รวย! รวย! รวย! รวย!
ทุกช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน หลายๆ คนคงจะนั่งไม่ติด ลุ้นว่าจะรวยฟ้าผ่าได้เป็นเศรษฐีในเสี้ยววินาทีหรือไม่ ผ่านการประกาศรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันติดปากว่า ล็อตเตอรี่
หลายคนคงคุ้นเคยกับวลีว่า ‘คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น’ แต่จากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นให้ข้อมูลตรงกันว่า ไม่ได้มีแต่คนมีรายได้น้อยเท่านั้นที่นิยมเสี่ยงโชคผ่าน ‘หวย’ ทั้งแบบถูกกฎหมายอย่างล็อตเตอรี่ และผิดกฎหมาย เช่น หวยใต้ดิน
สังศิต พิริยะรังสรรค์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการพนันหลายครั้ง และงานหลายๆ ชิ้นมักได้รับการอ้างอิงต่อในวงกว้าง เคยชี้ว่า ผู้ที่เล่นหวยไม่ได้มีแต่คนที่มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่ยังกระจายอยู่ในคนที่มีรายได้ทุกระดับ โดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีรายได้เกิน 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปด้วย (งานวิจัยเมื่อปี 2550) นอกจากนี้ ยังชี้ว่า หวยผูกพันกับวิถีชีวิตและเกี่ยวข้องกับการเข้าสังคมของผู้คน
มีการสำรวจตั้งแต่ปี 2558 ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ว่าคนไทยที่เล่นหวยทั้งบนดินและใต้ดิน มีจำนวนรวมกัน 25.2 ล้านคน (จากจำนวนคนไทยราว 67 ล้านคน) ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ธนาคารทหารไทย เพิ่งเปิดเผยต้นปี 2562 นี้เองว่า คนไทยซื้อล็อตเตอรี่และหวยรวมกันกว่า 2.5 แสนล้านบาท เท่ากับเงินลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ด้วยจำนวนผู้เกี่ยวข้องเกิน 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ และปริมาณเงินไหลเวียนที่มีมูลค่ามหาศาลถึง 8.3% ของงบประมาณรัฐบาลปีล่าสุด (3 ล้านล้านบาท)
ไม่แปลกอะไรที่รัฐบาลหลายๆ ชุดจะออกนโยบายเกี่ยวกับหวย เพื่อเอาใจผู้ซื้อ (ที่มีจำนวนมาก) เช่น ควบคุมดูแลไม่ให้ขายเกินราคา หรือคิดหาหวยรูปแบบใหม่ๆ
ในอีกด้านหนึ่ง รายได้จากการขายหวยยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของภาครัฐ ปีละหลายหมื่นล้านบาท!
พัฒนาการ ‘หวย’ ไทย ความฝันนักเสี่ยงโชค
คำว่า ‘หวย’ มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่าดอกไม้ นั่นเพราะหวยแรกๆ ที่คนจีนนำเข้ามาในเมืองไทย เป็นการทายรูปดอกไม้ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชื่อคนภาษาจีน ก่อนจะนำพยัญชนะไทย ก.-ฮ. ไปกำกับเพื่อให้คนไทยเล่นได้ง่ายขึ้น กลายเป็น ‘หวย ก.ข.’
