ชุดนี้เคยใส่ไปแล้วหรือเปล่า?
ใส่ตัวเดิมอีกแล้ว กางเกงแห้งทันเหรอ?
กระเป๋าใบเดิมใช้มากี่ปีแล้วเนี่ย?
ไม่ว่าคนพูดจะตั้งใจหรือแซวเล่น แต่ก็ทำให้คนฟังเสียเซลฟ์ และสร้างแผลในใจได้ไม่ต่างกัน ทั้งที่จริงแล้วการใส่เสื้อผ้าซ้ำหรือไม่ได้ตามเทรนด์ใหม่ๆ นับเป็นเรื่องปกติมากๆ
ค่านิยมการ ‘รีบซื้อ-รีบใส่-รีบเปลี่ยน’ เป็นผลลัพธ์มาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘fast fashion’ หรือวัฏจักรการผลิตเสื้อผ้าคราวละมากๆ ในเวลาอันสั้น พร้อมกระตุ้นให้คนซื้อใหม่อยู่บ่อยๆ เพราะเสื้อผ้าเหล่านี้มักจะถูกโละทิ้งไป แล้วแทนที่ด้วยคอลเล็กชั่นใหม่อย่างรวดเร็ว
คำว่า fast fashion เริ่มปรากฏอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ New York Times เขียนบรรยายถึงกระบวนการผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ Zara เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ถ้าถามว่าเร็วแค่ไหน เราอยากให้ลองนึกภาพว่ายุคสมัยนั้น กว่าแบบร่างสวยๆ บนโต๊ะจะออกมาเป็นเสื้อผ้าที่แขวนเรียงรายในร้านได้ แต่ละแบรนด์ต้องใช้เวลานานพอๆ กับการอุ้มท้องเด็กหนึ่งคนเลยทีเดียว ขณะที่ Zara สามารถย่นเวลาทั้งหมดให้เหลือแค่ 15 วันเท่านั้น! ทำให้มีคอลเล็กชั่นใหม่ออกมาแบบรายสัปดาห์ และมีดีไซน์เสื้อผ้านับหมื่นแบบในแต่ละปี
ความสำเร็จของ Zara ทำให้เริ่มมีแบรนด์อื่นๆ อย่าง H&M , Forever 21, Benetton, Shein และอีกมากมาย เริ่มใช้โมเดลเดียวกันนี้ โดยในปี ค.ศ.2000-2014 ความสำเร็จของ fast fashion ช่วยเพิ่มขนาดอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ใหญ่ขึ้นเป็นสองเท่า
หากมองดูตัวเลขต้นทุนและกำไรที่รายงานในบัญชีในแต่ละปี บวกกับความซื้อง่ายขายคล่องของโมเดลธุรกิจนี้ ก็อาจจะทำให้ fast fashion มีภาพลักษณ์เป็นนวัตกรรมสุดเจ๋งแห่งยุค เพราะนอกจากแฟร์กับผู้ผลิตที่ประหยัดต้นทุนแล้ว ผู้บริโภคก็สามารถเปลี่ยนลุคใหม่ได้บ่อยขึ้น โดยไม่ต้องจ่ายแพง
แต่หลายคนน่าจะพอรู้แล้วว่าบรรทัดข้างต้นเป็นเพียงภาพฝันอันหอมหวานของ fast fashion เพียงเท่านั้น…
เก่าไปใหม่มา…เมื่อเสื้อผ้ากลายเป็นของหมดอายุไว
หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ fast fashion คงคล้ายกับของหมดอายุไวในซูเปอร์มาเก็ต เพราะมีอายุการใช้งานอันน้อยนิด โดยในเว็บไซต์ sloanreview ระบุว่า ลูกค้าแบรนด์ fast fashion ส่วนใหญ่จะใส่ชุดเดิมเฉลี่ยเจ็ดครั้ง ก่อนจะโบกมือลาอย่างถาวรเพราะคุณภาพไม่เอื้อให้ใช้งานต่อ หรือเสื้อผ้าเหล่านั้น ‘ตกเทรนด์’ ไปแล้ว
ส่วนเสื้อผ้าเก่าที่เหลือภายในร้านจะถูกย้ายไปอยู่ในโซนลดราคา หรือโละทิ้งไปเพื่อให้มีที่ว่างสำหรับของใหม่ กระตุ้นให้ผู้บริโภครู้สึกว่า “ถ้าไม่ซื้อ คอลเล็กชั่นนี้จะไม่มีแล้วนะ!” ผลที่ตามมาคือบางคนซื้อเยอะเกินความต้องการจริงๆ ของตัวเอง แถมปลายทางยังสร้างขยะให้กับโลก อย่างในประเทศออสเตรเลีย มีปริมาณขยะเสื้อผ้าที่ถูกฝังกลบไปกว่า 500 ล้านกิโลกรัมในทุกๆ ปี
นอกจากนี้ วัฏจักรของ fast fashion ยังสวนทางกับกระบวนการทำงานดีไซน์ที่ต้องใช้เวลาตกตะกอนความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดปัญหาอย่างการก๊อปฯ งานและละเมิดลิขสิทธิ์การออกแบบของแบรนด์อื่นๆ ไปด้วย
เบื้องหลังงานเร่งแบบ Fast Fashion
