“จะใช้ฟอนต์นี้จริงๆ หรอ?” คำถามที่เกิดขึ้นในใจของใครหลายต่อหลายครั้ง ที่เห็นข้อความในรูปแบบอักษรที่ดูไม่เข้าที จะว่าสวยก็ไม่ จะอ่านง่ายก็คงอย่างงั้น แหม แต่มันไม่ชวนมองเอาเสียเลย
คำถามนี้ก็คงจางหายจากความคิดภายในเวลาอันสั้น ถ้าหากมันเป็นเพียงป้ายข้อความชั่วคราว อย่าง ชำรุด เลื่อน เปิด ปิด หรือตัวหนังสือที่เราไม่ได้สนใจว่ามันจะต้องสละสลวยอะไร แต่ถ้าเราเห็นฟอนต์ทำนองนี้แต่เป็นเป็นของบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ ใช้อย่างเป็นทางการ มันคงประดักประเดิด แล้วยิ่งมันเป็นป้ายที่เราต้องอาศัยฟังก์ชั่นจากมัน อย่างป้ายบอกทาง ป้ายสถานี อะไรทำนองนี้ล่ะ มันจะชวนขมวดคิ้วแค่ไหน
หลายวันก่อน โลกทวิตเตอร์ได้พาหัวข้อสนทนามาถึงเรื่องของ ‘ฟอนต์’ ที่กำหนดรูปร่างหน้าตาของตัวอักษร ว่าเราจะสนใจรูปแบบของมันได้จริงไหมนะ? ชัดเจน อ่านง่าย ก็ถือว่าสื่อสารได้แล้วหรือเปล่า? ฝั่งหนึ่งก็บอกว่า มันก็จริงนั่นแหละ สื่อสารได้ก็พอแล้วนี่
ถ้าหากไม่ได้มองในมุมมองของดีไซน์เนอร์ มันก็ไม่ผิดอะไรหรอก อีกฝั่งก็โต้กลับด้วยเรื่องของ การสื่อสารที่ไม่ใช่แค่ข้อความ แต่เป็นการสื่อสารจากฟอนต์ นี่ยังไม่รวมถึงเรื่อง CI ของแบรนด์อีกนะ ไม่งั้นเราจะซื้อขายกันในราคาแพงทำไมถ้ามันไม่สำคัญ
ตัวอย่างที่ชอบเสมอเวลาพูดถึงเรื่องนี้ คงจะเป็นป้ายโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่ชวนให้นึกถึงละครพิภพมัจจุราช ทำให้เราเห็นว่าแม้จะไม่ได้มองในมุมดีไซน์เนอร์ก็เถอะ ฟอนต์ก็ยังมีน้ำเสียงของมันไม่ว่าข้อความจะเป็นอะไรก็ตาม ฟอนต์เลยเป็นอีกหนึ่งสารที่สื่อออกมาไม่ต่างจากสารของข้อความ เราเองก็ไม่อยากไปตัดสินว่าแบรนด์ไหน เหมาะกับอะไร ต้องใช้ฟอนต์แบบไหน (แม้จะกำมือแน่นกับ Tahoma ก็ตาม)
ยิ่งหลังจากที่เราเห็นป้ายบอกสถานีและฟอนต์ที่ใช้ในจุดต่างๆ ของสถานีกลางบางซื่อ ที่ไม่ค่อยจะไปในทิศทางเดียวกัน จุดนี้ฟอนต์นึง จุดนี้อีกฟอนต์นึง เราเลยหันมาสนใจสิ่งที่เราต้องใช้งานจากมันอย่าง ‘ป้ายบอกทาง’ ไม่ว่าจะสถานีต่างๆ รถเมล์ ทางหลวง หรือป้ายตามแยกต่างๆ ที่เราต้องอาศัยมันในการเดินทาง ใช้มันในชีวิตประจำวันของเรา มันควรมีฟอนต์ที่หน้าตาเป็นยังไงกันนะ มันถึงจะใช้งานได้ดี ด้วยการพูดคุยกับ ‘คุณวีร์ วีรพร’ นักออกแบบกราฟิก จาก conscious และอาจารย์พิเศษ ที่จะมาตอบคำถามที่ว่า ป้ายที่เราเห็นกัน ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มันดีพอแล้วหรือยัง?
