‘คะ’ กับ ‘ค่ะ’ คำสร้อยที่แม้แต่เจ้าของภาษาอย่างคนไทยเองก็มักจะหยิบมาถกเถียงกันถึงความถูกต้องในการใช้อยู่เสมอๆ ถ้าคนไทยอย่างเราๆ ที่ใช้ภาษานี้มาตั้งแต่เกิดยังสับสนกันขนาดนี้ ภาษาไทยที่ถูกโหวตให้ติดอันดับภาษาที่เรียนรู้ยากระดับ 4 คงไม่ง่ายเลยสำหรับชาวต่างชาติที่จะเรียนรู้
Young MATTER พาไปดูว่าถ้าชาวต่างชาติต้องการเรียนภาษาไทย เขาเริ่มเรียนจากตรงไหน แล้วเรื่องอะไรน่าปวดหัวสำหรับชาวต่างชาติมากที่สุด
ด่านที่ 1 : ไม้ใหม่ไหม้ไหม ไม่ไม้ใหม่ไม่ไหม้ วรรณยุกต์ไทยไม่ได้มาเล่นๆ
ภาษาไทยตัวเสียงสำคัญมากเพราะต้องมีการฝึกเรื่องวรรณยุกต์ การเรียนภาษาไทยต้องเริ่มจากภาษาพูดก่อน ที่เป็นแบบนี้เพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ (Tonal Language) หรือใช้ระดับเสียงสูง-ต่ำ ในการกำหนดความหมายของคำได้ พูดง่ายๆ คือ ถ้าวรรณยุกต์ผิดไปเสียงเดียว ความหมายของคำก็จะเปลี่ยนไปทันที ลักษณะแบบนี้เป็นลักษณะของภาษาตระกูลซิโน-ไท (Sino-Tai) ซึ่งพบได้ในภาษาจีนและภาษาในแถบโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่ภาษาส่วนใหญ่ในโลกทั้งอังกฤษ ญี่ปุ่นหรือเกาหลี แม้จะมีเสียงสูงต่ำ แต่ก็มีจำนวนน้อยมาก และแทบไม่มีผลกับความหมายของคำในทุกๆ เสียงเหมือนภาษาไทย ดังนั้น หากลองอ่านประโยค “ไม้ใหม่ไหม้ไหม…” ให้ชาวต่างชาติฟัง สิ่งที่พวกเขาอาจจะได้ยิน คือเรากำลังร้องเพลง “mai mai mai mai mai” เท่านั้น! ไม่เห็นมีอะไรต่างกันเลย เธอทำอะไรของเธอ!
ด่านที่ 2 : ใครขายไก่ไข่ เหตุเกิดเพราะเสียงพยัญชนะมันคล้ายกัน
ในทางภาษาศาสตร์มีวิธีการแบ่งพยัญชนะไว้หลากหลายวิธีมากๆ ตั้งแต่ตำแหน่งการกำเนิดเสียง (คอ, ฟัน, ปาก, ลิ้น) เสียงก้องไม่ก้อง หรือเสียงลมในพยัญชนะ!
