ช่วงบ่ายวันจันทร์ฝนพรำของวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1814 ในย่านเซนต์ไจลส์ เขตยากจนแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนของอังกฤษ มีโรงต้มเบียร์นามว่า ฮอร์สชูวร์ ตั้งตระหง่านอยู่ที่หัวมุมถนนเกรตรัสเซลและถนนท็อตแนมคอร์ต พร้อมกำแพงโรงงานที่สูงชะลูดล้อมรอบอาคารบ้านเรือนย่านสลัมอันทรุดโทรม โรงงานแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องการทำเบียร์พอร์เตอร์มาตั้งแต่ช่วงต้นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร
เบียร์พอร์เตอร์ (Porter) เป็นเบียร์ดำเข้มข้นที่นิยมในอังกฤษมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1722 เมื่อ ราล์ฟ ฮาร์วูด จากโรงงานต้มเบียร์อีสต์ลอนดอนผับ ได้คิดค้นขึ้นในปี ค.ศ.1722 และหลังจากนั้นก็มีผู้นิยมนำมันไปต้มทั่วราชอาณาจักร
โรงเบียร์แห่งนี้ มีถังหมักซึ่งทำจากไม้ขนาดมหึมาสูง 22 ฟุต หรือเทียบได้เท่ากับตึกสามชั้น ถังขนาดใหญ่หลายใบนี้บรรจุอยู่ในอาคารหมักเบียร์ พวกมันถูกรัดไว้ด้วยห่วงเหล็กขนาดใหญ่หลายวงซึ่งพันล้อมรอบถังเบียร์เอลสีน้ำตาลขนาดบรรจุกว่า 1 ล้านไพนต์ เพื่อไม่ให้มันเกิดการระเบิดและทะลักออกมาระหว่างกระบวนการหมัก
โรงเบียร์แห่งนี้ผลิตเบียร์สีเข้มมากกว่า 100,000 บาร์เรลในแต่ละปี และไม่เคยมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น จนกระทั่งในบ่ายวันนั้นนั่นเอง ประมาณ 16:30 น. จอร์จ คริก เจ้าหน้าที่คลังสินค้าในโรงต้มเบียร์ ได้เดินตรวจสอบถังไม้หมักเบียร์ดำสูงเท่าตึกสามชั้นแต่ละถังตามวงรอบแต่ละวัน คริกสังเกตเห็นว่าหนึ่งในห่วงเหล็กมัดถังขนาด 700 ปอนด์ ได้หลุดออกจากถังขนาดมหึมาที่เต็มไปด้วยแรงดันเบียร์มหาศาลที่กักเก็บมากว่า 10 เดือน
คริกซึ่งทำงานให้กับโรงเบียร์แห่งนี้มา 17 ปี ไม่รู้สึกถึงอันตรายใดๆ เหตุการณ์ห่วงหลุดแบบนี้เกิดขึ้นสองถึงสามครั้งต่อปี และมันไม่เคยส่งผลอันตรายใดๆ เพราะยังมีห่วงอื่นอีกมากมายที่ยังรัดถังเบียร์อยู่ แต่คริกทำตามหน้าที่ เขาไปแจ้งหัวหน้าของเขา และได้คำตอบจากหัวหน้าว่า “ไม่น่าเกิดอันตรายใดๆ กับผลอะไรก็ตามที่จะตามมา” หัวหน้ายังให้คริกเขียนบันทึกไว้ เพื่อให้พนักงานซ่อมถังเบียร์มาแก้ไขในวันถัดไป
แต่ไม่ว่าด้วยสาเหตุอันใด แรงอัดจากกระบวนการหมักที่ก่อตัวขึ้นภายในถังเบียร์ถังนี้ มีมากกว่าถังเบียร์ปกติอื่นทั่วไป ไม่นานหลังจากที่คริกเขียนบันทึกเสร็จ เวลาประมาณ 17.30 น. คริกก็ได้ยินเสียงระเบิดขนาดใหญ่จากภายในห้องเก็บถัง เบียร์กว่า 1 ล้านไพนต์ (หรือประมาณ 5.7 แสนลิตร) ระเบิดออกมาจากถัง ถังเบียร์ที่โรงเบียร์รับประกันว่าแข็งแรงแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่างรวดเร็ว คลื่นเบียร์แรงอัดมหาศาลกว่า 570 ตันทำลายถังเบียร์ที่อยู่ติดกันดั่งปฏิกิริยาลูกโซ่ ถังเบียร์ทุกถังในนั้นพังลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นคลื่นของเหลวแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่ทำลายกำแพงอิฐทะลุอาคารและกำแพงโรงงานออกมาสู่ภายนอกอย่างรวดเร็ว
คลื่นเบียร์ความสูง 15 ฟุต ขนาดหลายล้านลิตรออกมายังถนนเกรตรัสเซล มันได้พุ่งทะลุเข้าไปทำลายผับชื่อ ทาวิสสต็อค อาร์มส เศษซากอาคารและน้ำเบียร์ได้ทับถม เอเลนอร์ คูเปอร์ พนักงานบาร์ผู้หญิงที่กำลังทำความสะอาดอยู่ด้านในเสียชีวิตทันที คลื่นเบียร์วิ่งผ่านตรอกแคบๆ ทุกซอกทุกมุม กวาดล้างทุกสิ่งที่ขวางหน้า คลื่นเบียร์ไหลเข้าสลัมในย่านเซนต์ไจลส์ ชาวบ้านต่างปีนขึ้นโต๊ะและเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ เพื่อเอาตัวรอดจากการจมน้ำเบียร์
เบียร์ยังไหลไปยังถนนนิว, แมรี่ แบนฟิลด์ ที่กำลังนั่งดื่มชาอยู่ในตัวบ้านพร้อมกับ แฮนนาห์ และ ซาราห์ ลูกสาววัย 4 ปีและ 3 ปีของเธอ ถูกคลื่นซินามิเบียร์พัดออกไปอย่างรวดเร็ว แฮนนาห์และซาราห์เสียชีวิตจากการจมน้ำเบียร์
