คุณเขียนว่า แซว หรือเขียนว่า แซ็ว
คุณเขียนว่า หมูหยอง หรือเขียนว่า หมูหย็อง
คุณเขียนว่า แซบ หรือเขียนว่า แซ่บ
คุณเขียนว่า เปน หรือเขียนว่า เป็น
คุณเขียนว่า นะคะ หรือเขียนว่า นะค่ะ
คุณเขียนว่า อัพเดต หรือเขียนว่า อัปเดต
คุณเขียนว่า มุขตลก หรือเขียนว่า มุกตลก
คุณเขียนว่า ฉิบหาย หรือเขียนว่า ชิบหาย
คุณใช้ไม้ยมกแบบ ไม่เว้นๆ หรือแบบ เว้น ๆ ทั้งหน้าหลัง
ยิ่งถามตัวเอง ผมยิ่งพบว่าตัวเองสับสนกับชุดคำตอบเหลือเกิน (ผมเลือก แซว หมูหยอง แซบ เป็น นะคะ อัพเดต มุขตลก แต่ยอมเปลี่ยนเป็น มุกตลก แล้ว / ชิบหาย แต่ถ้าต้องการให้มีความขลังๆ ก็จะสะกด ฉิบหาย / และเว้นไม้ยกเฉพาะข้างหลัง) และถึงแม้ว่าพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน จะกำหนดไว้ว่าแซว ให้สะกดว่า แซ็ว ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 (ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยมีคำนี้ในพจนานกุรมมาก่อน) ผมก็ยังพบว่าคนจำนวนมากรู้สึกขัดแย้งอยู่ดีทุกครั้งที่ต้องสะกดว่าแซ็ว
ลองดูโพสท์จากเพจ คำไทยในเรื่องแซว ในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็พบว่ามีการถกเถียงเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ฝ่ายที่เห็นด้วยที่จะสะกดว่า แซ็ว ก็ให้เหตุผลในเชิงหลักภาษาว่า แซ็ว ออกเสียงเป็นเสียงสั้น ดังนั้นการที่บัญญัติให้มีไม้ไต่คู้อยู่ข้างบนนั้นก็เป็นเรื่อง ‘ถูกต้อง’ แล้ว ที่ผ่านมา ‘ใช้ผิดๆ กันจนเคยตัว’ ในขณะที่ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการให้สะกดว่า แซว ก็บอกว่า คนส่วนใหญ่สะกดว่าแซว แล้วราชบัณฑิตสภาเพิ่งบรรจุคำนี้ลงไปตอนปีพ.ศ. 2554 จะบัญญัติให้ต่างจากเสียงส่วนมากทำไม และยกตัวอย่างคำไทยจำนวนมากที่ออกเสียงไม่ตรงกับตัวสะกด เช่น น้ำ (ซึ่งปัจจุบันคนจำนวนมากอาจออกเสียงยาวเป็น น้าม) และหมอย ซึ่งก็ไม่ถูกแก้ให้เป็น หม็อย ก็จะเห็นว่าจริงๆ แล้ว ราชบัณฑิตฯ เองก็อาจไม่ได้มีความสม่ำเสมอในการบังคับใช้กฎ (ที่ตั้งขึ้นเอง) อย่างถ้วนทั่ว (อีกตัวอย่างคือ แซงแซว ชื่อต้นไม้ บอกว่าเหมือนเดิม เพราะเป็นชื่อเฉพาะ)
เมื่อมีผู้ออกความเห็น “ขอแค่คุยกันรู้เรื่องก็พอแล้ว” แอดมินของเพจคำไทยก็ตอบว่า “คิดแบบนั้นไม่ได้นะ สวัดฎีจร้า ทัมรัยหรา แบบนี้ก็คุยรู้เรื่องนะ แต่มันจะแปลกๆ ไหม” และออกความเห็นในหลายคอมเมนต์ว่า “ในอนาคต น้ำ อาจจะกลายเป็นน้ามก็ได้ ก็ไม่แปลก”
ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2555 ก็เคยมีความพยายามจะชำระภาษา โดยเฉพาะคำทับศัพท์ ให้สะกดตามการอ่านออกเสียงมาแล้ว เช่น คำว่า คอมพิวเตอร์ เสนอให้สะกดว่า ค็อมพิ้วเต้อร์ หรือ พลาสติก ให้สะกดว่า พล้าสติก โดยศ.ดร. กาญจนา นาคสกุล ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ“เปิดใจราชบัณฑิตฯ “อยากเขียนแบบผิดๆ ก็เรื่องของพวกคุณ”” ว่า “กรรมการราชบัณฑิตฯ มีมติเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2550 แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมเพิ่งจะ (ในปี 2555) เป็นประเด็นในสังคม” “มันเป็นหน้าที่ของราชบัณฑิตฯ อยู่แล้วที่จะต้องคอยดูแลภาษาให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ไม่เปลี่ยนไปในทางเสื่อม” แต่สุดท้ายความพยายาม ‘ชำระ’ ภาษาไทยในครั้งนั้นก็ต้องพับไปเพราะสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ยอมรับ ซึ่ง ศ.ดร. กาญจนา ก็สรุปเรื่องนี้ว่า
