20 ปีมานี้ พื้นที่ป่าไม้ในไทยลดลงถึง 3 ล้านไร่ ทุกครั้งที่เมืองเติบโตขึ้นธรรมชาติจะเดินสวนทางกับความเติบโตนั้น คำถามสำคัญก็คือ ธรรมชาติกับเมืองแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิงจริงหรือ ป่ากับเมืองสามารถอยู่ร่วมกันได้ไหม
เพื่อเข้าใจถึงปัญหาที่ทำให้การอยู่ร่วมกันระหว่างเมืองกับต้นไม้ในเมืองไทยยังไม่ประสบความสำเร็จสักที Young MATTER พาไปดูกันว่ากระบวนการอะไรและวิธีไหน ที่ทำให้ต้นไม้ในเมืองของต่างประเทศสามารถอยู่ร่วมกับเมืองได้อย่างเป็นมิตร
ดินแดนอาทิตย์อุทัยมี ‘ต้นไม้ ‘ มากมายรอรับแสงแดดเสมอ
ถึงแม้ญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งแม่น้ำที่ใสสะอาด ภูเขาที่งดงาม ต้นไม้ที่เขียวชอุ่ม แต่ความงดงามนี้ก็เคยมีช่วงเวลาที่เพลี่ยงพล้ำของมันมาก่อน
การมาถึงของ ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ ได้คร่าจำนวนประชากรต้นไม้ในกรุงโตเกียวจาก 105,000 เหลือเพียง 42,000 คิดเป็น 60 % จากทั้งหมด ต้นไม้มากมายที่โดนลูกหลงจากระเบิดต้องถูกถอนรากถอนโคนทิ้งไป แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศของคนขยัน ญี่ปุ่นไม่รอช้าที่จะทวงพื้นที่สีเขียวที่หายไปให้กลับคืนมา ในปี 1946 ญี่ปุ่นลงมือปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่จนทำให้มีต้นไม้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมถึง 10 %เปลี่ยนพื้นดินที่แห้งแล้งให้เป็นสวนสาธารณะ และต่อมาในปี 1948 ก็ช่วยกันฟื้นฟูต้นไม้มากมายบนทางเท้า จนส่งผลให้ในปี 1980 ญี่ปุ่นมีจำนวนต้นไม้ในเมืองสูงถึง 235,000 ต้น ซึ่งมากกว่าที่เคยมีมาซะอีก
Washington D.C เมืองที่ไม่ได้มีดีแค่เป็นเมืองหลวง
Washington D.C. คือเมืองที่มีประวัติศาสตร์การปลูกและรักษาต้นไม้มาอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่ปี 1872 ผู้ว่าการรัฐอเล็กซานเดอร์ออกคำสั่งว่า Washington D.C. จะต้องมีการปลูกต้นไม้ในเมืองอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้ D.C. กลายเป็นเมืองแห่งต้นไม้ในเวลาต่อมา
ในปี 1889 บทความจาก Haper’s Magazine ได้ประกาศยกย่องให้ Washington D.C. เป็นเมืองที่มีความงามเกินกว่าประเทศใดๆ เพราะเหล่าบรรดาต้นไม้ที่มากมายนั่นเอง และในปัจจุบันก็มีการจัดตั้งหน่วยงานดูแลต้นไม้อยู่รอบๆ เมืองขึ้น โดยมีหน้าที่ดูแลต้นไม้กว่า 2 ล้านต้นทั่วเมือง
Ireland เกาะสวรรค์ที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว
Ireland ถูกขนานนามว่า ‘เกาะมรกต’ อันมีสาเหตุมาจากพื้นที่สีเขียวที่มีมากในชนบทซึ่งไม่ต้องคิดเลยว่าในเมืองจะมีมากขนาดไหน ปี 1992 ป่า Belfast ใน Northern Ireland ไม่ได้แยกออกจากเมืองโดยสิ้นเชิง เพราะมันปกคลุมไปถึง Belfast City เลยแหละ และในปี 1998 ยังมีการปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ถนนโรงเรียน และโรงงาน มากถึง 200,000 ต้น
ป่า Belfast จึงเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันแบบสุดฤทธิ์ของรัฐบาลท้องถิ่นและส่วนกลาง องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ ทำให้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งปี 2014-2016 Belfast ปลูกต้นไม้ได้กว่า 90,000 ต้นเลยทีเดียว
