“บางคนอาจบอกว่าเราเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดกู่ ผมบอกเลยว่าไม่จริง เพราะส่วนตัวมีแนวคิดค่อนข้างจะเสรีมาก เพียงแต่เห็นว่าประเทศนี้จำเป็นจะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์
“คนจะมองว่าเราเป็นพวก ultra-royalist หรือพวก very conservative แต่พอเรามานั่งคุยกันเองและให้นิยามตัวเอง กลับคิดว่าพวกเราเนี่ยโคตรจะ liberal คือเป็นพวก liberal, progressive และ royalist”
คำพูดของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี หลายคนฟังแล้วอาจเลิกคิ้วสงสัย แต่ก่อนจะพิมพ์ข้อความแสดงความเห็นอะไร เราอยากให้ลองอ่านเหตุและผลของเจ้าตัวก่อนว่า ทำไมถึงนิยามตัวเองเช่นนั้น
ผู้เขียนรู้จักกับ นพ.วรงค์มากว่าสิบปี ตั้งแต่สมัยยังเป็น ส.ส.พิษณุโลกของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เลยถามไปตรงๆ ว่า สมัยก่อนไม่ได้แสดงท่าทีเป็น royalist ขนาดนี้ อะไรคือจุดเปลี่ยน?
ก่อนจะได้รับคำตอบว่า “ผมไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลยนะ เพียงแต่ว่าสมัยก่อนมันไม่มีประเด็น ทุกอย่างที่แสดงออกเป็นสิ่งที่ผมเชื่ออยู่แล้ว”
แล้วพรรคการเมืองที่ชูสโลแกน ‘ภักดีประชาศรัทธาสถาบัน’ พร้อมอุดมการณ์ 5 ข้อ
- ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- สืบสานความเป็นไทย
- ต่อต้านทุนโกงชาติ ทุนผูกขาด
- นำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือเกษตรกร ความยากจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
- เน้นการพึ่งพาตัวเอง
จะมีคำอธิบายต่อข้อสงสัยต่างๆ อย่างไร
โดยเฉพาะการให้นิยามตัวเองว่าเป็น พรรคการเมืองที่ทั้งลิเบอรัล หัวก้าวหน้า แต่รักสถาบัน ที่หลายคนอาจตั้งคำถามแย้งในใจว่า ทั้ง 3 สิ่งนั้นอยู่ร่วมกันได้อย่างไร
พรรคไทยภักดีเกิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร
พรรคไทยภักดีมันเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่มีการรุกโจมตีลูกกระหน่ำไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วมันไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองไหนที่ออกมาทำความเข้าใจหรือแสดงการปกป้องอย่างชัดเจน ..แม้แต่รัฐบาล ซึ่งก็ทำแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ด้วยสามัญสำนึกของผมเองจึงคิดว่าเราปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะนี่คือรากฐานของประเทศไทยมากว่า 700-800 ปี แตกต่างกับบรรดานักการเมืองที่มีแต่คนขี้โกงและผมไม่เชื่อว่าคนเหล่านี้จะมาเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยได้
ดังนั้น เมื่อมีกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งออกมาพุ่งเป้าโจมตีไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่มีเหตุผล และส่วนตัวเชื่อว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ออกมาด้วยความบริสุทธิ์ โดยอาจจะมีต่างชาติคอยสนับสนุน มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว หากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไปประเทศจะมีปัญหาแน่ๆ เราก็เลยรวบรวมไพร่พลและออกมาแสดงออกในฐานะ ‘กลุ่มไทยภักดี’ เพราะวันนั้นเราก็ยังไม่มั่นใจว่าประชาชนจะขานรับการตั้งพรรคหรือไม่ และช่วงแรกของการต่อสู้ความคิดเรื่องการตั้งพรรคการเมืองยังไม่มีเท่าไหร่ คิดเพียงแค่ต้องออกมายันให้ได้ก่อน แต่หลังจากออกมาก็รู้สึกว่ามีคนขานรับเยอะมาก หลังก่อตั้งกลุ่มไทยภักดีในวันที่ 19 ส.ค.2563 เราก็นัดรวมตัวกันในวันที่ 30 ส.ค.2563 ที่อาคารไทย-ญี่ปุ่นดินแดง แล้วคนมาแน่นเลย ทั้งที่ไม่มีมวลชนจัดตั้ง ไม่มีอะไรทั้งสิ้น วัดได้จากสติ๊กเกอร์วัดอุณหภูมิ 5,000 แผ่น แล้วปรากฏว่าหมดเกลี้ยง นั่นแสดงว่าน่าจะมีคนมามากกว่า 5,000 คน จนกระทั่งอีกฝ่ายมาโจมตีว่ามีรถทัวร์ขนคนมา ผมยังคิดเลยว่าจะเอาเงินที่ไหนไปจ้างคนมา เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นบทพิสูจน์ว่าประชาชนสนับสนุนเรา ต้องการให้เราเป็นหลักในการออกมาปกป้องสถาบันหลักของชาติ
