คำเตือน : บทความนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์
ก็มันเป็นแบบนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้—มีช่วงหนึ่งของหนังที่เด็กๆ พูดถึงการดิ้นรน พูดถึงความขัดแย้ง พูดถึงผลกระทบจากเรื่องผลประโยชน์ คำถามที่เฌอปรางถาม เป็นคำถามที่นักคิดนับตั้งแต่มาร์กซพยายามจะตอบ และคำตอบของมาร์กซอาจเป็นคำตอบที่บอกกับเราว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เด็กสาวเหล่านี้ต้องร้องไห้
…และทำให้เราเองต้องร้องไห้ไม่ต่างกัน
เด็กสาวเอ๋ยไม่ต้องร้องไห้ ดูจะเป็นคำพูดที่เราสามารถพูดกับน้องๆ ได้จริงๆ การที่เด็กผู้หญิงจำนวนหนึ่งเลือกจะเดินเข้าสู่วิถีชีวิตแบบไอดอล เข้าสู่โลกแห่งการฝึกฝน และโลกแห่งแสงไฟ ในที่สุดแล้วระบบที่เด็กๆ ถูกผลักเข้าไปเผชิญ มันก็คือระบบอันเป็นรูปธรรมของโลกทุนนิยม โลกแห่งการต่อสู้ดิ้นรน โลกของการแลกเปลี่ยน ช่วงชิง และโลกที่ในความรักความสัมพันธ์ล้วนมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย และในโลกที่เรามี ‘หน้าที่’ อะไรบางอย่างมากำกับตัวตนและความสัมพันธ์ของเราเสมอ
ถ้าคาร์ล มาร์กซ ได้ดูหนังและเห็นวิถีชีวิตของเด็กสาว มาร์กซเองก็อาจจะเป็นคนที่ร้องไห้ด้วย เพราะในที่สุดแล้ว โลกทุนนิยมที่มาร์กซพยายามวิพากษ์มันได้ส่งผลกระทบต่อพวกเราอย่างไม่ไว้หน้า ไม่ไว้อายุ สิ่งที่เด็กสาววัยแรกแย้มต้องมาเผชิญ แง่หนึ่งคือการที่เราได้จำลองการแข่งขันและการต่อสู้ที่เป็นรูปธรรม ให้เด็กสาวได้ทดลองลงสนาม เป็นโลกจริงที่ยิ่งกว่าจริงเท่าที่เราเผชิญมา
Battle Royale ของอาดัม สมิธ
แน่นอนว่าการก้าวเข้าสู่การเป็นไอดอลเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางธุรกิจ และญี่ปุ่นก็ดูจะเป็นชาติที่แสนอัจฉริยะในการจำลองโลกแห่งความจริงให้คมชัดตำหน้าตำตาเราขึ้นมา จริงๆ แล้วระบบไอดอล เช่น การออดิชั่น การฝึกฝน การวัดประเมินค่าด้วยตัวเลข ด้วยความนิยม และโดยเฉพาะระบบเซ็มบัตสึ มันไม่ต่างอะไรกับแบทเทิลรอยัลที่จับเอาเด็กๆ เข้าสู่ระบบของโลกทุนนิยม ของโลกแห่งการทำงาน—โลกแห่งชีวิตจริง
จากฉากหน้าของไอดอลในชุดสดใส คำพูดแรกๆ ที่ถูกพูดออกมา เป็นเรื่องที่เด็กสาวเข้าใจดีว่าพวกเธอกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกธุรกิจ ชีวิต ตัวตน และการกระทำต่างๆ ของเธอมีเรื่องของการลงทุน ของผลกำไร ของตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง กระทั่งเวลาที่เธอเข้ามาใช้ พวกเธอก็เข้าใจว่ามันคือการลงทุนแบบหนึ่ง ยิ่งมีระบบเซ็มบัตสึ ระบบที่คัดเด็กครึ่งหนึ่งใน 30 คนที่ผ่านเข้ารอบเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเพลงในแต่ละซิงเกิล เป็นระบบที่แบ่งแยกระหว่างผู้แพ้และผู้ชนะ มีคนที่อยู่หัวแถวและคนที่อยู่ท้ายแถว
ดินแดนแห่งความอยุติธรรม
ประเด็นหนึ่งที่ระบบทุนนิยมสัญญาให้กับเราคือโลกที่ใครใคร่ทำทำ ความสำเร็จสร้างได้ด้วยตัวเรา เรามีเสรีภาพในการกระทำการซึ่งโลกบอกเราว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จได้
จริงซะที่ไหน ใครที่ผ่านโลกมามากพอก็จะรู้ว่า หลายครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกทุนนิยม—ความสำเร็จและความร่ำรวย—อาจเกิดจากปัจจัยอะไรก็ได้ และปัจจัยส่วนใหญ่ยังคงเป็นปริศนา ในทำนองเดียวกัน โลกที่บอกว่าคุณขยันแล้วจะรวย เป็นความหมายเดียวกันกับคำพูดที่ว่าถ้าคุณพยายามแล้วจะสำเร็จ เราต่างรู้ดีว่า คำปลอบใจนี้เป็นแค่ ‘คำปลอบใจ’ โดยแท้
ในความคิดเรื่อง ผู้ที่เหมาะสมที่สุดจึงอยู่รอด (the survival of the fittest) เป็นคำที่เหมือนมีเหตุมีผล แต่ในที่สุดแล้ว อะไรคือความเหมาะสม อะไรคือเกณฑ์ที่ทำให้เรารอด อะไรคือสิ่งที่บอกว่าเราเหมาะ—สุดท้ายแล้วเราไม่รู้เลย เราต่างงงงวยและงมหาทางเพื่อเป็นผู้รอดชีวิต เป็นผู้ถูกเลือกอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่สุดท้ายแล้ว ทั้งหมด ไม่มีกฏ ไม่มีเกณฑ์ ไม่มีคำตอบตายตัวอะไรให้เราสักอย่าง
แต่เราจะทำอะไรได้? นอกจากก้มหน้ายอมรับมันไป ท่าทีของเด็กๆ ทั้งสามสิบคนที่ถูกผลักเข้าสู่โลกทุนนิยมอันโหดร้าย จึงเหมือนตัวแทนของพวกเรา เราที่ต่างก็มีท่าทีต่างออกไปในการรับมือกับโลกที่แสนวุ่นวายและไร้ระเบียบนี้ บางคนก็ยืนหยัดแข็งแกร่ง บางคนก้มหน้าและทำมันต่อไป บางคนก็ยิ้มและหัวเราะให้กับชะตากรรม โดยที่ทั้งหมดนั้นมีจุดร่วมที่ไม่ต่างกัน คือเราต่างมีน้ำตา น้ำตาอันเกิดจากบาดแผลที่โลกใบนี้ได้วาดไว้บนตัวตนของเรา
บาดแผลจากโลกที่เราต้องแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างกันอยู่เสมอ บาดแผลจากการดิ้นรนและทำความเข้าใจโลกที่แทบเข้าใจไม่ได้เลยใบนี้
‘เพราะโลกมันเป็นแบบนี้’ มาร์กซ กับการตอบคำถามของเฌอปราง
สุดท้ายแล้วจึงไม่แปลกเลยที่หนังจะเต็มไปด้วยคำถาม คำถามที่แสดงถึงความอึดอัดใจ มีประโยคหนึ่งเฌอปรางพูดทำนองว่า บางทีก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ แต่มันก็ต้องเป็นแบบนี้ใช่มั้ยพี่
‘โลกมันเป็นแบบนี้’—ไอ้คำว่าแบบนี้ที่แม้ว่าเฌอปรางจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่เราก็สัมผัสเข้าใจได้ว่าหมายถึงความเป็นไปของโลก—โลกทุนนิยม มีนักคิดหลังมาร์กซเป็นต้นมาบอกว่าระบบทุนนิยมไม่ได้เป็นแค่ระบบทางเศรษฐกิจ แต่เป็นระบบที่หล่อหลอมเราในระดับความคิด ในระดับของการมองโลก เรามองและตีความโลกนี้ด้วยสายตาแบบทุนนิยมเสมอ เรามองเรื่องการสะสม เรื่องความเป็นเจ้าของ เรื่องอิสรภาพ เรื่องความเป็นปัจเจกบุคคล—สิ่งที่เราเป็นเป็นผลของการกระทำของเราเอง ตั้งแต่เรื่องการแลกเปลี่ยน ไปจนถึงแนวคิดเรื่องการตัวรอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด
นักคิดเช่น มาร์ก ฟิชเชอร์ จึงได้พูดถึงคำว่า Capitalist Realism คือทุนนิยมเป็นสัจธรรมเดียวที่เราจะคิดถึงโลกใบนี้ได้ นักคิดฝ่ายซ้ายทั้งหลายก็พยายามขบคิดและหาคำตอบว่าเราจะหลุดพ้นรากฐานความคิดที่หล่อเลี้ยงระบบที่ไม่เป็นธรรมนี้ได้อย่างไร ซึ่งฟังแล้วก็อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะเราเองก็พยายามค่อยๆ สร้างความเป็นธรรมในโลกที่ไม่ยุติธรรมนี้ผ่านกลไกต่างๆ กันอยู่เสมอ
แต่สุดท้าย—เบื้องต้น เราเองก็เหมือนกับเด็กสาวทั้งหลายที่ต่างอยู่ในโลกของการแข่งขัน โลกของผลประโยชน์ โลกของผู้แพ้และผู้ชนะ ผู้ถูกเลือกและผู้ที่ตกมาตราฐาน จริงๆ แล้วโลกของไอดอลก็ไม่ได้ต่างอะไรกับโลกที่เราแข่งขันกันอยู่ในทุกวันนี้ ตั้งแต่ในระบบการศึกษา โลกของการค้าและการทำงาน เราต่างปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อกลายเป็น the fittest เพื่อเป็นคนที่รอด คนที่ถูกเลือก
คำถามสำคัญที่ว่า ตกลงแล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้เด็กสาวต้องร้องไห้—คำตอบอาจจะเป็นความโหดร้ายและความสับสนของโลกใบนี้ ซึ่งก็คือสิ่งที่ทำให้เราต้องเคยหลั่งน้ำตาไม่ต่างกัน
สาวน้อยอย่าร้องไห้ เราเองก็กำลังร้องไห้อยู่ในใจเช่นกัน