“สุดท้ายพองานขายไม่ได้ ที่ผ่านมาเป็นเดือนๆ ที่อดหลับอดนอนรีบแก้ ก็คือทำงานฟรีซะงั้น” มีเพื่อนนักเขียนบทคนหนึ่ง (ที่ขอไม่ให้เราบอกชื่อ) มาบ่นให้ฟัง คนทำอาชีพนี้จำนวนไม่น้อยเป็นฟรีแลนซ์ และหลายต่อหลายครั้งที่ไม่ได้ทำสัญญาตกลงกันไว้เนิ่นๆ ทำให้คนทำงานอิสระตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากเมื่อทุกอย่างไม่เป็นใจ แต่แน่นอนหลังจากบ่นเสร็จ เค้าก็ไปนัดคุยงานเขียนบทกับลูกค้าอีกเจ้า ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา
หลายคนที่รู้ว่าเป็นฟรีแลนซ์ ก็ต้องเจออะไรแบบนี้ล่ะ โดนทั้งลูกค้าเอาเปรียบบ้าง สวัสดิการสังคมก็ไม่ได้เพราะไม่มีสังกัดเป็นหลักแหล่ง แถมรายก็ไม่มั่นคง บางทีมีงานเข้ามาเยอะรับทั้งหมดคนเดียวก็ไม่ไหว แต่บางทีงานไม่มีเข้ามาเลย นั่งตบยุงกันไป แต่เชื่อไหม จำนวนฟรีแลนซ์ไม่ได้ลดลงเลยนะ มีแต่จะเพิ่มขึ้น กลายเป็นคลื่นลูกใหม่เรื่องการงานของเหล่ามินเลนเนียล
ถึงจะเป็นเทรนด์ปัจจุบัน จริงๆ แล้ว ‘Freelancer’ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ฟรีแลนซ์’ เป็นคำที่เก่ามาก ก.ไก่ ร้อยตัว มันมาจากคำว่า Free + Lancer ที่แปลว่า ‘พลหอกอิสระ’ ไม่มีสังกัด ใครจ้างก็ไปบู๊ให้คนนั้น ปรากฏครั้งแรกในนิยายเรื่อง Ivanhoe ที่ย้อนไปถึงศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว
ยุคนี้ฟรีแลนซ์กำลังเบ่งบาน
เมื่อดูจากสถิติทั้งในและต่างประเทศที่กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกระทรวงแรงงงานในสหรัฐอเมริกาเค้าก็สำรวจมาเมื่อ 2 ปีก่อนว่ามีฟรีแลนซ์อยู่ 15.5 ล้านคน และในปี 2020 จะเพิ่มถึง 60 ล้านคนและนั่นคือ 40% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานในระบบ ส่วนในยุโรปล่าสุดในปี 2013 พบว่ามีอยู่ด้วยกัน 8.9 ล้านคน (ซึ่งคาดว่าตอนนี้จะเยอะขึ้นมากๆ) ส่วนในสหราชอาณาจักรปีนี้มีผลสำรวจอย่างเป็นทางการแล้วว่ามีอยู่ราวๆ 4.8 ล้านคน
ส่วนในไทยนั้นถึงไม่มีตัวเลขสำรวจออกมาชัดๆ แต่วัดจากจำนวนสมาชิก Freelancebay.com เว็บรวมคนทำงานอิสระทุกสาขาก็มีมากกว่า 38,000 คนแล้ว (นี่แค่จากเว็บไซต์เดียวนะ) นอกจากนี้ บทสัมภาษณ์ของผู้บริหารเว็บไซต์หางานชื่อดังอย่าง JobsDB เมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็สรุปว่ามีแนวโน้มว่าบริษัทต่างๆ จ้างฟรีแลนซ์ ในฐานะแรงงานเฉพาะทางมากขึ้น
กระแสคนทำงานฟรีแลนซ์มาแรงมากจนถึงขนาดมีหนังที่เล่าวิถีชีวิตมนุษย์รับจ้างอิสระอย่าง ‘ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ ออกมาเลย ย้ำเทรนด์ว่าฟรีแลนซ์เป็นทางเลือกที่ตื่นตาตื่นใจของคนรุ่นใหม่ แต่รู้ไหม? ในหมู่ ‘ฟรีแลนซ์’ ก็ยังมีความต่างกันอยู่ จากผลสำรวจของ Freelancers Union of America ที่ร่วมมือกับ Upwork.com คนรับจ้างอิสระแบ่งได้ 5 ประเภท ดังนี้