Palo alto เมืองแห่งต้นไม้
Palo alto คือเมืองที่ถูกตั้งชื่อตามต้นไม้อาวุโสอายุกว่า 1,000 ปี ‘El Palo Alto’ ก่อนจะเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอย่างหนาแน่นในทุกวันนี้ ที่นี่เคยถูกปกคลุมไปด้วยทุ่งหญ้าสลับกับต้นโอ๊กพื้นเมืองเต็มไปหมด ช่วงต้นปี 1980 ผู้สนับสนุนและประชาชนที่เป็นนักเคลื่อนไหวในเมือง ได้เรียกร้องให้มีการสร้างทางเท้าและปลูกต้นไม้ในบริเวณนั้นควบคู่ไปด้วย ทุกวันนี้ Palo Alto จึงมีประชากรต้นไม้ในเมืองสูงถึง 36,000 ต้น
Palo Alto เป็นเมืองที่ได้ประโยชน์จากระบบนิเวศที่เรียกว่าป่าอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะความร่มรื่นหรืออากาศบริสุทธิ์ สาเหตุที่ทำให้เมืองมีต้นไม้เยอะอย่างทุกวันนี้ได้เพราะวิสัยทัศน์ของประชาชนและผู้นำของเมือง ที่มีการจัดตั้งกองทุนป่าไม้เพื่อพัฒนาทัศนียภาพที่สวยงาม จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘เมืองแห่งต้นไม้’ ของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1986 เลยทีเดียว
เมื่อเมืองบอกเลิกต้นไม้ บทเรียนราคาแพงที่แสนเจ็บปวด
ประเทศไทยเริ่มมีการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุนป่าไม้เพื่อพัฒนาทัศนียภาพให้สวยงามอย่างในต่างประเทศ โดยมี ‘ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี’ นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เคยทำงานวิจัยเรื่อง ‘ความเต็มใจจ่ายเพื่อพื้นที่ป่าไม้ของชาวกรุงเทพฯ’ ผลการวิจัยพบว่า คนในเมืองให้ความสำคัญกับป่าในเมืองน้อยทั้งๆ ที่นั่นคือธรรมชาติที่อยู่ใกล้ตัวเขามากที่สุด
ก่อนจะปลูกต้นไม้ เราควรปลูกคนก่อน เมื่อคนเห็นว่าต้นไม้เหล่านี้มีความสำคัญทั้งต่อตัวเขาเองและเมืองที่อาศัยอยู่ คนก็จะช่วยกันรักษาเอง แต่ในบางครั้งต้นไม้ในเมืองก็สร้างปัญหา กิ่งก้านใบไปเกี่ยวเสาไฟฟ้าเสียหายเกิดอันตราย หรือ ต้นตีนเป็ดในเมืองที่เหม็นจนทนไม่ไหว แต่การตัดแต่งต้นไม้ผิดๆ อย่างการ ‘บั่นยอด’ นั้นนอกจากจะทำให้ต้นไม้ตายแล้ว ความร่มรื่นและความสวยงามทางทัศนียภาพก็ตายจากเราไปด้วยเช่นกัน กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนเลยคือที่อุโมงค์ต้นไม้ จังหวัดน่าน จากความสวยงามที่กลายเป็นจุดขายของเมือง แต่ปัจจุบันเหลือแค่ตอ
หากปลูกคนได้และหากคนมีทักษะมากพอ ต้นไม้กับเมืองก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างที่ ‘กาแล ไนท์บาร์ซ่า’ ที่มีรุกขกร หรือ ‘หมอต้นไม้’ ผู้ชำนาญด้านการดูแลรักษาป่าในเขตเมือง คอยดูแลตัดกิ่งแต่งต้นและคงไว้ซึ่งความร่มเย็นสวยงาม
ความรู้และความชำนาญการจึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ป่ากับเมืองคืนดีกันได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
โครงการกิจกรรมพาสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดน่าน “เดินตามรอยเท้าพ่อสานต่อป่าในไม้” วันที่ 24-26 มกราคม 2560 โดย สกว.