“การไป Work & Travel คิดว่าควรมีองค์กรที่จะคอยดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าเราอยากไป ก็ต้องหาเอเจนซี่ และอ่านสิ่งที่เอเจนซี่นำมาให้อ่าน ซึ่งมักจะเป็นรีวิวดีๆ เท่านั้น กลายเป็นว่าเราต้องไปพึ่งพาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว”
เชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้จักโครงการ ‘เวิร์คแอนด์ทราเวล (Work & Travel)’ ซึ่งรู้จักมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับหลากหลายเหตุผล เช่น เคยเข้าร่วมโครงการ หรือกำลังสนใจที่จะไป ได้ยินจากเพื่อนใกล้ตัว หรือแม้แต่ลูกหลานเคยพูดถึงโครงการนี้ให้ฟัง
ซึ่งในทุกๆ ปี จะมีนิสิตนักศึกษามากมายที่ต้องการเดินทางไปสหรัฐฯ ผ่านโครงการนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีกลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอยู่มากมายในเฟซบุ๊ก และจำนวนสมาชิกแต่ละกลุ่มมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหลายหมื่นคน
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า Work & Travel เป็นโครงการไปต่างประเทศที่ค่อนข้างได้รับความนิยม ดังนั้น The MATTER จึงพูดคุยกับผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดี ที่พวกเขาเหล่านี้ประสบพบเจอ ขณะอยู่ที่ประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ให้ทุกคนได้อ่านกัน
Work & Travel คืออะไร
ก่อนที่จะเข้าเรื่อง The MATTER ขอพาไปทำความรู้จักโครงการ Work & Travel หรือ โครงการทำงานพิเศษและท่องเที่ยวภาคฤดูร้อนของประเทศสหรัฐอเมริกาเสียก่อน (สำหรับคนที่รู้จักคุ้นหูมาบ้าง สามารถข้ามส่วนนี้ไปได้)
โครงการดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาจากทั่วทุกมุมโลก ได้เดินทางลัดฟ้าเข้าไปทำงานและเที่ยวที่สหรัฐฯ เป็นระยะเวลาสูงสุด 4 เดือน ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับประสบการณ์มากมาย ทั้งการฝึกฝนภาษาอังกฤษ การพบปะเพื่อนใหม่ และการเรียนรู้วัฒนธรรมของอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าใครยังพอจำกันได้ เมื่อ 2-3 ปีก่อน หรือ ปี 2022 มีคนออกมาแชร์ประสบการณ์ด้านลบจำนวนมาก เช่น โดนเอเจนซี่หลอกลวง หรือปัญหาวีซ่าไม่ผ่าน ซึ่งปีนั้นถือเป็นปีที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัส สำหรับคนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ ปัญหาบางอย่างยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังปี 2022 ซึ่งมีการแสดงความเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊กประมาณว่า อย่าดูเฉพาะรีวิวที่เอเจนซี่ส่งให้ เพราะส่วนใหญ่เป็นหน้าม้า บางครั้งพอไปจริง ค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน หรือที่พักไม่เหมือนอย่างที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ หากเกิดสถานการณ์ที่เราต้องการความช่วยเหลือ เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ก็อาจไม่ได้รับคำแนะนำหรือการช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ควรหาข้อมูลด้วยตัวเองให้มากที่สุด ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ (ข้อความข้างต้นเกิดจากการรวบรวมคอมเมนต์ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Work & Travel)
ประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ ที่ขึ้นอยู่กับดวงล้วนๆ
“ถ้าทุกคนมีโอกาส ก็อยากให้ไปนะ มันให้ความรู้สึกเหมือนประโยค ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต’ เพราะได้ทั้งประสบการณ์และเพื่อนใหม่ๆ ก่อนที่เราจะเข้าสู่วัยทำงานเต็มตัว”
คำพูดของ แจน–ชญาณี โต๊ะกังวาล ผู้เข้าร่วมโครงการ Work & Travel เมื่อปี 2021 “เราอยากไปโครงการนี้เพราะตอนอยู่มัธยมอยากไปโครงการแลกเปลี่ยน AFS แต่ที่บ้านไม่พร้อม แต่ตอนอยู่ปี 4 เพื่อนสนิทที่มหาวิทยาลัยชวนไป Work & Travel เราก็เลยรีบตอบตกลงทันที”
เธอกล่าวต่อว่า เพราะอยากไปเห็น อยากไปรู้ว่าสหรัฐฯ เป็นยังไง และอยากไปหาประสบการณ์ ก่อนที่จะเริ่มทำงานในไทย ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับโครงการนี้ พ่อเลี้ยงเป็นผู้ออกให้ทั้งหมด ซึ่งเธอบอกกับพ่อเลี้ยงและแม่ว่า
“มันเหมือนจะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว ก่อนที่จะเรียนจบ พวกเขาก็ไฟเขียวทันที” นอกจากนี้ แจนยังเสริมว่า ทั้งพ่อเลี้ยงและแม่ย้ำกับเธอว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการหางานสอง (second job) เพราะอยากให้ไปหาประสบการณ์เต็มที่ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องเงิน อย่างไรก็ดี เธอเล่าในส่วนของเพื่อนให้ฟังว่า มีเพื่อนที่จำเป็นต้องยืมเงินพ่อแม่ก่อน เมื่อไปทำงานก็ต้องเก็บเงินและนำไปคืนในภายหลัง หรือบางคนก็ยืมจากแม่แฟนก็มี
“เรามองว่าสำหรับคนที่ต้องเก็บเงินเพื่อไปคืนอีกที ถือเป็นภาระที่หนักอึ้ง เพราะแค่ค่าโครงการก็แพงมากแล้ว ไม่ต่ำกว่าหลักแสน ยังไม่รวมค่าอื่นๆ อีกนะ ทำให้หลายคนจึงจำเป็นต้องทำ 2 งาน หรือบางคนต้องทำ 3-4 งาน เพื่อที่จะหาเงินให้ได้มากที่สุด”
แจนเริ่มพูดถึงงานให้ฟังว่า “งานที่มีล้วนเป็นงานที่ใช้แรงงาน อย่างเราทำตำแหน่ง server assistant ในร้านอาหารโรงแรม ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของฟลอริดา (Florida) ซึ่งปกติแล้วจะเริ่มทำงาน 5 โมงเย็นถึง 5 ทุ่ม แต่หากวันไหนที่ร้านค่อนข้างยุ่ง ก็มักจะทำถึงเที่ยงคืนเลย”
