ตั้งแต่ปี 1949 ฟินแลนด์เริ่มส่งกล่องใบหนึ่งให้กับคุณแม่ทุกคนที่กำลังจะคลอด กล่องดังกล่าวรู้จักกันในชื่อเล่นว่า Baby Box ชื่อทางการของกล่อง คือ แพ็กเกจสำหรับคุณแม่ (Maternity package) เป็นกล่องขนาดใหญ่ที่ออกแบบเพื่อให้ทารกนอนได้ โดยจะบรรจุข้าวของเครื่องใช้สำหรับเด็กอ่อนไว้ ตั้งแต่ผ้าอ้อม ผ้าปู ของเล่น เสื้อผ้า และของใช้อื่นๆ
กล่องน้อยที่รัฐส่งให้กับคุณแม่เป็นหนึ่งในนโยบายก้าวหน้าที่ฟินแลนด์ยังคงทำต่อเนื่องมา ถ้านับจุดเริ่มต้นของเจ้ากล่องนี้ในทศวรรษ 1930 ถือเป็นอีกนโยบายเก่าแก่ที่ส่งแรงบันดาลใจให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย กล่องเด็กอ่อนหรือกล่องรับขวัญยังเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของการก่อตัวขึ้นเป็นรัฐสวัสดิการ (welfare state) จากช่วงเวลาอันยากลำบากของฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศยากจนและเผชิญภาวะสงคราม จนทำให้อัตราการรอดชีวิตของทารกในช่วงขวบปีแรกๆ ต่ำลง
นโยบายการส่งกล่องดังกล่าวจึงไม่ใช่แค่การให้ของจำเป็นกับคุณแม่คนใหม่ แต่เป็นการรับรู้และร่วมต้อนรับสมาชิกใหม่ของสังคมจากรัฐ เจ้ากล่องนี้ยังเป็นตัวแทนอันเป็นรูปธรรมในการดึงเอาคุณแม่และสมาชิกใหม่เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลของรัฐ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าพลเมืองทุกคนจะได้รับการดูแลตั้งแต่ก่อนคลอดจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต และยังนับเป็นภาพแทนสำคัญของการเริ่มเป็นพลเมืองฟินแลนด์ ที่ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการแสดงการเริ่มต้นของเด็กๆ ในฐานะพลเมืองที่มีจุดเริ่มต้นเดียวกัน
ตั้งใจให้นอนในกล่อง กับการช่วยรักษาชีวิตทารก
ในทศวรรษ 1930 ฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่ไม่มีความแข็งแรงทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพราะได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติรัสเซีย และการประกาศเอกราชของฟินแลนด์ที่ยกเลิกการค้ากับรัสเซีย ทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
ด้วยบริบททางเศรษฐกิจ รวมถึงการเล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพประชากร เพราะตัวเลขอัตราการตายของทารกแรกเกิดในขณะนั้นสูงลิ่วแตะระดับ 60% ความพิเศษของการส่งมอบกล่องเด็กอ่อนด้วยตัวกล่องเอง จึงตั้งใจให้คุณแม่นำทารกไปนอนในกล่อง ซึ่งตัวกล่องจะมาพร้อมโฟมและผ้ารองนอน โดยความสำคัญของการนอนในกล่อง ถือเป็นการแก้ปัญหาเด็กเสียชีวิตจากอาการทารกไหลตายขณะนอนหลับ (Sudden Infant Death Syndrome – SIDS) ซึ่งเป็นการเสียชีวิตของทารกที่คลุมเครือ แต่สันนิษฐานว่าเป็นภาวะที่ทารกเสียชีวิตจากสภาวะแวดล้อม เช่น การนอนกับพ่อแม่แล้วถูกทับ มีผ้าหรือหมอนปิดหน้า หรือกระทั่งการอยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี
สำหรับกล่องเด็กอ่อนที่ส่งมอบไปให้คุณแม่นี้ ทางรัฐเองมองว่าเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ทำให้อัตราการรอดชีวิตของทารกเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งรายงานในทศวรรษ 1940-1950 เห็นว่าในฟินแลนด์มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 60 รายต่อทารก 1,000 คน หลังจากทศวรรษ 1950 ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตก็ค่อยๆ ลดต่ำลงไปต่อเนื่อง จนทำให้ฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการรอดชีวิตของทารกสูงสุดในโลก นั่นคือแทบไม่มีสัดส่วนทารกเสียชีวิตเลย