พอถึงจุดหนึ่งทุกคนก็เห็นว่าเราน่าจะพัฒนาเป็นพรรคการเมือง เพราะยังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนเหมือนกับกลุ่มไทยภักดี
เพราะพรรคที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม อย่างพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือ ปชป. ไม่ได้ออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มากพอ เป็นอีกเหตุผลให้ต้องมาตั้งพรรคเอง
ถูกต้อง คือจริงๆ ถ้าเขาแสดงออกชัดเจน ผมก็อาจจะ.. คือของพวกนี้มันเป็นไปตามสถานการณ์ ไม่มีใครกำหนดล่วงหน้าได้
คือพอเห็นอีกฝ่ายออกมาพุ่งเป้าโจมตี แล้วเรารับไม่ได้ และการแสดงออกของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ผ่านมา ผมมองว่ายังไม่เพียงพอต่อการที่จะทำให้สถานการณ์มันคลี่คลาย จนกระทั่งเราออกมาแล้วมีประชาชนมาให้ความร่วมมือร่วมมือกับเรา แม้ถึงตอนนี้สถานการณ์จะคลี่คลายมากขึ้นแต่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ
สังเกตเห็นว่าที่ตั้งของพรรคไทยภักดีกับ ‘สถาบันทิศทางไทย’ อยู่ในอาคารเดียวกัน (อาคารชื่นฤทัยในธรรม จ.นนทบุรี) ทั้ง 2 องค์กรมีความร่วมมือกันมากน้อยแค่ไหน
ทางนั้นเขามีทีมนักวิชาการเยอะ ซึ่งการต่อสู้ในการเมืองสมัยใหม่เราจำเป็นต้องอาศัยทีมวิชาการ เหมือนมี think tank ที่ช่วยคิดให้เรา ผมมาปรึกษาเขาขอให้ทีมวิชาการของสถาบันทิศทางไทยมาช่วยสนับสนุนความคิดของเราได้ไหม ซึ่งเขาก็เห็นอุดมการณ์และจุดยืนของผมชัดเจนที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และผมก็ยืนเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอยู่แล้ว พวกเขาก็เลยโอเค
ถามว่ามีความสัมพันธ์อะไรลึกไหม คำตอบคือไม่ลึก แต่มีความร่วมมือเรื่องหลักคิดในเชิงวิชาการมากกว่า
จะถึงขนาดเรียกว่าเป็นพวกเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกันเลยได้หรือไม่
เขาก็เป็นองค์กรของเขา เราก็เป็นองค์กรของเรา เพียงแต่มีอุดมการณ์ที่ใกล้เคียงกันสอดคล้องกัน มีอะไรก็เอามาแชร์กันมากกว่า
การชูจุดยืนเรื่อง ‘ความภักดี’ ถึงขนาดกลายเป็นชื่อพรรค เมื่อต้องลงเลือกตั้งแล้ว หากคนมาลงคะแนนให้ไม่เยอะจะเสี่ยงถูกแปลความว่าคนไทยมีความภักดีไม่มากหรือไม่
คำถามนี้ไม่ถูกต้อง
เพราะชีวิตจริงมีมากกว่า 1 มิติ กว่าที่คนคนนึงจะเติบโตขึ้นมามันมีปัจจัยที่หลากหลายมาก และในทางการเมืองมันไม่ได้มีแค่เรื่องใดเรื่องเดียวแต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกเยอะมาก ความเป็นเครือญาติอาจจะเหนือกว่าทุกอย่างก็ได้ ผลประโยชน์หรือเงินอาจจะเหนือกว่าอย่างอื่นๆ ก็ได้ นี่จึงเป็นคำถามที่ผมไม่ควรจะตอบเพราะมันมีปัจจัยอื่นๆ อีกเยอะมาก
..ในการเลือกหรือไม่เลือกเรา จึงไม่ได้มีปัจจัยแค่เรื่อง ‘ความภักดี’ เพียงอย่างเดียว
ถูกต้อง คนที่มีอุดมการณ์ตรงกับเราหากไม่มีปัจจัยอื่นๆ ก็อาจจะมาเลือกเราก็ได้ หรือต่อให้อุดมการณ์ตรงกับเราแต่ถ้ามีปัจจัยอื่นๆ ก็อาจจะไม่เลือกเรา ขนาดในทางการเมืองมันจึงมีปัจจัยเยอะมากไม่ได้ตรงไปตรงมา จนทำให้ประชาชนเป็น ‘เหยื่อ’ ของนักการเมือง
อย่างไรนะครับ อยากให้ช่วยขยายความ
เช่นคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ที่โดยหลักการมันโอเค แต่ถามว่าคุณเป็นนักประชาธิปไตยจริงๆ หรือเปล่า ศาลตัดสินว่าคุณผิดคุณยอมรับผิดไหม ถ้าคุณยอมรับผิด ผมก็อาจจะยอมรับก็ได้ว่าคุณเป็นนักประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณเอื้อ ‘ทุนใหญ่’ หมด จะทำอะไรก็คิดถึงโครงข่ายผลประโยชน์ แบบนี้จึงไม่ใช่ประชาธิปไตย
เวลาที่อ้างว่าผมเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ผมก็คิดเสมอว่าคุณกำลังหลอกประชาชน แต่ประชาชนอาจจะตามไม่ทัน
การที่พรรคทั้งชื่อว่าไทยภักดีและใน 5 นโยบายหลักก็มีเรื่องของความภักดี มันสุ่มเสี่ยงไหมที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาข้องเกี่ยวกับการเมือง
