“สำหรับน้องคนไหนที่กำลังร้องไห้อยู่ ไม่ร้องแล้วนะคะ” ถ้าพิ่ติ๊กจะพูดคำนี้กับใคร พี่มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กก็คงเป็นคนนึงที่ควรได้รับคำปลอบโยนนี้ เพราะถ้ามองว่า ปีชง คือปีที่มีแต่จะประสบเหตุการณ์เศร้าๆ ร้ายๆ เรื่องปวดหัวทั้งหลาย ปี 2018 นี้ก็คงเรียกได้ว่าเป็น ‘ปีชง’ ของพี่มาร์กกันเลย
เพราะไหนจะถูกเปิดเผย ถูกแฉว่าทำข้อมูลผู้ใช้ส่วนตัวรั่วไหล ต้องเดินทางไปให้วุฒิสมาชิกซักถามกว่า 2 วันเต็ม หุ้นของบริษัทตกระนาวๆ หลายระลอกแล้ว เฟซบุ๊กยังถูกแฮกครั้งยิ่งใหญ่อีก ปีที่เสมือนปีชงของเฟซบุ๊ก และพี่มาร์กนี้ ต้องเจอมรสุมอะไรบ้าง เรื่องปวดหัวรุมเร้าตลอดทั้งปีเป็นอย่างไร The MATTER ได้รวบรวมมาให้ที่นี้แล้ว
มกราคม – สัญญาจะปกป้องชุมชนจากการสร้างความเกลียดชัง
ปี 2017 เฟซบุ๊กเต็มไปด้วยข่าวว่ามีการซื้อโฆษณาจากหน่วยงานวิจัยอินเทอร์เน็ตของรัสเซีย ที่พยายามสร้างอิทธิพลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 เริ่มต้นปี 2018 นี้ พี่มาร์ก ซักเกอร์เบิร์กจึงได้สร้างความมั่นใจ และท้าทายตัวเองว่า จะปรับปรุงการปฏิบัติการของเฟซบุ๊ก “เฟซบุ๊กมีงานที่ต้องทำอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องชุมชนของเราจากการใช้งานที่ผิด และสร้างความเกลียดชัง ป้องกันการแทรกแซงจากรัฐต่างๆ และต้องทำให้แน่ใจว่าเวลาที่ใช้ไปกับเฟซบุ๊กนั้น เป็นเวลาที่คุ้มค่า” มาร์กปล่าวเปิดปีนี้
มีนาคม – ถูก UN ชี้ว่าเฟซบุ๊กเป็นช่องทางปลุกม็อบต่อต้านโรฮิงญา
แต่เพิ่งสัญญากันไปได้ไม่นาน เฟซบุ๊กก็ถูกสหประชาชาติ (UN) กล่าวหาว่า เฟซบุ๊กกลายเป็นช่องทางการแพร่กระจายข่าวปลอมที่เชื่อมโยงกับชาวโรฮิงญา ทั้งยังโจมตีว่าเฟซบุ๊กเองมีความล่าช้า และไร้ประสิทธิภาพในการรับมือการขยายความเกลียดชังไปทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มนี้ และไม่ใช่เพียงในพม่าเท่านั้น แต่ปัญหาของเฟซบุ๊กยังรวมถึงการสร้างความเกลียดชังรุนแรงต่อมุสลิมในศรีลังกา และบังกลาเทศ ซึ่งเฟซบุ๊กได้แก้ไขด้วยการลบแอคเคาท์ผู้ทำผิด และมีการแนะนำว่าเฟซบุ๊กควรออกนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะด้วย
– ถูกแฉว่าทำข้อมูลผู้ใช้ 87 ล้านรายหลุดกับ Cambridge Analytica
หนึ่งในข่าว และวิกฤติใหญ่ของเฟซบุ๊กในปีนี้ที่รุมเร้าพี่มาร์ก ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องข้อมูลหลุดอย่างมหาศาล หลัง Christopher Wylie อดีตผู้ช่วยเก็บข้อมูลออกมาเปิดเผยว่า เฟซบุ๊กได้แอบเก็บข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ 87 ล้านราย และรั่วไหลให้กับ Cambridge Analytica บริษัทด้านวิเคราะห์ข้อมูลที่ทำงานกับทีมเลือกตั้งของทรัมป์ และผู้ที่ชนะแคมเปญ Brexit ให้ดึงข้อมูลส่วนตัวในเฟซบุ๊กโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2014 เพื่อทำแคมเปญหาเสียงให้ทรัมป์ สร้างระบบที่ดูผู้มีสิทธิเลือกตั้งสหรัฐ และกำหนดโฆษณาทางการเมืองที่เหมาะแต่ละคน ซึ่งในวันที่มีการเปิดเผยนี้ทำให้เฟซบุ๊กหุ้นตกลง 7% ซึ่งถือว่าที่รุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี
– เกิดกระแสแฮชแท็กในโซเชียลว่า #Deletefacebook
ถูกรุมเร้าด้วยข่าวต่างๆ แล้ว ทั้งข้อมูลผู้ใช้หลุด ปัญหาพัวพันกับการเมือง ก็เกิดกระแสที่ทำให้พี่มาร์กต้องปวดหัวอีก เมื่อเกิดกระแสและแฮชแท็ก #Deletefacebook ที่ผู้ใช้หลายคนออกมายกเลิก ปิดบัญชีเฟซบุ๊ก ทั้งยังลามไปถึงแอปฯ ในเครืออย่าง Instagram และ WhatsApp ด้วย
เมษายน – ให้การ 2 วันติด โดนวุฒิสมาชิกซักถามเรื่องข้อมูลหลุด
พี่มาร์ก ในฐานะ CEO ของเฟซบุ๊ก ถูกเรียกตัวขึ้นไปถูกซักถามกับวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ กรณีการทำข้อมูลรั่วไหลให้ Cambridge Analytica ซึ่งมาร์กได้ให้การขอโทษ และตลอดการให้การเขายังได้ตอบคำถามซ้ำๆ เดิมๆ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้ตอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีเรื่องน่าชื่นใจ เพราะหุ้นเฟซบุ๊กก็ได้ขึ้นถึง 5 เปอร์เซ็นต์ หลังพี่มาร์กกล่าวขอโทษในครั้งนี้
กันยายน – ถูกแฮกครั้งใหญ่
ช่วงเดือนกันยายน หลายคนคงเจอเหตุการณ์หน้าเฟซบุ๊กเด้ง ต้องเข้าล็อกอินใหม่ ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งเหตุการณ์ร้ายๆ ในปี 2018 ที่เฟซบุ๊กถูกแฮกครั้งใหญ่ ที่แฮกเกอร์ได้ใช้ช่องโหว่จากฟีเจอร์ View As เจาะระบบเข้ามา โดยความเสียหายในครั้งนี้ คือข้อมูลส่วนตัวของกว่า 30 ล้านบัญชีถูกเข้าถึง และอาจถูกเปิดเผย ทั้งแฮกเกอร์ยังเข้าถึงบัญชีของผู้ใช้แต่ละรายได้ด้วย ถือเป็นการถูกแฮกครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งเฟซบุ๊กมา
ตุลาคม – ถูกฟ้องจากคดีตัวชี้วัดวิดีโอที่สูงเกินจริง
ปัญหารุมเร้าในปีนี้ยังไม่หมด แต่ปัญหาเก่าจากปีก่อนๆ ก็ยังมารุมให้ปวดหัวกันอีก เมื่อเฟซบุ๊กถูกฟ้อง จากบริษัท online marketing agency ตั้งแต่ปี 2016 ว่า เฟซบุ๊กได้ตกแต่งค่าตัวเลขเวลาดู Video Ads ที่สูงเกินจริง ซึ่งกระทบต่อผู้ซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊ก ทั้งยังปิดบังข้อมูลนี้อีกเป็นปีหลังตรวจสอบพบความผิดพลาดตั้งแต่ปี 2015 แล้ว โดยบริษัทผู้ฟ้องร้องเชื่อว่า มีโฆษณาบางตัว ที่มีการประเมินเวลาในการดูวิดีโอโฆษณาสูงสูง 60-80% เลยด้วย
– The New York Times อ้างว่าเฟซบุ๊กปิดบังเรื่องอื้อฉาวของรัสเซีย และสั่งทีมขุดข้อมูลโจมตีคู่แข่งอย่าง George Soros
