ช่วงสองสัปดาห์นี้ ผมได้มีโอกาสสอนและแลกเปลี่ยนกับนิสิตที่ม.เกษตรศาสตร์และนักศึกษาที่ ม.ธรรมศาสตร์เกี่ยวกับ ‘ระบบสวัสดิการ’ และได้พบมุมมองข้อถกเถียงที่น่าสนใจของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับหัวข้อนี้
จริงๆ แล้ว ผมเองก็มิตั้งใจให้เป็นข้อถกเถียงอะไรมากนักหรอก เพียงแต่นำเสนอผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเรื่องการใช้สวัสดิการของรัฐ ได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพฯ กองทุนหมู่บ้านฯ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยยังชีพของผู้พิการ โดยจำแนกตามกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่างกัน 5 กลุ่ม เริ่มจากกลุ่มครัวเรือน 20% ที่จนที่สุด กลุ่มครัวเรือน 20% ที่จนรองลงมา กลุ่มครัวเรือน 20% ตรงกลาง กลุ่มครัวเรือน 20% ที่ค่อนข้างรวย และกลุ่มครัวเรือน 20% ที่รวยที่สุดตามลำดับ
ในภาพปรากฏชัดว่า กลุ่มครัวเรือนที่จนกว่าจะใช้
ระบบสวัสดิการของรัฐทั้ง 4 ด้าน
มากกว่ากลุ่มครัวเรือนปานกลาง และกลุ่มครัวเรือนที่รวยกว่า
ผมจึงถามน้องๆ ทั้งสองกลุ่มว่า จากภาพดังกล่าว น้องๆ คิดว่า ระบบสวัสดิการของบ้านเมืองเราดีแล้วหรือไม่? โดยไม่คิดว่า คำถามดังกล่าวจะนำมาสู่การถกเถียงที่น่าสนใจยิ่ง ทั้งที่ทุ่งบางเขนและทุ่งรังสิต
น้องๆ กลุ่มแรกบอกว่า ถ้าเป็นตามภาพดังกล่าว ถือว่าระบบสวัสดิการของไทยมาถูกทางแล้ว เพราะเห็นได้ชัดว่า คนจนได้ใช้ประโยชน์มากกว่าคนรวย แปลว่า สวัสดิการที่เรากำลังพัฒนามานั้นช่วยคนจนมากกว่าคนรวยจริงๆ
หลังจากที่กลุ่มแรกพูดเสร็จ ก็มีกลุ่มที่สองลุกขึ้นมาแย้งว่า ภาพดังกล่าวแสดงว่า ระบบสวัสดิการของไทยยังใช้ไม่ได้ เพราะตามความคิดของน้องๆ แล้ว ระบบสวัสดิการที่ดีควรจะเอื้อประโยชน์ต่อคนจนและคนรวยแบบเท่าๆ กัน
แนวความคิดของน้องๆ กลุ่มนี้ ได้รับเสียงสนับสนุนจากเพื่อนๆ ในชั้นเรียนมากพอสมควร จนทำให้อาจารย์ผู้อาวุโส ผู้ร่วมอภิปรายกับผมแสดงความแปลกใจว่า ทำไมน้องๆ รุ่นใหม่จึงคิดเช่นนั้น
แต่ยังไม่ทันที่สองกลุ่มแรกจะได้ถกกัน น้องๆ กลุ่มที่สามก็ลุกขึ้นมาแย้งไปอีกทางหนึ่งว่า การใช้ระบบสวัสดิการแบบนี้ถือว่าไม่ดีเลย เพราะในความคิดของน้องๆ ระบบสวัสดิการที่ดีไม่ควรเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยเลย เพราะคนรวยนั้นมีความสามารถในการจ่ายได้อยู่แล้ว การที่เข้ามาใช้ระบบสวัสดิการสังคมถือเป็นภาระให้กับรัฐบาลโดยใช่เหตุ
เอาละสิ ลำพังเพียงแค่สองกลุ่มแรกยังหาข้อสรุปยาก
แล้วนี่มีกลุ่มที่สามที่ฉีกไปอีกแนว การถกเถียงจึงมันส์หยด
