1
14 กรกฎาคม เป็นวันครบรอบ 21 ปีของ ‘พรรคไทยรักไทย’ หนึ่งในพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งมี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นผู้ก่อตั้ง หัวหน้าพรรคคนแรกจากหัวหน้าพรรคที่มีทั้งหมดสองคน
อย่างไรก็ตาม ถ้าว่ากันตรงๆ ไทยรักไทยไม่ใช่จุดเริ่มต้นจุดแรกของเขา ชื่อของทักษิณเริ่มโผล่เข้ามาในข่าวการเมืองเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเพียง 4 เดือน โดยมีข่าวว่า ทักษิณให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ที่มีชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้า ทั้งด้านความคิดเห็น และด้านการเงิน ในการเลือกตั้งปีนั้น
“โดยส่วนตัว ผมมองว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ที่น่าสนใจ ส่วนหัวหน้าพรรค ผมชื่นชมคุณสมบัติความเรียบง่าย สมถะ ซื่อสัตย์ ยึดหลักการของคุณชวน หลีกภัย ไม่น้อยเลยทีเดียว คุณชวน เป็นหนึ่งในสองนักการเมืองที่เป็น role model หรือเป็นแบบอย่างของผม นอกเหนือจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งผมชื่นชมในความสมัยใหม่ มีวิสัยทัศน์ ฉับไว และกล้าตัดสินใจของท่าน” ทักษิณเล่าไว้เองใน ตาดูดาว เท้าติดดิน หนังสือชีวประวัติของเขา
ทว่า ในวงจรการเมือง ทักษิณไม่ใช่ ‘โนบอดี้’ เขาเป็นลูกชายของ เลิศ ชินวัตร อดีต ส.ส. เชียงใหม่ จากพรรค ‘อิสระ’ เลิศได้เป็น ส.ส. ครั้งแรกในสมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นรัฐบาลในนามพรรคทหาร เพียงรอบเดียวในปี พ.ศ. 2512
เมื่อทักษิณกลับไทยหลังจากเรียนจบปริญญาเอก เขาเริ่มล้มลุกคลุกคลานกับธุรกิจจนพัวพันรัดตัว ทำให้ต้องลาออกจากตำรวจในที่สุด แต่หลังจากพ้นตำแหน่งราชการ เขาใช้เวลาราว 10 ปีเท่านั้นในการผันตัวเองจากนายตำรวจซึ่งทำเรื่องคอมพิวเตอร์ สู่เจ้าของธุรกิจพันล้าน และมหาเศรษฐีเบอร์ต้นๆ ของประเทศ
ทักษิณสร้างเนื้อสร้างตัวจากธุรกิจที่คนในยุคนั้นนึกหน้าตาไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นโฟนลิงค์ เซลลูลาร์ 900 IBC เคเบิลทีวีเจ้าแรกของไทย และที่พีคที่สุดคือดาวเทียมไทยคม ท่ามกลางความฝันว่า เมื่อสร้างตัวได้สำเร็จ จะก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง
ปัญหาก็คือ โครงการของเขาล้วนเกิดขึ้นจาก ‘สัมปทานรัฐ’ ที่ตามระบบแบบไทยๆ ย่อมอาศัยคอนเนกชั่น และการรู้จักคน ถึงจะเข้าไปอยู่ในวงจรได้ เพียงแต่ข้อครหาเกี่ยวกับทักษิณในวันนั้นอาจไม่มากนัก เพราะธุรกิจที่เขาเป็นพาร์ตเนอร์กับรัฐมีน้อยคนที่กล้าเสี่ยงเข้าไปลงทุน
และตามธรรมชาติของคนไทย ตราบใดที่นักธุรกิจไม่ออกมาเล่นบท ‘นักการเมือง’ เอง ก็ไม่มีใครเข้าไปยุ่งด้วย ต่อให้จะร่ำรวยจากสัมปทานมากเพียงใดก็ตาม
2
ในหนังสือ ตาดูดาว เท้าติดดิน อีกเช่นกัน หลักการทำธุรกิจที่ทักษิณย้ำบ่อยๆ ในหนังสือก็คือ เขาจะไม่ ‘สู้’ ในสงครามที่อย่างไรก็รู้ว่า ‘แพ้’
แต่ในทางการเมือง นั่นอาจเป็นอีกเรื่อง…
