“การข้ามเพศไม่ใช่ทางเลือก แต่คือความจำเป็น”
ขณะที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างส่งเสริมสิทธิการข้ามเพศให้อยู่ในรัฐสวัสดิการ แต่คนข้ามเพศในประเทศไทยทำได้เพียงแค่ ‘มองดูและเฝ้ารอ’ เสมอมา เพราะการจะข้ามเพศในสังคมไทย ต้องเข้าเนื้อตัวเองอยู่เสมอ
แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา ความหวังในสิทธิที่พวกเขาพึงมีอยู่แล้ว เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เมื่อมีพรรคการเมืองที่จะกลายมาเป็นรัฐบาลยุคถัดไปต้องการผลักดันให้ประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมถึงการข้ามเพศด้วย
ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของบุคคลข้ามเพศ แต่ก็เป็นเพียงการรับรู้ว่ามีตัวตนอยู่เท่านั้น ยังก้าวไปไม่ถึงการส่งเสริมสิทธิ โดยเฉพาะสวัสดิการที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถกำหนดร่างกายของตนเองได้ The MATTER เลยชวนดูมุมมองจาก ‘พรรคไทยสร้างไทย’ ที่พยายามผลักดันให้สวัสดิการของคนข้ามเพศเกิดขึ้นจริง
สิทธิและสวัสดิการคนข้ามเพศในฐานะพลเมืองไทย
การละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์กับกลุ่มเพศหลากหลาย (sexual diversity) หรือ LGBTQIAN+ เกิดขึ้นในลักษณะของการกดขี่จากอัตลักษณ์ความเป็นเพศ การผลิตซ้ำในเรื่องเพศวิถี และการตีตราให้มีพื้นที่ทางสังคมที่จำกัด แต่ต่อมาสังคมต่างๆ มีการพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ทำให้เกิดการขยายความกลุ่มคนที่ถูกทำให้เป็นคนชายขอบ (marginalisation) ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง คนชรา เด็ก คนพิการ รวมถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
อย่างไรก็ตาม เพศชายขอบ หรือ เพศที่ไม่ใช้เพศกระแสหลัก (หญิง-ชาย) ยังถูกขีดเส้นแบ่งและถูกผลักไสไปอยู่ชายขอบของพื้นที่แห่งการยอมรับ ทำให้พื้นที่ในการแสดงออกความเป็นเพศ จึงมีข้อจำกัดและเงื่อนไขมากมาย จนบางครั้งไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่
ไม่เพียงเท่านี้ พวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงการบริการและสวัสดิการทางสังคมต่างๆ อย่างเท่าเทียม ซึ่งสะท้อนถึงข้อจำกัดของงานพัฒนาและสวัสดิการสังคมของประเทศไทยที่ยังไม่ครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเพศหลากหลายที่ก็ถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญที่ระบุในมาตรา 30 ว่า
“การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ หรือความคิดเห็น ฯลฯ ต่อบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้” ซึ่งคำว่า ‘เพศ’ ที่ปรากฏนั้นหมายถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ในทางปฏิบัติภาครัฐกลับไม่มีนโยบายที่สนับสนุน คุ้มครอง และรองรับสถานภาพทางเพศ
ตรงกันข้ามกับสเตรท (Straight) หรือ กลุ่มคนที่มีเพศตรงกับเพศกำเนิด อย่างชายคือชาย หญิงคือหญิง และยังมีรสนิยมทางเพศตามขนบธรรมเนียมหรือตามหลักศาสนา (ชายชอบหญิงและหญิงชอบชาย) ที่มักจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ มากกว่า จนเกิดเป็นช่องว่างหรือการขาดบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีความเข้าใจในสถานการณ์ของกลุ่มคนเพศหลากหลาย
“หากหลักการสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหลักสากล คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัวมาโดยกำเนิด ดังนั้นทุกคนก็มีสิทธิในการเลือกวิถีชีวิตทางเพศของตนไม่ใช่หรือ?”