ชาวจีนได้รับอนุญาตให้เข้ามาตั้งโรงหวยในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ปี 2378 เพื่อเป็นแหล่งรายได้หนึ่งของภาครัฐ ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง
ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการออกล็อตเตอรี่ขึ้น แต่ยังออกในวาระพิเศษเท่านั้น กระทั่งปี 2482 มีการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมกับออก ‘ล็อตเตอรี่’ เป็นประจำ ขึ้นมาแทน หวย ก.ข. ที่กลายเป็นการพนันที่ห้ามเด็ดขาดเว้นแต่รัฐจะจัดให้มี ตาม พ.ร.บ.การพนัน 2478
หลังจากนั้นเป็นเวลากว่า 60 ปี ที่คนไทยรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘หวย’ แค่สลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นหลัก แต่ด้วยโอกาสถูกรางวัลที่มีไม่มากนัก รางวัลที่ 1 (มูลค่า 6 ล้านบาท) มีโอกาสแค่หนึ่งในล้าน ส่วนเลขท้าย 2 ตัว แม้มีโอกาสถูก 1% แต่ก็ได้รางวัลไม่มากนัก (มูลค่า 2,000 บาท) ทำให้ ‘หวยใต้ดิน’ เฟื่องฟู โดยอิงเลขรางวัลจากล็อตเตอรี่ที่ออกทุกๆ วันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนนั่นแหละ โดยงานวิจัยของสังศิตและคณะ ที่จัดทำขึ้นในปี 2546 ชี้ว่า คนไทยที่มีอายุสิบห้าปีขึ้นไปเกินครึ่ง เคยเล่นหวยใต้ดิน และว่ากันว่ามีมูลค่าเป็นหลักหมื่นล้านบาท ไปจนถึงแสนล้านบาท
ปัญหาหวยใต้ดิน จึงเป็นทั้งเรื่องการกระทำผิดกฎหมาย และเรื่องทางเศรษฐกิจที่เงินจำนวนมากต้องหมุนเวียนอยู่นอกระบบ
หวยบนดิน ยุค ‘ทักษิณ’
กระทั่งรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ออกโครงการสลากพิเศษแบบ 3 ตัว 2 ตัว หรือ ‘หวยบนดิน’ ขึ้นมา โดยวิธีแทงคล้ายหวยใต้ดิน เพียงแต่รัฐเป็นเจ้ามือ ก็ทำให้สามารถดึงเงินจำนวนมหาศาลมาอยู่บนดินได้ ตลอดระยะเวลาที่ขาย ระหว่าง 1 ส.ค.2546 – 16 พ.ย.2549 รวม 80 งวด มียอดขายทั้งสิ้น 1.34 แสนล้านบาท เป็นกำไรหลักหักค่าใช้จ่ายราว 2.9 หมื่นล้านบาท
ว่ากันว่า การออกหวยบนดินดังกล่าว กระทบต่อผู้ขายหวยใต้ดินเป็นอย่างมาก เพราะจำนวนผู้เล่นหวยบนดินใกล้เคียงกับหวยใต้ดิน คือราว 23 ล้านคน ที่สำคัญคือหวยบนดินเล่นเท่าไรก็ได้ ไม่มีการกำหนดเพดาน และไม่มีการอั้นตัวเลข
แต่หวยดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป เมื่อ คมช.ยึดอำนาจจากทักษิณ พร้อมตั้ง คตส.มาเอาผิดฐานออกหวยบนดินและใช้เงินที่ได้อย่างไม่ถูกกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 และ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 จนผู้เกี่ยวข้องถูกตัดสินให้จำคุก
โดยคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อปี 2552 ให้จำคุก วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง สมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกินแบ่งรัฐบาล คนละ 2 ปี และปรับเงินอีกจำนวนหนึ่ง
และต่อมาในปี 2562 ศาลฎีกาฯ จึงได้ตัดสินจำคุกทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี (หลังจาก สนช.แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ดำเนินคดีลับหลังกับจำเลยที่หนีคดีได้) เป็นเวลา 2 ปีเช่นกัน
ด้วยความผิดโดยสรุป 3 ประการ
- การออกหวยบนดินดังกล่าว ขัดกับ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 เพราะออกมาโดยไม่ตรงตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองสลาก และไม่ใช่สลากการกุศล การออกหวยบนดินก่อนแก้กฎหมายจึงทำไม่ได้
- หวยบนดินเป็นสลากกินรวบ ไม่ใช่สลากกินแบ่งเหมือนล็อตเตอรี่ ที่มีการแบ่งสัดส่วนรายได้ เป็นรางวัล-เงินนำส่งเข้ารัฐ-ค่าบริหารจัดการ กี่ % อาจทำให้รัฐเสียหาย มีโอกาสขาดทุน คล้ายจัดให้มีการพนัน โดยภาครัฐเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ ส่งเสริมให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข
- ไม่มีการกำหนดวิธีการจ่ายเงินที่ชัดเจน การจ่ายเงินแม้จะมีการหักรายได้บางส่วนเป็นค่าบริหารจัดการ และคืนรายได้สู่สังคมในโครงการต่างๆ แต่ก็ไม่ได้รับรองจาก สตง.ในทุกกรณี มีเงินนับแสนล้านบาทไม่ถูกนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491
หลังจากนั้น โครงการ ‘หวยบนดิน’ จึงคล้ายต้องคำสาป ถูกล่ามโซ่ ขังไว้แน่นหนา ไม่มีใครกล้าไปแตะต้องอีก
กระทั่งกองทัพออกมายึดอำนาจอีกครั้ง ในปี 2557
หวยบนดิน ยุค ‘คสช.’