ทักษิณเข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรกในวัย 45 ปี ด้วยตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ‘คนนอก’ ของพรรคพลังธรรม ซึ่งมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค พร้อมๆ กับวิชิต สุรพงษ์ชัย จากธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ช่วงปลายปี พ.ศ. 2537 ในรัฐบาลชวน สมัยที่ 1 หลังจากพลังธรรม ตัดสินใจ ‘รีแบรนด์’ พรรค จากภาพของ ‘สันติอโศก’ พรรคของคนกินเจ สวมเสื้อม่อฮ่อม ไปสู่พรรคของนักธุรกิจรุ่นใหม่
ทักษิณก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน ในวัยเพียง 46 ปี หลังจำลองตัดสินใจยกพรรคพลังธรรมให้ เวลานั้น พลังธรรมเริ่มเป็นพรรคขนาดกลาง-ใหญ่แล้ว ช่วงพีคที่สุดหลังพฤษภาทมิฬ มี ส.ส. มากถึง 41 คน ขณะเดียวกัน เริ่มมีมุ้งแยกเป็นกลุ่มก้อน ที่สำคัญคือหลายมุ้งไม่พอใจที่หัวหน้าคนใหม่เป็นนักธุรกิจผู้ไร้ประสบการณ์
หลังจากเผชิญการเลือกตั้งสองครั้ง ในที่สุดปี พ.ศ. 2539 พลังธรรมภายใต้ทักษิณ กลับเหลือ ส.ส. เพียงคนเดียวคือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากที่เคยมี ส.ส. มากถึง 23 คน ในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า สุดท้ายก็กลายเป็นทักษิณที่ต้องตัดสินใจทิ้งพลังธรรม กลายเป็นความล้มเหลวครั้งแรกของนักธุรกิจพันล้านในสนามการเมืองอันโหดร้าย
“พลังธรรมแข็งตัวเกินที่จะพร้อมปรับเปลี่ยน ในเมื่อพรรคการเมืองจะต้องเป็นภาพจำลองของสังคมซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่พลังธรรมไม่สามารถทำได้ ผมก็ลำบากใจในการนำพลังธรรมต่อไป” ทักษิณสรุปสั้นๆ ไว้ในหนังสือ
ปัญหาของพลังธรรม ไม่ใช่ปัญหาของทักษิณเพียงคนเดียว แต่ยังคือปัญหาจากเงาของ พล.ต.จำลอง ที่ยังปกคลุมอยู่ และหลายมุ้งในพรรคก็ยังภักดีกับจำลอง ไม่ใช่ทักษิณ
เมื่อก่อตั้งพรรคไทยรักไทย นักธุรกิจหนุ่มวัย 49 ไม่ใช่คนหน้าใหม่อีกต่อไป ทักษิณเริ่มทำการเมืองแบบ ‘ขายนโยบาย’ เป็นครั้งแรก โดยอาศัยประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงนั้น และจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มที่ จากเดิมที่การเมืองไทย ขายเพียงตัวบุคคล ก็กลายเป็นการเมืองที่ขาย “กองทุนหมู่บ้าน” “พักชำระหนี้เกษตรกร” หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค”
นอกจากทักษิณจะเอาไอเดียใหม่ๆ เป็นพรรคแรกในประเทศแล้ว เขายังใช้ประสบการณ์จากการ ‘ดีล’ ทางการเมืองจากพลังธรรมมาดูดบรรดา ส.ส.จากพรรคอื่น หรือแม้กระทั่ง ‘เทกโอเวอร์’ พรรคอื่นมาอยู่ใต้ชายคา
เพราะรู้ดีว่าในเกมการเมืองแบบไทยๆ ต่อให้พรรคจะมีนโยบายที่ดีแค่ไหน หรือได้รับความนิยมเพียงใด แต่ความรู้สึกต้องการ ส.ส. ใกล้ตัว ทุนภูธร และ ‘เจ้าพ่อ’ ยังดำรงอยู่ทั่วประเทศ บรรดาผู้ใหญ่และนักวิชาการหลายคน ถอยออกจากไทยรักไทย หลังจากบรรดานักการเมืองลายครามเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
แต่จะว่าทั้งหมดเป็นสิ่ง ‘ผิด’ ก็ไม่ใช่ เพราะในปี พ.ศ. 2562 การเมืองแบบ ‘ทักษิณ’ ยังคงอยู่ แต่ฝ่ายที่ใช้วิธีนี้กลับเป็นฝ่ายตรงข้ามทักษิณอย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่างทรงของ ‘ทหาร’ คนดี นั่นเอง
3
ผลของการเมืองแบบ ‘ทักษิณ’ ได้ทำให้เขากลายเป็นพรรคเสียงข้างมากในสภา พรรคแรกและพรรคเดียวที่อยู่ในวาระได้ครบ 4 ปี รวมถึงเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวอีกเช่นกันที่สามารถตั้งรัฐบาล ‘พรรคเดียว’ ได้ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548