- ฟรีแลนซ์หาจ๊อบ Independent Contractors พวกนี้คือฟรีแลนซ์ทั่วไป ที่รับงานมาทำเป็นจ๊อบๆ จบโปรเจกต์ก็รับเงิน
- ฟรีแลนซ์หลากหลาย Diversified Workers พวกนี้ทำจ๊อบเล็กๆ หลายๆ งานต่อวันสลับกันไป เช่น ตอนเช้าเอาครีมไปส่งลูกค้าที่ติดต่อมาผ่านอินสตาแกรม, รับสอนพิเศษในตอนบ่าย ตกเย็นขับรถรับจ้าง ตอนกลางคืนรับงานเขียนบทความเป็นต้น
- ฟรีแลนซ์ล่าฝิ่น Moonlighters พลหอกในหมวดนี้มีงานประจำทำอยู่แล้ว และรับงานนอกหรือ “ฝิ่น” เสริมหลังเลิกงาน
- ฟรีแลนซ์ชั่วคราว Temporary Workers เป็นฟรีแลนซ์ประจำรับงานจากลูกค้าเพียงเจ้าเดียว ที่จ้างต่อเนื่องหลายๆ เดือน
- ฟรีแลนซ์เจ้านาย Freelance Business Owners กลุ่มนี้คือฟรีแลนซ์ที่มีลูกค้าเยอะ จนสามารถอัพตัวเองเป็นนายจ้าง เปิดแบรนด์ตัวเองและจ้างฟรีแลนซ์คนอื่นให้มาร่วมงานกัน
สัดส่วนของจำนวนคนเป็นฟรีแลนซ์ในแต่ละหมวดก็มากน้อยลดหลั่นกันไป เบอร์ 1 มีมากสุดที่ 36% และเบอร์ 5 มีน้อยสุดเพียง 5% เท่านั้น ส่วนเบอร์ 2 กับ 3 พอๆ กันคือ 26% กับ 25% ส่วนเบอร์ 4 มี 9%
แต่ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์เบอร์ไหน ต่างก็มีเหตุผลคร่าวๆ ร่วมที่ทำให้ตัดสินเลือกเดินทางสายนี้ ที่ทางสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ รวบรวมมาแล้วก็คือ 1. ต้องการฝึกฝนทักษะของตัวเอง และ 2. ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ลองมาฟังเสียงฟรีแลนซ์เมืองไทยกันหน่อยว่าเป็นอย่างไรบ้าง
“ผมเป็นฟรีแลนซ์ เพราะผมเป็นคนไร้ระเบียบ”
นายบัวบก / นักเขียน / 37 ปี
19 ปีก่อนหน้านี้ นายบัวบกเป็นนักศึกษาด้านบริหารธุรกิจ แต่เมื่อเขากำลังจะจบการศึกษา เขากลับพบว่าโลกของธุรกิจที่แต่ละคนต้องแต่งสูท ผูกไท ใส่รองเท้าหนัง ใช้ชีวิตเป็นระบบเบียบ ไม่ใช่เส้นทางที่เขาต้องการ
“ผมอยากแต่งตัวตามสบาย เข้างานตามใจชอบ ผมเป็นคนไร้ระเบียบ… ผมไม่ชอบทำงานในระบบที่มีผู้บังคับบัญชา ต้องทำในสิ่งที่ไม่ถนัด ต้องไปเจอคนที่ไม่ถูกชะตา”
นี่คือเหตุผลที่นามปากกา “นายบัวบก” ถือกำเนิดขึ้น เขารับงานเขียนหลากหลายทั้ง เรื่องสั้น บทความลงเว็บและนิตยสาร ก็อปปี้โฆษณาและ advertorial จนถึงทุกวันนี้
“แค่ชื่อก็บอกแล้วว่า ฟรี คืออิสระ นี่คือสิ่งดีย์งามสุดที่เงินซื้อไม่ได้”
เพิท / โปรแกรมเมอร์ และ ผู้บริหาร GROOV.asia / 35 ปี
