรานซ์ (Entrance) ที่ถูกเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2504 ที่ให้สอบได้เพียงแค่ครั้งเดียว ถ้าพลาดต้องรอปีถัดไป
ทำให้ปี 2549 มีการเปลี่ยนมาเป็นระบบแอดมิชชัน (Admissions) และมีการเปลี่ยนเป็น ระบบแอดมิชชัน 2.0 เมื่อปี 2553 เพื่อลดสัดส่วนคะแนนเกรดลง และเปลี่ยนการสอบเอเน็ต (A-net) มาเป็นแกท/แพท (GAT/PAT) รวมถึงทั้งเพิ่มข้อสอบวิชาสามัญ
จนปี 2561 ที่ระบบถูกเปลี่ยนเป็น ทีแคส (TCAS) ที่ในช่วงแรกเกิดปัญหานับไม่ถ้วน ทั้งระบบถูกเปลี่ยนในระยะประชิด การยกเลิกการสอบโอเน็ต (O-NET) โดยหลายฝ่ายมองว่า ขาดการสื่อสารเพื่อแจ้งล่วงหน้าในช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือปัญหาคะแนนสูงแต่ไม่สามารถเข้าคณะที่อยากเข้าได้เพราะมีการกั๊กที่ รวมถึงปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย
ด้วยปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทปอ.จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอบอีกครั้ง เป็น TCAS66 หรือเรียกอีกชื่อว่า TCAS 2.0 ซึ่งแตกต่างกับ TCAS ที่ใช้ระหว่างปี 2561-2565 เนื่องจากลดวิธีการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยให้เหลือเพียง 4 รอบเท่านั้น
โดยรวมรับตรง (รอบ 3) และแอดมิชชัน (รอบ 4) เข้าด้วยกัน และยังยกเลิกการสอบ GAT/PAT, O-NET และการสอบวิชาสามัญ ซึ่งเปลี่ยนเป็น ทีแกท/ทีแพท (TGAT/TPAT) และ เอ-เลเวล (A-Level) แทน เนื่องจาก ทปอ.อ้างว่า ต้องการลดความซ้ำซ้อนของรายวิชาที่ใช้ในการสอบ
อย่างไรก็ตาม หลังจาก TCAS 2.0 ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการ เด็กๆ ที่กำลังสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังพบเจอปัญหายิบย่อย ดังนั้นเราจึงพูดคุยกับ มนัส อ่อนสังข์ หรือ พี่ลาเต้ บรรณาธิการข่าวการศึกษา เว็บเด็กดี (Dek-D) เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่าเกิดปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง
“ปัจจุบันเป็น TCAS67 เท่ากับเด็กต้องอยู่กับระบบนี้มา 7 ปีแล้ว แต่เนื้อในระบบถูกเปลี่ยนทุกๆ ปี นับตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งสำหรับเราตัวระบบควรนิ่งกว่านี้ได้แล้ว”
อย่างไรก็ดี พี่ลาเต้เสริมว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทางหน่วยงานที่ดูแลในส่วนนี้ก็มีเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงเสมอ เพราะหลังจากเปลี่ยนเป็นระบบ TCAS ทางหน่วยงานก็แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น เด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2561 เจอปัญหาอะไร ทางหน่วยงานก็นำมาแก้ไขปรับปรุง ทำให้เด็กในปีถัดมาจะไม่เจอปัญหาดังกล่าวแล้ว
“ปัญหามีมากมาย แต่พอแก้ปัญหาหนึ่ง สอง สาม ก็จะเกิดปัญหาสี่ ห้า หก ขึ้นมาอีก ทว่าในช่วงปี 2565 ระบบ TCAS เริ่มนิ่งขึ้น แต่ขณะนี้ก็ยังมีบางสิ่งที่ทำให้ระบบยังไม่นิ่งอย่างสมบูรณ์แบบ”
เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ออกข้อสอบบางส่วนในปี 2567 เช่น เดิมทีปี 2564-2566 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะเป็นผู้ออกข้อสอบ A-Level ในกลุ่มวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่ในปีนี้ไม่ได้เป็นผู้ออกแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ตรงกับพันธกิจหลักของหน่วยงาน เพราะหน้าที่หลักของ สสวท.ไม่ใช่การออกข้อสอบเพื่อคัดเลือก แต่มีหน้าที่เพื่อประเมินและดูว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเก่งขึ้น แต่ TCAS เป็นระบบประเมินเพื่อคัดเลือก ดังนั้นในขณะนี้ ทปอ.จะเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลการสอบ และมีการมอบหมายให้มหาวิทยาลัยที่ดูแลในการจัดหาผู้ออกข้อสอบ