หลังจาก คสช. ยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ก็ตั้งคนของตัวเองเข้าไปนั่งบริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมกับความพยายามแก้ไขปัญหาล็อตเตอรี่ราคาแพง และคิดหาทางที่จะออกหวยรูปแบบใหม่ๆ เพื่อดึงเงินเข้าสู่ภาครัฐอีกครั้ง
การคืนชีพ ‘หวยบนดิน’ ถูกพูดหลังยึดอำนาจใหม่ๆ ในปี 2557 ตั้งแต่ก่อนที่ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีซะด้วยซ้ำ!
แต่ทั้งๆ ที่โยนหินถามทางเรื่อง ‘หวยใหม่’ สารพัดรูปแบบ ผู้เกี่ยวข้องก็ยังเดินหน้าทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะต้องรอการแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 เสียก่อน ซึ่งกว่าจะทำสำเร็จก็ต้องรอจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อนเลือกตั้งเพียงเดือนเศษ และเมื่อกฎหมายนี้ออกมา การเดินหน้าออกหวยรูปแบบใหม่ๆ ก็มีขึ้นทันที
สาระสำคัญที่มีการปรับปรุงแก้ไข ก็คือการเพิ่ม (7/1) และ 7/2) เข้าไปในมาตรา 13 ให้กองสลากออกผลิตภัณฑ์เสี่ยงโชครูปแบบใหม่ๆ ได้ นอกเหนือจากล็อตเตอรี่ได้ ด้วยเสนอทำประชาพิจารณ์ ศึกษาผลกระทบทางสังคม และเสนอต่อ ครม.ให้ความเห็นชอบ
นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขมาตรา 26 ให้นำเงินรางวัลแต่ละงวด สามารถทบงวดต่อไปได้ แต่ไม่เกิน 1 งวด ไว้เผื่อกรณีมีการแจกรางวัล jack pot อีกด้วย
ด้วย 2 มาตรา ที่มีการแก้ไขนี้ ทำให้หวยชนิดใหม่ๆ ถูกหยิบมาพูดถึง ทั้งล็อตโต้ น้ำเต้าปูปลา ฯลฯ และแน่นอน หวยบนดิน ที่หลายคนมองว่าเป็นตัวเต็งที่จะออกมาขายให้ประชาชนเคียงคู่ล็อตเตอรี่
แหล่ง ‘รายได้’ สำคัญของรัฐ
คำถามก็คือ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะถูกวิจารณ์ว่าลอกนโยบายของทักษิณมา แล้วเหตุใด คสช.ยังเดินหน้าต่อ ?
ถ้าไปดูเงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่งให้กับรัฐ ในฐานะหนึ่งในรัฐวิสาหกิจ ก็น่าจะพอเข้าใจได้ เฉพาะแต่ปี 5 หลัง คสช.ยึดอำนาจ ก็นำส่งเป็นรายได้ให้กับรัฐบาล (ในภาวะที่แหล่งรายได้หลักจากเงินภาษีเริ่มลดลง) ได้สูงถึง 1.3 แสนล้านบาท! แบ่งเป็น
- ปี 2557 นำส่งรัฐบาล 15,311 ล้านบาท
- ปี 2558 นำส่งรัฐบาล 15,432 ล้านบาท
- ปี 2559 นำส่งรัฐบาล 25,919 ล้านบาท
- ปี 2560 นำส่งรัฐบาล 30,947 ล้านบาท
- ปี 2561 นำส่งรัฐบาล 40,850 ล้านบาท
[ หมายเหตุ: ปีในที่นี้ หมายถึงปีงบประมาณ ระหว่างเดือน ต.ค.ของปีก่อน – เดือน ก.ย.ของปีปัจจุบัน)
ส่วนปี 2562 เฉพาะครึ่งปีแรก ก็นำส่งรัฐบาลแล้ว 22,842 ล้านบาท เป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้ารัฐอันดับหนึ่ง ชนะแม้แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ไล่เรียงมาข้างต้น น่าจะพอให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันว่า เหตุใดผู้มีอำนาจถึงต้องหาผลิตภัณฑ์เสี่ยงโชคใหม่ๆ มานำเสนอต่อประชาชน เพราะมันเกี่ยวพันกับผู้คนและเม็ดเงินมหาศาล โดยเฉพาะที่เป็นเม็ดเงินที่จะเป็นรายได้ของภาครัฐ (ยิ่งขายหวยได้มาก รัฐยิ่งได้ส่วนแบ่ง 23% ของยอดขายนั้น มาเป็นเงินแผ่นดิน)
และสมมุติว่าหวยบนดินคืนชีพขึ้นมาจริง ก็คงจะหาว่าภาครัฐมัวเมาประชาชน หรือไปฟ้องให้จำคุกใครไม่ได้แล้ว เพราะ คสช.เขาได้แก้ไขกฎหมายแล้วนั่นเอง