อิสรภาพที่เพิทหมายถึงคือทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศตลอดเวลา “เราน่าจะเป็นกลุ่มคนที่สมัยนี้เรียกว่า Digital Nomad เป็นรุ่นแรกๆ เพราะตอนเรียนจบใหม่ๆ พวกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตามบ้านเริ่มมา เริ่มมี Wifi Hotspot ที่สมัยนั้นยังแพงมาก ๆ อยู่ และเริ่มต่อมือถือเข้ากับ Laptop โดยไปนั่งทำงานที่น้ำตก แต่ตอนนั้นมันเป็น GPRS จะโหลดรูปหนึ่งต้องรอนานมาก”
Digital Nomad หรือที่แปลไทยได้ว่า ‘ชนเผ่าเร่รอนยุคดิจิทัล’ ที่เพิทพูดถึงนั้น หมายถึงการเดินทางไปที่ต่างๆ มีคอมพิวเตอร์ + สัญญาณเน็ตก็ทำงานได้ ซึ่งมันก็สอดคล้องกับงานเขียนโปรแกรมที่เขาทำ อย่างไรก็ดี นี่อาจเป็นไลฟ์สไตล์น่าอิจฉาของคนทำงานอิสระที่หลายๆ คนคงได้เห็นจากสื่อต่างๆ ว่าทำงานแบบนี้เลยมีเวลาว่างมากขึ้น
แต่มันก็อาจเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวก็ได้…
“มันเป็นอาชีพอิสระ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีเวลาว่างมากกว่า”
พีท / ช่างภาพ / 28 ปี
พีทเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ก่อนหน้านี้เคยเป็นช่างภาพประจำของสตูดิโอถ่ายภาพที่หนึ่งมาก่อน ชี้ความจริงอีกด้านให้เรา “มันเป็นอาชีพอิสระ แต่ไม่ได้ความว่าเราจะมีเวลาว่างมากกว่า เราแค่มีอำนาจในการบริหารเวลาได้ดีขึ้น เช่นเราอยากหยุดไปต่างประเทศสักอาทิตย์ เคลียร์งานเสร็จก็หยุดได้เลย ไม่ต้องลาเจ้านาย” ซึ่งนั่นหมายความว่าตราบใดที่ยังสะสางกองงานที่คั่งค้างไม่ได้ ก็อย่างหวังจะได้หยุด ซึ่งตลอดปี 2559 พีทไม่ได้ไปออกไปเที่ยวที่ไหนเลย เพิ่งจะได้ไปพักผ่อนจริงๆ ก็ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา
“เราต้องรับผิดชอบทุกอย่างเพียงคนเดียว เพราะไม่ได้เป็นบริษัทต้องจัดการทุกอย่างเอง พองานมาเยอะๆ เราต้องทำงานหนักกว่าคนทั่วไป”
เหนื่อยกายแล้ว เหนื่อยใจด้วยไหม?
การลุยเดี่ยว นอกจากจะเหนื่อยกายกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นแล้ว บางครั้งยังต้องเหนื่อยใจกับ ‘ความเหงา’ อีกด้วย
“ข้อเสียที่เรารู้สึกคือความเหงา”
หนิง / ล่ามและนักแปล / 31 ปี
บัณฑิตสาวจากคณะอักษรศาสร์ ผู้เดินสายฟรีแลนซ์ตั้งแต่เรียนจบให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “คืองานฟรีแลนซ์ไม่มีสังคมอยู่แล้ว พอเป็นล่ามเข้าไปอีก มันเป็นอาชีพที่ทำคนเดียวนะ ถึงจะมีลูกค้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนจ้างเรา แต่จริงๆแล้วก็คือคนกลาง เราไม่ได้อยู่ฝ่ายไหนเลย มันจะมีบางจังหวะที่รู้สึกเหงาขึ้นมา อย่างเวลาพักต้องคุยกับใคร ต้องเดินไปไหน แต่สุดท้าย มันก็ชิน”
ตัดราคา กดราคา ปัญหากวนใจ แก้อย่างไรกัน?
นอกจากความเหงาแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ฟรีแลนซ์ต้องรับมือคือความไม่มั่นคงทางรายได้ ทั้งเรื่องถูกลูกค้าต่อราคา และโดนตัดราคากันเอง อุปสรรคครั้งใหญ่เรื่องปากท้องแบบนี้ ลองถามพวกเขาดูว่าจะแก้เรื่องนี้กันอย่างไร
นายบัวบกตอบทันทีว่า “ก็ไม่รับสิครับ ผมไม่เคยรับงานพวกนี้ (งานราคาต่ำมากๆ) เลย ผมก็เลือกรับงานที่ผมอยากทำเท่านั้น” หลายๆ ครั้งที่จ็อบงานเขียนที่เขาอยากทำยังมาไม่ถึง และเงินบัญชีน่าวิตก เขาก็รับงานเล็กๆ อื่นๆ ทั้งเป็นผู้ช่วยช่างภาพ เอ็กซ์ตราในกองถ่ายโฆษณา รับปรบมือในรายการทีวี และเป็นสตาฟฟ์ดูแลนักกีฬาเพาะกาย (เฉพาะทางเว่อร์)
ส่วนพีทมองว่า การตัดราคาหรือการกดราคาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ และเป็นความรับผิดชอบของเจ้าตัวเอง ไม่จำเป็นต้องโทษลูกค้าหรือเพื่อนร่วมวงการ
“ถ้าคุณขายตัวเองไม่เป็น ไปเป็นลูกจ้างอาจจะเซฟกว่า”
นี่อาจฟังดูโหดร้าย แต่พีทหมายความตามนั้นจริงๆ “ฟรีแลนซ์ ครึ่งนึงคุณเป็นศิลปิน ครึ่งนึงคุณเป็นนักธุรกิจ มีหลายคนที่เก่ง แต่เป็นฟรีแลนซ์ไม่รอดเพราะไม่รู้ว่าจะขายตัวเองยังไง ตอนผมไปเรียนที่อเมริกา มีช่างภาพคนหนึ่ง อายุ 50 ทำงานมานาน เค้าเล่าให้ผมฟังว่า ถ้าย้อนกลับไปเรียนมหาลัยได้อีกครั้ง เค้าจะเรียนการตลาด ไม่ใช่เรียนถ่ายภาพ”
พีทบอกให้ฟังว่าเขาคิดเรตตามที่ตัวเองมองว่าสมเหตุสมผล ใช้การตลาดดึงลูกค้าจากหลายช่องทางให้เขาเห็นงานเรา แทนจะที่จะลดราคาตัวเอง เพื่อดึงลูกค้า
ลูกค้าสำคัญแน่ แต่สุขภาพเราก็สำคัญนะ
หลายคนอาจเห็นจากในหนัง ‘ฟรีแลนซ์ : ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ ที่ยุ่น-พระเอกของเรื่องทำงานหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล นั่นทำให้เราสงสัย เลยลองเอ่ยปากถามนายบัวบกดู หลังจากที่เห็นปีกที่ไหล่และแขนที่ดูใหญ่กว่าคนทั่วๆ ไป
“ฟรีแลนซ์ สุขภาพกายแย่ งานก็แย่ไปด้วย ถึงจะเป็นงานที่ใช้ความคิดก็เหอะ… ผมยกเวตทุกวัน เข้ายิมดูแลสุขภาพตัวเองทุกวันไม่ให้เจ็บป่วย โชคดีอีกอย่างที่ผมเป็นคนใช้เงินแต่ละวันๆ ไม่เยอะ ไม่ได้แต่งตัว ไม่ได้ซื้อของฟุ่มเฟือย เลยมีเงินเหลือเก็บในยามฉุกเฉิน”