ทั้งนี้ สังคมไทยยังไม่เกิดการยอมรับเพศหลากหลายอย่างแท้จริง เป็นเพียงการรับรู้ว่าพวกเขามีตัวตนอยู่เท่านั้น แต่ยังก้าวไปไม่ถึงการยอมรับและการส่งเสริมเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ ประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมการข้ามเพศ
จากรายงานผลการวิจัย แนวทางต้นแบบการให้บริการสุขภาพ ที่ครอบคลุมแก่บุคคลข้ามเพศและชุมชนบุคคลข้ามเพศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระบุว่า คนข้ามเพศในภูมิภาคนี้โดยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึงสิทธิสุขภาพ จนเกิดการเรียกร้องให้มีระบบสุขภาพและบริการสุขภาพที่เข้าถึงได้ในระดับคุณภาพที่ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับ เพราะบุคคลข้ามเพศมักจะเข้าไม่ถึงการให้บริการสุขภาพโดยทั่วไป สืบเนื่องมาจากการเลือกปฏิบัติของผู้ให้บริการและผู้รับบริการรายอื่น
นอกจากนี้ ในภูมิภาคนี้ (ยกเว้นฮ่องกง จีน อินเดียบางพื้นที่) ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของการเข้ารับบริการแปลงเพศนั้นไม่ครอบคลุมจากระบบสาธารณสุขหรือระบบประกันสุขภาพ ผลที่ตามมมาก็คือ บุคคลข้ามเพศต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเข้ารับการปรึกษา การวินิจฉัย การตรวจทางการวิทยาศาสตร์ การให้ฮอร์โมน การกำจัดขน การผ่าตัด ฯลฯ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังขาดผู้เชี่ยวชาญ ขาดแนวทางการให้บริการแก่บุคคลข้ามเพศ และยังปรากฏทัศนคติเชิงลบของบุคลากรผู้ให้บริการสุขภาพอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนผลักให้บุคคลข้ามเพศต้องหันไปพึ่งผู้ให้บริการที่ไม่ได้รับการควบคุมและรับรองมาตรฐาน
“ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์นั้น มีอิทธิพลและบทบาทต่อชีวิตของคนข้ามเพศเป็นอย่างมาก”
เมื่อสิทธิพลเมือง สุขภาพทางเพศ เคลื่อนได้ด้วยการเมือง
เราพูดคุยกับ ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย ถึงนโยบายสวัสดิภาพสุขภาพของคนข้ามเพศ (การเทคฮอร์โมนและการผ่าตัดแปลงเพศ) ว่าจุดเริ่มต้นของนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ทวีชัยตอบว่า เพราะเรารับรู้ได้ว่า มีประชาชนมากมายที่มีความรู้สึกผิดแปลกกับเพศกำเนิด เพศสภาพ และอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่พวกเขาส่วนใหญ่ต้องยอมรับชะตากรรมของตนเอง เนื่องจากสวัสดิการรัฐไม่ครอบคลุม ส่งผลให้พวกเขาได้รับผลกระทบทางจิตใจเป็นอย่างมาก
ดังนั้น ทวีชัยจึงมองว่า ในฐานะนักการเมือง ต้องเห็นมนุษย์ที่ถือว่าเป็นประชาชน ต้องทนทุกข์อยู่ในร่างที่ไม่ใช่ร่างของเขา เราก็ควรต้องหาทางช่วยเหลือ ส่งเสริม เยียวยา เพราะว่ากระบวนการข้ามเพศ มันไม่ใช่แค่เทคฮอร์โมนแล้วจบ หรือการไปผ่าตัดแล้วจบ แต่มันยังมีกระบวนการอื่นๆ อีกที่บุคคลข้ามเพศต้องทำอย่างต่อเนื่อง