สถาบันพระมหากษัตริย์จริงๆ แล้วท่านอยู่เหนือการเมือง แต่ต้องถามกลับว่าแล้วก่อนหน้านี้มีกลุ่มการเมืองเข้าไปโจมตีท่านหรือไม่ ซึ่งหากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เช่นอย่างที่ อ.ปิยบุตร (แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) ทำอย่างมีเหตุมีผลก็ไม่เห็นถูกดำเนินคดีอะไร แต่การไปเผารูป ไปยืนตะโกนด่า มันยุติธรรมไหม นี่จึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆ อย่างเป็นขบวนการ จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านี่คือกระบวนการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็แน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของปวงชนทุกคนที่ต้องออกมาช่วยกันปกป้อง
คือเชื่อว่า ทำกันเป็นขบวนการ
แน่นอน ยิ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมายิ่งชัดเจน
ผมยืนยันว่ามนุษย์เรา วัยขนาดนี้ เด็กอายุ 20-30 ปีกว่าๆ เขาต้องไปทำมาหากิน ไปทำงาน ถ้ามาทำม็อบอย่างเดียวมันไม่ปกติ แล้วไปทำในสิ่งที่มนุษย์คนอื่นไม่ทำกัน ไปยืนตะโกนด่า ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยมารังแกอะไรเลย ถ้าเป็นยุคสมบูรณาญาสิทธิราช แล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจมิชอบ มีการกดขี่ขูดรีดรังแกประชาชน อย่างนี้ผมถึงพอยอมรับได้ แต่วันนี้อำนาจทุกอย่างอยู่ที่ฝ่ายการเมือง การทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ อยู่ที่รัฐบาล สถาบันท่านก็เป็นเหมือนกับศูนย์รวมจิตใจเท่านั้นเอง แต่คุณกลับไปโจมตีให้ร้าย ซึ่งผมยืนยันเลยว่าไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตใจ แต่เป็นความพยายามที่จะทำลาย
อันนี้คือความเชื่อส่วนตัวของคุณหมอ
มันเป็นข้อเท็จจริง เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแล้ว ..คือ สมัยก่อนอาจจะเป็นความเชื่อส่วนตัวของผม แต่พอศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมามันยิ่งตอกย้ำว่าสิ่งที่ผมเชื่อมาตลอดนั้นถูกต้อง
เวลาคนพูดถึงพรรคไทยภักดีก็มักจะนึกถึงจุดยืนเรื่องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว อยากให้เล่าให้ฟังว่ามีเรื่องอื่นๆ ที่พรรคนี้อยากจะทำอยู่หรือไม่
คนจะมองว่าเราเป็นพวก ultra-royalist หรือพวก very conservative หรือภาษาไทยคือเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง แต่พอเรามานั่งคุยกันเองและให้นิยามตัวเอง กลับคิดว่าพวกเราเนี่ยโคตรจะ liberal คือเป็นพวก liberal, progressive และ royalist
3 อย่างนี้มันอยู่ด้วยกันได้อย่างไร
สังคมไทยมันไม่มีแค่จะซ้ายหรือขวา อย่างเราดูม็อบ มีบางช่วงที่เขาเอารูปค้อนเคียวมาแล้วบอกว่าอยากจะทำลายระบบศักดินา แต่กลับแอนตี้จีน ฉะนั้นวันนี้จึงไม่ต้องมาบอกกันแล้วว่าใครซ้ายหรือใครขวา ผมถึงบอกว่าวันนี้มันต้องดูการปฏิบัติ จะดูแค่คำจำกัดความอย่างเดียวไม่ได้ บางคนอาจบอกว่าเราเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดกู่ ผมบอกเลยว่าไม่จริง เพราะส่วนตัวมีแนวคิดค่อนข้างจะเสรีมาก เพียงแต่เห็นว่าประเทศนี้จำเป็นจะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์
หรือแม้แต่แนวคิดเรื่องปราบโกง มีพรรคการเมืองไหนบ้างที่ประกาศปราบโกง กลุ่มที่แสดงออกว่า liberal มากๆ ทำไมไม่ออกมายืนยันเรื่องการปราบปรามการทุจริต เพราะนี่คือสิ่งที่ทำลายระบอบประชาธิปไตยมากๆ เห็นได้จากประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงก็จะมีดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใส (CPI) สูงด้วยในเวลาเดียวกัน แต่ปีก่อนเราก็อยู่ในอันดับที่ร้อยกว่าๆ แล้วทำไมคุณไม่มาตั้งเรื่องพวกนี้เลย คุณเพี้ยนไปหรือเปล่า แต่คุณกลับอ้างว่าเป็นพวก liberal แต่ผมกลับมองว่าพวกผมชัดเจนมากกว่า ในการปราบโกง
