เมื่อก้าวข้ามผ่านสถานะนักเรียนมัธยมปลายไปเป็นนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะคะแนนสอบไม่เพียงพอที่จะยื่นในคณะที่ตัวเองใฝ่ฝัน เหมือนทั้งชีวิตจะพังทลายลงมายังไงก็ไม่รู้ จะไปต่อกับคณะที่ไม่ได้ชอบก็คงไม่ไหว แต่จะตัดสินใจเป็น ‘เด็กซิ่ว’ ก็กลัวว่าคนรอบข้างจะมองว่าเป็นคนล้มเหลวอีก
ถ้าเลือกได้ ก็ไม่มีใครอยากเป็นเด็กซิ่ว ทุกคนล้วนอยากได้เข้าเรียนในคณะที่หมายปองไว้ แต่ระบบการศึกษาที่ไม่เปิดโอกาสให้ถอยหลังกลับ การตัดสินจากสังคมที่ถูกมองว่าล้มเหลว ระบบการสอบที่สร้างค่านิยมการแข่งขันกันอย่างดุเดือด บังคับให้เด็กหลายคนต้องกลายเป็นเด็กซิ่ว
ชีวิตมัธยมปลายที่ฝันไว้ ไม่ใช่แบบนี้นี่?
การใช้ชีวิตนักเรียนมัธยมปลายไม่ได้สนุกเหมือนในหนังวัยรุ่นอเมริกันหรือการ์ตูนญี่ปุ่น เพราะชีวิตทั้งสามปี ของนักเรียนมัธยมปลายในประเทศไทยนั้นคือการอุทิศให้แก่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตั้งแต่ย่างก้าวแรกที่ขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 รู้ตัวอีกทีชีวิตก็วนเวียนอยู่กับการทำเกรดให้สวย การสอบ การทำการบ้าน ทำโครงงาน การเรียนกวดวิชา และการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่แสนจะซับซ้อน
ตลอดสามปีที่ชีวิตเต็มไปด้วยความกดดันก็เจ็บปวดมากพอแล้ว เมื่อถึงเวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัย สิ่งที่แบกไว้บนบ่าก็ไม่ได้มีแค่อนาคตและความฝันของตัวเอง แต่ยังมีความคาดหวังจากคนรอบข้างด้วย
หากทุกอย่างราบรื่นดังฝันก็คงจะดี แต่ก็มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ต้องชอกช้ำระกำใจกับความพยายามที่ทุ่มเทลงไป แต่ผลคะแนนกลับไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง ดูยังไงก็ยื่นเข้าคณะที่ตัวเองใฝ่ฝันไว้ไม่ได้แน่ จึงต้องตัดสินใจเป็น ‘เด็กซิ่ว’
มีบทความที่ตีพิมพ์ลงในวารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องความสุขของนักเรียนมัธยมปลายได้ค้นพบว่า สิ่งที่นักเรียนมัธยมปลายวิตกกังวลมากที่สุดคือเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แม้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะยังมาไม่ถึงก็ตาม เพราะพวกเขากลัวว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยและคณะที่ใฝ่ฝันไม่ได้
ทั้งที่ชีวิตมัธยมปลายควรเป็นช่วงเวลาที่สนุกกับการค้นหาตัวเอง สนุกกับกลุ่มเพื่อน ทำไมการเติบโตมันถึงยากขนาดนี้
ระบบการศึกษาที่ไม่เปิดโอกาสให้ถอยหลังกลับ
เด็กซิ่วกำลังสะท้อนให้เห็นถึงระบบการศึกษาที่คอยพร่ำบอกว่า ‘จงเรียนตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้’ หรือเปล่า เส้นทางที่ว่านี้คือ 19 ปีในระบบการศึกษาที่ถอยหลังกลับไม่ได้ หยุดพักไม่ได้ ทุกคนจะต้องเข้าเรียนอนุบาลชั้นตอนอายุสามขวบ และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ ปวส. ในเวลา 15 ปีให้หลัง และถ้าเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ก็ต้องเรียนต่อทันที หากมีเหตุให้ต้องเรียนซ้ำชั้น ดรอปเรียน ซิ่ว เรียนช้ากว่าคนอื่น จะถูกมองว่า ‘หลุดออกจากเส้นทาง’
ทว่า ระหว่างเส้นทางนั้น ก็ต้องมีพื้นที่ให้ได้ลองผิดลองถูกกันบ้าง ด้วยระบบการศึกษาที่ไม่มีโอกาสให้ถอยหลังกลับไปตั้งหลักใหม่ ทำให้หลายคนต้องกลายเป็นเด็กซิ่ว ไม่ว่าจะเพราะเข้าคณะที่ใฝ่ฝันไม่ได้ ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ เรียนต่อไม่ไหว ไม่ชอบคณะที่ตัวเองเรียนอยู่ พวกเขาต้องออกจากเส้นทางนั้นเพื่อมาตั้งหลัก ก่อนที่จะกลับเข้าไปใหม่ และถูกมองว่า ‘วิ่งช้ากว่าคนอื่น’
ระบบการศึกษาบังคับให้เด็กนักเรียนต้องเลือกเส้นทางอนาคตที่ไม่มีโอกาสให้ถอยกลับตั้งแต่ยังอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว ในวัยที่ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร กลับต้องมาเลือกเส้นทางข้างหน้าแล้วด้วยสายวิทย์ฯ หรือสายศิลป์ฯ