หลังจากนั้นแจนแสดงความเห็นเกี่ยวกับเอเจนซี่ Work & Travel ว่า เอเจนซี่ส่วนใหญ่ค่อนข้างแย่ เนื่องจากเธอมีประสบการณ์ส่วนตัวโดยตรงด้วย “เราเคยเป็นลมชักที่นั่น [สหรัฐฯ] หลังจากนั้นก็ถูกนำตัวไปส่งโรงพยาบาล และพักรักษาตัวราวๆ ครึ่งวันเท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายปาไปเป็นแสนบาท” แจนจึงตัดสินใจทักไปหาเอเจนซี่ไทย ซึ่งเอเจนซี่ได้ทำการอ่านข้อความ แต่ไม่ตอบกลับใดๆ ทั้งสิ้น
“ขณะนั้นเรารู้สึกว่า เอาเงินเราไปขนาดนั้น แต่ไม่คิดจะช่วยเหลือกันเลยเหรอ ซึ่งยังโชคดีที่เราทำประกันไว้”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องยิบย่อยอีก 1-2 เรื่อง ที่เอเจนซี่แจ้งข้อมูลผิด จนส่งผลให้แจนต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งเธอรับรู้ภายหลังว่าสิ่งเหล่านี้คือความไม่ตรงปก และเข้าใจว่าเป็นเทคนิคการขายของเอเจนซี่ที่ต้องพูดแต่สิ่งดีๆ
ทั้งนี้ แจนระบุว่าเธอยังโชคดีที่เจองานและเพื่อนร่วมงานที่ดี ดังนั้น โดยรวมแล้วรู้สึกแฮปปี้กับการเดินทางครั้งนี้ เพราะหากเทียบกับเพื่อนคนอื่นแล้ว บางคนเจอเอเจนซี่ที่แย่กว่า เจองานที่ไม่ดี หรือบางคนถึงขั้นโดนคุกคามทางเพศ (sexual harassment) “ท้ายที่สุดแล้ว ความรู้สึกที่จะได้รับจากโครงการดังกล่าว เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลมากๆ ขึ้นอยู่กับดวงเลยว่าจะไปเจอกับอะไรบ้าง”
แจนกล่าวปิดท้ายว่า ตอนที่เธอป่วยต้องการเอเจนซี่มากๆ เพราะไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร ซึ่งเธอมองว่าเอเจนซี่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการเรื่องเหล่านี้ แต่เขากลับไม่ตอบ อาจจะเพราะช่วยเหลืออะไรไม่ได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรมีคำแนะนำกลับมาหรือเปล่า?
วอร์ม–สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ ผู้เข้าร่วมโครงการ Work & Travel ปี 2022 ให้เหตุผลว่าทำไมถึงตัดสินใจไปผ่าน 3 เหตุผลหลัก คือ “อย่างแรกเลย เราเป็นคนที่มีชุดความคิด (mindset) ว่า เราทุกคนเกิดมาครั้งเดียว เลยอยากทำอะไรให้ได้เยอะที่สุด อยากรู้เยอะๆ อยากเก่งขึ้น รวมถึงอยากไปเห็นโลกให้มากที่สุดด้วย เพราะว่าตายไปก็ไม่ได้ทำแล้ว”
วอร์มเล่าต่อว่า เมื่อสมัยเรียนมัธยมเขาเคยไปแลกเปลี่ยนที่ยุโรป และได้เที่ยวหลายประเทศในยุโรปมาแล้ว จึงอยากลองไปสหรัฐฯ บ้าง และการเดินทางไปด้วยโครงการ Work & Travel ก็ตอบโจทย์ เพราะหากเลือกเดินทางไปตอนที่เรียนจบทำงานแล้ว อาจมีปัญหาหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะเรื่องการลางาน
“ตัดสินไปอเมริกา เพราะอยากไปเปิดโลก และมองว่าการไปด้วยโครงการ Work & Travel จะทำให้เราไปง่ายที่สุด”