ส่วนที่บอกว่า progressive หรือไปข้างหน้า คุณบอกว่าต้องการลดความเหลื่อมล้ำ เอาง่ายๆ อย่างเรื่องชาวนาที่ส่วนใหญ่ยังยากจน พรรคเพื่อไทยก็ใช้การจำนำข้าว ปชป. ก็ใช้การประกันรายได้ แต่ทำไมพวกคุณไม่จัดการให้ครบวงจร เวลาเอาข้าวไปขายโรงสี ถามว่ามีโรงสีที่ไหนจนบ้าง พ่อค้าส่งออกข้าวมีที่ไหนจนบ้าง คนขายข้าวเปลือกจนแต่คนขายข้าวสารกลับรวย ทำไมคุณไม่หาวิธีแก้ไขปัญหาให้พวกเขาอย่างยั่งยืนล่ะ ผมก็เลยกล้าประกาศ ‘ปฏิวัติเกษตรกรรม’ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืนโดยจะต้องมองทั้งระบบ ทั้งเรื่องของที่ดิน แหล่งน้ำ ปัจจัยการผลิต การเก็บเกี่ยว การแปรรูป เกษตรกรจะต้องมีการแปรรูปไม่ใช่แค่ขายสินค้าต้นน้ำ รวมถึงการกระจายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่รัฐจะต้องมาอำนวยความสะดวก และเรื่องโลจิสติกส์ด้วย ถามว่าอย่างนี้เราอนุรักษ์นิยมหรือ เราโคตรจะ progressive เลย ต่างกับพรรคที่ประกาศตัวเองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้ากับไม่คิดถึงเรื่องเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับเกษตรกร
ดังนั้นถ้าจะหาคำจำกัดความ เราจะนิยามตัวเองว่าเป็นพวก liberal, progressive และ royalist และการทำงานในทีมของเราค่อนข้างจะเสรีมาก คุณคิดอะไรเราดันให้เต็มที่ทุกคน ความคิดเราทันสมัยมากในการที่จะทำ เพียงแต่เราเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์
ใน 3 คำที่ใช้นิยามตัวเองของพรรคไทยภักดี คิดว่าคำไหนสำคัญที่สุด
มันต้องไปด้วยกัน
แต่อย่าง liberal กับ royalist มันมีอะไรที่ขัดแย้งกันหรือเปล่า
ไม่จริง (ตอบเร็ว เสียงดัง) ผมใช้คำว่าคนที่ทะเยอทะยาน เพ้อฝัน พยายามสร้างให้คนเข้าใจว่า 2 อย่างนี้ขัดกัน แต่เราสามารถสร้างประเทศให้พัฒนาไปโดยที่ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ได้หลายๆ ประเทศในยุโรปก็ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศญี่ปุ่นก็ยังมีสมเด็จพระจักรพรรดิ
ผมจึงมองว่า ‘เสรีภาพของประชาชน การพัฒนาประเทศให้ทันสมัย การมีสถาบันพระมหากษัตริย์’ อยู่ด้วยกันได้อย่างสบาย แต่คนที่บอกว่าไปด้วยกันไม่ได้ พวกนี้เป็นคนที่ใฝ่ฝันทะเยอทะยานอยากเป็นสาธารณรัฐ อยากเป็นประธานาธิบดี
ที่ผ่านมาก็เคยมีการยกประเด็นเรื่องสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์มาว่าควรจะอยู่ในที่เคารพสักการะเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น ประเทศอังกฤษ หรือประเทศในภูมิภาคสแกนดิเนเวีย มองข้อเสนอเหล่านี้อย่างไร
วิถีแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เอาเข้าจริงแล้วผมเป็นคนแฟร์มากในเรื่องเหล่านี้ คำถามคือปัญหาอยู่ที่ตรงไหน คุณต้องการอะไร ก่อนที่คุณจะพูดสิ่งเหล่านี้ มันต้องตีความเป้าหมายของสิ่งที่คุณต้องการให้ได้ก่อน
คุณต้องการชีวิตที่กินดีอยู่ดีไหม คุณต้องการลดความเหลื่อมล้ำไหม สมมุติคุณต้องการสิ่งเหล่านี้แล้ววิธีแก้อยู่ตรงไหน คุณต้องได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์สุจริต กระจายทรัพยากร แล้วคุณจะได้สิ่งเหล่านั้น แต่อยู่ๆ คุณไปวิพากษ์วิจารณ์สถาบันทั้งที่ไม่ใช่ต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ ต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำคือการใช้อำนาจไม่ชอบและการทุจริตคอรัปชั่น ดังนั้นคุณจึงต้องไปแก้ตรงนั้น
ผมจึงเสนอว่าคุณต้องเคลียร์ตัวเองให้ได้ก่อนว่าคุณต้องการอะไรมันถึงจะไปแก้ปัญหาให้ได้ถูก แต่ถ้าคุณเคลียร์ตัวเองไม่ได้ อยู่ๆ ก็เป็นความใฝ่ฝันของคนบางคนเท่านั้นเอง เป็นความทะเยอทะยานของคนบางกลุ่ม และอาจจะมีผลประโยชน์ของมหาอำนาจบางประเทศอยู่เบื้องหลัง มันจึงทำให้เกิดสถานการณ์ขึ้นมา
ตอบคำถามคือ ทำไมเราจึงกินข้าวไม่เหมือนญี่ปุ่นล่ะ แต่เรากินอาหารญี่ปุ่นได้นะ หรือที่คนไทยหลายคนมีเชื้อชาติจีน แล้วทำไมเราถึงกินอาหารจีนไม่เหมือนคนจีนที่กรุงปักกิ่งกิน เพราะมันเป็นวิถีไทยไง เราก็ผูกพันกับความเป็นไทย
อยากให้คุณหมอให้นิยามของคำว่า ‘การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’
จริงๆ คำนี้ตอบไม่ยาก แต่ที่มันซับซ้อนเพราะนักการเมือง ผมอยู่ในการเมืองมา 20 ปี ก็คิดว่ามันจะทำให้ประเทศดีขึ้น แต่มันก็ไม่จริงเพราะผลประโยชน์ของนักการเมือง
