ภาพช่างสักพื้นเมืองของฟิลิปปินส์วัย 106 ปี ที่ทั้งสง่างามและทรงพลังเฉิดฉายอยู่บนปก Vogue Philippines เดือนเมษายน 2023 กำลังถูกพูดถึงและชื่นชมอย่างล้นหลามในสื่อต่างๆ รวมทั้งโลกโซเชียลมีเดีย เพราะนอกจากจะเป็นบุคคลอายุมากที่สุดที่เคยขึ้นปก Vogue แล้ว ภาพนี้ยังต่างไปจากความคุ้นชินของเรา เพราะปกของนิตยสารแฟชั่นส่วนใหญ่ มักจะเป็นภาพของผู้คนในแวดวงบันเทิงหรือเหล่าคนดังที่มาพร้อมเสื้อผ้าหน้าผมสไตล์จัดจ้าน
ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกของ Vogue Philippines ที่มีภาพผู้คนในสายอาชีพอื่นๆ อยู่บนปก เพราะก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2022 ภาพปกของนิตยสาร คือนักเทนนิสฟิลิปปินส์วัย 17 ปี อย่าง อเล็กซ์ เอล่า (Alex Eala) และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ Vogue Philippines เพิ่งจะเปิดตัวเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา ท่ามกลางยุคสมัยที่นิตยสารเล่มกำลังซบเซาและสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน
เราเลยอยากชวนย้อนไปฟังแนวคิดและเรื่องราวเบื้องหลัง ก่อนจะออกมาเป็น Vogue Philippines ที่เห็นกันในปัจจุบัน
จากนิวยอร์กสู่ฟิลิปปินส์
ถ้าย้อนไปยังจุดเริ่มต้น นิตยสาร Vogue ก่อตั้งขึ้นในปี 1892 โดย อาร์เธอร์ บอลด์วิน (Arthur Baldwin Turnure) ที่ตั้งใจอยากให้เป็นนิตยสารรายสัปดาห์สำหรับสังคมชั้นสูงของนิวยอร์กในยุคนั้น จนกระทั่งปี 1909 Vogue ถูกซื้อกิจการโดย กองเด นาสต์ (Condé Montrose Nast) ผู้ก่อตั้ง Condé Nast Publications แล้วเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เป็นนิตยสารแฟชั่นสำหรับผู้หญิงที่เน้นเรื่องความงามเป็นหลัก
ทั้งภาพถ่ายและเนื้อหาจากฝีมือทีมงานแนวหน้าในยุคนั้น บวกกับการเป็นเจ้าแรกๆ ที่นำเทรนด์ เช่น ปี 1932 Vogue กลายเป็นหนึ่งในนิตยสารเล่มแรกๆ ที่พิมพ์ภาพสีบนหน้าปก ทำให้ Vogue กลายเป็นนิตยสารแฟชั่นที่ทรงอิทธิพลและขยับขยายไปทั่วโลก รวมทั้งโซนเอเชียที่มี Vogue Thailand เมื่อปี 2013 และ Vogue Singapore เมื่อปี 2020
จนกระทั่งปี 2022 ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ บวกกับแวดวงนิตยสารเล่มที่กำลังเผชิญความท้าทาย Condé Nast ได้จับมือกับ Mega Global Licensing Inc. สำนักพิมพ์ที่อยู่คู่ฟิลิปปินส์มากว่า 30 ปี เปิดตัว ‘Vogue Philippines’ ขึ้นมา แม้จะเป็นเหมือนแบรนด์แฟรนไชส์ แต่ Vogue Philippines กลับมีแนวคิดและลายเซ็นที่เป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจน โดย ซูกิ ซัลวาดอร์ (Suki Salvador) ประธาน Mega Global Licensing Inc. กล่าวกับ bluprint ว่า Vogue Philippines จะเป็นมากกว่านิตยสารแฟชั่น เพราะอยากให้ทุกคนหาแรงบันดาลใจและเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับตัวเองได้จากนิตยสารฉบับนี้ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะอยู่ในสาขาอาชีพใดก็ตาม
นอกจากแนวคิดตั้งต้นที่ไม่ได้เน้นหนักไปที่สไตล์หรือการนำเทรนด์ล้ำสมัยแล้ว หัวหน้ากองบรรณาธิการอย่าง บีอา วัลเดส (Bea Valdes) ก็ไม่ได้มีพื้นเพเป็นบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นโดยตรง แต่เธอคือนักออกแบบที่สนใจเรื่องงานฝีมือของชุมชนและอุตสาหกรรมแฟชั่นที่รับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งมีฝีมืออันโดดเด่นที่ปรากฏใน Vogue, Harper’s Bazaar, The New York Times, CNN, Financial Times และ Time
บีอา วัลเดสยังย้ำกับสื่อต่างๆ ที่เธอให้สัมภาษณ์ว่า หัวใจหลักของ Vogue Philippines คือการไม่แบ่งแยกความหลากหลาย ความยั่งยืน ไปจนถึงการยกย่องงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกับนำเสนอคาแร็กเตอร์เด่นๆ ของชาวฟิลิปปินส์ นั่นคือการให้คุณค่ากับ Bayanihan (จิตวิญญาณของชุมชน) Malasakit (การเห็นอกเห็นใจ) และการมองโลกในแง่ดี
Vogue Philippines กับแนวคิดที่มากกว่าสไตล์และความงาม
แนวคิดทั้งหมดสะท้อนผ่านเนื้อหาและภาพถ่ายตั้งแต่เล่มแรกที่มีนางแบบชาวฟิลิปปินส์-อเมริกัน อย่าง Chloe Magno อยู่บนปก พร้อมแบ็กกราวด์เป็นทะเลสาบสีครามของ Bucas Grande โขดหินอ่อนริมแม่น้ำ Tinipak และโขดหินบนเกาะ Biriสะท้อนถึงความงดงามของทิวทัศน์ภายในประเทศ ส่วนชุดเดรสแสนเก๋ในนิตยสารเล่มนี้ ได้แรงบันดาลใจมากจาก ‘terno’ เดรสอันเป็นเอกลักษณ์ฟิลิปปินส์ซึ่งถูกออกแบบให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดยิบย่อย อย่างกระเป๋าและเครื่องประดับหลายชิ้นในเล่มนี้ที่ทำมาจากวัสดุท้องถิ่นและฝีมือของดีไซน์เนอร์ชาวฟิลิปปินส์อีกด้วย
แม้จะถ่ายทอดความเป็นท้องถิ่นออกมาตั้งแต่นิตยสารฉบับแรก แต่เล่มที่สื่อสารความตั้งใจได้ชัดเจนและเรียกเสียงชื่นชมจากผู้คนอย่างล้นหลาม คงจะเป็นฉบับล่าสุดในเดือนเมษายน 2023 ที่มี อาโป หวัง-ออด (Apo Whang-Od) ช่างสักพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ที่ขึ้นแท่นเป็นบุคคลอายุมากที่สุดที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร Vogue (ก่อนหน้านี้คือ นักแสดงหญิงอย่าง Judi Dench ที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร Vogue ของอังกฤษในปี 2020 ขณะอายุ 85 ปี) โดยอาโป หวัง-ออดเชี่ยวชาญการสักด้วยเทคนิคพื้นเมืองอันเก่าแก่ เธออาศัยหมู่บ้านเล็กๆ บนภูเขา Buscalan ของฟิลิปปินส์ ซึ่งในสมัยก่อน รอยสักเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงถึงความงามของผู้หญิงและแสดงถึงความกล้าหาญของผู้ชาย ส่วนอาโป หวัง-ออดมองรอยสักเหล่านี้ในแง่มุมของศิลปะมากกว่า รวมทั้งคอยถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังและตั้งใจจะสักต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่สายตาพร่ามัวจนไม่สามารถมองเห็นได้
วัลเดส เล่าว่าทีมงาน Vogue Philippines เห็นตรงกันว่าอยากให้ อาโป หวัง-ออดขึ้นปกนิตยสารฉบับนี้ “เราเชื่อว่าแนวคิดเรื่องความงามจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และควรจะมีใบหน้า มีรูปร่างที่หลากหลายและครอบคลุม สิ่งที่เราหวังจะสื่อสารคือการพูดถึงความงดงามของมนุษย์”
ส่วนปกต่อไปจะเป็นใคร เรื่องราวที่นำเสนอจะเป็นแบบไหน เราคงต้องติดตามกันต่อไป โดยวัลเดสยืนยันว่าสิ่งที่ทุกเล่มจะมีเหมือนกันคือหัวใจหลักที่เราเล่าถึงข้างต้น รวมทั้งความตั้งใจให้คนซื้อสามารถอ่านนิตยสารเหล่านี้ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมีความสุขกับการจดจ่อรอคอยเล่มถัดไป เพราะนั้นคือเสน่ห์ของนิตยสารที่สัมผัสจับต้องได้
“ตราบใดที่เราทำนิตยสารที่มีความหมาย ฉันคิดว่ามันจะมีคนซื้อ” วัลเดส ให้สัมภาษณ์กับ CNN
อ้างอิงจาก