แต่ช้าก่อน ในห้องเรียนของผม ยังมีกลุ่มที่สี่อีกด้วย น้องๆ กลุ่มนี้ ยกมือแล้วบอกว่า ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าระบบสวัสดิการของไทยมาผิดทางแล้ว เพราะการช่วยเหลือคนจนมากกว่าคนรวยนี้ จะกลายเป็นการเอาใจคนจน และไม่ช่วยให้คนจนพึ่งตนเองได้ แม้ว่าน้องๆ กลุ่มนี้จะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสามกลุ่มแรก แต่ก็ถือว่าเป็นเสียงหนึ่งในห้องเรียนเช่นกัน
ไม่น่าเชื่อว่า คำถามลอยๆ ของผม จะนำมาสู่การแสดงให้เห็นถึงความคิดที่แตกต่างกัน ในระดับพื้นฐานความคิดถึง 4 แนวคิดด้วยกัน
หลังจากฟังน้องๆ ครบทั้งสี่กลุ่ม ผมจึงเริ่มต้นจากการเสนอข้อเท็จจริงว่า จริงๆ แล้ว ระบบสวัสดิการของไทย ทั้ง 4 รายการนั้น คนจนและคนรวย ‘มีสิทธิ’ เข้าใช้บริการได้เหมือนกัน เพียงแต่พี่น้องที่รวยกว่าอาจไม่อยากรอคิวรักษาพยาบาล หรืออยากเข้ารับบริการที่สะดวกสบายกว่า (เช่น เข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน) หรือใช้สิทธิที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลที่มากกว่า (เช่น สิทธิของข้าราชการ) จึงใช้สวัสดิการพื้นฐานของรัฐในสัดส่วนที่น้อยกว่า
แต่แม้ว่าผมจะชี้แจงเพิ่มเติมแล้ว น้องๆ กลุ่มที่สอง (ทั้งที่ทุ่งบางเขนและทุ่งรังสิต) ก็ยังยืนยันอย่างน่าฟัง ว่า ก็คำอธิบายของอาจารย์นั่นแหละที่ชี้ให้เห็นว่าระบบสวัสดิการของเรายังไม่ดีพอ ถ้าระบบสวัสดิการของเราดีพอ คนรวยก็จะไม่ไปใช้บริการของภาคเอกชนที่แพงกว่า
น้องๆ กลุ่มนี้ยืนยันว่า การยอมรับในภาพนี้ ก็เท่ากับการยอมรับว่าระบบสวัสดิการของรัฐเราจะไม่ดีพอ และจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสเลือกทางอื่นที่ดีกว่า (และแพงกว่า) เท่านั้น น้องกลุ่มนี้ฝันว่าระบบสวัสดิการที่ดีจะต้องเป็นระบบที่มีคุณภาพที่ดี จนคนรวยไม่จำเป็นต้องหนีไปใช้ระบบอื่น
อืม น่าสนใจมากๆ สำหรับความฝันของน้องกลุ่มนี้
แม้จะฟังดูยาก แต่ก็เป็นความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่จริงๆ
แต่น้องๆ กลุ่มที่สาม ก็ยังไม่เข้าใจว่า แล้วเราต้องช่วยคนรวย ทำไม?
น้องๆ กลุ่มหนึ่งและกลุ่มที่สอง พยายามบอกว่า ในเมื่อมันเรียกว่า ระบบสวัสดิการสังคม มันก็น่าจะเป็นสำหรับระบบสำหรับคนทุกคนในสังคม
ส่วนผมได้มีโอกาสชี้แจงเพิ่มว่า การพยายามทำตามแนวคิดที่สาม (ระบบสวัสดิการ ‘เฉพาะคนจน’) มันมักจะตามมาด้วย
(ก) ความจำเป็นที่จะต้องแยกคนจนกับคนไม่จนออกจากกัน (ซึ่งไม่ง่าย)
(ข) การที่คนจนจะต้องแสดงตนว่าตนนั้นเป็น ‘คนจน’ (ซึ่งในหลายโอกาสการแสดงตนเช่นนั้นก็ไม่น่าอภิรมย์มากนัก) และ
(ค) การได้รับสวัสดิการหรือการดูแลที่แตกต่างกันระหว่างผู้ใช้บริการที่ไม่ต้องจ่ายเงิน (เพราะเป็นคนจน) กับผู้ใช้บริการที่ต้องจ่ายเงิน
ตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลยกเลิกรถเมล์ฟรี แต่ออกบัตรคนจน (ที่ลงทะเบียนไว้) แล้วให้คนจนแสดงบัตรนั้นเวลาขึ้นรถเมล์ เพื่อได้ขึ้นรถฟรี (หรือหักเงินที่อุดหนุนไปในบัตรนั้น) คนจนก็คงต้องประกาศตนบนรถเมล์ทุกครั้งที่ต้องการใช้สิทธิดังกล่าว