แรงของคลื่นเบียร์ยักษ์ฆาตรกรยังไหลพัดเข้าบ้านหลังหนึ่งซึ่งกำลังทำพิธีไว้ทุกข์อยู่ในห้องใต้ดิน มันได้สังหาร แอนน์ ซาวิลล์ และอีก 4 คนที่กำลังร่วมพิธีอยู่ในขณะนั้น พวกเขาทั้งหมดพยายามตะกุยเบียร์ออกมาสูดอากาศหายใจ แต่เบียร์ได้ท่วมท้นไปทั้งห้องใต้ดิน ความมืดดำของมันทำให้พวกเขาหาทางออกไม่เจอและเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจทั้งหมด
เบียร์ได้ไหลออกไปสามถนนหลักด้วยกัน หนักที่สุดคงจะเป็นย่านเซนต์ไจลส์ที่อยู่ใกล้ที่สุด หลังจากที่คลื่นสงบลง เบียร์ยังคงท่วมขนาดสูงเท่าเอว เจ้าหน้าที่กู้ภัยหลายคนพยายามลุยเบียร์เข้ามา ยกซากอิฐและไม้ที่กองทับอยู่หลายจุดเพื่อค้นหาผู้ที่ยังคงติดอยู่ด้านใน เสียงสบถ เสียงกรีดร้อง และเสียงร่ำไห้ ต่างปะปนกระหึ่มไปทั่วย่านเซนต์ไจลส์ที่บัดนี้ไม่เหลือสภาพเดิมอีกต่อไป จนเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องตะโกนสั่งให้ทุกคนเงียบเพื่อฟังเสียงคนที่กำลังร้องขอความช่วยเหลืออันแผ่วเบาอยู่ในซาก
หนังสือพิมพ์ The Morning Post ของกรุงลอนดอน อธิบายโศกนาฏกรรมนี้ว่า
“หนึ่งในอุบัติเหตุที่น่าเศร้าที่สุด ความเสียหายโดยรอบทั้งหมดเป็นภาพที่น่ากลัวและน่าสะพรึงกลัวที่สุด ไม่ต่างกับเหตุไฟไหม้หรือแผ่นดินไหว”
สุดท้ายแล้วเหตุน้ำเบียร์ท่วมครั้งนี้ได้สังหารสตรีและเด็กทั้งหมด 8 คน น่าแปลกที่ทุกคนในโรงเบียร์ทั้งหมดกลับรอดชีวิต ศพของผู้เสียชีวิตทั้งหมดถูกใส่ในโลงศพ และวางติดกันไว้บนสนามหญ้าในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในลอนดอน ชาวลอนดอนมากมายได้หลั่งไหลมาแสดงความเศร้าโศก และโยนเหรียญเพนนีและชิลลิงลงบนจานเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายงานศพของพวกเขา
สองวันหลังจากเกิดภัยพิบัติ คณะลูกขุนได้ร่วมประชุมกันเพื่อตรวจสอบและสอบสวนอุบัติเหตุครั้งนี้ พวกเขาทั้งไปดูสถานที่เกิดเหตุ ดูศพเหยื่อ ฟังคำให้การของคริก และผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆ
สุดท้ายแล้ว คณะลูกขุนตัดสินว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็น “การกระทำของพระเจ้า และเหยื่อได้พบกับความตายโดยบังเอิญ ด้วยโชคชะตาอันโชคร้ายของพวกเขา”
ส่วนทางโรงเบียร์ พวกเขาไม่เพียงแต่รอดพ้นจากปกติที่ต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้กับผู้ประสบภัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ยากไร้แล้วนั้น แต่โรงเบียร์ยังได้เงินคืนจากรัฐสภาอังกฤษสำหรับภาษีสรรพสามิตของเบียร์ที่สูญเสียไปที่ได้จ่ายไปแล้วล่วงหน้า
ถึงแม้จะไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ แต่โรงเบียร์ต้องใช้เงินกว่า 23,000 ปอนด์ (คิดเป็นค่าเงินในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 1.88 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 88.6 ล้านบาทไทย) เพื่อฟื้นฟูกิจการและก่อสร้างโรงงานให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม พวกเขาดำเนินกิจการต่ออีก 108 ปี จนถึงปี ค.ศ.1922 โรงงานต้มเบียร์ฮอร์สชูวร์ก็ได้ปิดตัวลง ทุบทิ้ง ปัจจุบันกลายเป็นโรงละครโดมิเนียน หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งใน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น โรงงานเบียร์ได้พยายามพัฒนาวัสดุกักเก็บให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถังคอนกรีตผสมเรซิ่น หรือแอสฟัลต์ จนมาถึงถังหมักเบียร์ในปัจจุบันที่ใช้สแตนเลสที่มีความแข็งแรงทนทาน ทำความสะอาดง่าย และยังสามารถสามารถนำไปรีไซเคิลได้
เหตุการณ์น้ำท่วมเบียร์ในครั้งนี้คงเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์เดียวและเหตุการณ์สุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
อ้างอิงข้อมูลจาก