และราคาของการเทคฮอร์โมนอย่างน้อยเดือนหนึ่งก็หลักพันแล้ว ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีค่าตรวจเลือด ตรวจฮอร์โมน ตับ ไต รวมถึงค่าเดินทางอีก ส่งผลให้บุคคลที่ต้องการข้ามเพศแต่มีรายได้ไม่มาก ก็จะข้ามเพศได้อย่างลำบาก จนต้องไปหาเลือกอื่นที่ถูกกว่าแทน ถึงแม้ว่าวิธีดังกล่าวอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ตาม
“สุดท้ายแล้ว ถ้าลองสังเกตดีๆ ภาระก็ตกอยู่ที่รัฐเหมือนเดิม เพราะรัฐก็ต้องดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ที่ได้รับกระทบจากการเลือกทางนี้อยู่ดี”
ความสำคัญของสิทธิในการข้ามเพศ เห็นได้อย่างชัดเจนจากกรณีของ ก้าวหน้า เสาวกุล ผู้ก่อตั้งทีค พลังทรานส์ (TEAK – Trans Empowerment) ชุมชนผู้ชายข้ามเพศ ไทย-อินโดนีเซีย และอดีตประธานร่วมสมาคมอิลก้า เอเชีย (International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association) ซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้กับบีบีซีไทยว่า เขาต้องฉีดฮอร์โมนไปตลอดชีวิต โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 500 บาท ยังไม่รวมการเข้ารับการผ่าตัดหน้าอก มดลูก และผ่าตัดเพื่อต่ออวัยวะเพศ ซึ่งเสียเงินอีกมหาศาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้คืออุปสรรคให้ชนชั้นล่างไม่สามารถเป็นชายข้ามเพศได้
อย่างไรก็ตาม ทวีชัยกล่าวว่า ถ้าการเทคฮอร์โมนอยู่ในประกันสุขถ้วนหน้าแล้ว ปัญหาที่จะตามมาก็คือการขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้บริการในส่วนนี้ ทำให้ทางพรรคไทยสร้างไทยจึงมีนโยบาย หมอมือถือ (telemedicine) เพื่อให้หมอสามารถพูดคุยและให้คำปรึกษากับผู้ที่ต้องการใช้บริการในช่องทางออนไลน์ได้ เพราะโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ให้บริการเทคฮอร์โมนหรือผ่าตัดแปลงเพศมักจะกระจุกตัวที่กรุงเทพฯ
ดังนั้น นโยบายนี้ก็จะช่วยลดงบประมาณที่ภาครัฐต้องใช้ในการผลิตบุคลากรและเพิ่มสถานที่ให้บริการอย่างทั่วถึง และยังช่วยลดภาระของประชาชนที่จะต้องเสียทั้งเวลาและเงินในการเดินทางเพื่อไปพบแพทย์ เพราะมีหลายเคสที่ใช้วิธีการเทคฮอร์โมนด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ฉีดก็มีอย่างวิธีกิน ทาและแปะ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตนเอง ดังนั้นโรงพยาบาลก็สามารถจัดส่งยาเหล่านี้ทางขนส่งแทนการให้คนไข้ต้องมารับถึงที่
ไม่เพียงเท่านี้ ทวีชัยยังพูดถึงจำนวนงบประมาณที่ต้องใช้เพื่อให้การข้ามเพศอยู่ในสวัสดิการรัฐ โดยระบุว่า ในขณะนี้ข้อมูลงบประมาณที่ต้องใช้ทั้งหมดยังไม่สามารถถูกสรุปออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ แต่ข้อมูลที่เรารู้ ณ ตอนนี้ คือ มีผู้ที่ต้องการข้ามเพศทั้งหมดประมาณ 3 แสนคน แต่ในความเป็นจริงแล้วเราเชื่อว่ายังมีอีกมาก แต่คนเหล่านั้นไม่เคยมีโอกาสไปใช้บริการการข้ามเพศที่โรงพยาบาลเลยด้วยสาเหตุหลักๆ คือ ค่าใช้จ่าย ทำให้ไม่มีข้อมูลของพวกเขา ดังนั้น ตัวเลขของผู้ที่ต้องการข้ามเพศที่ไม่ชัดเจนส่งผลให้ไม่สามารถสรุปงบประมาณอย่างชัดเจนได้
