ทุ่มหมดหน้าตัก เหนื่อยจนหมดไฟ เปิดโหมดออโต้ไพลอต ให้พอทำงานผ่านไปได้ เพื่อชาร์จพลังให้มีแรงไปทุ่มหมดหน้าตักใหม่อีกครั้ง แล้วก็เหมือนจะวนลูปเดิมทุกที แต่ยิ่งได้ก้าวเข้าโหมดทำงานแค่พอผ่านทีไร ก็ยิ่งถอนตัวได้ยาก เพราะรู้ว่าทำแค่นี้มันก็พอผ่านไปได้ เราจะดึงสติตัวเองยังไงไม่ให้หลงอยู่กับวังวนนี้จนถอนตัวไม่ได้ดีนะ
หากใครเป็นพนักงานดีเด่น สะกดคำว่าเฉื่อยไม่เป็นอาจจะยังไม่เข้าใจสถานการณ์นี้ งั้นเราลองมานึกภาพตามไปพร้อมกัน
เรื่องราวที่ว่า มันเกิดเมื่อความขยันในตัวเราอาจไม่ได้ลุกขึ้นมาทำงานพร้อมกับเราทุกวัน ช่วงไหนที่ขยันเราก็ทุ่มเทเต็มที่ แต่ช่วงไหนที่เอเนอจี้ลงเหว ก็ไม่รู้จะเอาแรงที่ไหนมาทำงานเต็มร้อยได้ เลยต้องอาศัยความตุกติกจับทางว่าเส้นแบ่งไหนคือมาตรฐานของงานที่ทำอยู่ทุกวัน พอจับทางได้แล้วก็ทำงานเอาแค่พอผ่าน แม้จะไม่ได้ดีเลิศ แต่ก็ไม่ได้ต่ำกว่ามาตรฐานจนต้องโดนเพ่งเล็ง เหมือนเป็นโหมดประหยัดพลังงาน โหมดออโต้ไพลอต หรือโหมดใดๆ ก็ตามที่ปล่อยให้งานไหลผ่านไป จนกว่าเราจะกลับมามีแรง มีไฟ ขึ้นมาอีกครั้ง
ยิงเต็มข้อมาทั้งปี วันเหนื่อยๆ แบบนี้ขอกึ่งยิงกึ่งผ่าน
แม้จะฟังดูเหมือนมันช่างเป็นคนขี้เกียจเสียเหลือเกิน ใครเล่าเขาจะทำแบบนั้นกัน ขอบอกเลยว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้เสมอ และเกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงจนเป็นเทรนด์ ‘Bare Minimum Monday’ การทำงานให้พอผ่านไปได้ในวันเริ่มต้นสัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทหมดหน้าตัก แค่จัดการสิ่งที่ต้องทำ งานประจำวันให้เรียบร้อยก็พอ เพราะไม่อยากกดดันตัวเองมากเกินไปตั้งแต่วันแรกของการทำงาน จนรู้สึกว่าวันจันทร์กลายเป็นวันแสนน่าเบื่อ พาให้เกิดความหน่ายตั้งแต่บ่ายวันอาทิตย์
เรื่องนี้ไม่ได้ทำหน้าที่แปะป้ายว่าใครคือพนักงานขี้เกียจสันหลังยาวหรือใครเป็นพนักงานดีเด่นไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่เรื่องนี้กำลังบอกว่าอาจด้วยความเครียดที่สั่งสมมานาน เวลาพักผ่อนที่น้อยเหลือทน ทำให้หลายคนเริ่มเหนื่อยล้ากับงานจนไฟในใจมอดดับจนต้องเปิดโหมดประหยัดพลังงานบ่อยเกินไปโดยไม่รู้ตัว สอดคล้องกับตัวเลขจาก Deloitte บริษัทให้คำปรึกษาด้านการเงิน ชี้ว่า 91% ของพนักงาน ไม่สามารถจัดการความเครียดได้จนส่งผลกับประสิทธิภาพในการทำงาน และกว่า 77% เคยมีประสบการณ์หมดไฟกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
อะไรเหล่านี้อาจเป็นสิ่งช่วยยืนยันอีกชั้นหนึ่งว่าความเครียดนั้นเข้ามาประชิดตัวเข้าไปทุกที และความรู้สึกหมดแรงกายแรงใจจะทำงานเต็มระบบก็อาจเป็นผลพวงมาจากความเครียดเหล่านี้ก็ได้ เราเลยได้เห็นเทรนด์ในการทำงานที่คล้ายคลึงกันอย่าง Quiet Quitting ที่ทำงานแค่เท่าที่ไหว ไม่ทุ่มเทกายใจทั้งหมดที่มีอีกต่อไป โผล่มาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ เหมือนมีรากฐานเป็นแนวคิดเดียวกัน แต่เปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อย เปลี่ยนชื่อนิดหน่อยไปตามความเหมาะสม