“ ส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับกระแสสังคมอยู่แล้ว รู้สึกเฉยๆ ค่ะ ภาษาเนี่ยนะคะ มันเป็นเรื่องของสังคม สังคมคือคนส่วนใหญ่ คนทุกคนไม่ได้พูดเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีถูกบ้าง-ผิดบ้าง ทุกคนก็มีความเห็นของตัว แต่เราแค่ออกมาบอกสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าเราบอกแล้ว คุณยังไม่อยากรับเอาสิ่งที่ถูกต้อง มันก็เป็นเรื่องของคุณ ทุกวันนี้ก็มีคนเขียนหนังสือผิดอีกมากมาย ตามหน้าหนังสือพิมพ์เองก็มีออกเยอะแยะไป ถ้าคุณอยากทำตามสิ่งที่ถูก ก็ทำตาม แต่ถ้าไม่อยากทำตาม ก็ทำสิ่งที่ผิดไป ก็เท่านั้นเอง มันเป็นเรื่องของคุณค่ะ“ คำตอบนี้ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกระลอก
จากคำสัมภาษณ์นี้ ผมคิดว่าประโยค “ภาษาเป็นเรื่องของสังคม” กับ “เราแค่ออกมาบอกสิ่งที่ถูกต้อง” นั้นมีความขัดแย้งกันอยู่ในตัวลึกๆ
ปัญหาเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาษาไทยเท่านั้น ในปี 2016 ครั้งที่ Académie française แห่งฝรั่งเศสได้เปลี่ยนแปลงคำศัพท์จำนวนหลายพันคำในภาษาฝรั่งเศสให้ง่ายดายขึ้น (เช่น นำตัวกำกับ ^ ออกจากคำไป coût ที่แปลว่าราคา จะกลายเป็นคำว่า cout หรือคำว่า oignon ที่แปลว่าหัวหอม จะกลายเป็น ognon) ก็มีเสียงคัดค้านอย่างมากมายเช่นกันด้วยเหตุผลว่า “จะเป็นการทำให้ภาษาโง่ลง” (dumbing down the language)
คำถามคือ ในยุคที่เราต่างสื่อสารด้วยภาษาเขียนกันได้อย่างอิสระเช่นนี้ ความจำเป็นในการกำกับภาษาด้วยหน่วยงานกลางยังมีอยู่หรือไม่ (ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการ ‘ไม่ให้ภาษาเปลี่ยน’ โดยเฉพาะเปลี่ยนในเชิงที่คิดว่า ‘วิบัติ’ หรือความพยายามในการ ‘เปลี่ยนภาษาให้ถูกต้องตามนิยามของตนเอง’ แบบ top-down)
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนถึงเรื่อง’ การพยายามดูแลภาษา’ ในเชิงอำนาจไว้ว่า
“ทำไม “ผู้ใหญ่” ไทยหลายชั่วคนมาแล้วจึงไม่ชอบให้ภาษาเปลี่ยน? ผมคิดว่าคำตอบอยู่ที่ว่า “ผู้ใหญ่” เองหาได้ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงทางภาษาแต่อย่างใดไม่ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นคนลงมือเปลี่ยนภาษาด้วยตนเองด้วยซ้ำ เช่นภาษาเขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 แตกต่างอย่างมากจากภาษาเขียนก่อนหน้านั้นขึ้นไป พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ของ ร.5 มีการใช้ศัพท์แสงที่เป็น “สำนวน” หรือ “โวหาร” มาก เมื่อนำมาพิมพ์เผยแพร่ก็เท่ากับขยาย “สำนวน” หรือ “โวหาร” ใหม่ๆ เหล่านั้นออกไปนั่นเอง
ถึงแม้ยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางภาษาแต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ในความควบคุมของ “ผู้ใหญ่” และความควบคุมนั้นก็ทำได้ในความเป็นจริงพอสมควรด้วย เช่นในสมัย ร.4 – 5 สื่อสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นโดย “ผู้ใหญ่” เอง (อย่าลืมว่า เมื่อเราเริ่มเปลี่ยนเข้าสู่สังคมสมัยใหม่กว่าครึ่งศตวรรษแรกสื่อสิ่งพิมพ์เป็น “สื่อมวลชน” อย่างเดียวในเมืองไทย)
ผมไม่ทราบว่า “ผู้ใหญ่” ในสมัยนั้นท่านมีสำนึกหรือไม่ว่า ภาษาเป็นฐานสำคัญอย่างหนึ่งของโครงสร้างอำนาจ (เพราะภาษามีส่วนกำหนดวิธีคิดคนด้วย ฉะนั้น คุมภาษาได้ก็คุมความเปลี่ยนแปลงได้) แต่ท่านพยายามเข้าไปควบคุมภาษามาแต่ระยะเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม”