พี่ลาเต้ระบุว่า ส่วนนี้ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนทั้งระบบ แต่เป็นการเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ในระบบมากกว่า ทว่ามันก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี “ในฐานะผู้ติดตามระบบการศึกษาและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาหลายปี ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงมีทั้งดีและการเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนจะไม่ได้ทดลองมาก่อน ซึ่งตามจริงแล้วนำมาทดสอบก่อน เพราะผู้ที่จะได้รับเอฟเฟคจากมันโดยตรงคือ นักเรียนร่วมหลักแสนคน”
ไม่เพียงเท่านั้น พี่ลาเต้ชี้ว่า ทปอ.เพิ่งออกมาระบุว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรในระบบหลังจากนี้ จะแจ้งก่อนล่วงหน้าประมาณ 3 ปี แต่พอหน้างานจริงๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น อย่างการเปลี่ยนผู้ออกข้อสอบอย่างที่ระบุข้างต้น
โดยเด็กเองก็ออกมาแสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า พวกเขาเตรียมตัวสอบด้วยการนำชุดข้อสอบเก่า ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบก่อนหน้า มาเป็นแนวทางในการสอบเข้า เท่ากับว่าเด็กหลายคนต้องเหมือนเริ่มต้นวางแผนการอ่านหนังสือ หรือติวสอบใหม่เกือบทั้งหมด
นอกจากนี้ พี่ลาเต้เสริมว่า ยังมีประเด็นที่นักเรียนปีที่แล้วเพิ่งจะทราบก่อนสอบไม่กี่เดือนว่า รูปแบบข้อสอบ GAT/PAT จะถูกเปลี่ยนไปเป็น TGAT/TPAT แทน ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ ทปอ.กล่าวว่าจะแจ้งการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก่อนอย่างน้อย 3 ปี
“แต่หลังจากดูกระแสความเห็นของเด็กส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่า ถ้าจะเปลี่ยนผู้ออกข้อสอบหรือเปลี่ยนวิชาที่สอบ เด็กก็ไม่ซีเรียสนะ เพราะว่า ทปอ.มีเหตุผลที่จำเป็น ในการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง แต่น่าจะแจ้งให้รับทราบก่อน”
เขากล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ ทปอ.และหน่วยงานที่ออกข้อสอบโดนวิจารณ์อย่างหนัก คือ ออกข้อสอบไม่ตรงตาม โครงสร้างข้อสอบและตัวอย่างข้อสอบ (Blueprint) ที่เริ่มมีการบังคับใช้มาตั้งแต่ ปี 2565 โดย ทปอ.จะเป็นผู้ชี้แจงว่าวิชานี้ออกเรื่องอะไรบ้างและออกประมาณกี่ข้อ
แต่ปรากฏว่าข้อสอบกลับออกไม่ค่อยตรงตาม Blueprint เลย เช่น แจ้งว่าจะออกเรื่องสัตว์ 10 ข้อ และเรื่องพืช 10 ข้อ แต่ในความจริงมีข้อที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เพียงข้อเดียว ดังนั้นหลังจากหมดช่วงการสอบไปแล้ว ในเว็บไซต์เด็กดี (Dek-D) จึงมีการตั้งกระทู้ถามว่า ‘Dek67 ที่ผ่านการสอบมาแล้ว อยากบอกอะไรกับน้อง Dek68 บ้าง?’ ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงความเห็นไปคล้ายๆ กันว่า “อย่าไปเชื่อ Blueprint” ถึงแม้มันจะเป็นแกนหลักของข้อสอบเลยนะ แต่รุ่นพี่สะท้อนว่าอย่าไปเชื่อ ดังนั้นจึงน่าคิดว่าในขณะนี้เด็กที่กำลังเตรียมก้าวเข้าสู่โลกแห่งมหาวิทยาลัย ไม่อาจเชื่อถืออะไรได้เลย
การออกมาแสดงความรับผิดชอบ
พี่ลาเต้ยกตัวอย่างประเด็นการออกข้อสอบไม่ค่อยตรงตาม Blueprint จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่า ในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่เคยออกมาเทคแอคชันใดๆ เลย ซึ่งข้อสอบ A-level วิชาสังคมมีปัญหามากที่สุด เนื่องจากออกลึกจนเกินไป ก็ยังไม่ออกมาชี้แจงใดๆ อีกเช่นกัน