เขาพูดเหตุผลที่สองว่า โครงการนี้ไปได้เฉพาะตอนที่เป็นนิสิตนักศึกษาเท่านั้น “เราจึงรู้สึกว่าชีวิตนิสิตเราจะไม่คอมพีทถ้าไม่ได้ไป แต่ไม่ไปก็คอมพีทได้นะ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลย” และเหตุผลสุดท้ายคือ ไม่อยากรีบทำงานขนาดนั้น เลยอยากถ่วงเวลาให้มากที่สุด แต่หากไม่ได้เงินเลยก็คงอยู่ไม่ไหว เพราะฐานะที่บ้านไม่ได้ดีขนาดนั้น ดังนั้นเขาจึงสรุปว่า ด้วย 3 เหตุผลนี้จึงเลือกเข้าร่วมโครงการ Work & Travel
อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายสำหรับเข้าร่วมโครงการ วอร์มระบุว่า ครอบครัวจ่ายเป็นหลัก ราว 120,000 บาท และลงทุนเองประมาณ 50,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่ได้มาจากการทำงาน และเงินค่าขนมที่ใช้ไม่หมด หลังจากนั้นเขาได้กล่าวถึงช่วงเวลาที่เดินทางไปถึงสหรัฐฯ ว่า คนที่สามารถช่วยเหลือได้จริงๆ ขณะที่อยู่ต่างถิ่น ไม่ใช่เอเจนซี่ไทยโดยตรง แต่จะเป็น US sponsor หรือพาร์ทเนอร์กับเอเจนซี่ไทยซึ่งมีหลายบริษัทมากกว่า
อย่างไรก็ตาม วอร์มมองว่า US Sponsor ดูแลไม่แย่ แต่ข้อเสียคือไม่มีสาขาในเมืองที่เขาไป แต่จะมีศูนย์ดูแลนักศึกษา (student center) ที่ US sponsor จะจ้างให้ดูแลเด็กที่อยู่ภายใต้สังกัดอีกที ซึ่งวอร์มย้ำว่า US sponsor ดูแลเขาเป็นอย่างดี ต่างกับ student center
“ยอมรับเลยว่าวงการนี้มีอะไรที่คนไม่รู้อีกมาก เพราะแต่ละคนเจอแต่ละเรื่องไม่เหมือนกันเลย”
วอร์มเสริมว่า โครงการ Work & Travel มีความซับซ้อน เช่น เอเจนซี่ขนาดใหญ่ที่ไทยไม่ได้มีพาร์ทเนอร์กับ US Sponsor เพียงเจ้าเดียว เพราะงานกระจายอยู่ตามรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ทำให้ผู้ที่ไปอาจเจอกับบริษัทที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น “เอเจนซี่เพื่อนเราโดนมิจฉาชีพหลอกว่าเป็น US Sponcer เจ้าหนึ่ง ส่งผลให้เพื่อนเราต้องรีบหางานใหม่ และได้ไปเมืองที่ไม่ได้เลือกไว้ตั้งแต่ทีแรกแทน”
นอกจากนี้ เขายังพูดถึงเรื่องที่อยู่อาศัยว่า “US sponsor เป็นผู้จัดหาบ้านพักให้ ซึ่งราคาก็แพงประมาณหนึ่ง แต่ที่น่าตกใจคือ พอไปถึงที่พักกลับไม่ตรงกับภาพ ที่ถูกส่งมาให้ดูตอนที่เรายังอยู่ไทย แบบมันคนละที่กันเลย เพราะห้องที่นี่เล็กมาก นอนอัดกัน 8 คน และมีห้องน้ำห้องเดียว”
จากเหตุการณ์ข้างต้นส่งผลให้วอร์มเกิดความไม่มั่นใจว่าจะสามารถย้ายที่พักได้ภายหลังหรือไม่ และเขายอมรับตรงๆ ว่า ณ เวลานั้นแค่ทำงานก็เหนื่อยจะแย่แล้ว แต่ต้องสู้เพื่อนสิทธิของตัวเอง ซึ่งมันทั้งเหนื่อยและคาดเดาอะไรไม่ได้เลย
เขาเล่าต่อว่ามีความบังเอิญอย่างหนึ่งเกิดขึ้น พอครบ 1 เดือน US sponsor ส่งอีเมลมาสอบถามว่าการทำงาน ที่อยู่ เป็นอย่างไรบ้าง เขาก็รายงานไปตามความจริงว่า “งานดีนะ แต่ห้องพักไม่ค่อยโอเค เพราะอยู่กัน 8 คน” หลังจากนั้นทาง US sponsor ก็ติดต่อ student center ให้เข้ามาตรวจสอบทันที “ซึ่งทำให้เจ้าของบ้านทั้งตกใจและโกรธมาก เราก็รีบพิมพ์ไปชี้แจงว่าไม่มีเจตนาที่ไม่ดี แต่เขาตอบกลับมาว่า ต่อไปถ้าจะทำอะไร ก็คิดถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาด้วย สำหรับเราคือ มันเป็นคำพูดที่น่ากลัวมาก จนเราไม่กล้ากลับบ้าน”