ทว่าเจ้ากล่องนี้ไม่ใช่แค่การให้เด็กไปนอนเพื่อป้องกันการเสียชีวิตเท่านั้น เนื่องจากสาเหตุการเสียชีวิตของทารกในยุคนั้นมาจากบริบทในภาพรวม เช่น ปัญหาเรื่องโภชนาการ ความหิวโหย การเผชิญกับสภาวะอากาศรุนแรง ความยากจน หรือปัญหาสุขอนามัยโดยทั่วไป เจ้ากล่องเด็กอ่อนจึงเป็นกระบวนการหรือสัญลักษณ์หนึ่ง ซึ่งมากับการที่รัฐจะนำคุณแม่เข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐสวัสดิการ
การจะได้รับกล่องเด็กอ่อน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะต้องเข้าพบแพทย์หรือสถานผดุงครรภ์ของรัฐก่อน ต้องมีการฝากครรภ์ให้เรียบร้อยภายในการตั้งครรภ์ 4 เดือนแรก ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นการดึงพลเมืองเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ ส่งเสริมและดูแลสุขภาพที่เริ่มตั้งแต่ในท้อง การรับแพ็กเกจคุณแม่เพิ่งคลอดนี้ยังสามารถเลือกรับเป็นเงินสดได้เช่นกัน แต่ด้วยมูลค่าของของในกล่องนั้นมีมูลค่าสูงกว่าเงินสดที่รัฐจะจ่ายให้ ส่วนใหญ่คุณแม่จึงมักจะเลือกรับกล่องมากกว่า
เด็กคนไหนก็เริ่มในกล่อง
ความพิเศษของกล่องเด็กอ่อนของฟินแลนด์ คือเจ้ากล่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนฟินแลนด์จากประเทศยากจน ไปสู่การเป็นผู้นำด้านสวัสดิการและการออกแบบระบบประกันสุขภาพ รวมถึงระบบการดูประชากรที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
ในมิติทางสังคม ความหมายโดยนัยของกล่องเด็กอ่อนคือการที่รัฐมองเห็น รับรู้ และชวนต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าสู่การเป็นพลเมือง ในระยะต่อมา กล่องเด็กอ่อนก็ถือเป็นวิธีการที่ฟินแลนด์ใช้ลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้ภาพของเด็กทุกคน ไม่ว่าจะจากสถานะไหนก็ล้วนมีจุดเริ่มต้นแบบเดียวกัน
ถ้าเรามองย้อนไป นโยบายกล่องเด็กอ่อนแรกสุดถูกประกาศใช้ในทศวรรศ 1930 ที่ฟินแลนด์เริ่มมอบแพ็กเกจให้คุณแม่ โดยให้เฉพาะคุณแม่ที่ยากจน ด้วยการเสนอให้เลือกทั้งกล่องที่บรรจุสิ่งของเด็กอ่อน หรือให้เลือกเงินสนับสนุน ซึ่งตัวกล่องที่จูงใจกว่าถือเป็นกลยุทธ์ของฟินแลนด์ที่ในตอนนั้นเพิ่งประกาศเอกราช มีเงินสดคงคลังไม่มาก การให้สิ่งของจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับรัฐมากกว่า จนกระทั่งในปี 1949 แพ็กเกจเด็กอ่อนสู่คุณแม่ก็ได้ขยายไปสู่คุณแม่ทุกคน
นโยบายกล่องเด็กอ่อนนี้นับเป็นหนึ่งในนโยบายเล็กๆ ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งทำงานร่วมกับการปรับปรุงระบบสาธารณสุข และการส่งเสริมความรู้ในการดูแลเด็กอ่อน จากฟินแลนด์มีงานศึกษาว่าในราว 60 ประเทศทั่วโลก มีการรับเอาแนวคิดเรื่องการส่งกล่องเด็กอ่อน และนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่างๆ ของตัวเอง เช่น การนอนหลับปลอดภัยไปจนถึงการส่งเสริมการให้นมบุตร ในบางงานศึกษาอย่างการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า การให้ความรู้และการส่งมอบกล่องให้ครอบครัว ช่วยลดการนอนร่วมกันของพ่อกับแม่และทารกได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับประเทศไทยเราเองก็เคยมีการส่งมอบถุงรับขวัญในช่วงปี 2005 โดยผลการวิจัยในขณะนั้นพบว่า ค่าเฉลี่ยไอคิวของเด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐานสากลอยู่ที่ 90 จาก 100 ซึ่งตัวเลขจากปี 2001 ถือว่าตกต่ำลงไปอีก และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เมื่อเด็กเติบโตขึ้น บริบทสังคมไทยในขณะที่ยังมีปัญหาเรื่องพลานามัยของคุณแม่ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์อย่างการขาดไอโอดีน ในภาพรวมจึงส่งปัญหาต่อประชากรรุ่นต่อมา
ถุงรับขวัญของไทยในขณะนั้นจึงเน้นการกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น ผ้าห่มพัฒนาการที่ใช้สีต่างๆ ในการกระตุ้นการเรียนรู้และการมองเห็น โมบายรูปทรงเรขาคณิต ของเล่นส่งเสริมทักษะต่างๆ ไปจนถึงหนังสือนุ่มนิ่มลอยน้ำ
อ้างอิงจาก