สิ่งที่แฟร์ๆ คือกระบวนการจัดการเลือกตั้งควรจะสิ่งที่แฟร์คือกระบวนการจัดการเลือกตั้งควรจะยุติธรรม แต่ถามว่าที่ผ่านมายุติธรรมหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ใช่ แม้แต่สื่อเองบางครั้งก็ไม่เข้าใจ สื่อชอบถามถึง ‘พรรคเล็ก พรรคใหญ่’ ทั้งที่จริงๆ ควรจะตั้งคำถามถึง ‘พรรคที่มีเงินมาก’ กับ ‘พรรคที่มีเงินน้อย’ ลองถ้าผมมีเงินเท่ากับบางพรรคสิ ผมเชื่อว่าทำได้ดีกว่าพรรคนั้นๆ เสียอีก นี่คือผมเห็นความอยุติธรรมของระบบแล้ว แต่ทุกคนยอมรับมัน เราก็ต้องยอมสู้ในเกมนี้ไปก่อน ผมชอบคิดเสมอว่าถ้ามีโอกาสผมจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
ดังนั้นหากถามว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นยังไง ผมก็ต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยที่ตัวเองซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใส สามารถพัฒนาประเทศให้เท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ โดยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ หลักง่ายๆ แค่นี้เอง
คิดอย่างไรกับข้อเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดเจ้าภาพในการฟ้อง เพราะที่ผ่านมาก็มีคนเอาไปฟ้องจนมีจำนวนเป็นพันๆ คดีคิด
ต้องย้อนกลับไปดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เพราะจริงๆ กฎหมายหมิ่นประมาทก็มีหลายคนเอามาใช้ฟ้องร้องกัน เช่น คุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า) ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายผม 24 ล้านบาท นี่ขนาดเป็นประชาชนด้วยการคุณยังฟ้องเล่นผมซะเยอะเลยนะ เบ็ดเสร็จแล้วคนเหล่านี้ฟ้องผม 6-7 คดีแล้ว
ถามว่าอย่างมาตรา 112 ตัวกฎหมายมันไปทำอะไรคุณ มันไม่ได้ทำอะไรคุณเลย เพียงแต่ตัวคุณไปทำในสิ่งที่กฎหมายห้ามกระทำ แล้วทำไมเวลาอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่เห็นโดนคดี มีโดนคดีเฉพาะเด็กๆ เพราะอะไร เพราะเด็กหลอกได้ เขาเข้าใจไม่ถูกต้อง ความมุทะลุ ความร้อนในตัวเอง ความไม่ยั้งคิด แทนที่คุณจะวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุด้วยผล กลับไปตะโกนด่าหรือไปเผารูป ไปทำอะไรในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แน่นอนว่าคุณก็ต้องโดน แล้วถามว่าทำไมโดนเยอะ ก็คุณทำกันหลายคน
โดยสรุปควรจะปรับปรุงกฎหมายนี้หรือไม่
ผมว่าต้องปรับปรุงหลักคิดของคนที่กระทำผิดมากกว่า ไม่ใช่ตัวกฎหมาย กฎหมายทุกชนิดมันจะนอนนิ่งของตัวเอง เพียงแต่เรามีความคิดอะไรที่ได้มาจากการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า ผมยังย้ำเรื่องการได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ยุคนี้ fake news เยอะ แล้วทำไมเขาถึงพุ่งเป้าไปที่เด็กๆ ก็เพราะว่าเด็กๆ มีความเร่าร้อน ความมุทะลุ การไตร่ตรองข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไม่ค่อยรอบคอบ มีคนเชียร์หน่อยก็สนุกสนาน คดีต่างๆ ก็เลยเกิดกับคนวัยนี้ แล้วทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยถึงไม่เห็นจะโดนเลย มีน้อยมาก เพราะพวกนี้ประสบการณ์เยอะแล้ว ผมถึงบอกว่ามาตรา 112 ไม่ใช่ปัญหา แต่มีคนบางกลุ่มพยายามจงใจทำให้มาตรา 112 มีปัญหา
เคยมีคนบอกว่ามาตรา 112 ละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมถึงกับต้องไปนั่งเปิดหลักการสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ 20-30 ข้อดูว่า มันไปละเมิดข้อไหน มันไม่มีเลยนะ ไม่มีจริงๆ นะ เวลาขอให้ชี้ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนข้อไหนก็ตอบไม่ได้
คุณหมอยังเชื่อว่าเด็กๆ โดน ‘หลอกใช้’ ใช้คำนี้ถูกต้องไหม
ผมใช้คำว่าเขาถูกกระตุ้นให้มาทำหน้าที่แบบนั้น ผมไม่ได้ตำหนินะเพราะสมัยผมยังเป็นนักศึกษาก็เคยแอนตี้ ก่อนจะคิดได้ว่าปัญหาต่างๆ สถาบันไม่ได้มีส่วนในการรังแกหรือสร้างปัญหา มีแต่เข้ามาช่วยเหลือ โครงการต่างๆ ก็พยายามช่วยเหลือ เติมเต็มให้กับรัฐบาล แต่ปัญหาของประเทศมันเกิดขึ้นจากนักการเมือง ซึ่งบทสรุปจาก 20 ปีในชีวิตการเมือง คือเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจโดยมิชอบ ถ้าเราแก้ไขตรงนี้ได้ปัญหาอื่นๆ ก็จะคลี่คลาย
ถ้าถามแย้งกลับว่า แล้วทำไมคนอีกฝ่ายถึงไม่สามารถกระตุ้นให้เด็กๆ เห็นคุณงามความดีหรือกลายเป็น royalist ได้
