“ถ้าภาษาไทย เป็นภาษากลางของโลก ประเทศไทยก็จะเป็นมหาอำนาจ” ท่านผู้นำกล่าวเอาไว้ในระหว่างที่เป็นประธานมอบโล่รางวัลให้กับเด็กและเยาวชนดีเด่นและนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ เมื่อไม่กี่วันก่อน อย่างน่าคิดเป็นที่สุดนะครับ
ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมท่านผู้นำจึงว่าอย่างนั้น แต่ท่านก็บอกเอาไว้ในงานแจกโล่รางวัลให้เด็กครั้งนี้ด้วยว่า “ถ้าประเทศไทยเป็นมหาอำนาจ สักวันหนึ่งภาษาไทยก็อาจจะเป็นภาษากลางของโลกก็ได้” (เออ ก็จริงแฮะ! แต่อ้าว! สรุปแล้ว เราต้องเป็นมหาอำนาจก่อน หรือต้องให้ภาษาไทยเป็นภาษากลางของโลกก่อนอ่ะ?)
ก่อนจะคิดวนๆ รัวๆ ต่อไปเรื่อยกับคำถามประเภทไก่กับไข่อะไรจะเกิดก่อนกัน? อย่างนี้ ผมอยากจะให้ข้อมูลไว้ด้วยว่า ความหมายแต่ดั้งเดิมของคำว่า ‘ภาษา’ ของไทยเราเอง ก็สัมพันธ์กับอำนาจ (ส่วนจะเป็นอำนาจที่ใหญ่พอที่จะเป็น ‘มหาอำนาจ’ ได้หรือเปล่า? นั่นอีกเรื่องนึงโนะ) อยู่แล้ว ตัวอย่างง่ายๆ อาจจะเริ่มทำความเข้าใจกันจาก นิราศภูเขาทอง ของสุนทรภู่ ดังความตอนหนึ่งว่า
‘ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา’
คำว่า ‘ภาษา’ ของพี่ภู่เค้าหมายถึง ‘มอญ’ ในวรรคข้างหน้านั่นแหละนะครับ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ก็อธิบายศัพท์คำนี้นอกเหนือที่หมายถึง การสื่อสารด้วยการพูด หรือเขียน โดยอ้างอิงจากพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ว่า ‘คนหรือชาติที่พูดภาษานั้นๆ เช่น มอญ ลาว ทะวาย นุ่งห่มและแต่งตัวตามภาษา’
ถ้าเชื่อตามที่ราชบัณฑิตว่าไว้ คำว่า ภาษา ในภาษาไทยแต่ดั้งเดิม จึงไม่ได้หมายถึงเรื่องของการสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึง วัฒนธรรม ของสื่อที่ใช้สำหรับส่งสารอันนั้นด้วย ผู้หญิงที่เกล้ามวยงามของพี่ภู่ จึงไม่ได้เกล้ามวยผมตามภาษาที่หมายถึงเครื่องมือสำหรับใช้สื่อสาร แต่เกล้ามวยผมจนง๊ามมงามตามวัฒนธรรมที่เม้ามอยกันด้วยภาษานั้นต่างหาก (นี่ผมว่าตามราชบัณฑิตท่านบัญญัติไว้ในพจนานุกรมนะครับ ถ้าไม่เชื่อก็ไม่เถียงกับราชบัณฑิตเอา ไม่ต้องมาเถียงกับผม :P)
ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือที่ชอบเรียกกันตามชื่อนางเอกในท้องเรื่องว่า หนังสือนางนพมาศ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงฟันธงเอาไว้ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 (แต่หน่วยงานราชการชอบกรอกหูเราว่า เป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยนู่นต่างหาก) ก็แบ่งแยกคนกลุ่มต่างเป็น ‘ชาติภาษา’ (ไม่ใช่ทั้ง เชื้อชาติ อย่างในบัตรประชาชน หรือชาติพันธุ์ อย่างศัพท์วิชาการ ยุคปัจจุบันเลยสักนิด) เช่น กล่าวถึงชาติภาษามอญ ชาติภาษาอเมริกา (อเมริกาเป็นประเทศเก่าแก่มาตั้งแต่ยุคสุโขทัยเมื่อ 700 กว่าปีก่อนแล้วนะ ไม่งั้นจะมีชื่อในหนังสือนางนพมาศได้ไงล่ะ ปั๊ดโธ่!)
