ช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึง ‘ขบวนการออกวีซานักเรียนจีนในไทย’ โดยระบุถึงการขายแพ็กเกจต่อวีซานักเรียน ทั้งรูปแบบปริญญา และการเรียนภาษาระยะสั้นแบบไม่ต้องเข้าเรียนจริง ซึ่งหลายคนสงสัยว่า ขบวนการนี้ให้บริการต่อวีซานักเรียนแบบครบวงจร เพื่อทำงานในประเทศไทย
เพจ รู้ทันจีน โพสต์ภาพวีซ่านักเรียนจีนหลายราย พร้อมให้รายละเอียดขบวนการออกวีซานักเรียนจีน ที่มีการขายแพ็กเกจต่อวีซ่านักเรียนในประเทศไทย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนจริงๆ ทั้งนี้ยังระบุว่าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐฯ และมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่เชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ
“เอเจนต์ชาวจีนร่วมมือกับตำรวจ อ้างว่ามีแบคใหญ่ พร้อมทั้งบริการและรับลูกค้า” เพจ รู้ทันจีน กล่าวว่าถึงกรณีที่เอเจนต์คอยพาชาวต่างชาติข้ามด่านพรมแดน เพื่อทำวีซ่าที่จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งยังมีผู้เกี่ยวข้องชาวไทยคอยช่วยเหลืออีกด้วย
เพจดังกล่าวให้รายละเอียดว่า “ไม่ว่าจะถือวีซาอะไร พวกเขาสามารถมาทำอะไรแบบนี้ได้อย่างไม่กลัว และอ้างว่าถือวีซาทำงาน” จนเกิดข้อสงสัยว่า อาจมีชาวจีนหลายคนใช้วีซานักเรียน เพื่อลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศอย่างผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ เพจ CSI LA ก็เปิดเผยกรณีคล้ายๆ กันที่จังหวัดลำพูน โดยระบุว่า “ต่อวีซาที่ ตม. ก่อนกระจายเข้าไซต์งานทั่วประเทศหัวละ 10,000 บาท มีรถตู้รับ-ส่งครบวงจรคนพวกนี้ ไม่ได้มาเรียน แต่เข้ามาทำงานผิดกฎหมายแบบเต็มระบบ”
ด้านสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่ถูกพาดพิง ก็ออกมาชี้แจงเช่นเดียวกัน โดยพระครูใบฎีกา ทิพย์พนากรณ์ ชยาภินันโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เปิดเผยกับ Thai PBS ว่ามีนักศึกษาชาวจีนกว่า 500 คน ที่เข้าเรียนคอร์สภาษาไทยระยะสั้น 1 ปี กับมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมาก ก็มีการยกเลิกวีซานักเรียนไปแล้วราว 50 คน เพราะนักเรียนไม่เข้าเรียนตามที่กำหนด
ส่วนมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ก็ออกมาชี้แจงว่า ทางมหาวิทยาลัยพายัพ มี MOU กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งทาง ตม. จะเข้ามาตรวจสอบผู้เรียนทุกเดือน โดยถ้านักศึกษาไม่เข้าเรียนตามที่กำหนด ทางมหาวิทยาลัยพายัพจะมีมาตรการไม่ให้เรียนต่อ ทั้งนี้ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยพายัพไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และพร้อมยินดีให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
ล่าสุด (23 เมษายน 2568) ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้สัมภาษณ์กับ Thai PBS ว่า อว.ได้ส่งหนังสือถึงวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) และมหาวิทยาลัยเอกชนอีก 3 แห่งที่มีทุนจีนเป็นผู้ถือหุ้น เพื่อให้รายงานรายละเอียดนักศึกษาจีนที่มาเรียน รวมถึงข้อมูลวีซาของนักเรียน มายังกระทรวง อว.ภายใน 1 สัปดาห์
ทั้งนี้ ศุภมาส กล่าวว่า อว.จะทำงานร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อหามาตรการตรวจสอบและติดตามชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาศึกษาในประเทศไทยอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ใช้วีซานักเรียน เพื่อเป็นช่องทางเข้ามาทำงานผิดกฎหมาย รวมถึง อว.จะจัดทำฐานข้อมูลกลางของนักศึกษาต่างชาติในประเทศไทย เพื่อใช้ตรวจสอบกรณีที่คล้ายๆ กันนี้ในอนาคต
อ้างอิงจาก