แต่ขณะนี้ ทางโรงพยาบาลศิริราชกำลังทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณที่จะต้องใช้ในการนำการเทคฮอร์โมนและการผ่าตัดแปลงเพศให้เป็นรัฐสวัสดิการว่าต้องใช้จำนวนเงินเท่าไหร่
ทวีชัยเสริมว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ทราบถึงงบประมาณที่ต้องใช้ แต่ทั้งเขาและพรรคไทยสร้างไทยไม่ได้มองที่จุดนี้เป็นหลัก แต่มองถึงความจำเป็นพื้นฐานเป็นหลักของประชาชนข้ามเพศมากกว่า
“ดังนั้น เราถึงผลักดันนโยบายนี้ ถึงแม้ว่าเรายังไม่ทราบข้อมูลอีกมาก อย่างตัวเลขของผู้ที่ต้องการข้ามเพศจริงๆ แต่คิดว่าปัญหาเหล่านี้เล็กน้อยและสามารถหาตอบได้อยู่แล้วในท้ายที่สุด”
ทั้งนี้ เขาเล่าย้อนไปว่า นโยบายสวัสดิการข้ามเพศเริ่มเป็นที่พูดถึงตั้งแต่ปี 2554 แล้ว แต่จนถึงปัจจุบันภาครัฐก็ยังไม่ทราบว่าต้องใช้งบเท่าไหร่ในการส่งเสริมสวัสดิการข้ามเพศ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการกีดกันจากชุดความคิดที่ว่า ‘การข้ามเพศถูกจัดให้เป็นการรักษา ไม่ใช่เป็นการส่งเสริมสุขภาพ’ และก็เถียงกันไปกันมาว่าควรผลักดันหรือไม่ควรผลักดันดี จนไม่ได้มีการเก็บข้อมูลหรือผลักดันนโยบายดังกล่าวซักที
ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าสมมุติว่าในอนาคตสวัสดิการข้ามเพศเกิดขึ้นจริง ประเด็นการลางานเพื่อไปเทคฮอร์โมนและการผ่าตัดแปลงเพศก็สมควรมีเช่นกัน โดยเฉพาะการผ่าตัดแปลงเพศสมควรได้รับวันลาเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องย้อนดูก่อนว่า รัฐบาลจะผลักดันนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการคนข้ามเพศไปถึงขั้นไหนก่อน
ซึ่งทวีชัยมองว่า ถ้างบประมาณประเทศเพียงพอแค่การสนับสนุนสวัสดิการเทคฮอร์โมน ก็อาจจะทำเท่านี้ก่อน แต่ถ้าในอนาคตสามารถทำให้เกิดสวัสดิการผ่าตัดแปลงเพศได้แล้ว ก็ควรจะให้มีสวัสดิการวันลาด้วยเช่นกัน เพราะคิดว่านั่นไม่ต่างกับการลาบวช ลาคลอด
“อย่าเหมารวมว่า ผู้ที่ต้องการข้ามเพศ ต้องการแค่ความสวยงาม อยากมีสามี แต่สมควรมองให้ลึกลงไปถึงสภาพจิตใจของพวกเขา สมมุติว่าเราอยู่ในสภาพที่เราไม่ชอบ เราก็อยากเปลี่ยนแปลงในแบบที่เราชอบเหมือนกัน ฉะนั้นการข้ามเพศไม่ใช่ทางเลือกและไม่ใช่การรักษา แต่เป็นการส่งเสริมสุขภาพกายใจต่อผู้ที่ต้องการข้ามเพศ”
“ดังนั้น เราต้องมองคนเป็นคนก่อนให้ได้ และต้องเข้าใจด้วยว่า มนุษย์ทุกคนมีความหลากหลาย แตกต่าง และมีความต้องการไม่เหมือนกัน ถ้าภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพของประชาชนทุกคน สามารถที่จะรองรับคนข้ามเพศทั้งในด้านสภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ก็จะช่วยให้คนข้ามเพศใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น”
เขายังย้ำด้วยว่า พรรคไทยสร้างไทย มีนโยบายที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและสุขภาพทางสังคม และในขณะนี้พรรคก็ผลักดันนโยบายสมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมแค่ประเด็นทางเพศเท่านั้น แต่ยังมีเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ยิ่งไปกว่านั้น ทางพรรคยังสนับสนุน พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ที่ประชาชนสามารถเลือกใช้คำนำหน้าตามที่ต้องการได้ รวมไปถึงการผลักดันให้เกิดการเรียนการสอนที่ช่วยให้เข้าใจถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ
มุมมองของคนข้ามเพศต่อสวัสดิการข้ามเพศ
“ปัญหาใหญ่ๆ ในการเทคฮอร์โมน คือราคาที่ต้องจ่าย”
คำกล่าวจาก มาย–ชาคริยา สิริธีรสกุล ผู้หญิงข้ามเพศเล่าประสบการณ์ต่อการเทคฮอร์โมน ซึ่งชาคริยาเล่าย้อนไปว่า เธอเริ่มเทคฮอร์โมนตั้งแต่มัธยม ด้วยการกินยาคุมที่เธอในตอนนั้นคิดว่ามันถูกมันควร เพราะได้พูดคุยและได้รับคำแนะนำจากเพื่อนๆ ซึ่งเภสัชกรก็ขายให้ไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม
โดยชาคริยาระบุว่า แทนที่จะได้รับผลลัพธ์ที่ต้องการ แต่กลับได้รับผลกระทบจากตัวยามาแทนมากกว่า แต่ก็ยังเทคฮอร์โมนด้วยวิธีนี้สักพักหนึ่ง เพราะด้วยราคาที่ไม่สูงเกินไป ประมาณกล่องละ 2-3 ร้อย และกินได้เป็นเวลาถึง 1 เดือน
เธอกล่าวเสริมว่า เธอไม่มีวินัยมากพอในการเทคยาให้สม่ำเสมอขนาดนั้น ซึ่งยาดังกล่าวจำเป็นต้องกินให้ตรงเวลาทุกวัน ดังนั้นเธอเลยตัดสินใจเปลี่ยนไปซื้อยาเทคฮอร์โมนจากอินเทอร์เน็ตแทน ซึ่งเป็นยาเทคฮอร์โมนในลักษณะหลอดที่มีราคาสูงขึ้นมาหน่อย
อย่างไรก็ตาม ชาคริยาพบว่า การหาคลินิกที่รับฉีดในเวลานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทางคลินิกก็กลัวว่าต้องรับผิดชอบถ้าหากเกิดกรณีที่คนใช้บริการได้รับความเสี่ยงจากการรับยาที่ไม่รู้ว่าเป็นอันตรายหรือเปล่า จนสุดท้ายแล้วเธอจึงอยู่กับวิธีนี้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น เพราะเธอกังวลว่า คลินิกที่เธอรับบริการอยู่อาจไม่ได้ใช้เข็มฉีดยาใหม่
ต่อมา เธอพยายามหาคลินิกที่มีบริการเรื่องฮอร์โมนโดยเฉพาะแทน เพราะหมอจิตแพทย์ที่เธอเข้ารับคำปรึกษาแนะนำเธอว่า การเทคฮอร์โมนในลักษณะเทคด้วยตัวเองอาจสร้างผลกระทบต่อจิตใจ โดยเฉพาะทางด้านอารมณ์ เพราะเราไม่มีทางทราบว่าต้องใช้ฮอร์โมนจำนวนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมกับร่างกายของเรา ดังนั้นควรไปใช้บริการกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ดีกว่า
แต่ชาคริยาก็บอกว่า เธอพบกับปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐานอีกอยู่ดี เพราะพื้นที่ที่เธออยู่ในขณะนั้น แทบไม่มีคลินิกที่มีการให้บริการเทคฮอร์โมนเลย อย่างไรก็ตาม หลังเธอย้ายมาที่กรุงเทพฯ เธอก็เข้ารับฮอร์โมนจากโรงพยาบาล ด้วยวิธีป้ายใต้แขนซึ่งจะซึมผ่านผิวหนัง ซึ่งเธอระบุว่า ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะค่อนข้างปลอดภัย เพราะมีการตรวจสุขภาพก่อนว่าเราสมควรได้รับปริมาณฮอร์โมนจำนวนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม แต่ราคาขอองมันก็ค่อนข้างสูง ทำให้เธอไม่ค่อยได้ไปใช้บริการสักเท่าไหร่ และต่อมาก็หยุดไปเลย
ชาคริยาให้เหตุผลว่า เพราะด้วยราคาที่ค่อนข้างแพง ถึงแม้จะเป็นราคาที่คิดว่าเธอจ่ายได้ก็ตาม แต่กว่าการเทคฮอร์โมนจะเห็นผลต้องใช้เวลาระยะยาว เลยอยากนำเงินไปใช้กับสิ่งอื่นมากกว่า