ในโลกก่อนหน้าดิจิทัล เราอาจไม่เห็นการปะทะของการใช้ภาษาที่แตกต่างกันมากนัก (เช่น นะค่ะ หากสะกดแบบนี้แต่พ้นหูพ้นตาก็อาจไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร หรือแซบ ที่ชาวอีสานออกเสียงแบบนี้ ไม่ได้ออกเสียงว่า แซ่บ ก็จะไม่ถูกบัญญัติโดยมีไม้เอกให้เป็นหลักเป็นฐาน) แต่ในโลกดิจิทัลที่พรมแดนทางภูมิศาสตร์ รวมไปถึงพรมแดนทางชนชั้น อาชีพ ฯลฯ ถูกขจัดออกไปหรือร่นระยะให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เราก็มักจะเห็นว่ามีความพยายามกำกับภาษา หรือตัดสินภาษาของคนอื่นๆ มากขึ้น และกระทั่งอาจมีการเหมารวมไปว่า การใช้ภาษาผิดๆ เท่ากับไม่มีการศึกษา (ยกตัวอย่างคำว่า นะคะ นะค่ะ ที่มักถูกยกขึ้นมาเป็นเป้าโจมตีเสมอๆ กระทั่งในเพจ คำไทย เอง ก็มีการอัพว่า “รำคาญคนสะกดว่านะค่ะ” เพื่อให้คนมาร่วมแสดงความเห็น)
ในบางครั้ง เพียงแค่การสะกดผิด (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่) ก็อาจทำให้ผู้วิจารณ์บางคนมีอคติไปก่อนแล้วว่าผู้พิมพ์จะไม่มีตรรกะที่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งๆ ที่สองเรื่องนี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกันนัก
โลกดิจิทัลยังทำให้คำบางคำเปลี่ยนแปลงตัวสะกดไปด้วย ซึ่งบางครั้งการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นจากความสะดวก ก็กลายมาเป็นคำที่มีความหมายในบริบทใหม่ๆ เช่น เมพขิง (เทพจิง -> เทพจริงๆ) ก็ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับ เทพจริงๆ อีกต่อไป แต่มันมาพร้อมกับโทนเสียงที่ผ่อนคลายกว่าด้วย หรือคำว่า ก้ (ก็) ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ ก็อาจมาพร้อมกับความหมายอีกแบบที่มากไปกว่าคำว่า ก็ แบบ ‘มาตรฐาน’ (เช่น อาจดูน่ารักกว่า สำหรับผู้ส่งสารและผู้รับสารที่เข้าใจกัน)
ในภาษาอังกฤษเองก็มีการถกเถียงเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เช่นคู่ของคำ your กับ you’re ซึ่งมีผู้วิจารณ์ว่าใครใช้สลับกันก็ดูโง่งมเต็มที แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคนที่บอกว่า มันเป็นเพียงแค่ความสะดวกของคนพิมพ์เท่านั้น เช่น Anna Trubek เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในนิตยสาร Wired ฉบับปี 2012 ว่า “[เรื่องการสะกด] มันไม่สำคัญเลย ตราบเท่าที่ผู้รับสารเข้าใจผู้ส่งสาร” เธอยังให้ความเห็นด้วยว่า “ตัวสะกดแบบมาตรฐานนั้นทำให้ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่เขียน เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปได้ง่ายดาย และชัดเจนขึ้น เพียงเท่านั้นเอง ไม่มีเหตุผลอื่นๆ เลย นอกเสียจากความกระแดะ [snobbery] ที่จะต้องมีกฎเกณฑ์เรื่องตัวสะกด ทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตต่างก็ทำให้การสื่อสารผ่อนคลายมากขึ้นอยู่แล้ว การส่งข้อความหากันนั้นใกล้เคียงกับการพูด มากกว่าการเขียน และเส้นแบ่งนี้ก็จะยิ่งจางลงในอนาคต” เธอสรุปในประโยคท้ายๆ ของบทความว่า “มาสร้างกฎกันเองเถอะ ก็ไม่ใช่ว่าภาษาอังกฤษจะมีกฎดีๆ อยู่มากมายเสียหน่อย”
ข้อสรุปของ Anna Trubek ก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เมื่อมีผู้เห็นว่า “มาตรฐาน” นั้นยังจำเป็นอยู่สำหรับการสื่อสาร โดยคุณ Lee Simmons ก็ได้เขียนบทความโต้ตอบในนิตยสารหัวเดียวกันว่า
“Standards are what make communication possible—as any network engineer will tell you. Our spelling system, for all its oddities, is a universal, inclusive code.”