เพราะเสียง ก. และ ข. ในภาษาไทย ในทางภาษาศาสตร์ถูกจัดเป็นเสียงเดียวกัน คือเสียง /k/ เดิมทีเสียงนี้หมายถึงเสียง ก. ตัวเดียว แต่เมื่อเราใส่ลมหายใจเข้าไป เราก็จะได้เสียง [kh] อันเป็นเสียง ข. ซึ่งในภาษาไทยไม่ได้มีเพียงแค่เสียงคู่นี้ แต่ยังมี ป.-พ. ที่เท่ากับ /p/ และ ต.-ท. ที่เท่ากับ /t/ เช่นกัน แม้การแบ่งแยกพยัญชนะแบบนี้จะมีในภาษาอื่นๆ บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีผลในทางความหมาย ดังนั้นชาวต่างชาติก็ยังจะฟังทั้งหมดเป็นเสียง k, p, t เช่นเดิม ชาวต่างชาติหลายๆ คนจึงแยกไม่ออกว่า ไก่ กับ ไข่ มันต่างกันยังไง
นี่ยังไม่รวมการแบ่งพยัญชนะเป็น 3 หมู่ คืออักษรสูง กลางและต่ำ ที่เกี่ยวข้องกับการผันวรรณยุกต์โดยตรง อย่าลืมว่ามันไม่ได้มีแค่ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่งนะ เพราะอักษรพวกนี้มีหลักการผันวรรณยุกต์ที่ไม่เหมือนกัน แถมไม่ตรงกันอีกตะหาก! คนไทยยังต้องท่องตั้งแต่ ป.4 ยัน ม.3 นับประสาอะไรกับคนต่างชาติ
ด่านที่ 3 : สระก็ไม่น้อยหน้า ออกเสียงผิดชีวิตเปลี่ยน
ปวดหัวพอๆ กับเสียงพยัญชนะ เพราะเสียงสระในภาษาไทยมีมากถึง 32 เสียง! สำหรับชาวต่างชาติบางชาติอาจนับเป็นหายนะได้เลย อย่างในภาษาอังกฤษมีแค่ 20 เสียง ส่วนญี่ปุ่นนั้นมีแค่ 5 เสียงถ้วน…
แม้ว่าเสียงสระส่วนใหญ่ในภาษาไทยไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนอะไร ไม่ต้องม้วนลิ้นห่อปากอมฮอลล์เพื่อออกเสียง แต่มีบางจุดที่สร้างความลำบากใจให้ชาวต่างชาติได้ไม่น้อย เช่นเสียงสระสั้น-ยาว ที่ฟังกี่รอบก็งงว่ามันต่างกันตรงไหน! เราจะ ติ หรือจะ ตี จะ ดุ หรือ ดู อยากหลับ หรือ อยากลาบ โอ้ย งง
ด่านที่ 4 : ตัวสะกดเจ้าปัญหา พี่ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเสียงตัวสะกดชัดเจน ออกเสียงง่าย แม้ภาษาไทย
จะมีวิธีสะกดหลายแบบ แต่เราลดเสียงจนเหลือเพียงมีแค่ 8 มาตรตราถ้วน คือ กก กบ กด กง กม กน เกอย และ เกอว
สำหรับเนทีฟภาษาอังกฤษจึงอาจเป็นเรื่องง่าย เพราะมีเสียงสะกดที่เยอะกว่าเรามากๆ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นหรือคนจีนที่ภาษาไม่มีระบบตัวสะกดแล้ว จะมองว่าเป็นเรื่องยากมาก หรือแม้แต่เพื่อนบ้านอย่างภาษาพม่าก็ไม่มีการออกเสียงตัวสะกด ดังนั้นชาวเมียนมาร์จึงออกเสียงตัวสะกดไทยได้ไม่ชัด
ด่านที่ 5 : คำสร้อยที่มันงงๆ แต่จริงๆ มีความหมายนะเออ
สังเกตมั้ยว่าเวลาเราคุยกันมักมี ‘คำที่เหมือนจะไม่มีแต่ก็มีความหมาย’ อยู่ในประโยคเสมอ ไม่ว่าจะเป็น คืองี้, แบบ, แหละ, วะ, อะ, ยะ, ล่ะ ฯลฯ และแน่นอนว่าชาวต่างชาติงง เพราะคำพวกนี้ไม่มีสอนในห้องเรียนไหนๆ แต่เราดันใช้กันทุกวี่ทุกวัน การจะเข้าใจ ‘ความหมาย’ จึงต้องพึ่งพาครูผู้สอนที่ศึกษามาเป็นอย่างดี หรือหนทางที่ง่ายที่สุดคือ ‘ใช้’ มันไปเลย และรอให้คนไทยอย่างเราๆ ช่วยปรับให้เท่านั้น
João อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยนชาวบราซิลในไทย บอกว่า “ทุกครั้งที่ได้ยินคนไทยพูดคำพวกนี้ จะต้องตั้งใจฟังมากๆ และผมจะพยายามตีความหมายในบริบทที่คนพูดใช้อยู่เสมอทุกครั้งที่ได้ยิน”
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเริ่มเรียนภาษาที่สอง สาม สี่ จะมีการแทรกแซงของภาษาแม่ (Mother Tonuge Interference) เกิดขึ้นเสมอ นั่นคือการนำเสียงของภาษาใหม่ไปเปรียบเทียบกับเสียงภาษาแม่ของเรานั่นเอง (ภาษาแม่มันฝังลึก) ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถออกเสียงได้ชัดเหมือนเจ้าของภาษา ในประโยคยาวๆ จึงอาจมีเสียงเพี้ยนบ้างแต่สุดท้ายบริบท (context) จะเป็นตัวบอกความหมายของคำเอง
ด่านที่ 6 : อ่านไปเขียนไป ไม่ยากเกินไปหรอกเธอ (เหรอ?)