ส่วนหนิงใช้รายได้ตัวเอง ซื้อประกันสุขภาพบ้าง แต่โดยรวมก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นปัญหาอะไรมาก “เราโชคดีที่เป็นคนไม่ป่วย ไม่เคยป่วยเป็นสิบๆปีแล้ว เป็นหวัดยังไม่เป็นเลย แต่ก็ซื้อประกันสุขภาพอะไรไปตามปกติ ไม่ได้กังวลอะไร อาจจะเพราะเราไม่เคยทำงานประจำ ก็เลยไม่เคยนึกเปรียบเทียบว่าจริงๆคนเราควรได้สวัสดิการอะไรบ้าง คือทุกอย่างในชีวิตเป็นเรื่องที่เราต้องทำด้วยตัวเองอยู่แล้ว เราคิดแค่นี้”
แต่มีสิ่งหนึ่งที่หนิงกังวลใจมากกว่าคือธุรกรรมทางการเงิน ที่ฟรีแลนซ์มักจะถูกมองว่า “อาชีพอิสระ = ว่างงาน”
“เวลาต้องยื่นภาษี ขอวีซ่า หรือทำบัตรเครดิต มันเหนื่อยมากที่ต้องยื่นเอกสารทุกอย่างเยอะกว่าคนอื่น แล้วก็เวลาที่ต้องตอบคำถามว่าทำงานอะไร มันยากมากจริงๆ เป็นข้อเสียเดียวที่ไม่เคยชินเลย”
เป็นนายตัวเองมานานแล้ว เป็นนายคนอื่นดูบ้าง
ฟรีแลนซ์หลายๆ คนเมื่อฝีมือดี มีลูกค้าเยอะ ก็เริ่มขยับขยายกิจการ หลายคนผันตัวเองมาเป็นคนจ้างงานสร้างรายได้ให้ฟรีแลนซ์คนอื่นๆ (ยินดีด้วยพวกคุณคือ 1 ใน 5% ของวงการ) แต่ละคนก็มีจะมีวิธีเลือกต่างกันไป
“การจ้างงานแบบนี้ อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่น ส่วนใหญ่เรารู้จักพวกเขาอยู่แล้ว หรือทำงานด้วยกันมาก่อน” เพิทให้คำตอบว่าเขาเริ่มจากการดึงคอนเนคชั่นฟรีแลนซ์ที่เขารู้จักเป็นการส่วนตัวมาก่อน
“ผมมองว่าถ้าคนรู้จักกันมาแล้ว จะทำงานด้วยกันได้ยาวกว่า” พีทพูดเสริม และให้ความเห็นต่อไปว่า “แต่ถ้าคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ก็จะพูดคุยทางโทรศัพท์ ผมจะมีคำถามลองใจ ทดสอบว่าคนที่จะทำงานด้วยมีทัศนติยังไง ถ้าเข้ากันได้ก็จะจ้าง” ซึ่งนอกจากทัศนคติแล้ว พีทยังเสริมว่า ถ้าในตำแหน่งที่ต้องใช้ประสบการณ์ เช่น ช่างภาพกล้องสอง ก็จะต้องขอดูผลงานเก่าๆ กันด้วย
“จุดดีของการจ้างฟรีแลนซ์ตรงที่ ถ้างานเค้าไม่ดี ครั้งต่อไปเราก็ไม่เลือกเค้า” บิ๊ก / Project Manager จากบริษัท 18 มงกุฎ / 35 ปี
นี่คือมุมมองจากผู้ประกอบการ คุณบิ๊ก ผู้จัดการของ Media Agency เจ้าหนึ่งของเมืองไทย ให้ความเห็นว่าส่วนใหญ่ทางบริษัทจะจ้างฟรีแลนซ์มาเป็นกำลังเสริม เวลาที่ทีมหลักทำไม่ทันหรือต้องการทักษะเฉพาะทาง
“มีบ้างในบางครั้งที่ลูกค้ามี requirement เพิ่มเติมจากของเดิมที่กำหนดไว้ โดยบางครั้งเราทำไม่ได้ หรือทำไม่ทัน ซึ่งฟรีแลนซ์จะเข้ามาช่วยเราในจุดนี้ เพื่อให้เราสามารถทำตาม requirement เพิ่มเติม และสามารถปิดงานได้ตามเวลาที่กำหนดไว้”