ดังนั้น หลายครั้งคนจนจึงพอใจที่ใช้บริการในระบบสวัสดิการ
ที่ไม่แยกแยะระหว่างคนจนกับคนไม่จน
มากกว่าระบบสวัสดิการที่จะช่วยเฉพาะคนจน
กลับมาที่น้องๆ กลุ่มที่สี่ น้องกลุ่มนี้ยังสงสัยว่า ทำไมเราต้องช่วยคนจน? ทำไมเราไม่ให้ทุกคนช่วยตนเอง? แล้วมันเป็นธรรมกับคนรวยหรือที่รัฐบาลต้องมาช่วยคนจน? สำหรับน้องๆ กลุ่มนี้ สิ่งที่ยอมรับได้คือ การช่วยทุกคนเท่ากัน (แบบน้องๆ กลุ่มที่สอง)
สำหรับกลุ่มนี้ ผมตอบแบบย้อนไปถึงปรัชญาว่า น้องๆ คิดว่า มันเป็น ‘ความสามารถ’ ของตัวเองหรือที่ได้เลือกมาเกิดในครอบครัวที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่า? ถ้าไม่ใช่ความสามารถของตัวเอง แล้วน้องๆ คิดว่ามันเป็นธรรมสำหรับคนที่ ‘ไม่ได้เลือก’ เกิดมาในครอบครัวที่มีความจำกัดทางเศรษฐกิจมากกว่าหรือ?
ผมดีใจที่น้องๆ ดูจะเข้าใจ เพราะถ้าไม่เข้าใจในประเด็นนี้ร่วมกัน ก็อาจจะยากที่คุยกันต่อ
ผมบอกกับน้องๆ ว่า ระบบสวัสดิการอาจแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ หนึ่ง ‘ให้เท่ากัน’ หมายความว่าไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนจะได้รับสวัสดิการจากรัฐเท่ากัน และสอง ‘ให้เพื่อให้เท่ากัน’ ซึ่งหมายความว่า การให้อาจไม่เท่ากัน เช่นระบบสวัสดิการที่คนจนได้รับความช่วยเหลือมากกว่า แต่การช่วยเหลือที่ดูเหมือนมากกว่านั้น เป็นไปเพื่อให้ทุกคนได้รับโอกาสเสมอกันในการพัฒนาอย่างแท้จริง ไม่ใช้เพื่อใครได้เปรียบใคร
สุดท้ายมีน้องคนหนึ่งถามว่า เห็นพูดกันแต่คนจนกับคนรวย น้องสงสัยว่า เราลืมคนชั้นกลางไปหรือเปล่า แล้วคนชั้นกลางจะทำอย่างไร? เพราะคนชั้นกลางก็ไม่อาจซื้อบริการที่ดีเลิศได้อย่างคนรวย
จริงครับน้อง ผมเห็นด้วย และผมคิดว่าคำตอบของชนชั้นกลางนั้นสำคัญมากๆ เพราะหากชนชั้น คิดเพียงทำอย่างไร ที่จะหาทางออกแบบคนที่มีฐานะดี เช่น พยายามเก็บเงินซื้อรถยนต์ส่วนตัวเพื่อหนีระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ได้เรื่อง หรือพยายามส่งลูกเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงหรือห้องเรียนพิเศษที่เก็บค่าเล่าเรียนแบบพิเศษ เพื่อให้เก่งกว่าโรงเรียนธรรมดาและห้องเรียนธรรมดา (ซึ่งทั้งสองตัวอย่างนั้น ผมทำเองทั้งหมด) เราก็จะไม่แก้ปัญหาใดๆ นอกจากทิ้งรถเมล์ธรรมดาและโรงเรียนธรรมดาไว้เบื้องหลังเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น คนชนชั้นกลางจึงต้องให้ความสำคัญ
กับระบบสวัสดิการสังคมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ (รวมถึงผมด้วย)
และการให้ความสำคัญของชนชั้นกลาง จะช่วยคนจนในทางอ้อมด้วย