เมื่อ fast fashion เป็นงานเร่ง แต่งบน้อย ผู้ผลิตจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อลดต้นทุน ตั้งแต่การเลือกวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นสีย้อมผ้าราคาถูก แต่เป็นพิษกับร่างกาย เส้นใยสังเคราะห์อย่างโพลีเอสเตอร์และไนลอนที่กระบวนการผลิตอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หรือต่อให้เป็นวัสดุธรรมชาติอย่างผ้าฝ้าย ก็ใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีเพื่อเร่งการเติบโตให้ทันผลิต นอกจากนี้ฝ้ายยังใช้ปริมาณน้ำมหาศาล โดยเสื้อยืดหนึ่งตัว ใช้น้ำถึง 2,700 ลิตร ซึ่งคนคนหนึ่งสามารถดื่มได้นานถึง 2.5 ปี
เมื่อผลิตออกมาแล้ว ก็ต้องมีการขนส่งที่สร้างมลพิษระหว่างทาง เพราะโรงงานเหล่านี้มักจะตั้งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาอันห่างไกลจากร้านหรูหราในห้างสรรพสินค้า จึงไม่น่าแปลกใจที่มลพิษทางน้ำกว่า 20% และการปล่อยคาร์บอนในอากาศกว่า 10% บนโลกจะมาจากอุตสาหกรรมประเภทนี้
ไม่เพียงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม แบรนด์ fast fashion หลายแห่งยังหักลบเอาค่าตอบแทน ต้นทุนที่ใช้ดูแลความปลอดภัย และสิทธิมนุษยชนของของพนักงานในโรงงานออกไปด้วย อย่างประเด็นการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ในโรงงานผลิตเสื้อผ้าประเทศกัมพูชา หรือสถิติที่ระบุว่า มีคนงานในโรงงานเสื้อผ้าสตรีของเวียดนามถึง 43.1% เคยเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศและ/หรือการล่วงละเมิดในที่ทำงานอย่างน้อยหนึ่งรูปแบบ
หรือกรณีโด่งดังอย่าง ‘Rana Plaza’ ตึกแปดชั้น ในเขตธากาของบังกลาเทศที่ถล่มลงมาเมื่อ 24 เมษายน ปี ค.ศ.2013 และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1,134 ราย โดยอาคารแห่งนี้มีโรงงานผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ต่างๆ เช่น Benetton, Primark, The Children’s Place, Walmart และแม้ว่าคนงานจะทักท้วงเรื่องรอยร้าวขนาดมหึมาที่ปรากฏบนกำแพงไปแล้ว แต่พวกเขากลับไม่ได้รับการดูแลเรื่องความปลอดภัย ทั้งยังถูกข่มขู่ว่าจะหักค่าจ้างอีกต่างหาก จนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมที่ทำให้คนทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจกับเบื้องหลังการลดทอน ‘ต้นทุน’ ของ fast fashion มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเกิดองค์กรอย่าง ‘Fashion Revolution’ ขึ้นมา เพื่อชวนคนมาตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของแบรนด์เหล่านี้
การคิดต้นทุนที่แท้จริงของ Fast Fashion
จะเห็นว่าทรัพยากรน้ำในท้องถิ่นที่สูญเสียไป ค่าตอบแทนที่พนักงานควรจะได้ ค่ารักษาพยาบาลของพนักงานหรือผู้คนในชุมชนใกล้โรงงานที่ได้รับสารเคมี หรือแม้แต่ค่ายารักษาภูมิแพ้ของเราในช่วงที่อากาศแย่ ล้วนถูกผู้ผลิต fast fashion หยิบฉวยออกไปอย่างเงียบเชียบ โดยไม่ต้องรับผิดชอบ หรือเอาไปคิดคำนวณในต้นทุนของแบรนด์เลยแม้แต่น้อย