(มาตรฐานคือสิ่งที่ทำให้การสื่อสารเป็นไปได้ และก็เหมือนกับที่วิศวกรเครือข่ายจะบอกคุณนั่นแหละว่า ระบบการสะกดของเรา ถึงแม้จะพังๆ ไปบ้าง แต่ก็เป็นระบบที่ครอบคลุม)
ปัจจุบันน่าจะไม่ต้องเถียงกันแล้วว่า ภาษานั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แต่สิ่งที่อาจต้องคุยกันเพิ่มเติมก็คือ การเปลี่ยนแปลงนั้นยังต้องได้รับการรองรับจากหน่วยงานกลางหรือไม่ หรือพวกเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงภาษา (หรือยืนหยัดที่จะคงภาษาไว้อย่างเดิม) ได้เอง โดยไม่ต้องรอใครมาอนุมัติ?
ภาษานั้นเป็นสิ่งที่พวกเราใช้กันทุกวันอยู่แล้ว การ ‘กำหนด’ มาตรฐานกลาง จะเป็นการลดทอนความหลากหลายของภาษา โดยเฉพาะเมื่อมีการนำ ‘มาตรฐานกลาง’ ไปตัดสินสิ่งที่ไม่ตรงตามข้อกำหนดไหม?
หมายเหตุ 1: หากเราบอกว่าภาษานั้นคือเรื่องของ ‘คนส่วนใหญ่’ และเราตั้งสมมติฐานว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศเข้าถึงอินเทอร์เนต เป็นไปได้ไหมว่าจริงๆ แล้ว บริการทำ index อย่างเช่น Google นั้นจะบอกเราได้ว่า ‘คนส่วนใหญ่สะกดคำคำหนึ่งแบบไหน’ เช่น หมูหยอง หากคนส่วนใหญ่สะกดเช่นนี้ ก็ถือว่าถูก แบบนี้เป็นไปได้หรือไม่?
หมายเหตุ 2: ผมพยายามติดต่อราชบัณฑิตยสภา ทั้งทางอีเมลและโทรศัพท์เพื่อเขียนคอลัมน์ชิ้นนี้ แต่ผ่านไปสี่สัปดาห์แล้วก็ยังไม่มีการตอบรับ โทรฯ ไปถามก็บอกว่า ต้องทำจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษร พอบอกว่าส่งอีเมลไปแล้ว ก็บอกว่า ได้รับแล้ว ให้รอตอบกลับ แต่ผ่านมาสี่สัปดาห์แล้วก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ บทความนี้จึงยังขาดมุมมองที่อัปเดต (ซึ่งผมจะสะกดว่า อัพเดท) ของราชบัณฑิตยสภาไปอย่างน่าเสียดาย
อ้างอิง
ภาษาฝรั่งเศส เปลี่ยนการสะกดคำ
เปิดใจราชบัณฑิตฯ “อยากเขียนแบบผิดๆ ก็เรื่องของพวกคุณ”
http://www.manager.co.th/daily/viewnews.aspx?NewsID=9550000121006
ภาษาวิบัติ – อย่าให้ภาษาขวางกั้นผู้คนอีกต่อไป
http://v1.midnightuniv.org/midnight2544/0009999960.html
Proper Spelling? Its Tyme to Let Luce!
https://www.wired.com/2012/01/st_essay_autocorrect/