คนที่จ้องทำลายมันมี drive (แรงจูงใจ) มันมีพลัง มันมีเงิน มันมีการสนับสนุน พอใส่ไปเรื่อยๆ คนก็ซึมซับไปเรื่อยๆ ต่างกับฝ่าย royalist ที่แม้จะมีแรงจูงใจ แต่ไม่มีเงิน โครงข่ายต่างชาติก็ไม่มี โครงข่ายสื่อก็ไม่มี ต่างกับอีกฝ่ายที่มีหมด ลองให้ผมได้เป็นรัฐบาลสิ ผมจะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ national curriculum เพราะสังคมมันเปลี่ยนเร็วมาก เด็กอนุบาลเด็กประถมจำเป็นจะต้องรู้อะไร
เรื่องศีลธรรมจำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เรื่องระเบียบวินัย รวมถึงความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความจงรักภักดีต่อสถาบัน มันต้องปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่ผมคิดว่าคนที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ลองให้ผมมีอำนาจ มีเงินทุนเท่ากับอีกฝ่ายสิ
นี่คือสิ่งที่อยากจะถามต่อว่า ทำไมภาระในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จึงตกมาอยู่ที่ตัวคนชื่อ นพ.วรงค์
มันเป็นกฎธรรมชาติ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความรู้สึกว่าจะสู้ในสิ่งที่ถูกต้องมันต้องถูกกดมาจนถึงจุดๆ หนึ่ง แต่ผมมองว่าเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มันไม่ควรจะถูกกดไปจนถึงจุดนั้น โอกาสจะทำให้เกิดกลียุค เหมือนตอนที่รัฐบาลคุณทักษิณ (ชินวัตร) ใช้อำนาจมิชอบหรือถูกกล่าวหาว่าทุจริต หรือรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือคนจะต้องถูกกดถึงจุดๆ หนึ่งมันถึงจะระเบิดออกมา แต่สถาบันของพระมหากษัตริย์เราไม่ควรจะปล่อยให้การกดไปถึงจุดๆ นั้น เพราะมันอาจจะทำให้เกิดสงครามกลางเมือง เราจึงออกมาชี้แจงให้คลี่คลาย
คนทั่วไปก็อาจจะให้กำลังใจ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงจุดยืน อะไรก็ว่าไป แต่ผมอาจจะเป็นคนที่มองอนาคตได้เร็วกว่า ผมชอบตำหนิตัวเองว่าเราชอบคิดเร็วกว่าคนอื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันก็พิสูจน์ว่าเราคิดถูก แม้แต่สมัยที่ผมชิงออกจาก ปชป. มันก็ช่วยพิสูจน์ว่าผมคิดถูกต้อง
การคิดได้เร็วก็เลยโดนวิพากษ์วิจารณ์เยอะกว่าคนอื่นนิดหน่อย
มันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่การมองปัญหาได้เร็ว ก็จะนำประเทศออกจากปัญหาได้เร็วเช่นกัน วันนี้เรามองออกแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างทำให้ต้องรีบออกมา เรามองว่าถ้าปล่อยไว้สถาบันพระมหากษัตริย์มีปัญหาแน่ แล้วมันจะเกิดกลียุค เพราะคนจะออกมาทำสงครามกลางเมือง สุดท้ายจะเกิดการแทรกแซงจากมหาอำนาจ มันถึงทำให้เราต้องรีบออกมา
ถ้าผมได้เป็นรัฐบาล ก็คิดว่าการมองอนาคตได้เร็วกว่าปกติ มันก็น่าจะเป็นประโยชน์กับการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆในอนาคต
สมมุติว่า ถ้ามีโอกาสได้เป็นรัฐบาล กระทรวงหรืองานไหนที่อยากทำ
กระทรวงศึกษาธิการ เพราะผมคิดว่าเป็นกระทรวง ‘สร้างคน’ แต่ประเทศเราไม่ค่อยให้ความสำคัญมาก ผมมองว่าประเทศเราต้องปฏิวัติใหญ่เรื่องการศึกษา ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน เริ่มจากอนุบาล ประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย มันต้องสร้างคนใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะ digital transformation ที่กำลังเป็น change ใหญ่ของโลกใบนี้ และที่สำคัญสุดคือเรื่องของ moral system คือเรื่องของศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม เรื่องของประวัติศาสตร์ คือสังเกตดูในช่วงนี้คนจะพูดกันว่าทำไมไม่เอาวิชาหน้าที่พลเมือง วิชาศีลธรรม และวิชาประวัติศาสตร์กลับมา
ฉะนั้นถ้าถามผม ผมอยากจะรื้อใหญ่เรื่องระบบการศึกษาไทย เพราะจากที่เคยได้คุยกับคนมาหลายคน ก็พบว่า คนที่เป็นหมอก็มีหน้าที่รักษาคน คนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็มีหน้าที่สร้างเทคโนโลยีให้คนได้ใช้ แต่คนที่มีหน้าที่สร้างคนเหล่านี้ขึ้นมาก็คือ ‘ครู’ ฉะนั้นเราจึงต้องสร้างครูให้เป็น the best ของอาชีพทั้งหลายให้ได้ ถ้าตราบใดเรายังมองอาชีพครูว่าอยู่ต่ำกว่าหมอหรือนักวิทยาศาสตร์ ประเทศเราก็จะไปไม่ได้ แล้วมันจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ หากรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลประชาชนจะต้องผลักดันให้อาชีพครูเป็น the best ให้ได้
