จนถึงตอนนี้ มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมที่อุบลราชธานีแล้วอย่างน้อย 6,223 ครัวเรือน การเกษตรและเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ชีวิตผู้คนมากมายต้องอยู่ในภาวะอพยพออกจากพื้นที่
ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงที่สุดที่อุบลราชธานีเคยเจอมาในรอบ 40 ปี คำถามคือ เพราะเหตุใดปัญหานี้ถึงเกิดขึ้น อะไรคือปัจจัยสำคัญ แล้วทางออกในอนาคตนั้นอยู่ที่ตรงไหน?
The MATTER สรุปข้อมูลวิกฤตน้ำท่วมอุบลฯ ผ่านทั้งมุมเรื่องภูมิประเทศ ลักษณะที่ตั้งของจังหวัด ปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อม รวมถึงข้อสังเกตที่มีต่อแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่เกิดขึ้น
สภาพภูมิประเทศแบบแอ่งกระทะ
อธิบายกันอย่างนี้ก่อนว่า ภาคอีสานของเรานั้นมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่คล้ายกับแอ่งกระทะ หมายถึงบริเวณขอบๆ ของพื้นที่จะเป็นที่ราบสูง ส่วนตรงกลางจะเป็นจุดต่ำลงมา ซึ่งทำให้ระบายน้ำได้ค่อนข้างยากเวลาเกิดฝนตกหรือเกิดน้ำท่วมหนักๆ ในจังหวัดอุบลฯ
อุบลราชธานี ปราการสุดท้ายรับน้ำภาคอีสาน
นอกจากความเป็นแอ่งกระทะแล้ว ตัวที่ตั้งของจังหวัดอุบลฯ เองก็อยู่ในจุดหลักในการรับน้ำมาจากภาคอีสานตอนบนและล่าง โดยเฉพาะจากจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่รวมแม่น้ำสายหลักจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีอีกด้วย
อธิบายอีกแบบหนึ่งได้ว่า ตำแหน่งและลักษณะทางภูมิศาสตร์ของ อุบลฯ เป็นเหมือนกับ ‘ปราการด่านสุดท้าย’ หรือ ‘ปลายทางรับน้ำ’ ที่จะรับมวลน้ำก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงนั่นเอง
และถึงแม้ว่าเขื่อนปากมูลจะเปิดประตูระบายน้ำออกมาแบบเต็มกำลังทั้ง 8 บานเพื่อช่วยระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง แต่แม่น้ำโขงเองก็มีระดับที่สูงอยู่แล้ว มันเลยยิ่งทำให้การระบายเป็นไปได้ค่อนข้างยากเหมือนกัน
พายุกระหน่ำที่ภาคอีสานต้องเผชิญ
บ่อยครั้งที่ธรรมชาติมีความน่ากลัวและน่าเกรงขามในตัวของมันเอง เมื่อเร็วๆ นี้ภาคอีสานตอนล่างต้องเผชิญหน้ากับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนโพดุล และพายุคาจิกิ ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายจังหวัด
ข้อมูลจาก ชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ได้ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคมเป็นต้นมา มีน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย รวมแล้วอย่างน้อย 32 จังหวัด
การขยายตัวของเมือง ถมดินบางทางน้ำ เพราะพื้นที่แก้มลิงรับมวลน้ำหายไป
มีรายงานที่น่าสนใจจาก ThaiPBS ที่นักข่าวลงพื้นที่ไปตรวจสอบถึงอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในอุบลฯ ครั้งนี้ ซึ่งนั่นก็คือประเด็นเรื่องการเติบโตของเมืองที่ขวางทางน้ำ
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เคยมีงานวิจัยที่พูดถึงความสถานะของ ‘ป่าบุ่งป่าทาม’ (ทำหน้าที่คล้ายๆ กับป่าชายเลนให้กับภาคอีสาน) ที่สามารถช่วยชะลอหรือบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ตอนนี้พื้นที่จำนวนไม่น้อยได้กลายเป็นที่พัก โรงแรม และรีสอร์ทไปแล้ว
“อะไรก็ตามที่คุณทำมันได้คำนึงถึงระบบนิเวศ และการระบายน้ำเดิมไหม ถ้าได้คำนึง คำนึงแค่ไหน หรือไม่ได้คำนึง จะแก้ จะช่วยกันยังไง” อ.สมหมาย ชินนาค จากสาขาวิชาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ ระบุ
ทางออก : การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
อ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ BBC Thai เอาไว้ว่า ทางออกที่ควรจะเป็นอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ
การบริหารจัดการน้ำในมุมมองของ อ.สุทธิศักดิ์ ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องแก้ไขน้ำท่วม แต่ยังรวมไปถึงการจัดการปริมาณของน้ำทั้งปล่อย-กักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้งให้มีประสิทธิภาพด้วยเหมือนกัน
ทั้งนี้ หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้จัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ ‘แก้มลิง’ (พื้นที่กักเก็บพักน้ำ) ที่จะชะลอไม่ให้มวลน้ำโหมเข้าสู่พื้นที่อื่นๆ ในรวดเดียว ซึ่งพื้นที่แก้มลิงในอุบลฯ ลดหายไปพอสมควร เพราะการเจริญเติบโตและการขยายตัวของเมืองที่เข้ามาแทนที่แก้มลิงเหล่านั้น
ในขณะเดียวกัน ยังมีคนที่ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องการกระจายอำนาจและงบประมาณการจัดการภัยพิบัติให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่านี้ด้วยเหมือนกัน
เพราะหลายครั้งองค์กรท้องถิ่นเองก็ขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือ หรืองบประมาณที่จะขับเคลื่อนการช่วยเหลือประชาชนให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/thai/thailand-49671644
https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/1659261
https://www.youtube.com/watch?v=ciwm7BJcg8s
https://www.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/download/16673/79541