เปลี่ยนระบบแล้ว แต่ปัญหายังผุดขึ้นเรื่อยๆ เพราะการไม่สื่อสาร
พี่ลาเต้มองว่า สิ่งนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ค่อยถูกนำไปเป็นประเด็กหลักในการถกเถียงสักเท่าไร เพราะถ้าลองสังเกตดีๆ หากรัฐบาลพูดถึงระบบการศึกษา ก็มักจะกล่าวถึงนโยบายเรียนฟรี ปัญหาจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่มักจะไม่ค่อยเล็งเห็นถึงกลุ่มเด็กที่กำลังก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย
เขาระบุด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้เริ่มมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เช่น การเลือกลำดับมหาวิทยาลัย 10 อันดับในรอบแอดมิดชัน กระทรวง (อว.) จะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด แต่พอจริงๆ แล้ว เด็กนักเรียนต้องสำรองจ่ายไปก่อน เนื่องจาก ทปอ.ระบุว่า มีปัญหาเรื่องงบประมาณที่ล่าช้า ดังนั้นผู้ที่จะสมัครจำเป็นต้องสำรองจ่ายไปก่อน และจะคืนเงินให้ทีหลัง
“พี่ก็รู้สึกว่าทำไมไม่บอกก่อน ทำไมถึงเงียบ ถ้าเรา ไม่เห็นข้อการชำระเงินเพื่อเลือกลำดับในคู่มือการสมัครแอดมินชันก่อนจะเกิดอะไรขึ้น และหลังจากที่เรานำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งกับน้องๆ หลายคนก็กล่าวว่า ทำไมทำแบบนี้ เพราะทุกคนเข้าใจหมดแล้วว่าไม่ต้องจ่ายเงิน”
เมื่อเด็กไทยต้องเตรียมพร้อมกับความไม่แน่นอน
พี่ลาเต้ระบุว่า “เมื่อไม่นานมานี้ มีเด็กเริ่มมาสอบถามถึงอนาคตของระบบการสอบเข้า เช่น รุ่น 69 ของผม ระบบการสอบจะเป็นอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ พี่กล้าที่จะแนะนำ อย่างก็คงไม่ต่างกับปีที่แล้ว แต่ในปัจจุบันเราแทบไม่กล้าบอกอะไรกับเด็กๆ เลย เพราะการสอบในปีนี้ ก็ไม่เหมือนปีที่แล้ว และปีที่แล้วก็ไม่เหมือนกับปีก่อนหน้าอีก”
ระบบที่ไม่นิ่งก็มีส่วนที่ทำให้เกิดการซิ่วหรือหลุดจากระบบการศึกษา
พี่ลาเต้ตอบว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงมันจะมีทั้งเอฟเฟคที่ดีและไม่ดี แล้วแต่เด็กคนไหนจะได้รับไป ยกตัวอย่างเช่น สาขาหนึ่งเน้นใช้คะแนน GAT-PAT เด็กที่อยากเข้าก็ทุ่มเต็มที่ไปกับการติววิชาเหล่านี้ แต่ปรากฏว่าอยู่ดีๆ สาขานี้กลับเลือกวิชาอื่นสำหรับการยื่นสมัครแทน ส่งผลให้คนที่เตรียมตัวกับวิชาที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงก็ได้ผลรับที่ดีไป แต่คนที่ไม่ถนัด ก็จะได้เอฟเฟคที่ไม่ดีไป เช่น เสียเวลาในการเตรียมตัวใหม่ หรือถ้าไม่ทันก็ต้องซิ่ว หรือบางครั้งก็หลุดจากระบบการศึกษาไปเลยก็มี
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงระบบหรือการเปลี่ยนบางอย่างในระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ควรที่จะมีการทดสอบก่อนใช้จริง นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ‘การสื่อสาร’ เพราะการเปลี่ยนแปลงในทุกครั้งที่ผ่านมา ก็เพื่อเป้าหมายเดียว คือ การปรับให้ดีขึ้น และลดปัญหาที่กระทบกับเด็กให้มากที่สุด แต่ควรที่จะสื่อสารล่วงหน้าและอธิบายอย่างชัดเจนที่สุด ปัญหาทุกอย่างที่เด็กต้องประสบก็จะทุเลาลง เพราะพวกเขาจะมีเวลาเตรียมตัวที่มากขึ้น
สิ่งที่ทำให้เด็กยอมเหนื่อย ยอมอดหลับอดนอน ก็เพื่อคณะที่จะเข้า ดังนั้นทุกอย่างที่เด็กทำก็เพื่อเป้าหมาย แต่ระหว่างทางนั้นดันเกิดการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมได้ เพียงได้แค่ต้องรีบปรับตัวให้ทัน ถ้าไม่ทันก็อาจต้องรอเวลา หรือไม่ก็ต้องจำใจทิ้งความฝันไปเลยก็มี
อ้างอิงจาก