เรื่องอื้อฉาว พัวพันกับรัสเซียก็ยังไม่จบ และยังค้างมาถึงปีนี้ เมื่อหนังสือพิมพ์ The New York Times ได้สืบสวนและออกมาเปิดเผยว่า Sheryl Sandberg ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของเฟซบุ๊ก ได้ทำงานและเก็บหลักฐานการแทรกแซงของรัสเซียระหว่างการเลือกตั้งในปี 2016 ต่อว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เปิดเผยข้อมูลต่อคณะกรรมการ และยังคัดค้านการระบุถึงรัสเซียในรายงานการแทรกแซงจากต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ The New York Times ยังเปิดเผยอีกกรณีว่า เฟซบุ๊กยังได้จ้างบริษัท PR ที่เชี่ยวชาญด้านการขุดข้อมูลโจมตีคู่แข่งทางธุรกิจ สนับสนุนให้ผู้สื่อข่าวเขียนข่าวเกี่ยวกับการเชื่อมต่อทางการเงินระหว่างนักเคลื่อนไหวต่อต้านเฟซบุ๊กกับ George Soros เศรษฐีนักลงทุนที่เคยให้สัมภาษณ์โจมตีเฟซบุ๊ก กับกูเกิ้ลไว้
ธันวาคม – ข้อผิดพลาดของเฟซบุ๊กปล่อยข้อมูลภาพของผู้ใช้ 6.8 ล้านคนกับบริษัทอื่น
เดือนสุดท้ายของปี ก็ยังคงมีเรื่องชงๆ มาไม่หยุด จากกรณีการเกิดข้อผิดพลาดบั๊กใน Photo API ของเฟซบุ๊ก ทำให้กว่า 1,500 แอปพลิเคชั่น สามารถเข้าถึงรูปภาพของผู้ใช้ แม้ว่าผู้ใช้จะแชร์รูปนั้นหรือไม่!! โดยบั๊กนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2018 และส่งผลต่อคนที่ใช้ล็อคอินแอปฯ เชื่อมโยงกับเฟซบุ๊ก ซึ่งเฟซบุ๊กมาค้นพบ และแก้ไขข้อผิดพลาดนี้นันที่ 25 กันยายน 2018 แต่ถึงอย่างนั้น เฟซบุ๊กก็ใช้เวลามากกว่า 2 เดือนก่อนจะออกมาเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะ ทำให้เกิดการตั้งคำถาม โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ถึงการยอมรับ เพราะในยุโรปมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลทั่วไป ที่สั่งการเปิดเผยข้อมูลภายใน 72 ชั่วโมง
– ถูกเปิดเผยกรณีเฟซบุ๊กแชร์ข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ให้บริษัทใหญ่ อย่าง Netflix, Spotify, Amazon
หลุดแล้ว หลุดอีก หลุดจนไม่รู้ว่าเหลือข้อมูอะไรที่ยังปลอดภัยบ้าง แต่จะหมดปีแล้ว ก็ยังมีข่าวข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้เฟซบุ๊กหลุดส่งท้ายปีอีก เมื่อ The New York Times ออกมาเปิดเผยอีกครั้งว่า เฟซบุ๊กได้แบ่งปันข้อมูลส่วนตัวให้กับบริษัทรายใหญ่มากกว่า 150 บริษัท เช่น Amazon, Microsoft, Netflix, และ Spotify ตั้งแต่ปี 2010 แต่ถึงอย่างนั้นเฟซบุ๊กก็ออกมาอ้างว่า พาร์ทเนอร์ของบริษัทได้ทำตามนโยบายข้อมูลส่วนตัวแล้ว
นอกจากเหตุการณ์ที่เรายกมาแล้ว ยังมีเหตุการณ์อีกมากมายกับเฟซบุ๊กในปีนี้ ทั้งต้องพยายามปิดแอคเคาท์ปลอมที่เชื่อมโยงกับรัสเซีย หรืออิหร่าน ถูกสอบสวนเรื่องความเกี่ยวเนื้องกับการเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 ผู้ก่อตั้ง Instagram ลาออก ซึ่งเรียกได้ว่า ปีนี้พี่มาร์ก และเฟซบุ๊กมีเรื่องให้ปวดหัวมากมายเหลือเกิน
แต่ถึงอย่างนั้น เราก็เป็นกำลังให้พี่มาร์ก และเฟซบุ๊กต่อไป เพราะยังไงเราเองก็ต้องหวังพึ่งพาช่องทางอย่างเฟซบุ๊กอยู่ ดังนั้น “ไม่ต้องร้องแล้วนะคะพี่มาร์ก”
อ้างอิงจาก