เขาว่ากันว่า การกักตัวจากโรคระบาด COVID-19 ได้แบ่งผู้คนออกเป็นสองกลุ่ม ไม่ ‘เชฟ’ ก็ ‘แดนเซอร์’
นับเป็นโอกาสทองของใครหลายคนที่จะค้นหาความชอบ หรือความถนัดของตัวเองในช่วงนี้ เพราะการกักตัวอยู่ในบ้านทำให้เรามีเวลาเหลือเฟือที่จะพัฒนาทักษะที่มีอยู่ เรียนรู้วิชาใหม่ๆ หรือสร้างผลงานบางอย่าง เช่น หัดเข้าครัว ฝึกเต้น ลดน้ำหนัก แต่งห้อง หรือพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการสร้างธุรกิจของตัวเอง
เวลาเป็นสิ่งที่มีค่า มนุษย์จึงถูกปลูกฝังให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ในอดีตกาล บุคคลที่มีชื่อเสียงในสาขาต่างๆ ก็ใช้เวลานี้ผลิตผลงานชิ้นโบว์แดงเช่นเดียวกัน อย่างวิลเลียม เช็คสเปียร์ (William Shakespeare) ที่ประพันธ์บทละครชื่อดังเรื่อง King Lear ในช่วงโรงละครปิดตัวเพราะภัยพิบัติ หรือไอแซ็ก นิวตัน (Isaac Newton) ที่สร้างทฤษฎีแคลคูลัสขึ้นในช่วงเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing)
ช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เต็มไปด้วยเวลาว่าง หลายๆ คนก็คงอยากจัดสรรเวลาของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากสุด เพราะรู้สึกว่าการปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์เป็นอะไรที่น่าเสียดาย และถ้าเราได้ลองเลื่อนหน้าฟีดเฟซบุ๊ก หรือไอจี ก็คงจะเดาได้ว่าถ้าโรคระบาดจบลง เพื่อนคนไหนที่มีแววจะไปสมัครมาสเตอร์เชฟซีซั่นหน้าบ้าง เพราะลงรูปเข้าครัวทำอาหารกินทุกมื้อแบบไม่ต้องง้อแกร๊บฟู้ด หรือบางคนก็น่าจะเที่ยวรอบโลกได้แล้ว เพราะใช้เวลาช่วงนี้ฝึกภาษาจนคล่องปรื๋อ
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่เลือกจะอยู่เฉยๆ สั่งแกร๊บฟู้ด นอนดู tiktok คลายเครียดไปวันๆ และอาจจะกำลังรู้สึกว่าตัวเองเป็นบุคคลที่ ‘ล้มเหลว’ เพราะไม่สามารถช่วงชิงโอกาสท่ามกลางวิกฤตนี้ได้ ลำพังแค่ตกงาน รับข่าวสารแย่ๆ ในแต่ละวัน ระวังตัวเองไม่ให้ไปติดโรค และปรับตัวให้ชินกับบริบทใหม่ๆ นั่นก็เหนื่อยมากแล้ว คงไม่ต้องพูดถึงการเอาพลังงานไปทำสิ่งใหม่ๆ เลย
“ถ้าคุณแค่ทำในสิ่งที่คุณจำเป็นจะต้องทำเพื่อให้แต่ละวันผ่านไป นั่นเป็นเรื่องที่โอเค ลองหาสถานที่ที่คุณรู้สึกว่านี่แหละคือพื้นฐานของตัวเอง เพราะจะทำให้คุณรู้สึกว่าคุณจะได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่” ลิซ่า ออร์เบ ออสติน (Lisa Orbe-Austin) แนะนำ โดยเธอเป็นนักจิตวิทยาและผู้แต่งหนังสือเรื่องการเอาชนะโรคคิดว่าตัวเองดีไม่พอ (imposter syndrome)
ความว่างทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวลและรู้สึกผิด เพราะรู้สึกว่า ถ้าฉันไม่ทำอะไร ฉันจะดูเป็นคนขี้เกียจหรือเปล่านะ? หรือแม้แต่การลงมือทำ แต่รู้สึกว่ายังทำ ‘ไม่เต็มที่’ เท่าคนอื่น อย่างเรื่องงานก็เช่นกัน นี่ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้หลายๆ คนเผชิญกับความทุกข์ใจ เนื่องจากกำลังกดดันตัวเองให้ ‘ทำดีที่สุด’ เท่าที่จะทำได้ จนบางครั้งอาจลืมไปว่าดีที่สุดในตอนนี้ ไม่เหมือนกับดีที่สุดในตอนที่ไม่มีโรคระบาด แต่นั่นไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแค่เราต้องจำไว้ว่า นอกจากเราจะต้องเปลี่ยนรูปแบบมา work from home แล้ว สภาพแวดล้อมและบริบทการทำงานก็แตกต่างไปจากเดิม แน่นอนว่าแต่ละคนจะต้องพบกับเงื่อนไขและวิธีการรับมือที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานกับคนอื่น หรือความสามารถในการจัดการงานอดิเรกและกิจกรรมต่างๆ ในช่วงวิกฤตนี้ ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่แฟร์กับตัวเราเองเท่าไหร่