ย้อนกลับไปที่ argument เรื่องฟอนต์นั้นสำคัญไฉน พอมันเป็นป้ายที่ใช้บอกทางแล้ว ฟังก์ชั่นของมันคือการบอกอย่างชัดเจนว่าเราต้องไปทางไหน จะว่าไปมันก็ต้องชัดเจน มองปราดเดียวก็เข้าใจ อาจจะไม่จำเป็นต้องสละสลวยก็ได้มั้ง
หรือว่าการใช้ Tahoma บอกทาง หรือ Angsana New เป็นแผนที่สถานีก็ไม่ผิดอะไร แค่ตัวใหญ่ๆ เบิ้มๆ แบบว่ามองเห็นชัดก็พอไหมนะ? หรือว่าเราสามารถจะชัดเจนและสวยงามไปพร้อมกันได้ในฟอนต์เดียว เราเลยอยากรู้ว่า ฟอนต์ที่ดีบนป้ายบอกทางเนี่ย มันควรหน้าตาเป็นไง?
“ถ้ามองเฉพาะตัวอักษรเนี่ย เราจะทำไงให้แยกแยะพยัญชนะที่คล้ายคลึงกันออกจากกันได้ชัดเจน เพราะมีบางตัวที่คล้ายกัน อย่าง ล.ลิง กับ ส.เสือ ต่างกันแค่มีหาง ช.ช้าง กับ ซ.โซ่ มันต่างกันแค่หัวแตกเล็กนิดเดียว
ดังนั้น ถ้าเป็นฟอนต์ที่ออกแบบมา เพื่อไม่ให้คนอ่านผิดเนี่ย จุดที่มันเป็นตัวแยกแยะระหว่างพยัญชนะแต่ละตัว ต้องทำอะไรสักอย่างให้มันต่างกันชัดเจน ดังนั้น หางของส.เสือ ควรยาวแค่ไหน หรือล้ำเข้ามาข้างในด้วยไหม? ช.ช้าง กับ ซ.โซ่ มันอาจจะไม่ได้ต่างกันแค่เติมหัวแตกเข้าไปนะ อาจจะโย้หัวมากขึ้นมั้ย บางฟอนต์ ตัวบ.ใบไม้ กับน.หนู ต่างกันชัดเจน แต่บางฟอนต์ขมวดหลังของน.หนู เป็นแค่ขีด ก็เป็นได้
วิธีการใช้พื้นที่สีขาวข้างในตัวอักษรด้วย เพราะเวลาเราอ่านตัวอักษร เราไม่ได้อ่านตรงพื้นที่สีดำเพียงอย่างเดียว เราอ่านส่วนที่เป็นสีขาวรอบๆ มันด้วย เลยต้องค่อนข้างโปร่ง เพื่อที่จะสามารถแยกแยะพวกขมวดปมต่างๆ ได้ เพราะภาษาไทยมีขมวดนอกขมวดในเยอะ พยัญชนะบางตัวแตกต่างกันแค่การขมวดเข้าออก ถ้าจัดการพื้นที่ว่างภายในไม่ดีก็อ่านยาก หางที่ขึ้นข้างบนข้างล่างก็ต้องมีระยะที่มันไม่ยาวเกินไปจนไปเกะกะบรรทัดอื่น แต่ยังต้องเห็นขัดอยู่นะ ในขณะเดียวกัน ระยะบรรทัดก็ต้องวางตัวอักษรที่มีสระล่าง แล้วคำล่างมีสระหรือวรรณยุกต์บน แล้วมันไม่ตีกัน
ซึ่งเวลาเราออกแบบฟอนต์เนี่ย การออกแบบส่วนสีดำก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะเราก็ต้องออกแบบพื้นที่สีขาวเหมือนกัน เพราะเราจะเว้นหน้า เว้นหลัง เว้นบน เว้นล่างแค่ไหน แล้วตัวนี้กับตัวนี้มาเจอกัน เราควรจะต้องชดเชยด้วยค่าระยะห่างพิเศษมั้ย อย่างตัว A กับตัว V มาชนกัน (แบบนี้ AV) เราจะใช้ระยะที่เท่ากับ A วางคู่กับ B ก็ไม่ได้ (แบบนี้ AB) เพราะว่าเส้นเฉียงมันมาขนานกันพอดี จึงมีคำกล่าวว่า ฟอนต์ที่ดี คือ “a beautiful group of letters” ซึ่งจะพิมพ์เป็นคำว่าอะไร เรียงประโยคอย่างไรก็ลงตัว ไม่ใช่ “a group of beautiful letters” ที่ดูเป็นตัวๆ แล้วสวยจัง แต่พิมพ์เป็นคำ เป็นประโยคแล้วเละ
ถ้าเราไปดูตำราการออกแบบ wayfinding ของต่างประเทศ จะมีหลักการหลายอย่าง อย่างเช่น x-height ต้องไม่เตี้ยเกินไป คือ ความสูงของพยัญชนะตัวพิมพ์เล็ก (อ้างอิงจากตัว x) เมื่อเทียบกับตัวพิมพ์ใหญ่ ถ้าสูงต่ำต่างกันมากเกินไป ถ้าเอาไปใช้ในสเกลใหญ่ๆ แล้วต้องการให้อ่านออกไวๆ อย่างป้ายบอกทาง มันก็จะอ่านยากขึ้น เพราะการที่คนอ่านคำใดคำหนึ่งรู้เรื่อง บางทีเขาจดจำรูปร่างของมัน พอความสูงต่างกันมากก็ต้องกวาดสายตามากขึ้น ประมวลผลมากขึ้น และก็มีหลักการอย่างอื่น อย่างระยะมองเท่านี้ ต้องตัวหนังสือขนาดนี้ขึ้นไปถึงจะกำลังเหมาะ มีการไล่ลำดับว่าตัวอักษรสีไหนบนพื้นสีไหน จะทำให้มองเห็นในระยะได้ไกลกว่ากัน
พวกนี้ตำราต่างประเทศมีหมด แต่ของไทยยังไม่เห็นมีเป็นกิจจะลักษณะ อาจมีเป็นพวกงานวิจัย ธีสิส ในมหาวิทยาลัยศิลปะออกมาบ้าง แต่มันไม่ใช่แค่หลักการของตัวอักษรอย่างเดียว แต่มันรวมถึงหลักเกณฑ์ของการจัดวางด้วย
“การออกแบบเลยต้องทำยังไงก็ได้
ให้ประเด็นของความสับสนของการแยกแยะตัวอักษรไม่ถูก
และการที่เส้นมันจะไปรบกวนกันบรรทัดอื่นหรือตัวอักษรใกล้เคียงเนี่ย
มันเกิดขึ้นน้อยที่สุด”
อย่างในประเทศที่พัฒนาแล้ว มันจะมีระบบในการออกแบบที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มาชัดเจนมาก อย่างเช่น ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์กราฟิกก็จะรู้ว่า กราฟิกของระบบขนส่งมวลชน London ตอนที่เขาทำแผนที่รถไฟใต้ดินแบบตัดทอน โดยที่ไม่พึ่งความแม่นยำทางภูมิศาสตร์เนี่ย มันเป็น breakthrough มากๆ นะ
หรืออย่างที่อเมริกา มีการวิจัยฟอนต์ ‘Clearview’ ขึ้นมา เพื่อตั้งใจมาใช้กับป้ายบนทางหลวงโดยเฉพาะเวลาที่เกิดแสงสะท้อนกับไฟหน้ารถแล้วตัวอักษรบวมจนอ่านไม่ออก (เนิร์ดมาก) แม้ว่าพอใช้มาได้สิบกว่าปีก็ยกเลิกก็ตาม แต่ทุกอย่างมันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ โดยมีรากฐานจากการวิจัยและพัฒนา”
พอถึงคำที่ว่า “ทุกอย่างมันก็มีรากฐานจากการวิจัยและพัฒนา” เราก็พลันนึกขึ้นได้ว่าเราไม่ค่อยได้เห็นอะไรแบบนี้ในหน่วยงานของรัฐเท่าไหร่ เราเลยได้เจอฟอนต์ที่ชวนให้เราตั้งคำถามกับมันทุกครั้งที่กวาดสายตาไปเจอ
ยิ่งเป็นฟอนต์ที่เราต้องใช้ฟังก์ชั่นจากมันอย่าง ป้ายบอกทาง ที่เรากำลังถกกันอยู่ว่าแบบไหนถึงจะเหมาะนะ ยิ่งแล้วใหญ่ เหมือนกับเรื่องของ wayfinding ยังไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นกัน?
“ผมว่ามันคือทัศนคติ หน่วยงานภาครัฐของเราเนี่ย มักจะลงทุนกับอะไรที่เป็นฮาร์ดแวร์ มองสิ่งที่เป็นรูปธรรม ชั่งตวงวัดได้ การออกแบบจัดซื้อจัดจ้าง อย่างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ต้องมีสเป็กเยอะแยะเลย แต่พอเป็นซอฟต์แวร์ อะไรที่เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เขาไม่มองว่าเป็นการลงทุน เขามองว่ายินดีที่จะจ่ายอะไรที่เป็นถาวรวัตถุมากกว่า
ทั้งที่เวลาเราทำงานกับเอกชน กับแบรนด์ต่างๆ เขาจะมองว่า สิ่งต่างๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นแบรนด์ทั้งหมด ล้วนเป็นสินทรัพย์ของเขา เราทำฟอนต์ของเราเอง มันก็เป็นสินทรัพย์เช่นกัน แต่ในที่นี้ไม่ได้จบที่องค์กรเราไม่ต้องไปจ่ายค่าฟอนต์ให้คนอื่น ไม่มีใครเก็บเงินเราเพิ่มอีกแล้วนะ แต่มันหมายถึงการมีน้ำเสียงและบุคลิกชัดเจน แม้ว่าจะไม่เห็นโลโก้ แต่เห็นข้อความมาประโยคเดียวก็จำแบรนด์ได้เลย ดังคำกล่าวที่ว่า “font is branding” ผมเลยรู้สึกว่าทัศนคติของภาครัฐเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น
บางครั้งผมดีลงานกับองค์กรภาครัฐที่มีลำดับขั้นเยอะๆ พรีเซนต์ชั้นนี้แล้วต้องไปชั้นนู้นต่อ กว่าจะผ่านด่านไปเจอคนที่อยู่บนสุด แล้วเขาไม่ได้มีความรู้ด้านดีไซน์ แต่เขาดันเสียงดังสุด จะให้อธิบายเพื่อ convince กันทุกรอบก็เหนื่อยนะครับ แล้วยังอาจจะมีซินแสมาบอกว่าฟอนต์ไม่ควรแหลมคมเกินไปอีก ในขณะที่เคยทำงานกับเอกชน CEO ไม่ได้รู้เรื่องดีไซน์มาก เลยมอบหมายให้คนที่มีความรู้มาดีลงานกับดีไซน์เนอร์แทน งานมันก็ออกมาดีกว่า ทั้งที่ดีไซน์เนอร์คนเดียวกัน
ทำไมทำงานกับองค์กรอีกประเภทนึงแล้วเขารีดศักยภาพเราออกมาได้เต็มที่ จริงๆ ผมอาจจะไม่ได้เป็นมืออาชีพพอที่จะทำงานให้ออกมาดีได้ตามมาตรฐานในทุกเงื่อนไข แต่ในประเทศนี้ โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการ คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ดันเป็นคนที่ไม่มีความรู้ด้านนั้นบ่อยไปหน่อย อันนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องดีไซน์นะครับ
ผมเคยร่วมงานเป็นที่ปรึกษาให้น้องๆ ในกลุ่ม mayday มาบางโปรเจค เราเปรยกันว่าการออกแบบวิธีการทำงานกับรัฐและประสานประโยชน์ของทุก stakeholder นั้นยากกว่าการออกแบบป้ายอีก เพราะโครงสร้างการปกครองและระบบราชการเราเป็นอุปสรรคจริงๆ
มันไม่จะยากขนาดนี้ถ้าเรามีรัฐที่ใส่ใจประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งจริงๆ มันเลยเป็นรัฐที่ไม่เห็นประชาชนอยู่ในสมการ เขาจะมาเห็นประชาชนต่อเมื่อเขาจะได้ประโยชน์หรือได้หน้า ซึ่งมันน่าเศร้า”
“คนที่มีอำนาจในการสร้างนู่นสร้างนี่
ทำนู่นทำนี่ให้เรา เขาไม่ค่อยต้องรับผิดชอบอะไร
เขาโยนความรับผิดชอบให้ประชาชนตลอด
กลายเป็นปัญหาปัจเจกตลอด มันเลยไม่ไปไหน”
ยิ่งคุยไปถึงต้นตอของปัญหา ว่าทำไมเราถึงไม่ใส่ใจกับความละเมียดละไมของฟอนต์กันนะ ทั้งที่บ้านเมืองเราออกจะมี ‘ความเป็นไทยในอุดมคติ’ เป็นสารัตถะกันอยู่แล้ว อย่างที่ได้ยินกันบ่อยๆ ได้เห็นในหนังสือเรียนกันตั้งแต่เด็ก พอจะนึกออกใช่ไหมนะ?
แต่กลับมามองบ้านเมืองของเราจริงๆ มันกลับไม่ได้เป็นอย่างที่วาดภาพไว้ ยิ่งสนทนาเรื่องนี้ลึกลงไปเรื่อยๆ ก็พอจะเห็นแล้วว่าปัญหานั้นไม่อาจจะแก้ภายในโปรเจ็กต์เดียว หรือแค่เสนอไอเดียว่า โลกนี้มีศาสตร์ที่เรียกว่า wayfinding นะ แล้วทุกอย่างจะออกมาสวยงามเรียบร้อย มันยังมีเรื่องที่ยึดโยงกันเป็นทอดๆ จนรู้สึกหดหู่อยู่เล็กๆ เลยกลับมาที่เรื่องของฟอนต์ในตำนานอย่าง ‘Tahoma’ ฟอนต์มหัศจรรย์ที่คนชอบใช้ก็ใช้อยู่อย่างนั้น ส่วนคนที่ไม่ชอบ จะกี่ครั้งก็ไม่เข้าตา มันเกิดอะไรขึ้นกันฟอนต์นี้กัน?
“ประเด็นคือเรื่องของความเคยชินและการยึดติด ย้อนไปสัก 6-7 ปี ในตอนที่ iOS7 พยายามจะเปลี่ยนตัวหนังสือเป็นตัวไม่มีหัว (จากฟอนต์มีหัว คือ Thonburi ไปเป็นฟอนต์ไม่มีหัว คือ Sukhumvit) ก็มีเสียงต่อต้านกันเยอะมาก สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนกลับมาเป็นตัวมีหัวเหมือนเดิม ทั้งที่ตัวมีหัวเป็น default ใน operating system ของ iPhone เนี่ยคือฟอนต์ ‘Thonburi’ ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเพิ่งมีภาษาไทยแรกๆ ตอนยุค 80’s
แล้วทีนี้ มันก็จะมีปัญหาตามมาว่า ถ้าข้อความนั้นมีสระบน วรรณยุกต์บน ไปเจอกับบรรทัดข้างบนที่มีสระล่าง มันตีกันเลย บางทีสระและวรรณยุกต์ตกขอบหายไปบางส่วน ทั้งที่ตัวใหม่ที่ตอนนั้นเขาลองใช้ ‘Sukhumvit’ มันแก้ปัญหาเรื่องการจัดการพื้นที่ตรงนี้ได้ อาจจะมีปัญหากันว่าอ่านยาก แต่แทนที่จะได้โจทย์ในการพัฒนาต่อ ว่า แล้วตัวไม่มีหัวแบบไหนที่เหมาะกับการใช้งานลักษณะนี้ แล้วให้สังคมได้เรียนรู้ ก็กลับมายอมอยู่กับสิ่งเก่าที่คนคุ้นชิน เท่ากับยอมปิดตาข้างหนึ่งให้ปัญหาเดิมคงอยู่ต่อไป ผมว่า Sukhumvit อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ส่วนตัวอยากจะได้เห็นการยอมรับตัวอักษรแบบไม่มีหัว บนหน้าจอซึ่งคมชัดกว่ากระดาษแล้วในปัจจุบัน
หลายครั้ง คนเราจะใช้ฟอนต์ที่มันเปิดโปรแกรมปุ๊บ มันเลือกอะไรให้ก็ใช้ เลยทำให้ Tahoma มักจะอยู่ในนั้น ผมเคยถามนักศึกษาที่สอนว่า ฟอนต์ภาษาไทยนึกถึงอะไรก่อน หลายคนตอบ ‘Angsana’ เพราะมันอยู่ด้านบนสุด แต่พอถามว่าหน้าตาเป็นอย่างไร หลายคนตอบไม่ได้ ทั้งที่ถ้าใช้มันบ่อยๆ ควรจะตอบได้ว่ามันมีเส้นหนักเบาในตัวเอง มีการตัดปลายจบเส้นยังไง ปรากฎว่าหลายคนตอบไม่ได้ เพราะความเคยชินที่มีอะไรมาก็ใช้ไปโดยไม่ได้พิจารณาว่ามันเหมาะสมหรือไม่