ลอร์ด นิโคลัส สเติร์น (Lord Nicholas Stern) กล่าวในรายงาน ‘The Economics of Climate Change: The Stern Review’ ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2006 ว่า หากคำนวณเป็นตัวเงิน การลดคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพต้องใช้งบประมาณราว 0.7-1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี หากธุรกิจต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมเหล่านี้ ก็อาจจะกลายเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ที่สุดของตลาดเท่าที่เคยมีมาในโลก
อย่างไรก็ตาม การปิดโรงงานหรือเปลี่ยนวิถีการผลิตทันทีก็อาจจะฟังดูเป็นเรื่องสุดโต่งจนเกินไป ลอร์ด สเติร์น จึงเสนอว่า รัฐอาจจะใช้วิธีบวกต้นทุนเหล่านี้ผ่านการเก็บภาษีแบรนด์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือใช้ระบบ cap-and-trade ที่กำหนดโควตาสิทธิการปล่อยคาร์บอน แล้วให้บริษัทต่างๆ ซื้อโควตาไป ถ้าเหลือโควตาเท่าไรก็สามารถนำไปขายต่อได้อีกด้วย เพราะอย่างน้อยวิธีการเหล่านี้ก็ทำให้มองเห็นต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมแบบเป็นตัวเลขที่ชัดเจน และยังช่วยกดดันให้ธุรกิจปรับตัวไปใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงงานทดแทนมายิ่งขึ้น (แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งว่าวิธีนี้ ทำให้หลายธุรกิจยอมจ่ายเงินเพื่อใช้วิธีการผลิตแบบเดิม ซึ่งทำให้เกิดคาร์บอนอยู่ดี)
ผู้บริโภคตัวเล็ก กับแก้ปัญหาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากได้ออกมาพูดถึงปัญหาและจับตามองการผลิตของแบรนด์ fast fashion กันมากขึ้น ทำให้ทางฝั่งแบรนด์ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างบริษัท Zara ที่ออกมาประกาศในปี ค.ศ.2019 ว่าจะทำให้ผ้าของบริษัทเป็นแบบออร์แกนิก ยั่งยืน หรือรีไซเคิลให้ได้แบบ 100% ภายในปี ค.ศ.2025 นี้ แม้จะฟังดูน่าชื่นชม แต่วัสดุเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะตราบใดที่ยังมีระบบรีบผลิตในปริมาณมาก หรือไม่สามารถตรวจสอบต้นทางการผลิตได้อย่างโปร่งใส ปัญหาก็จะกลับมาวนซ้ำๆ อยู่เหมือนเดิม
ส่วนในฐานะผู้บริโภค สิ่งที่เราสามารลงมือทำได้มากที่สุด คงเป็นการส่งเสียงถึงปัญหาและ ‘ยืดอายุ’ การใช้งานของเสื้อผ้าให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างที่เราเห็นในกระแส #wearวนไป โดยสามารถทำได้หลายวิธีตั้งแต่การเลือกซื้อเสื้อจากแบรนด์ slow fashion ที่มีคุณภาพสูง สามารถใช้งานได้นานๆ (แต่แน่นอนว่ายังมีข้อจำกัดที่ราคาค่อนข้างแพง) การ mix and match ชุดเดิมในตู้ การซ่อมแซมชุดเก่าหรือตัดเย็บบางอย่างเพิ่มเข้าไป เพื่อให้ออกมาเป็นดีไซน์ใหม่ (upcycling) ไปจนถึงการซื้อหรือส่งต่อเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งข่าวดี คือมีรายงานว่าในปี ค.ศ.2019 ธุรกิจเสื้อผ้ามือสองเติบโตเร็วกว่าการค้าปลีกแบบดั้งเดิมถึง 25 เท่า และหากยังเติบโตในอัตรานี้ต่อไปก็จะสามารถแซงหน้าอุตสาหกรรม fast fashion ได้ภายในปี ค.ศ.2030
สุดท้ายแล้วปัญหานี้ก็คงเหมือนเรื่องความรัก ที่การตบมือข้างเดียวยังไงก็คงไม่ได้ยินเสียง ดังนั้นการแก้ปัญหาจากผู้บริโภคฝ่ายเดียว ก็ไม่อาจช่วยแก้ปัญหา fast fashion ได้ทั้งหมด หากนโยบายจากรัฐและกระบวนการผลิตของแบรนด์ fast fashion ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก
- สฤณี อาชวานันทกุล. ทุนนิยมมีชีวิต ธุรกิจมีหัวใจ. สำนักพิมพ์มติชน
Illustration by Kodchakorn Thammachart