เรื่องความเหลื่อมล้ำพรรคไทยภักดีมีนโยบายหรือแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้าง
ผมเห็นว่าปัญหานี้ทุกฝ่ายเอามาพูด แต่ก็ยังไม่เห็นพรรคไหนเลยที่เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมา เช่นผมขออนุญาตอ้างถึงพรรคที่บอกว่าตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่แล้วกันแต่ขี้เกียจไปเอ่ยชื่อเขา ที่อ้างถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำแต่กลับไปโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ แสดงว่าคุณกำลังวิเคราะห์ปัญหาอย่างไม่ถูกต้อง ว่าความเหลื่อมล้ำเกิดจากอะไร เพราะสถาบันท่านไม่ได้มีหน้าที่ในการเข้ามาจัดการดูแลปัญหาตรงนี้ ความเหลื่อมล้ำเกิดจากการโกง การใช้อำนาจโดยมิชอบกับการทุจริตคอรัปชั่นมันจะไปด้วยกัน มันทำให้การกระจายทรัพยากรไปสู่กลุ่มคนที่พวกคุณต้องการให้ก่อน นั่นคือพรรคพวกคุณ เครือข่ายคุณ ส่วนที่เหลือค่อยให้ประชาชน
ดังนั้นการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงต้องปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นก่อน ถามว่าทำไมผมย้ำเรื่องนี้ เพราะการโกงไม่เพียงกระทบต่อการกระจายทรัพยากร แต่ยังกระทบกับวิธีคิดของคนด้วย เช่นสมมุติเราต้องการซื้อกล้องมาทำงาน (ชี้ไปที่กล้องช่างภาพ) แล้วมีคนเอาเงินมาให้ สิ่งนี้ก็จะทำให้ความคิดของผู้เกี่ยวข้องเปลี่ยนไป จนยอมไปซื้อของที่มีคุณภาพแย่กว่า ฉะนั้นการโกงจึงไม่ได้กระทบแค่เรื่องทรัพยากรแต่ยังไปเปลี่ยนวิธีคิดของคนด้วยนี่คือสิ่งที่อันตรายมาก
ถามผมว่าจะจัดการเรื่องความเหลื่อมล้ำยังไง ผมตอบเลยว่าจะต้องจัดการเรื่องการโกงให้ได้ ผมมีหลักคิดอยู่ 3 ข้อ หลังจากศึกษามาจนกระทั่งตกผลึก พบว่า เงินจากการโกงจะจ่ายเป็นเงินสด มาเป็นลังๆ เลย ยกตัวอย่างเช่นอดีตปลัดกระทรวงคมนาคมคนหนึ่ง ฉะนั้นวิธีการคือไม่มีเงินสดเกิดขึ้น เราจะต้องเอาดิจิทัลมาใช้ให้ได้ แต่ต้องเอา mobile banking i-banking มาใช้ได้ คือถ้าเราทำสิ่งที่เกิดขึ้นได้ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า CBDC (central bank digital currency) ที่จริงเป็นต้นแบบในการใช้ดิจิทัลหยวน ผมจะใช้ดิจิทัลบาท คือเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยการันตี ถ้าคุณทำให้เงินต้องมีการโอนกันทุกอย่างก็จะสามารถตาม tracking ได้ ผมประกาศเป็น cashless society ยกเว้นแบงก์ยี่สิบ ห้าสิบ ร้อย สำหรับคนที่ด้อยโอกาสจริงๆ เพราะคนที่ต้องการโกงส่วนใหญ่จะใช้แบงก์พัน แค่ผมประกาศดิจิทัลบาท ผมเชื่อว่าจะสามารถป้องกันการทุจริตได้ไม่น้อยกว่า 80%
แล้วที่ผ่านมาเราก็มักจะออกกฎหมายที่เกิดการโกง เช่นอะไรบ้าง เช่นการกำหนดให้คนที่ซื้อเสียงและรับเงินผิดทั้งคู่ แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่จะกลับคนโกงได้ ถ้าเราแก้ไขระเบียบนิดเดียวว่า ก่อนที่จะมีคดี หากใครมาให้เบาะแสที่เป็นประโยชน์จะถูกกันไว้เป็นพยาน จบเลย
ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ผมกล้ายืนยันหรือว่าประเทศของเราจะโปร่งใสขึ้น
มันจะมีคำหนึ่งที่คนพยายามพูดกันมากเรื่อง “คนเท่ากัน” เห็นด้วยหรือไม่
ผมว่าคำๆ นี้เป็นวาทกรรม ถ้าบอกว่าสิทธิที่เท่ากันมันพอเป็นไปได้ แต่ถ้าบอกว่าทุกคนต้องเท่ากันหมดมันไม่จริง แต่ละคนยังสูงไม่เท่ากันเลย คนที่สูงกว่าก็จะหยิบอะไรได้ง่ายกว่า ฉะนั้นคำว่าคนเท่ากันหากใครฟังคำๆ นี้แล้วไม่ได้คิดตามก็จะรู้สึกว่า เออดีเว้ย ทุกคนเท่ากัน ซึ่งมันไม่จริง แต่หากใช้คำว่าความเสมอภาค อันนี้โอเค ฉะนั้นมันต้องนิยามให้ชัดว่าคุณต้องการอะไรที่เท่าเทียมบ้าง
ถ้าเป็นเรื่องสิทธิล่ะ