“ส่วนเรื่องดีกว่าพนักงานประจำอย่างไร ผมว่าเป็นเรื่องของความคุ้มค่ามากกว่า บางงานจ้างฟรีแลนซ์คุ้มค่ากว่า บางงานจ้างพนักงานประจำคุ้มค่ากว่า ดีกันคนละอย่าง ไม่มีใครดีกว่าใคร” องค์กรของบิ๊กได้ใช้พนักงานประจำกับฟรีแลนซ์ผสมผสานกัน เพื่อให้ได้งานออกมาดีที่สุด
บิ๊กย้ำว่าให้ฟรีแลนซ์รักษาคุณภาพงานให้ดีที่สุด เพราะเขาเลือกคนจากผลงานที่ผ่านมาเป็นหลัก “ดูผลงานเก่าๆ ถ้าสามารถทดลองงานเค้าได้ก่อน ก็จะให้เค้าลองทำตามโจทย์ที่เราวางไว้ ดูว่าได้ผลลัพธ์แบบที่เราต้องการหรือเปล่า” ซึ่งแน่นอนว่าถ้าทำงานพลาด ก็อาจจะได้ร่วมงานกันเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายกันไป
ชีวิตดีมีสุข แต่ยังอยู่ “นอกระบบ”
ทุกวันนี้ ฟรีแลนซ์ในเมืองไทยยังถือเป็นแรงงานนอกระบบไม่มีนายจ้าง เลยไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย เช่น ลาพักร้อน หรือลาคลอดโดยที่ยังได้รับเงินเดือนจากนายจ้าง รวมไปถึงไม่มีทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งนั่นแลกมาด้วยอิสรภาพที่พวกเขาเป็นคนกำหนดชีวิต “ด้วยตัวเอง” จริงๆ ทั้งเรื่องงาน, วันหยุด และเงินเก็บ การไม่มีสังกัดหรือรายได้ประจำต่อเนื่อง นอกจากดูไม่น่าเชื่อถือแล้ว ยังได้รับสวัสดิการจากรัฐน้อยกว่าคนทำงานประจำ (เข้าใจได้ว่า ฟรีแลนซ์หลายๆ คนแร้วไงครัยแคร์กับเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว)
ถึงแม้ไม่มีองค์กรสังกัด แต่ฟรีแลนซ์ก็ยังสามารถได้รับประกันสังคม ตามมาตรา 40 ของพรบ.ประกันสังคม (ที่เพิ่งปรับมาใหม่สดๆ ร้อนๆ ในวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา) คนทำงานต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนนั้นด้วยตัวเอง ร่วมกับรัฐบาลที่ช่วยสมทบอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจ่ายมากกว่าคนทำงานบริษัท ที่นายจ้างจะต้องช่วยออกค่าประกันสังคมให้พนักงานทุกคน
โดยสามารถจ่ายรายเดือนได้ 3 แบบ (อารมณ์เดียวกับซื้อโปรมือถือเลย)
- จ่าย 70 บาท : ได้รับเงินชดเชยจากรัฐ 3 กรณี เจ็บป่วย, ทุพพลภาพ (พิการ) และเสียชีวิต
- จ่าย 100 บาท : ได้รับเงินชดเชยจากรัฐ 4 กรณี เจ็บป่วย, พิการ, เสียชีวิต และบำเหน็จผู้สูงอายุ
- จ่าย 300 บาท : (อันนี้โปรโมชั่นมาใหม่) ได้รับเงินชดเชยจากรัฐ 5 กรณี เจ็บป่วย, พิการ, เสียชีวิต, บำเหน็จผู้สูงอายุ และเงินสงเคราะห์บุตร (ได้รับ 400 บาทต่อเดือน จนลูกอายุครบ 6 ขวบ)
ให้ฉันดูแลเธอ รักเธอได้ไหม?