สิ่งที่เราหยิบมาพูดคุยวันนี้ก็เหมือนกันนั่นแหละ ไม่ได้เป็นไอเดียแปลกใหม่อะไร เราก็กำลังพูดถึงการทำงานแบบพอผ่านไปเหมือนกัน แต่ในสถานการณ์ที่เราหมดแรงกับการทำงานมาก่อนหน้านี้แล้ว หรือไม่มีไอเดียอะไรเฉิดฉายในหัวช่วงนี้ เลยขอเปิดโหมดประหยัดพลังงาน ทำงานพอผ่านไปก่อน เพื่อเอาช่วงเวลาที่ทำงานแบบคาบเส้นนี้ ค่อยๆ สะสมแรงกายแรงใจ เพื่อมาปลุกไฟขึ้นมาใหม่ในสักวัน
มันจะไม่มีปัญหาอะไรเลยถ้าเราสามารถเปิดปิดโหมดที่ว่านั่นได้จริง ราวกับมีสวิตช์ติดตัว แต่ถ้าเราทำแค่พอผ่านจนติดใจ เผลอตัวทำแบบนี้ไปทั้งสัปดาห์ ไม่ใช่แค่ประหยัดพลังงานในวันจันทร์หรือช่วงเวลาเหนื่อยล้า คงจะไม่เป็นผลดีกับเราเท่าไหร่ แล้วเราจะหลุดจากวังวนนี้ยังไงได้บ้าง? มาลองฟังคำแนะนำบางส่วนจาก วิลเลียม แฮร์ริส (William Harris) ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการจัดการกัน
- ผลงานคือตัวแทนของเรา นึกไว้เสมอว่า ผลงานใดๆ ก็ตาม มันจะต้องออกไปสู่สายผู้คนในชื่อเรา หรือถ้าใครทำงานเบื้องหลัง ไม่ได้มีชื่อกำกับในผลงาน ก็ใช่ว่าจะไม่รู้ไม่ชี้ไปได้ เพราะยังไงเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า เหล่าคนทำงานโต๊ะใกล้เคียงกันก็ย่อมรู้ดีว่างานนี้เป็นฝีมือของใคร พยายามไม่ให้งานของเราต่ำกว่ามาตรฐานจนกลายเป็นงานขึ้นชื่อ(ในทางที่ไม่ดี) หรือต้องกลายเป็นงานที่คนอื่นต้องคอยตามล้างตามเช็ดอีกที
- ขยับไปทำอะไรใหม่ๆ ที่เล็งไว้มานาน หากงานที่มีในมือมันน่าเบื่อเสียจนหมดไฟ ลองขยับไปทำอะไรที่เราอยากทำแล้วยังไม่มีโอกาสได้ทำดูบ้าง โดยไม่ต้องรอให้ใครมาเสนอโอกาสให้ เราสามารถเดินเข้าหาโอกาสได้เอง อาจเป็นรูปแบบของความช่วยเหลือให้เพื่อนร่วมงาน นอกจากจะได้มีอะไรทำแก้เบื่อ เปลี่ยนรสชาติจากงานเดิมๆ แล้ว ยังปลดล็อกความรู้ทักษะใหม่ๆ ให้ตัวเองอีกด้วย แต่ก็อย่าลืมรับผิดชอบงานในมือให้ผ่านไปได้ก่อนนะ
- หาช่วงเวลายูเรก้าให้ตัวเอง หากช่วงเวลาทำงานมันช่างเหนื่อยหน่าย ไร้ซึ่งไอเดียใดๆ มาสู้กับคนอื่น งั้นเราลองเปลี่ยนจากการเค้นพลังในเวลาที่ไม่ใช่ มาเป็นหาช่วงเวลาที่เราสบายใจที่จะทำงานที่สุดกัน ช่วงเวลาที่เรายินดีเตรียมข้อมูล ความพร้อม ไอเดีย หรือทรัพยากรใดๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานในวันถัดไป เพื่อให้อย่างน้อยเรามีอะไรในมือไปบ้าง แม้จะอยู่ในโหมดประหยัดพลังงานก็ตาม ช่วงเวลาเหล่านี้ อาจเป็นหลังอาหารมื้ออร่อย เวลาที่ได้พักผ่อนมาแล้วเต็มที่ แม้จะต้องสละเวลาส่วนตัวมาบ้าง แต่ก็เพราะเราต้องชดเชยให้กับความอ่อมที่ไม่ยอมจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยในเวลางานไงล่ะ นี่สินะ สิ่งที่สายอ่อมต้องแลก
เราเข้าใจดีว่า คนเรามันก็มีวันขี้เกียจ วันขยัน สลับกันไปตามเอเนอจี้ในช่วงนั้น การทำงานตามมาตรฐานจึงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร อาจเพื่อชาร์จพลังไว้วันข้างหน้า หรือเพราะไม่มีใจจะทุ่มให้กับองค์กรอีกต่อไปก็ตาม ตราบใดที่ผลงานของเรายังคงติ๊กถูกทุกข้อได้ สิ่งนี้ก็เป็นยันต์คุ้มกันไม้เรียว KPIs ได้ระดับหนึ่ง
แต่ในอีกมุมเราก็ต้องเข้าใจว่า การทำงานแบบคาบเส้นตลอดไป อาจทำให้เรากลายเป็นฟันเฟืองธรรมดาที่จะทำหน้าที่เพียงเท่านี้ไปตลอด ไม่โดดเด่นขึ้นมาจากชิ้นส่วนไหนในกลไกทั้งระบบนี้ แน่นอนว่ามันไม่ผิดอะไร แต่ถ้าหากสักวันจะมีคนที่ทำได้ดีกว่า สักวันจะมีคนเดินแซงหน้า เราเองก็ต้องยอมรับข้อนี้ให้ได้เช่นกัน
อ้างอิงจาก