ทีนี้ ‘Tahoma’ ก็เป็นเรื่องใกล้เคียงกัน เมื่อหลายวันก่อน มีบทความของ ‘Cadson® Demak’ ที่พูดเรื่องนี้ไว้ดีมาก เขาก็ไล่ไปเรื่องประวัติของ Tahoma ว่ามันเกิดจากการออกแบบเพื่อหน้าจอคอมพิวเตอร์ความละเอียดต่ำ ใช้ในขนาดเล็ก มาก่อน พอมันถูกนำมาใช้ในงานพิมพ์ขนาดใหญ่ สัดส่วนต่างๆ มันก็เลยดูไม่ค่อยหมดจด แต่ว่ามันถูกใช้มานานจนคนชิน ดังนั้น คนที่มองว่าใช้ก็ไม่เป็นอะไรก็มี เพราะเขาคุ้นแล้ว
ถ้าผมมองในมุมดีไซน์เนอร์ ตัวภาษาไทยของ Tahoma เนี่ย ความกว้างของบางตัวอักษรมันจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับตัวอื่นที่ควรจะกว้างเท่าๆ กัน หรือขนาดและน้ำหนักเส้นของวรรณยุกต์จะต่างกับพยัญชนะ สระอุกับสระอูก็ดูไม่เข้าพวกกัน ยิ่งนำมันมาใช้ใหญ่ขึ้นๆ ความบกพร่องตรงนี้มันยิ่งเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ มันก็เลยขัดตาดีไซน์เนอร์มากๆ
ทีนี้มีคนโต้แย้งกันว่า ใช้ Tahoma คนก็คุ้นเคยในการมองและการอ่านอยู่แล้ว มันไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพิ่ม ตัวดีไซน์เนอร์ไม่ต้องมาทำ presentation ทดลองฟอนต์นู้น ฟอนต์นี้ ให้เจ้านายอนุมัติ ไม่เสียเวลาการทำงานเพิ่ม สำหรับผมว่ามันฟังไม่ขึ้น เพราะผมมองว่ามันคือความมักง่าย พอผมเห็น Tahoma ถูกใช้ในสเกลใหญ่ๆ ทีไร ผมจะกลุ้มใจทุกที” แล้วอย่างนี้ Tahoma จะมาอยู่บนป้ายบอกทางได้ไหมนะ?
“ในกรณีของงานออกแบบเพื่อการคมนาคม ขนส่ง สาธารณะ ผมถือว่าเรื่องความชัดเจน การที่คนสามารถอ่านและรับรู้ได้ไวที่สุด อันนี้มันมีความสำคัญกว่าการมีน้ำเสียงเฉพาะตัว แต่ในเมืองบางเมือง ที่ระบบขนส่งมวลชนของเขา สามารถสร้างเสียงเฉพาะตัวของเมืองได้ มันก็ทำให้ดู sophisticated เหมือนทำให้คนคาดหวังได้ว่า ถ้าจะมองหาตัวอักษรที่เป็นของระบบขนส่ง เพื่อนำทางให้ตัวเอง ฉันต้องมองหาตัวอักษรลักษณะนี้ มันก็มีความฟังก์ชั่นในตัวเองอยู่ ถ้าเราเลือกใช้ฟอนต์ที่มีเอกลักษณ์และอ่านง่ายไปพร้อมกัน การที่ใช้ Tahoma มันไม่ตอบโจทย์อะไรเลย
เอ๊ะ หรือมันสะท้อนความมักง่ายของหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เหมาะสมแล้วนะ?”