ขณะที่เมืองไทย ฟรีแลนซ์ยังไม่ถือเป็นแรงงานในระบบ ไม่มีสมาคมมารับรองและดูแลผลประโยชน์ให้ แต่ที่ต่างประเทศอย่างในยุโรปและอเมริกา ได้เริ่มมี ‘สหภาพวิชาชีพอิสระ’ ขึ้นมาแล้ว ที่สหรัฐใช้ชื่อว่า ‘Freelancers Union of America’ ส่วนที่สหราชอาณาจักรใช้ชื่อว่า ‘Independent Professionals and the Self Employed’ หรือ IPSE
ทั้งสองหน่วยงานจะให้ฟรีแลนซ์ ลงทะเบียนสมาชิก และเสียค่าธรรมเนียมรายปี เพื่อแลกกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ต่างๆ เข้าไปดูรายละเอียดเต็มของๆ Freelancers Union of America ได้ที่นี่ และของ IPSE ได้ที่นี่
สมาชิกของ Freelancers Union of America จะได้สิทธิในการเข้าถึงประกันสุขภาพ, จดหมายข่าวเกาะติดเทรนด์ธุรกิจ, ได้ discount ในการเข้าถึงสินค้าและบริการ เช่น ซื้อหนังสือได้ในราคาถูกลง, ได้โปรโมชั่นพิเศษในการเข้าเวิร์คชอปหรือสัมมนา, ส่วนลดในการเช่ารถและจ้างงานจากบริษัทออกแบบและพิมพ์โฆษณา รวมถึงได้ส่วนลดเวลาใช้บริการของแอพพลิเคชั่นด้านธุรกิจ เช่น Bench (ที่ช่วยในการจัดคิวรับงาน), AND CO ที่ช่วยในการจัดการ workflow เป็นต้น
เมมเบอร์ของ IPSE จะมี 2 ส่วน แบบ Standard ก็จะรับสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกันกับของฝั่งอเมริกัน แต่เพิ่มโปรโมชั่นให้ใช้ co-working space ทั่วลอนดอนได้ฟรี นอกจากนี้ได้เปิดเมมเบอร์แบบพรีเมียม IPSE Plus ก็จะได้เงินชดเชยพิเศษเพิ่มในกรณีต่างๆ ด้วย เช่น เวลาโดนลูกค้าเทงานผิดสัญญาซะดื้อๆ, เวลาถูกเรียกตัวไปเป็นคณะลูกขุนในศาล และเวลาที่สรรพากรมาเยี่ยมบ้านเพื่อตรวจสอบเรื่องภาษี
นอกจากนี้ IPSE ยังใจดี ทำ ‘คู่มือสำหรับฟรีแลนซ์หน้าใหม่’ ให้ทุกคนได้โหลดไปอ่านกันฟรีๆ ด้วย เนื้อหาครอบคลุมทั้ง วิธีการดีลงาน, การทำสัญญา, การบริหารเวลา รวมไปถึงวิธีเปิดกิจการสำหรับฟรีแลนซ์ที่ผันตัวเองไปทำธุรกิจอีกด้วย โหลดกันโลดที่นี่เลย (อย่าลืมกรอกรายละเอียดให้ครบนะ เราอ่านแล้วแอบอิจฉาคนบ้านเขาเบาๆ ฮือ…)
อนาคตฟรีแลนซ์ไทย เป็นอย่างไรหนอ
“ผมมองว่าฟรีแลนซ์เป็นทางผ่าน เป้าหมายผมจริงๆ คือเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง”
พีทส่งท้ายบทสัมภาษณ์กับเรา พร้อมบอกว่าตอนนี้รับงานถ่ายภาพน้อยลงแล้ว เขาเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งและกำลังจะไปทำธุรกิจส่วนตัว “ปัญหาของฟรีแลนซ์คือเรื่อง scaling ผมต้องลงมาทำทุกอย่างเอง ขยันมากได้มาก ไม่ขยันไม่ได้เงิน… ผมมองว่าฟรีแลนซ์เป็นบันไดไปสู่ความฝันอื่นๆ ของผม”
ในขณะที่หนิงบอกว่าเธอแฮปปี้ดีกับชีวิตแบบนี้และคงไม่คิดจะไปทำงานประจำอีก “เราก็ตั้งใจจะเป็นฟรีแลนซ์ไปตลอดชีวิต เราว่าตัวเองโชคดีที่เจองานที่ทำให้มีความสุขขนาดนั้น… เราอยากเป็นแบบนี้ตลอดไป เราคิดว่าเราเจอที่ของเราแล้ว”
สุดท้ายแล้ว เส้นทางชีวิตของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าใครจะเลือกทางไหน สิ่งหนึ่งที่เราอยากย้อนถามสังคมคือ เรามีโครงสร้างที่ตอบสนองความฝัน และวิถีชีวิตของแต่ละคนแล้วหรือยัง หรือจะต้องเลือกทางใดทางหนึ่งถึงจะมีโอกาสอยู่ดีมีสุขกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก