หลายคนคงตาเบิกโพลงและถามด้วยเสียงสองว่า “บ้าเหรอ? 5G ยังไม่ได้ใช้เลย 6G คืออะไรกัน?”
แต่นั้นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อ 5G กำลังจะถูกทยอยนำมาใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เหล่าวิศวกรทั้งหลายก็หันมาให้ความสนใจกับขั้นต่อไปของเทคโนโลยีว่าจะออกมาในรูปแบบไหน
คงเป็นเรื่องยากที่จะโต้แย้งว่าเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายได้เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของมนุษย์ ทั้งการโต้ตอบระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองและมนุษย์กับโลกทั้งใบ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ นี่อาจจะเป็นสิ่งเดียวที่เป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของยุคสมัยศตวรรษที่ 21
โดยเจ้าเทคโนโลยีล่าสุด 5G (ระบบสื่อสารไร้สายยุคที่ 5) นั้น ทั่วโลกเริ่มมีการทดสอบและลองใช้กันบ้างแล้ว (ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้) ซึ่งก็นำมาสู่คำถามที่ว่าหลังจากนี้จะมีอะไรอีก? 6G จะเป็นแบบไหนกัน? แตกต่างกันยังไง? มีอะไรที่สามารถทำเพิ่มขึ้นมาได้บ้างจาก 5G?
คำตอบอาจจะยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก แต่ก็มีบางอย่างที่พอเป็นเค้าลางให้เห็นว่ามันน่าจะออกมาในรูปแบบไหน เรื่องนี้ต้องขอบคุณผลงานของ Razvan-Andrei Stoica และ Giuseppe Abreu ที่มหาวิทยาลัย Jacobs University Bremen ประเทศเยอรมนี ทั้งสองคนได้นำเอาข้อจำกัดของเทคโนโลยี 5G มาชำแหละและดูว่ามีปัจจัยไหนที่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนให้พัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย และ 6G น่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยี AI
ก่อนอื่นต้องปูทางเกี่ยวกับ 5G สักหน่อย อย่างแรกเลยที่ต้องบอกก็คือว่า 5G นั้นพัฒนามาไกลกว่ามาตรฐานของ 4G ที่เราใช้อยู่ตอนนี้เป็นอย่างมาก อย่างแรกคือเรื่องความเร็ว ซึ่งเร็วกว่า 4G อย่างที่เรียกว่าเทียบกันไม่เห็นฝุ่น โดย 5G จะมีความเร็วประมาณ 20Gbps เทียบกับ 4G แล้วจะเร็วกว่า 100-200 เท่า! (4G อยู่ที่ 10-20 Mbps) ถ้าเปรียบเทียบเป็นภาพยนตร์ HD สักเรื่องบน 4G ถ้าไปอยู่บน 5G ก็จะดูหนังแบบ 8K ได้ประมาณ 400 เรื่องในเวลาเดียวกัน และนั้นอาจจะฟังดูน่าทึ่งแล้วในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่จบเท่านั้น สิ่งที่ทำให้ 5G นั้นน่าสนใจอีกอย่างคือ Low Latency Rate หรือความไวในการตอบสนองของข้อมูล สามารถสั่งงานควบคุมสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หรือเรียกว่าแทบจะทันที จากตอน 4G เฉลี่ยใช้งานจริงจะอยู่ราว 100-200ms แต่เมื่อเป็น 5G จะลดลงไปถึง 100 เท่า เหลือน้อยกว่า 1ms ทางทฤษฎี
อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือทุกอย่างที่อยู่บน 5G
จะสามารถตอบสนองได้แบบ real-time
คุณสามารถที่จะตอบสนอง พูดคุย สั่งงาน ทุกสิ่งที่คุณเชื่อมต่อด้วย
กับคนอื่นๆ แบบไม่มีดีเลย์เลย
สมมติว่าตอนนี้เราใช้เครือข่าย 5G บนสมาร์ตโฟนอยู่ อย่างแรกที่เราจะเห็นได้ชัดๆ เลยคือเรื่องความเร็วที่จะมาช่วยเพื่มอรรถรสในการเสพมีเดียแบบความคมชัดสูง Netflix หรือ YouTube กดเล่นปุ๊บจะไม่มีวงกลมหมุนๆ ที่ต้องรอคอยอีกต่อไป ทุกอย่างจะเป็น HD ทั้งภาพและเสียง สำหรับเหล่าเกมเมอร์สามารถนั่งเล่นเกมส์ออนไลน์ที่เชื่อมต่อกับผู้เล่นมากมายบนโลกใบนี้ด้วย VR Headset หรือ Smartphone แบบ Real-time ไม่มีการกระตุก ไม่มีหน่วง
นอกจากเรื่องความบันเทิงแล้วก็ยังมีเรื่องอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตทั้งหลายที่จะได้ประโยชน์ ลองคิดถึงหุ่นยนต์ที่ใช้ในการทำการผ่าตัด อุปกรณ์เหล่านี้สามารถถูกควบคุมโดยนายแพทย์อันดับหนึ่งของโลกจากบ้านของตัวเองในอเมริกา โดยมีผู้ช่วยที่กำลังเดินทางอยู่เมืองไทย และการผ่าตัดเกิดขึ้นที่แอฟริกา หรือแม้กระทั่งการทำการเกษตรแบบระบบอัตโนมัติ โดรนที่คอยตรวจตราอยู่บนอากาศคอยพ่นปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช หุ่นยนต์บนพื้นดินคอยเก็บตัวอย่างดินและปุ๋ยไปวิเคราะห์ หุ่นยนต์ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อถึงเวลา นี่คือเรื่องของความเป็นความตายและเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาช่วยทำให้ชีวิตของคนบนโลกนี้ดีขึ้น
อีกประเด็นหนึ่งที่คนมักลืมพูดถึงกันเพราะไปจดจ่อเพียงแค่ความเร็วก็คือเรื่องการรองรับผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่เท่าเดิม เพราะ 5G นั้นมีเสาสัญญาณขนาดเล็ก เนื่องจากมีคลื่นความถี่ที่สั้นกว่า 4G จึงทำให้ต้องมีเสาสัญญาณติดอยู่ทั่วบริเวณ (5G ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Millimeter Waves ที่ความถี่สูงและความยาวคลื่นสั้นกว่า 4G ซึ่งปัญหาใหญ่ของมันก็คือมันส่งสัญญาณไปไม่ได้ไกลเท่าไหร่ ในคลื่นของ 4G เราอาจจะห่างจากเสาสัญญาณได้ไกลเกือบ 10 กิโลเมตร ส่วน 5G ไกลสุดได้แค่ประมาณ 300 เมตรเท่านั้น แถมยังผ่านผนังไม่ได้และถ้าอากาศไม่ดีฝนตกก็สัญญาณหายได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้นทางแก้ไขปัญหานี้ก็คือการสร้างจุดรับส่งสัญญาณขนาดเล็กที่มีเต็มไปหมดทุกแห่งในพื้นที่) โดยการมีจุดรับส่งสัญญาณมากมายแบบนี้นำมาซึ่งประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของ 5G ก็คือสามารถรองรับอุปกรณ์ได้มากขึ้นในขนาดพื้นที่เดียวกัน เมื่อเทียบกับ 4G เพิ่มขึ้น 10 เท่าจากที่สามารถรับคนได้ราว 1 แสนคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม. กลายเป็น 1 ล้านคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม. ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในกรณีที่คนมารวมตัวกันเยอะๆ อย่างงานแข่งขันกีฬาระดับโลก การประชุมขนาดใหญ่ ฯลฯ และนำไปสู่การใช้งานในหลายรูปแบบของอุปกรณ์ Internet of things (IoT) อีกด้วย
แล้ว 6G จะดีกว่ายังไงล่ะ?
ในด้านหนึ่งที่แน่นอนเลยก็คือเรื่องความเร็ว
ซึ่งในตอนนี้มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ราวๆ 1 terabit/second
หรือประมาณ 100 เท่าของ 5G
แต่ข้อมูลอะไรที่กันที่จะสามารถได้รับผลประโยชน์จากสิ่งนี้ จากคำอธิบายของ Stocia และ Abreu พวกเขาบอกว่ามันจะทำให้เหล่า AI นั้นเชื่อมโยงหากันและช่วยกันแก้ไขปัญหาระดับที่ซับซ้อนในทันที ยกตัวอย่างเช่นการขับเคลื่อนรถยนต์ไร้คนขับในเมืองขนาดใหญ่ที่ต้องมีการเชื่อมโยงกันและส่งต่อข้อมูลถึงกันอย่างมหาศาลระหว่างสมองกลที่เกี่ยวข้องในวินาทีนั้น คิดถึงรถยนต์จำนวนเกือบสามล้านคันที่เข้าออกเมืองหลวงอย่างนิวยอร์กทุกวัน นี่จะเป็นปัญหาที่ได้รับการแก้ไขโดยสมองกลที่สื่อสารกันตลอดทุกวินาที
รถยนต์ไร้คนขับคันหนึ่งที่ถูกขับเคลื่อนด้วย AI จะคอยส่งรับส่งสัญญาณจากสิ่งรอบข้างและตอบสนองตามความจำเป็น ตำแหน่งที่ตั้งของรถยนต์จะถูกส่งออกไปสู่พื้นที่โดยรอบ เสาไฟฟ้า พื้นถนน ไฟจราจร ทุกอย่างจะมี AI อยู่ในนั้นเพื่อคอยถ่ายทอดข้อมูลถึงกัน รถจักรยานที่ปั่นบนถนน มอเตอร์ไซค์ ปลอกคอน้องหมา นาฬิกาข้อมือของคนวิ่งออกกำลังกาย ฯลฯ AI เหล่านี้จะคอยบอกว่าให้ระวังอะไร เลี้ยวไปทางไหน ต้องเลี่ยงเส้นทางไหนเพื่อจะให้ถึงปลายทางเร็วที่สุด
สิ่งเหล่านี้ล้วนใช้พลังในการคำนวณอย่างหนักหน่วง สมองกลในรถยนต์แต่ละคันต้องสร้างเครือข่ายกับสิ่งต่างๆ โดยรอบอยู่ตลอดเวลา เมื่อผ่านจุดหนึ่งไปก็ต้องไปสร้างเครือข่ายใหม่เรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเป้าหมาย
Stoica และ Abreu กล่าวว่า
“การที่จะแก้ไขปัญหาที่กระจายตัวในการเชื่อมโยงกัน การสื่อสารด้วยข้อมูลจำนวนมากจะเป็นสิ่งจำเป็น ปริมาณของข้อมูลขนาดใหญ่และความรวดเร็วในการตอบสนองที่มากกว่า 5G จะขาดไม่ได้เลย”
แน่นอนว่านี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่ 6G น่าจะเป็นประโยชน์และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม มีความท้าทายอีกหลายอย่างที่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกันอย่างเช่น การตรวจสอบตลาดและวางแผนการเงิน การตรวจเช็คข้อมูลสุขภาพของคนไข้ การตอบสนองและคาดเดาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบ real-time ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความก้าวหน้าที่ไม่เคยมีใครคาดเดาว่าจะสามารถทำได้มาก่อน
แต่กว่าจะถึงตอนนั้น (น่าจะสักช่วง 2030 เพราะแต่ละ generation ใช้เวลาประมาณ 10 ปี) ยังมีอะไรอีกมากมายที่จะต้องเกิดขึ้น 6G ยังคงห่างไกลและภาพยังเลือนลาง คงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าทุกอย่างจะลงตัวและสรุปออกมาให้ทุกคนได้รับรู้ แต่ถ้า Stoica และ Abreu เกิดคาดการณ์ถูกต้องขึ้นมา สมองกลจะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาโลกของเราต่อไปข้างหน้า เทคโนโลยี AI จะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังและกำหนดทิศทางของสิ่งอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นรวมถึง 6G ด้วย
เมื่อเราสามารถดึงเอาความสามารถของสมองกลเหล่านี้ที่อยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ มาร่วมมือกันแล้ว สิ่งที่เราจะได้คือกุญแจสู่อนาคต และโดยธรรมชาติของสังคมอนาคตไม่มีทางหยุดนิ่ง หนทางเดียวที่สิ่งเหล่านี้จะร่วมมือกันได้ก็คือผ่านเครือข่ายไร้สายที่รวดเร็วตลอดเวลานั่นแหละ
อ้างอิงข้อมูลจาก