ในแง่นโยบาย ไม่มีใครเถียงว่า ‘ประชานิยม’ แบบทักษิณสร้างคุณูปการให้กับระบบการเมืองไทย แต่ในแง่การบริหารพรรค และการบริหาร ‘อำนาจ’ ของทักษิณนั้น มีปัญหาที่ต้องขบคิด
หากปัญหาของพลังธรรมคือการเป็นพรรคของคนอื่นมากเกินไป ไทยรักไทยและพรรคอื่นที่ทักษิณมีส่วนเกี่ยวข้องในยุคหลัง ก็กลายเป็นพรรคของทักษิณมากเกินไปเช่นเดียวกัน การรวมศูนย์การตัดสินใจ การบริหารการเมืองแบบใครใกล้ชิด ‘นาย’ คนนั้นย่อมได้ผลประโยชน์ ระบบหัวคะแนนยังคงเบ่งบาน ทำให้ไม่มีใครพูดได้เต็มปากว่า พรรคของทักษิณไม่มีการซื้อเสียง ไม่มีการคอร์รัปชั่น
ปัญหาก็คือ ‘ฝ่ายตรงข้ามทักษิณ’ เลือกจัดการกับทักษิณด้วยการรื้อระบบ พังกติกาทุกอย่าง แทนที่จะจัดการด้วยวิธีที่เป็นมาตรฐาน ด้วยวิถีทางแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว
และวิธีโต้กลับของทักษิณหลายครั้ง ก็เป็นวิธีที่ ‘นอกระบบ’ เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่นเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั่นอาจเป็นเพราะเขา ‘เข้าใจ’ การเมืองมากเกินไป อาจเป็นเพราะเขาอยู่ในวงจรนี้จนบอบช้ำมากเกินไป หรืออาจเป็นเพราะเขายังยึดอุดมการณ์เดิม นั่นคือไม่สู้ ในสนามที่ ‘แพ้’ เพราะฉะนั้น ต้องพลิกสนาม ให้ได้เปรียบเสมอ
4
แต่เราน่าจะได้ข้อสรุปแล้วว่า ณ ปัจจุบัน การเมืองไทย ไม่อาจจบได้แค่ดีล เหตุเพราะ ‘ประชาชน’ ถูกดึงเข้ามาอยู่ในสนามการเมืองมากเกินไปด้วยผลพวงของทักษิณ ซ้ำยังปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเกลียดและกลัวพรรคอนาคตใหม่ ล้วนมีผลพวงจากการเจริญเติบโตและงอกเงยของทักษิณ ในตลอด 21 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน
ทั้งที่ว่ากันตามตรงแล้ว จุดกำเนิดของทักษิณ และของ ‘อนาคตใหม่’ แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย
ด้วยเหตุนี้ การเมืองไทยในปี พ.ศ. 2562 จึงไม่ใช่เรื่องของการเอาชนะด้วยนโยบายอีกต่อไปแล้ว แต่มีเรื่องช่องว่างระหว่างวัย เรื่องชนชั้น เข้ามา ‘มั่ว’ ด้วย ซ้ำยังไปปลุกเอาสิ่งเก่า อย่างอุดมการณ์ซ้าย-ขวา ที่น่าจะตายไปแล้วตั้งแต่ทศวรรษ 2520 แต่ในที่สุดก็ฟื้นขึ้นมาใหม่ ถูกประดิษฐ์คำ กลายเป็นเรื่องรักชาติ-ชังชาติ ขึ้นมาอีก
ปัญหาก็คือ การเมืองประเทศใดก็แล้วแต่ที่สู้กันด้วย ‘อุดมการณ์’ ไม่ได้มีทางออกง่ายๆ เสมอไป ยิ่งการเมืองที่ซับซ้อน และมีอำนาจ ‘นอกระบบ’ เกิดขึ้นเป็นประจำในการเมืองไทย ยิ่งเป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่เคยจัดที่จัดทางอำนาจของนักการเมือง-อำนาจประชาชน ภายใต้ ‘ระบบ’ ว่าทำอะไรได้มากน้อยขนาดไหน แล้วแบบไหนถึงจะเป็นภัยได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตีความและการ ‘ปั่น’ แทบทั้งสิ้น
เรื่องตลกก็คือ การเมืองแบบทักษิณและความทะเยอทะยานของเขาได้ปลุกความเกลียดความกลัว ที่เหมือนจะ ‘ตาย’ ไปแล้วให้กลับมาใหม่ รอบที่แล้ว สงครามระหว่าง ‘ซ้าย-ขวา’ สู้กันนานกว่า 30 ปี กว่าจะชนะกันได้เบ็ดเสร็จ ส่วนรอบนี้ผ่านมา 13 ปีแล้ว และยังไม่เห็นตอนจบแบบง่ายๆ
นั่นอาจเป็นเพราะความเกลียดกลัวได้ข้ามผ่านตัวบุคคลอย่างทักษิณไปเรียบร้อย