ต่อมาเขาได้ย้ายไปที่พักใหม่ แต่ราคาสูงมาก จึงพยายามต่อรองกับเจ้าหน้าที่ทาง student center พร้อมแจ้งว่า “อยากได้เงินมัดจำจากที่พักเก่าคืน แต่ผู้ดูแลบ้านค่อนข้างเหมือนมาเฟีย อาจไม่ได้เงินคืนหรือเปล่า” หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่คนนี้ก็เปิดลิ้นชักและหยิบมีดขึ้นมาวางบนโต๊ะ ซึ่งการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่อาจหมายความว่า เขาไม่กลัว แต่ถึงอย่างนั้นวอร์มก็รู้สึกช็อกพอสมควร
ทั้งนี้ วอร์มกล่าวว่า เรื่องที่ดีมีมากกว่าถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว อย่างเขาได้รู้จักเพื่อนคนไทย เพื่อนร่วมงาน ที่นิสัยดีมาก และเขายังสามารถหางานสองได้ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะหาได้ “มันเลยขึ้นอยู่กับดวงมากๆ และบางครั้งค่อนข้างเสี่ยงเกินไปด้วย ดังนั้น ถ้าตลอดทั้งโครงการมีความเป็นระบบมากกว่านี้มันจะดีกว่าไหม”
“สุดท้ายคนที่อยากไป Work & Travel ยังไงก็มีอยู่แล้ว แม้พวกเขาจะรู้ว่าอาจมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น ฉะนั้นมันจะดีกว่าหรือเปล่า ถ้าเอเจนซี่ตรงไปตรงมากับลูกค้า”
เขาเสริมว่า อย่าบอกพวกเขาแค่ว่า จะได้เงินมากเท่าไร จะได้ประสบการณ์ดีแค่ไหน แต่ควรบอกมุมอื่นๆ ด้วย ซึ่งเข้าใจได้ว่าการบอกสิ่งนี้อาจทำให้กำไรลดลง ทว่าสุดท้ายแล้ว กำไรไม่ควรสำคัญไปกว่าความปลอดภัยของใครสักคน เพราะคนที่ไปพวกเขามีสิทธิที่จะเลือกเอเจนซี่ไทย แต่ไม่สามารถเลือก US sponsor แปลว่าพวกเขาให้ความไว้ใจทั้งหมดที่มีไปกับบริษัทคุณไปแล้ว
“คิดว่าควรมีองค์กรที่จะคอยดูแลโครงการ Work & Travel โดยเฉพาะ เพราะตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าเราอยากไป ก็หาเอเจนซี่ และพึ่งพาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวเท่านั้น” วอร์มพูดทิ้งท้าย
“โตมากับการดูหนังฮอลลีวูด (Hollywood) เลยค่อนข้างอินวัฒนธรรมป็อบ (pop culture) ของทางอเมริกามาก จนกลายเป็นความฝันหนึ่งสำหรับคนที่ดูหนังฝรั่งมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า อยากจะไปเห็นสถานที่และผู้คนด้วยตาตัวเองจริงๆ อย่างเมืองที่เป็นฉาก (setting) ในภาพยนตร์บ่อยๆ เช่น นิวยอร์ก (New York) แคลิฟอร์เนีย (California) หรือ ซานฟรานซิสโก (San Francisco)”
คำบอกเล่าของ เอิร์ธ–เบญญาภา กระต่ายจันทร์ ผู้เข้าร่วมโครงการ Work & Travel เมื่อปี 2022 ว่าทำไมเธอถึงอยากไปสหรัฐฯ ต่อมาเธอเล่าถึงปัญหาที่พบขณะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการว่า