“ชีวิตนี้มันเป็นชีวิตแห่งการค้นหาตัวเอง มันจะไปตัดสินตั้งแต่อายุ 15 ก็ไม่ได้ ว่าจะต้องเลือกอะไรไปเลย ถ้าเกิดถามว่าการแบ่งวิทย์ฯ-ศิลป์ฯ ค้นพบตัวเองได้ไหม เรามองว่าการแบ่งแบบนี้ ไม่ช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองเลย” ครูเด้นท์ – ศราวุธ จอมนำ คุณครูของโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกหลักสูตรการเรียนของตัวเอง ได้กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ของ The MATTER
ลองมองดูประเทศฟินแลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องระบบการศึกษา ก็ให้โอกาสในการถอยหลังกลับในการศึกษากับเด็กนักเรียน เมื่อเด็กเรียนจบการศึกษาขั้นต้น หรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พวกเขาจะมีทางเลือก 3 ทาง คือเรียนต่อในสายสามัญ หรือถ้าค้นพบตัวเองแล้วก็เลือกเรียนสายอาชีวะ ส่วนใครที่ยังไม่พร้อมที่จะเลือก ก็สามารถเลือกเรียนต่อในการศึกษาขั้นต้นอีกหนึ่งปี
ถ้าเรียนในสายที่เลือกไปแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ทางของตัวเอง พวกเขาสามารถสลับสายการเรียนได้โดยไม่ต้องซ้ำชั้นใหม่อีกครั้ง เลือกเรียนสายใดสายหนึ่งในภาคปกติ และเรียนอีกสายเพิ่มเติมในช่วงภาคค่ำ หรือเลือกเรียนจนจบแล้ววนกลับมาเรียนอีกสายเพิ่มก็สามารถทำได้โดยไม่มีใครมองว่า ‘หลุดออกจากเส้นทาง’ แต่อย่างใด
การเป็นเด็กซิ่ว ไม่ได้หมายความว่าชีวิตล้มเหลว
ความเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของเด็กซิ่ว แค่สอบไม่ติดในคณะที่อยากได้ก็ส่งผลกับจิตใจมากพอแล้ว แต่สังคมมักมองกว่าเด็กซิ่วเป็นเด็กที่มีปัญหา ล้มเหลว สอบไม่ติด คะแนนไม่ถึง เรียนจบช้า ไม่ว่าจะเป็นในสายตาของคนในครอบครัว คนข้างบ้าน ครูที่โรงเรียน หรือแม้กระทั่งเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน
และด้วยการแข่งขันอย่างดุเดือดของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อถึงเวลาสอบอีกครั้งร่วมกับรุ่นถัดไป เด็กซิ่วก็ยังถูกเด็กรุ่นต่อไปมองว่าเป็น ‘ผู้ร้าย’ ที่เข้ามาแย่งที่นั่งอีก ด้วยความฝืดและความเฟ้อของคะแนนที่ไม่เท่ากันในแต่ละปี ที่เหล่าเด็กซิ่วเองก็ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติด ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนที่ล้มเหลวในระบบศึกษา คนเราไม่ได้เรียนได้แค่ในช่วงเวลา 19 ปี อย่างที่สังคมบอกว่า ‘ควรจะเป็น’ คนเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ถึงไม่ได้เรียนรู้จากระบบการศึกษา ก็สามารถเรียนรู้จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้เสมอ การตัดสินใจซิ่วก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะเป็น ‘คนกล้า’
เด็กซิ่วหลายคนที่ไม่ได้ซิ่วแค่ปีเดียว แต่ซิ่วถึงสองปี สามปี หรือซิ่วจนถึงลิมิตอายุที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยกำหนดไว้ก็ยังมี พวกเขาไม่ได้เป็นคนล้มเหลวเลย แต่อาจเป็นคนที่ซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเอง กล้าที่จะตัดสินใจ กล้าแลก เพื่อทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง
ยังมีงานศึกษาที่บอกว่า ปัจจัยในการซิ่วของนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่นั้น มาจากความชอบในสาขาวิชาที่เรียนอยู่ พวกเขาอยากทำตามความชอบของตัวเองและค้นหาสาขาวิชาที่ใช่สำหรับพวกเขาจริง ๆ และพวกเขายังทัศนคติที่ดีกับการซิ่วอีกด้วย
ถ้ายังไปไม่ถึงจุดที่ฝันไว้ก็ไม่เป็นไร แค่สู้กับระบบการศึกษามาจนถึงจุดนี้ก็เก่งมากแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart