‘เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ห้องใหม่ได้ไม่ถึงวัน เอาล่ะ…ผีในห้องเล่นเราซะแล้ว’
ยังไม่ทันจะได้จัดวางของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย พอตกกลางคืนก็อกน้ำก็เปิดเอง ไฟติดๆ ดับๆ ได้ยินเสียกุกกักอะไรจากในตู้เสื้อผ้าก็ไม่รู้ หรือว่าจะเป็นฝีมือของผีในห้อง แกจะทำยังงั้นไม่ได้หรอกนะ เพราะฉันเป็นคนจ่ายค่าเช่าห้องนี้ แถมแพงซะด้วย ฝ่ายที่ต้องออกไปคือแกนั่นแหละ!
เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวประมาณว่า ย้ายเข้ามาอยู่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแล้วเจอผีเจ้าถิ่นเข้ามาแผลงฤทธิ์ แต่เราก็ไม่ย้ายออก แถมยังพยายามหาวิธีมาไล่ผีให้ออกไปแทน ชอบดูหนังผี ก็อาจจะรู้สึกว่าหนังผีในสมัยนี้ แปรเปลี่ยนเป็นการต่อสู้ระหว่างคนกับผีมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การจ้ำอ้าววิ่งหนีผีอีกต่อไป
แนวคิดลักษณะ ‘คน สู้ ผี’ หรือการไม่ยอมจำนนต่อความน่ากลัวของสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ เริ่มปรากฏให้เห็นบ่อยมากขึ้นในช่วงยุคสมัยปัจจุบัน โดยคนเริ่มหาวิธีต่อกรและขับไล่ผี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผีซึ่งสิงสถิตตามบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัย
ถ้าจะบอกว่าแนวคิดลักษณะดังกล่าว มีรากฐานมาจาก ‘ระบบทุนนิยม’ ทุกคนจะเชื่อกันไหม แม้ฟังดูเหมือนว่า ทุนนิยม กับ ผี จะเป็นเรื่องไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไหร่นัก ทว่าจริงๆ แล้ว ทุนนิยม พื้นที่ และเรื่องลี้ลับ มีความสัมพันธ์สอดคล้องกันอยู่ การลุกขึ้นสู้กับผีจึงไม่ไร้เหตุผลเสียทีเดียว ทว่าเพราะอะไรกันแน่นะ ที่บีบบังคับให้เราต้องลุกขึ้นมาไล่ผีให้ออกไปจากห้อง?
ทุนนิยมกับการมองเรื่องพื้นที่
ถ้าจะบอกว่า ทุนนิยมเกี่ยวพันกับเกือบจะทุกเรื่องในชีวิตประจำวันก็คงไม่ผิดนัก เพราะหลายสิ่งหลายอย่างต่างถูกขับเคลื่อนด้วยเงิน จนเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุนนิยม มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของของเราอย่างมาก รวมไปถึงเรื่องของแนวคิดหรือความคิดต่อเรื่องต่างๆ ของคนในสังคมปัจจุบันด้วยเช่นกัน อย่าง มุมมองต่อเรื่องของพื้นที่เอง ก็มีทุนนิยมเป็นเลนส์สำคัญ ซึ่งทำให้เรามองเห็นว่าพื้นที่เป็นสิ่งมีค่าและเป็นหนึ่งในทรัพย์สินชิ้นสำคัญที่เราต้องหวงแหน
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ อิมานูเอล วาเลอสไตน์ (Immanuel Wallerstein) นักสังคมวิทยาและนักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างที่ดิน พื้นที่ และประชากรในระบบเศรษฐกิจโลกภายใต้ทุนนิยม โดยอธิบายเอาไว้ว่า ที่ดินมีบทบาทสำคัญในระบบทุนนิยม เพราะมันเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าและสามารถสร้างกำไรได้ แต่มีอยู่อย่างจำกัด จึงนำไปสู่การแย่งชิงพื้นที่และการแข่งขันในการครอบครอง
จากการแข่งขันแย่งชิงพื้นที่ จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของคำว่า ‘สิทธิการครอบครอง’ สำหรับแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของ และใช้อ้างกรรมสิทธิเหนือพื้นที่ให้แก่ผู้ครอบครอง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของเข้ามาลุกล้ำหรืออยู่อาศัย
งานศึกษาจาก Girne American University เกี่ยวกับสิทธิในการใช้พื้นที่และแนวคิดเรื่องการครอบครองพื้นที่ ชี้ให้เห็นว่า สิทธิในการครอบครองพื้นที่ เป็นสิทธิพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งมอบอำนาจและความชอบธรรมต่อบุคคลในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว เพื่อการดำรงชีวิต
แถมเมื่อประชากรโลกเริ่มขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ตามการคาดการณ์ประชากรโลกของสหประชาชาติ (World Population Prospects: The 2024 Revision) ซึ่งคาดเอาไว้ว่า ประชากรโลกอาจพุ่งสูงสุดถึง 10,300 ล้านคนในช่วงกลางทศวรรษ 2080 เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรโลกในปัจจุบันที่มีจำนวนทั้งสิ้น 8,200 ล้านคน อาจส่งผลให้มีพื้นที่มีน้อยลง และเริ่มเกิดความเข้มข้นในการแย่งชิงมากขึ้น
เพราะตามหลักคิดแบบทุนนิยม ตามที่วาเลอสไตน์นำเสนอไว้ในงานศึกษา พบว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร นำไปสู่การมีข้อจำกัดบางอย่างในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากความต้องการใช้ที่ดินและทรัพยากรซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากร
หากมองด้วยเลนส์แบบทุนนิยม จึงไม่แปลกเลย ถ้าใครสักคนผู้ได้รับกรรมสิทธิในการครอบครองพื้นที่ จะเกิดความรู้สึกหวงแหนและแสดงความเป็นเจ้าของต่อพื้นที่ดังกล่าวออกมา เพราะพื้นที่คือสินทรัพย์อันมีค่า การให้ผู้อื่นมาอยู่อาศัยโดยที่เราไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เลย เห็นทีก็คงจะเป็นเรื่องยาก
ผีใดเล่า จะน่ากลัวเท่า ผีทุนนิยม
ถ้าจู่ๆ มีคนมอบภารกิจให้เข้าไปในบ้านร้าง ที่ว่ากันว่า ผีดุสุดในย่านนี้ เพื่อแลกกับเงินรางวัลจำนวนมหาศาล คุณจะกล้าเข้าไปไหม?
ถ้าช่วงนี้ขัดสนเรื่องเงินทองอยู่ ก็อาจตรงดิ่งเข้าไป แล้วบอกกับเขาว่า “พร้อมทำภารกิจค่ะ” เพราะเอาเข้าจริง คงไม่มีอะไรจะน่ากลัวไปกว่าความจนอีกแล้วล่ะ แม้จะต้องทำภารกิจท้าทายสิ่งลี้ลับอันน่ากลัวแค่ไหนก็ตาม แต่เพื่อเงินรางวัล ก็คงจะต้องยอม
ฟังดูอาจเป็นเรื่องขำขัน ใครจะกล้าเข้าไปในบ้านร้างผีดุกัน แต่ถ้าคุณกำลังมีความคิดสนใจดังกล่าวอยู่ล่ะก็ คงต้องกล่าวว่า ขอต้อนรับเข้าสู่โลกทุนนิยม โลกที่เงินคือคำตอบของทุกสิ่ง
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การอยู่ในโลกทุนนิยม อันเต็มไปด้วยการแข่งขัน ทำให้เรามีตัวเลือกในชีวิตหลากหลายมากขึ้น ยิ่งถ้าเรามีเงิน เราก็สามารถเลือกซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ตามความพึงพอใจของเราได้ แต่ในทางกลับกัน สำหรับคนที่ไม่มีเงิน โลกทุนนิยมก็คงไม่ต่างจากฝันร้าย
ความเปราะบางทางการเงินรายบุคคลที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นส่วนซึ่งเกิดมาจากการที่คนทำงานกลายเป็นผู้แบกรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากนายทุนในโครงสร้างของระบบทุนนิยม โดยอาจมาจากการถูกลดค่าจ้าง เพิ่มเวลาทำงาน และความคาดหวังให้คนทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามแนวคิดของ แม็กซ์ ไคลน์ (Max Klein) ผู้ศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของการทำงานที่มีความไม่แน่นอน ผ่านกรอบความคิดแบบมาร์กซิสต์
ด้วยข้อจำกัดทางด้านการเงินและเศรษฐกิจ อาจส่งผลให้หลายคนไม่ได้มีตัวเลือกในการใช้ชีวิตมากเท่าไหร่นัก หากพูดกันในเรื่องของพื้นที่ เมื่อเราจ่ายเงินให้สำหรับซื้อหรือเช่าพื้นที่หรือที่อยู่อาศัยไปแล้ว บางครั้งเราก็อาจจำเป็นต้องอยู่ เหมือนกับถูกบังคับกลายๆ ไม่สามารถเลือกตัวเลือกอื่นได้
ยิ่งไปกว่านั้น ในโลกทุนนิยมที่เราต้องก้มหน้าก้มตาทำงานงกๆ ยังทำให้เราแทบจะไม่มีเวลามากพอด้วยซ้ำ สำหรับการหางานและหาเงินให้เพิ่มขึ้น เพื่อจะได้ย้ายออกไปอยู่พื้นที่ใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
คงจะเป็นไปตามที่ อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) นักเขียนชาวอินเดีย ผู้เขียนหนังสือ Capitalism: A Ghost Story ซึ่งได้เปรียบระบบทุนนิยมเอาไว้ว่าเป็น ‘ผี’ ที่มองไม่เห็น แต่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนโดยไม่รู้ตัว แถมยังมีอำนาจในการควบคุมและบงการให้ผู้อยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม ต้องยอมรับกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจอันไม่เป็นธรรม
กลับกลายเป็นว่า ผีที่น่ากลัว อาจไม่ใช่ผีในห้องเราหรอก แต่เป็นผีทุนนิยมต่างหาก ที่หลอกหลอนเรา บังคับให้เราต้องอยู่ร่วมกับผีในห้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผีจะอยู่หรือจะไป?
คงจะไม่เกินจริงหรอก หากบอกว่า ผีทุนนิยมนี้แหละ คือตัวร้ายขั้นกว่า ที่ทำให้เราตกที่นั่งลำบากในชีวิต จะเลือกทางซ้ายก็อาจเจอกับปัญหาทางการเงิน เพราะต้องย้ายห้องหนีผี หรือจะเลือกทางขวาก็ต้องอยู่ห้องยอมโดนผีหลอก เป็นเหมือนกับสถานการณ์หนีเสือปะจระเข้อย่างแท้จริง
ทว่าพอคิดดูให้ดี บางทีการอยู่กับผีในห้อง ก็ไม่ได้เลวร้ายเท่าไหร่นักหรอก มากสุดผีก็คงหลอกเราให้กลัว แต่ถ้าย้ายออกไป เราอาจต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน นั่นน่ากลัวยิ่งกว่าผีเสียอีก ชีวิตเรายังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินอีกเยอะมาก ทั้ง ค่ากิน ค่าหยูกยา ค่าใช้จ่ายรายวัน และค่าอื่นๆ อันเกี่ยวข้องการดำรงชีวิตอีกมากมาย
ถ้ามันจะกระทบกับเงินในกระเป๋า เราก็อาจไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะความจนนั้นน่ากลัวกว่าที่เราคิด ตามที่ ราธิกา กาปูร์ (Radhika Kapur) จาก University of Delhi ได้ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของความยากจนต่อคุณภาพชีวิตของบุคคล พบว่า ความยากจนส่งผลต่อชีวิตของผู้คนในหลายมิติ ทั้งด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพ และการดำรงชีวิต มิหนำซ้ำความยากจนยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งอาจทำให้ผู้คนตกอยู่ในภาวะที่ไม่มีโอกาสพัฒนาชีวิตได้
ท้ายสุดแล้ว เราจึงอาจยอมที่จะโดนผีหลอกจนตัวสั่นในห้องเช่าราคาถูกดีกว่าย้ายออกไป หรือหาทางไล่ผีตนนั้นออกไปแทน เพราะเราคงต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแน่นอน หากจะเป็นคนย้ายหนีผีเอง และนั่นอาจทำให้เราไม่เหลือเงินพอกินข้าวช่วงปลายเดือนด้วยซ้ำ เอาล่ะ คงต้องข่มตานอนให้หลับ และคิดซะว่า “เดี๋ยวก็เช้าแล้ว”
หรือจะลองทำข้อตกลงร่วมกันกับผี ว่าไหนๆ แกก็อยู่ฟรี งั้นงวดนี้ก็ขอเลขเด็ดๆ สักหน่อยละกัน เผื่อจะรวยกับเขาบ้าง
อ้างอิงจาก