“ปีนั้นค่อนข้างจะมีปัญหามาก เพราะประเด็นทางการเมืองกำลังคุกรุ่น จนทำให้ท็อปปิกการย้ายไปต่างประเทศบูมมาก ทำให้มีคนสมัครเพื่อไปทำงานสหรัฐฯ จำนวนมาก แทบไม่มีคิวสัมภาษณ์วีซ่าเลย ดังนั้นกว่าเราจะได้เดินทางไป โครงการก็เริ่มไปเดือนหนึ่งแล้ว”
เอิร์ธเริ่มเล่าประสบการณ์ขณะทำงานที่รัฐแคลิฟอร์เนียว่า ร้านที่เธอทำงานถือว่าค่อนข้างดี และละแวกที่ทำงานเหมือนจะไม่มี คนไทยที่มา Work & Travel เลย จึงส่งผลให้ภาษาอังกฤษเธอพัฒนาขึ้นเยอะมาก เพราะเพื่อนร่วมงานไม่มีคนไทย แต่มาจากลิทัวเนีย โรมาเนีย และจาไมก้า เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม เธอเล่าต่อว่า ตอนแรกคิดว่าตัวเองจะกลายเป็นคนไร้บ้าน (homeless) เพราะไม่มีห้องพักให้อยู่ เนื่องด้วยที่ทำงานไม่มีสวัสดิการในส่วนนี้ และเธอเป็นคนเดียวในเอเจนซี่ที่เลือกมาเมืองนี้ จึงหารูมเมทไม่ได้ จนเราต้องลากกระเป๋าเดินตระเวนถามที่พักทุกที่ในเมืองนั้นเลยว่า ยังมีห้องว่างอยู่ไหม ซึ่งกว่าจะหาได้ก็ปาไป 2-3 คืน ซึ่งเราได้ไปพักกับคนที่มาโครงการนี้เหมือนกัน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ
“ตอนนั้นเอเจนซี่เหมือนช่วยอะไรเราไม่ได้ด้วย เขาแนะนำแค่ว่าช่วงแรกๆ ให้ไปเช่าโรงแรมก่อน และค่อยไปถามนายจ้างให้ช่วยหาที่พักอีกที ตอนนั้นเราคิดในใจแล้วว่าถ้าเขาช่วยไม่ได้ละ จะทำยังไงต่อ”
สำหรับเอิร์ธมองว่าเอเจนซี่ค่อนข้างปัดความรับผิดชอบ ในเวลานั้นเธอเดินทางไปคนเดียว “มาย้อนคิดดูแล้วตอนนั้นเราก็โคตรใจเหมือนกันนะ”
ทั้งนี้ เอิร์ทพูดทิ้งท้ายสำหรับผู้ที่ลังเลใจอยู่ว่าจะเข้าร่วมโครงการดีหรือไม่ว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากให้ทุกคนไป เพราะมีทั้งประสบการณ์ที่ดีและไม่ดี ตอนพาร์ททำงานก็อาจจะมีลำบาก มีเหนื่อยบ้าง เพราะมันเป็นงานที่ต้องใช้กำลัง “ตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เหมือนกันว่า ตัดสินใจถูกหรือเปล่าที่เดินทางมาที่นี่ แต่สุดท้ายพอมองย้อนกลับไปแล้ว มันก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่เราจะจดจำไปตลอด (through rose tinted glasses)”
แต่สำหรับใครก็ตามที่อยากไป แต่ไม่สามารถไปได้อาจด้วยเหตุผลเรื่องเงิน สัมภาษณ์วีซ่าไม่ผ่าน ก็ไม่อยากให้โทษตัวเอง หรือเสียใจเหมือนชีวิตจะไม่มีวันพรุ่งนี้แล้ว เพราะแม้ไม่อาจเดินทางในครั้งนี้ได้ แต่ในอนาคตยังมีโอกาสอีกมาก เธอมองว่าชีวิตยังมีประสบการณ์อีกมากมายให้ได้ทำและเรียนรู้
นอกจากนี้ เธอยังกล่าวถึงคนที่มีโอกาสเดินทางไปสหรัฐฯ ว่า “อย่าไปคาดหวังเยอะว่าจะได้เงินมากมายมหาศาลตามรีวิว เพราะถ้าได้ไม่ถึงที่คาดหวัง เราอาจจะรู้สึกผิดหวังกับตัวเองได้ พยายามคิดว่าตัวเองทำเต็มที่แล้ว ปัจจัยภายนอกบางอย่างเราก็ควบคุมไม่ได้”