กว่าจะอ่านคำใดๆ ในภาษาไทยได้ ชาวต่างชาติต้องฝ่าด่านพยัญชนะตั้งแต่ ก-ฮ บวกสระทั้ง 21 รูป (ที่เดี๋ยวจะประสมกันเองอีก) และวรรณยุกต์อีก 4 รูป ไหนจะเครื่องหมายต่างๆ ที่สร้างความร้าวฉานในการอ่าน เช่น ไม้ยมก ไปยาลน้อย ไปยาลใหญ่ และที่ขาดไม่ได้คือการันต์ที่ไม่ออกเสียงแล้วจะมีไปทำไม! นี่ยังไม่รวมความครีเอทสุดล้ำที่เอาสระไปยัดไว้ได้ทั้งซ้าย ขวา บน ล่าง หรือความอินดี้เกินพิกัดที่เขียนคำทุกคำติดกันจนตาย ไม่เชื่อลองอ่าน ‘ฝนตกปรอยกรกนกคนตลกชวนควงกมลคนผอมรอภมรดมดอมดอกขจรสองคน’
เป็นคนไทยยังงง! นับประสาอะไรกับต่างชาติ
นอกจากนี้ในภาษาไทยยังยืมคำมาจากสารพัดภาษา ทั้งบาลี สันสกฤต เขมร จีน อังกฤษ ฯลฯ จึงมีคำที่สะกดไม่ตรงตามมาตรา พยัญชนะที่ไม่ค่อยใช้ก็จะมาให้เห็นปวดหัวเล่นๆ อีก แล้วไหนจะรูปประโยคภาษาไทยที่ดูงงๆ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าตรงไหนคือประโยคจบ (อย่างในภาษาอังกฤษก็มี จุด full stop)
ส่วนการเขียนก็ต้องทำความเข้าใจควบคู่ไปกับการอ่านดังนั้นอุปสรรคในการเขียนก็จะคล้ายๆ กับอุปสรรคที่จะเจอในการอ่านนั่นแหละ นักเรียนเอกภาษาไทยในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น บอกว่า “กว่าจะเข้าใจกฎการเขียนภาษาไทย ต้องใช้เวลาครึ่งปี แม้ตอนนี้เรียนมาเป็นปีก็ยังสะกดคำภาษาไทยให้ถูกเป๊ะๆ ไม่ได้เลย”
น่าสงสารเขานะคะ
ทีนี้รู้แล้วใช่มั้ยว่าภาษาไทยที่เราใช้ๆ กันทุกวันมันยากขนาดไหน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงด่านแรกๆ ที่ผู้เรียนต่างชาติต้องเจอเท่านั้น ถ้าเรียนในระดับที่สูงขึ้นไปก็จะเจอกับด่านภาษาที่ท้าทายขึ้นอีก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของการเรียนภาษาทุกภาษานั่นแหละ สิ่งสำคัญในการสื่อสารคือ รู้เขารู้เรา พยายามเปิดใจยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างเพื่อให้เข้าใจภาษานั้นๆ ได้มากขึ้น