สิทธิโอเค ความเสมอภาค โอเค แต่วาทกรรมที่บอกว่า คนเท่ากัน มันไม่จริง เพราะคนทำมากก็ควรจะได้มาก คนที่ทำน้อยก็ควรจะได้น้อย คนขี้เกียจจะมาให้ได้เท่ากับคนขยัน ไม่ได้ มันเป็นวาทกรรมที่ถูกนำมาใช้เพื่อบุคคลที่ไม่เข้าใจ เออดีเว้ย กูจะได้เท่ากับเขาโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเยอะ
อยู่บนเส้นทางการเมืองมาจนครบ 20 ปีในปี 2564 เส้นทางการเมืองที่ผ่านมาให้อะไรกับตัวเองบ้าง
ผมเป็นคนชอบวิเคราะห์ข้อมูลตนตกผลึกทางความคิด คือผมไม่ใช่ลูกหลานนักการเมือง ผมไปอยู่ที่ จ.พิษณุโลกแค่ 10 ปี ก็ไปลงสมัครเป็น ส.ส. โดยไม่มีญาติพี่น้องอยู่ที่นั่นเลย มันจึงทำให้ผมชอบประมวลเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจน ฉะนั้นถ้าถามว่าอะไรที่ผมได้เรียนรู้บ้างนั่นคือ ‘ทูนผูกขาดทุนโกงชาติอันตรายต่อการเมืองมาก’ แล้วผมก็ถือว่าระบอบการปกครองในตอนนี้มันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง 3 วินาทีที่เข้าคูหาแล้วก็กา แลกกับการที่คุณเอาเงินไปให้ชาวบ้าน แล้วชาวบ้านก็พอใจ
แม้กระทั่งคุณประยุทธ์อยู่มา 7-8 ปีก็ไม่ได้แก้ไขปัญหานี้
ผมก็ไม่แฮปปี้นะ คิดว่าช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาน่าจะปูพื้นฐานเรื่องของการป้องกันการทุจริต หรือแม้แต่เรื่องการศึกษา ท่านก็ทำได้ไม่ค่อยดี หรือแม้แต่เรื่องการช่วยเหลือเกษตรกร ผมก็ไม่ค่อยแฮปปี้มาก แต่คิดว่ามันยังไม่ถึงเวลา เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะไปทำหน้าที่ตรวจสอบ
จุดยืนเรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ของคุณหมอสมัยก่อนไม่ได้ชัดขนาดนี้ อะไรคือจุดเปลี่ยน
มันไม่ใช่หรอก เพียงแต่ว่าที่ผ่านมามันไม่มีประเด็น มันเพิ่งมามีประเด็นเมื่อพรรคอนาคตใหม่เข้ามา ระบุชื่อไปเลย คือช่วงที่สถาบันไม่มีปัญหา ถูกยกย่องเทิดทูน ไม่มีใครไปแตะท่าน ไม่มีใครเอาท่านลงมาพูดเรื่องการเมือง ผมก็ไม่เคยพูด แต่วันหนึ่งคุณเอาลงมา เห้ย ไม่ได้ๆๆ คุณทำอย่างนี้ไม่ได้ เราก็ต้องแสดงออก สังเกตไหมว่าถ้าคุณสู้กันเอง ผมก็ไม่เอาสถาบันลงมา มีแต่พวกคุณที่เล่นกันจนเละ ซึ่งผมบอกเลยว่ามันไม่ได้ ผมไม่ยอม
แสดงว่า มีจุดยืนแบบนี้อยู่แล้วเพียงแต่ไม่มีโอกาสได้แสดงออก
ใช่ ผมเชื่อในสิ่งที่อยู่แล้ว เพียงแต่ผมรู้กาลเทศะ ก็เมื่อก่อนไม่มี เมื่อก่อนเป็นนักการเมืองสู้กันโครมๆ ก็ชี้หน้าด่ากันในสภา
20 ปีที่ผ่านมาบนเส้นทางการเมือง มีเหตุการณ์อะไรที่ดีใจที่สุดหรือเสียใจที่สุด
มันมีดีใจเสียใจปะปนกัน แต่ครั้งแรกที่ดีใจที่สุดคือตอนชนะการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2548 เพราะไม่เคยคิดเลยว่าจะชนะ เนื่องจาก 1.ผมเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 2.ตอนนั้นกระแสพรรคไทยรักไทยของคุณทักษิณแรงมาก เราต้องยอมรับว่ายุคนั้นภาพลักษณ์เขายังไม่มีอะไรเสียนะ เขาได้ ส.ส. มา 377 คนจากทั้งหมด 500 คน ผมเป็นหนึ่งใน 4 ส.ส. ของ ปชป. ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยผมเป็น ส.ส. หน้าใหม่เพียงคนเดียว
เสียใจคือที่สอบตก ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปี 2562 เพราะระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวมันส่งผลต่อการเลือกตั้งสูงมาก ถ้าพรรคการเมืองทำไม่ถูกใจประชาชน ผมกับเพื่อนๆ ส.ส. ใน กทม. หายไปหมดเลยนะ อย่าคิดว่าผมสอบตกคนนเดียว แต่บิ๊กเนมของ ปชป. จำนวนมากสอบตกหมด คืนที่รู้ว่าแพ้ ก็คิดว่าเราบกพร่องขนาดนั้นเลยเหรอ เราก็ทำงานหนักนะ คืนนั้นผมเสียใจ แต่รุ่งขึ้น ผมดีใจนะ เพราะคิดว่าได้เวลาจะต้องเปลี่ยนประเทศ แต่คำถามผม ผมรู้ว่า รู้แล้วว่าต้องเดินออกมาในสิ่งที่เป็นตัวตนผม ดังนั้นการที่ผมได้มายืนอย่างนี้ แม้แต่ผมไม่ได้เป็นหัวหน้า ปชป. (เขาแพ้โหวตในการชิงตำแหน่งหัวหน้า ปชป. ให้กับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2561) พอบวกลบย้อนหลัง ผมแฮปปี้กับการเป็นหัวหน้าพรรคไทยภักดีมากกว่า
เพราะมันเราทำอะไรได้สุด ได้เต็มที่ ไม่มีกรอบ กรอบของเราคือความถูกต้อง ประโยชน์ของประชาชน ประโยชน์ของประเทศ
[ หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2564 ]