ในหนังสือชื่อ How To Do Nothing ที่เขียนโดย เจนนี่ โอเดล (Jenny Odell) ได้พูดถึงการที่ต้อง productive ตลอดเวลาของมนุษย์ ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยระบบทุนนิยมและการแข่งขัน สุดท้ายก็จะทำให้มนุษย์รู้สึกว่างเปล่าและไร้จุดหมาย แต่การที่เราดึงความสนใจกลับมาที่การสนใจ หรือดูแลตัวเองบ้าง จะทำให้มนุษย์รู้สึกเป็นมนุษย์มากขึ้น
คริส ไบเลย์ (Chris Bailey) นักเขียนชาวแคนาดาและที่ปรึกษาด้าน productivity ได้กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำตัวให้ productive ในช่วงวิกฤตระดับโลกแบบนี้ ซึ่งจริงๆ การที่เรามีเวลาในแต่ละวันมากขึ้นก็ดูจะเข้าท่าดีอยู่หรอก แต่ทุกวันนี้ การอยู่บ้านไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกเอง มันเป็นสิ่งที่เราต้องทำต่างหาก
หรือแม้แต่นักเขียนชื่อดังอย่างเจ.เค.โรว์ลิง (J.K. Rowling) เองก็ไม่เห็นด้วยกับการยัดเยียดให้คนเราต้อง productive ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงโรคระบาด เพราะล่าสุดเธอได้ออกมาแสดงความเห็นบนทวิตเตอร์ว่า
“คุณควรหยุดแปะป้าย ‘คนขี้แพ้’ ให้กับคนที่ไม่สามารถเรียนรู้สกิลใหม่ๆ หรือสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองในช่วงนี้ได้แล้ว แค่พวกเขาเผชิญกับโรคระบาดมันก็มากเกินพอ การไปบอกว่าพวกเขาเป็นพวกขี้เกียจไม่ได้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจใดๆ เลย นอกจากจะทำให้พวกเขาอับอายเปล่า
หากการหาอะไรทำสามารถบรรเทาภาวะซึมเศร้าได้ คนรวยหรือคนบ้างานก็คงไม่ฆ่าตัวตาย ความโศกเศร้า หรือวิตกกังวลไม่ใช่จุดอ่อน แต่มันคือการตอบสนองตามธรรมชาติของมนุษย์ต่อเหตุการณ์ที่ยากลำบากและอันตรายก็แค่นั้นเอง”
“ยอมรับและปล่อยให้ตัวเองได้รู้สึก
คือทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพจิตมากกว่า
พวกเราไม่ใช่ยอดมนุษย์กันสักหน่อย
– เจ.เค.โรว์ลิง”
สำหรับใครที่ทำตัวเป็น เจ้านายที่ลงโทษตัวเอง (own punishing boss) เพราะปล่อยพลังสร้างสรรค์ หรือความมีประสิทธิภาพออกมาไม่ได้ในช่วงนี้ เฮเธอร์ ฮาวรี่เลสกี้ (Heather Havrileskey) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานที่บ้าน แนะนำว่า พยายามทำตารางที่จัดไว้ในแต่ละวันให้เสร็จ แต่ต้องอิงตามความเป็นจริงและมีเมตตาต่อตัวเองด้วย เหนื่อยก็คือเหนื่อย วิตกกังวลก็ให้หยุดพักก่อน อย่าถือเอาความผิดติดมือไปกับวันพรุ่งนี้ด้วย และจงแสดงยินดีกับตัวเองเมื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ เท่านี้ก็พอแล้ว
ปัญหาของเรื่องไม่ใช่การทำหรือไม่ทำ แต่เป็นการทำให้มี ‘ประสิทธิภาพสูงสุด’ ซึ่งวิกฤตโรคระบาดก็ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลง ทำให้มาตรฐานของการมีประสิทธิภาพสูงสุดในแต่ละคนไม่เท่ากัน
อ้างอิงข้อมูลจาก