ในภาษามลายู มีคำว่า ‘bahasa’ ซึ่งก็แปลว่า ‘ภาษา’ ของไทยเรานั่นแหละ เพราะมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตเหมือนกัน แต่ที่น่าสนใจซะจนต้องเอามาพูดถึง ณ ขณะจิตนี้ก็คือ เมื่อเติมคำว่า ‘ber-‘ เข้าไปข้างหน้า (berbahasa) จะมีความหมายว่า มีภาษาสุภาพ มีวัฒนธรรม หรือเมื่อเติม ‘per-‘ (perbahasa) หรือ ‘per-, -an’ (perbahasaan)เข้าไปก็จะแปลว่า ภาษิต มารยาทที่ดี หรือความสุภาพ
ในกรณีนี้ ภาษา จึงเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชั้นสูง (ซึ่งก็เกี่ยวโยงอยู่กับอำนาจนั่นแหละ) ทั้งที่โดยรากศัพท์จากภาษาสันสกฤตคือ ‘ภาษ’ แล้วไม่ได้เกี่ยวอะไรกับธรรมเนียม มารยาท หรือวัฒนธรรมใดๆ กับใครเขาเล้ยย เพราะที่มาแต่เดิมนั้นก็แปลว่า การพูด หรือการกล่าว เท่านั้นน่ะแหละ
แถมคำว่า ‘ภาษา’ ที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลมลายู เขมร และไทย (ตั้งแต่อยุธยาเป็นต้นมา?) ทั้งหมดนี้ล้วนสะกดด้วย ‘ษ’ ตามอย่างภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในศาสนาพราหมณ์ และพุทธแบบมหายาน ไม่ใช่ ‘ส’ ตามอย่าง ‘ภาส’ ในภาษาบาลี ที่มีความหมายเดียวกัน แต่สัมพันธ์อยู่กับกลุ่มพุทธศาสนาเถรวาทเสียหน่อย
ส่วนกลุ่มภาษาที่นับถือพุทธเถรวาท (ที่เราเชื่อกันว่าไทยไท้ยยเสียจนใครหลายคนอยากจะยกให้เป็น ศาสนาประจำชาติใจแทบจะขาด) กลับยังเหลือคำพื้นเมืองที่หมายถึง ภาษา สำหรับการสื่อสาร ตามอย่างดั้งเดิมของตนเอง เช่น คำว่า ‘อะเร่’ ในภาษามอญ และคำว่า ‘ปาก’ ในภาษาตระกูลไท(ย)-ลาว มันซะอย่างนั้น
ภาษา จึงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และเครือข่ายทั้งทางด้านการค้า และญาติวงศ์ของเจ้าของภาษาเอง มาตั้งแต่ในตัวของคำว่า ภาษา เองตั้งแต่ต้นแล้วนะครับ
มีประโยคเก่าๆ ที่อธิบายความรุ่มรวย รุ่งเรือง และเรืองรองของกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ว่า อยุธยาเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่มีผู้คนมาจากที่ต่างๆ มากมายถึง 12 ภาษา
แน่นอนว่าในอยุธยาไม่ได้มีกลุ่มคนอยู่แค่ 12 ชาติภาษา หรือมีภาษาใช้กันอยู่เท่านั้นหรอก คำว่า 12 ในที่นี้หมายถึงมีจำนวนมาก เหมือนคำว่า มีเป็นโหลๆ ซึ่งก็ไม่ได้มีใครสนใจว่ามันจะมีกี่โหล? หรือมีครบโหลหรือเปล่า? เอาเป็นว่า มันมีซะให้เพียบภาษาก็แล้วกัน
ความเป็นมหาอำนาจ (อย่างน้อยก็ในความหมาย และความเข้าใจอย่างเก่าของไทย) จึงหมายถึงการมีสารพัดภาษาซะให้เพียบในสังคม ส่วนจะเป็นภาษาไทย จะกลายเป็นภาษากลางของโลกหรือเปล่านั้น ก็แล้วแต่ท่านผู้มีเกียรติที่ให้ภาษาอื่นๆ เขาจะยกย่องให้กับเราเอง (ในวงเล็บว่าถ้าภาษาของเราสำคัญพอ ซึ่งก็แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งด้วยว่า ความสำคัญดังกล่าวนั้น ไม่ได้จำเพาะอยู่กับการเป็นมหาอำนาจทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และอีกสารพัดบลาๆๆๆ เพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องสำคัญมันให้หมดทุกด้าน หรืออย่างน้อยก็สำคัญให้มากด้านที่สุด)
และการจะไปสู่ความรุ่งโรจน์ที่เรียกด้วยภาษาเก่าว่า สิบสองภาษา ได้นั้น แน่นอนว่าทำไม่ได้ด้วยอะไรที่คล้ายๆ กับการปิดประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปิดในด้านใดก็ตาม