“การนำฮอร์โมนมาใส่ในร่างกาย เพื่อที่จะปรับเพศสภาพให้ตรงกับเรามากที่สุด มันกลายเป็นสิ่งที่เราต้องไขว่คว้าหากันเอง เพราะประเทศไทยเราไม่มีรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมในส่วนนี้เลย”
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของเธอเกี่ยวกับคำพูดของทวีชัยว่า “การเทคฮอร์โมนไม่ใช่ความผิดปกติ ไม่ใช่โรค แต่คือสิ่ง ‘จำเป็น’ จึงต้องผลักดันให้การข้ามเพศอยู่ในประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
ชาคริยาคิดว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยเฉพาะการระบุว่า การเทคฮอร์โมนจะอยู่ในประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทนการพูดว่า ‘อยู่ใน 30 บาทรักษาทุกโรค’ เพราะผู้ที่ต้องการเทคฮอร์โมนจำเป็นต้องได้รับสิทธิดังกล่าว โดยที่ไม่ถูกมองว่ามันเป็นสิ่งที่เลือกได้หรือว่ามันเป็นโรคที่ต้องรักษา แต่มันคือสิ่งที่จำเป็นต่างหาก
เธอกล่าวว่า ดังนั้นการใช้คำที่เหมาะสมก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างไม่มากก็น้อยต่อสังคม โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายว่าการเทคฮอร์โมน คือสิ่งที่คนข้ามเพศจำเป็นต้องใช้บริการจริงๆ ไม่ใช่เพื่อการรักษาอะไรทั้งนั้น
เธอยังเสริมว่า การให้ความรู้และความใจเรื่องความหลากหลายกับบุคลากรทางแพทย์ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน ซึ่งหน้าที่ของหมอ คือการรักษาคนไข้ให้หาย และเธอไม่อยากให้บุคลาการเหล่านี้มองคนไข้เป็นเพียงก้อนเนื้อหรือชิ้นเนื้อที่จะปรับเปลี่ยนอะไรก็ได้ มันมีเรื่องอัตลักษณ์ของคนไข้อยู่ด้วย
“อย่างเช่น ควรเรียกคนไข้ทุกคนว่าคุณหรือชื่อไปเลย แทนการเรียกด้วยคำนำหน้านาย นางสาว ซึ่งถ้าคนในวงการแพทย์ให้ความสำคัญกับความละเอียดอ่อนของเรื่องเพศมากขึ้น ก็จะสร้างความสบายใจแก่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ”
ชาคริยาระบุเพิ่มอีกว่า บุคลากรทางแพทย์ควรเป็นคนแถวหน้าๆ ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้ ยิ่งไปกว่านั้น เธอเห็นด้วยที่ว่าควรมีวันลางานเพื่อเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ เพราะมันจำเป็นต้องใช้เวลาและก็ไม่ต่างอะไรกับการลาอื่นๆ ซึ่งเธอบอกว่า ที่ที่เธอเคยทำงานมีสวัสดิการส่วนนี้ให้แก่พนักงานด้วย
“ถ้าสวัสดิการการลาเพื่อแปลงเพศโดยภาครัฐเกิดขึ้นจริง มันก็คงสร้างความอุ่นใจมากแก่คนข้ามเพศ เพราะการเป็นพนักงานเงินเดือน การที่จะหายไปเป็นเวลาหลายวัน เพื่อการแปลงเพศเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจในความจำเป็นของเราในส่วนนี้ “
“เราไม่คาดหวังให้ทุกคนจะเข้าใจถึงความสำคัญของการข้ามเพศอย่างถ่องแท้ แต่อย่างน้อยก็หวังให้รับรู้ถึงคอนเซปต์ของมันว่า ‘การข้ามเพศ’ ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือสิ่งที่เราเป็น และไม่ใช่สิ่งที่จะเลิกได้ด้วย เพราะมันคือตัวตนของพวกเราเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว”
อ้างอิงจาก